รู้จักนิยาม “โรคประจำถิ่น” สัญญาณสิ้นสุดการระบาดใหญ่

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมประกาศโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นภายในปีนี้ชวนย้อนรอยประวัติศาสตร์จากโรคอุบัติใหม่ สู่โรคระบาด จนกลายเป็นโรคประจำถิ่น

แม้จะระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนทำให้มีผู้ติดเชื้อเพียง 1 ใน 3 ที่ต้องเข้าโรงพยาบาล และแม้จะติดง่ายกว่าสายพันธุ์เดิมรวมทั้งหลบหลีกภูมิต้านทานของการฉีดวัคซีนแต่อัตราการเสียชีวิตต่ำลง และมักติดเชื้อบริเวณระบบทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่าที่จะลงปอด

นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงแนวโน้มของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ว่า โอมิครอน “อาจมาช่วยปิดเกม” ประเทศที่กำลังพัฒนาอาจต้องให้โอมิครอนช่วยสร้างภูมิต้านทานให้ โอมิครอนอาจไม่ดีสำหรับบริษัทวัคซีนก็ได้  

  • หากเป็นไปตามการวิเคราะห์ดังกล่าวก็สอดคล้องกับวัฏจักรการแพร่ระบาด นับตั้งโรคโควิด-19 เกิดการระบาด หรือ Outbreak ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ที่เมืองอู่ฮั่นของจีน  
ขอบคุณภาพจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • หลังจากนั้นได้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากทั้งในประเทศจีนและหลายประเทศทั่วโลกโควิด-19 กลายเป็นโรคระบาด หรือ Epidemic อย่างเต็มรูปแบบ  
ขอบคุณภาพจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • จนกระทั่งวันที่ 11 มีนาคม 2563 องค์การอนามัยโลกได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่าโควิด-19 ได้กลายเป็นการระบาดใหญ่ หรือ Pandemic
ขอบคุณภาพจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • ปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 3 ของโรคโควิด-19 ที่นับถอยหลังเข้าสู่การเป็น โรคประจำถิ่นหรือ Endemic ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการสิ้นสุดการระบาดใหญ่
ขอบคุณภาพจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตร สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. อธิบายว่า โรคประจำถิ่น เป็นโรคที่เกิดขึ้นประจำเฉพาะบริเวณพื้นที่นั้น ๆ มีการแพร่กระจายในระดับต่ำและสามารถคาดเดาอัตราการติดเชื้อได้ เช่น โรคมาลาเลียซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นของชายแดนใต้ 

“มาลาเลียขณะนี้ ที่ อ.ยะหา จ.ยะลา ก็มีมาลาเลียเป็นโรคประจำถิ่น แถวชายแดนไทย พม่า ก็เช่นกัน แต่ชายแดนไทย กัมพูชาที่เคยมีมาลาเลียเป็นโรคประจำถิ่น ตอนนี้ก็หายไปแล้ว นั่นหมายความว่า โรคประจำถิ่นไม่ได้แปลว่ามันต้องมีตลอดชาติ มันก็มีช่วงของมัน ซึ่งเรียกว่ายาวหน่อย คนอื่นขึ้นแล้วลง แต่ว่าของเพื่อนนี่ขึ้นแล้วอยู่ช้าๆ กว่าจะลงเป็นเวลานาน เราก็เรียกว่าโรคประจำถิ่น ส่วนโรคระบาดใช้เวลาสั้น” 

ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ​ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่บอกว่า หากย้อนดูประวัติศาสตร์การเกิดโรคอุบัติใหม่ในช่วงแรกจะมีความรุนแรงเพราะมนุษย์ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่หลังจากที่โรคอุบัติใหม่ระบาดไประยะหนึ่ง แม้ไวรัสจะเกิดการกลายพันธุ์ ก็จะกลายพันธุ์เพื่อให้อยู่รอดในร่างกายของมนุษย์ แต่ความรุนแรงในการก่อโรคจะลดลง ไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่น 

“ถ้าติดโรคแล้วตาย 100% เหมือนกับไข้หวัดสเปน คือติดแล้วตายทำให้การแพร่เชื้อสั้นลงเพราะคนแพร่ต่อตาย แต่ไวรัสก็มีการปรับตัว ทำให้คนติดเชื้อไปแพร่ต่อได้ แต่ความรุนแรงน้อยลง จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาพอเราเริ่มมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อความรุนแรงก็จะน้อยลงๆ”

จากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนอย่างรวดเร็ว นักวิทยาวิทยาศาตร์คาดการณ์ว่าจะกลืนสายพันธุ์เดลตาและกลายเป็นสายพันธุ์หลักในอีก 4-5 เดือน ความรุนแรงของโรค โควิด-19 จะลดลง ทั้งยังทำให้ผู้คนมีภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้น เป็นข้อมูลจากงานวิจัยล่าสุด ที่ถูกอ้างอิงจนมองเห็นแนวโน้มว่า ปลายปี 2565 จะเป็นช่วงท้ายของการระบาดใหญ่ ไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่น หรือ Endemic  ของแต่ละประเทศแทน

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS