ถอดประสบการณ์ กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน เทพา – กระบี่ โครงการแรก คลายความขัดแย้ง ด้วยกลไก SEA ดึงทุกฝ่ายมองให้ถึงยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ สร้างสมดุล เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หน.โครงการ SEA โรงไฟฟ้าฯ เชื่อ กรณีจะนะ ยังไม่สาย ถ้ารัฐจริงใจ หาทางเลือกการพัฒนาบนประโยชน์ของคนทุกกลุ่ม
การยกระดับเคลื่อนไหวของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และหลาย ๆ เครือข่ายที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาภาครัฐ ทำให้เห็น ถึงความไม่เชื่อมั่น ในกลไกที่ภาครัฐพยายามใช้เพื่อจัดการปัญหา โดยเฉพาะการทำบันทึกข้อตกลง หรือ MOU จนไปถึงการตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ นั่นทำให้ กระบวนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) ถูกพูดถึงขึ้นอย่างมาก ด้วยคาดหวังให้กลไกนี้ ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้ง
หากพิจารณาจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 58 ระบุไว้ชัดเจน หากรัฐจะดำเนินการใดที่อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ประชาชน และชุมชน รัฐต้องศึกษาศึกษา และประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน แต่ความจริงแล้วที่ผ่านมาแทบทุกโครงการพัฒนาภาครัฐ ไม่เคยเริ่มต้นด้วยการประเมินในภาพรวม เว้นแต่ กรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ทั้งที่ อ.เทพา จ.สงขลา และ จ.กระบี่ ที่การคัดค้านโครงการเมื่อช่วงต้นปี 2561 จนเกิด MOU ระหว่างกระทรวงพลังงาน และกลุ่มภาคประชาชนที่คัดค้านโครงการ ให้ชะลอโครงการไว้ก่อน และนำไปสู่การนับหนึ่งใหม่โครงการด้วยกระบวนการ SEA
อ่านเพิ่มเติม : นิด้าเผยผล SEA โรงไฟฟ้าภาคใต้ เสนอ 4 ทางเลือกพัฒนาพลังงาน เล็ง “ก๊าซธรรมชาติ” แทนเชื้อเพลิงถ่านหิน
SEA โรงไฟฟ้าภาคใต้ โจทย์หินบนความขัดแย้ง
TheActive พูดคุยเรื่องนี้กับ ศ.จำลอง โพธิ์บุญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะ หัวหน้าโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ บอกว่า ได้รับโจทย์ให้ศึกษา ประเมินทางเลือกการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าภาคใต้ จากกระทรวงพลังงาน โดยใช้งบประมาณ กว่า 50 ล้านบาท ภายใต้ระยะเวลา เพียงแค่ 9 เดือน ต้องได้ข้อสรุป ตอนนั้นยอมรับว่า หนักใจ เพราะความขัดแย้งของพื้นที่รุนแรงมาก
ทั้งที่จริง ๆ แล้ว หลักการของ SEA ไม่ได้ใช้เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งเป็นหลัก แต่เป็นกลไกที่ช่วยให้เห็นภาพกว้างของการพัฒนาว่า ควรทำอะไร ยังไง แต่หลายโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในบ้านเรา กลับเริ่มต้นด้วยการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนในระดับโครงการ ไม่ได้มองภาพรวม ว่าควรไปทางไหน ดังนั้นหากภาครัฐ และเอกชน ให้ความสำคัญ และตั้งเป้าประเมิน SEA ก่อนเริ่มโครงการ เชื่อว่ามีส่วนน้อยที่ความขัดแย้งจะเกิดขึ้น
“SEA ควรทำก่อน ไม่ใช่ขัดแย้งแล้วมาทำ เหมือนที่เคยทำเรื่องโรงไฟฟ้า คนที่ขัดแย้งกันอยู่ก็จะไปมองระดับโครงการ ทำให้การประเมิน SEA คุยยากขึ้นอีกชั้น แต่เราก็ต้องพยายามดึงคนที่ขัดแย้งกัน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตั้งแต่ระดับนโยบาย จนถึงชาวบ้าน มาคุยกันเพื่อให้ช่วยกันมองภาพใหญ่ อย่างกรณีจะนะ ก็คงไม่ต่างจากกรณีโรงไฟฟ้า ที่ต้องมองว่าภาคใต้ หรือในระดับ จ.สงขลา ควรพัฒนาไปทางไหนดี ควรมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อีกหรือไม่ หรือควรเน้นส่งเสริมการพัฒนาทางอื่น ถ้าทิศทางภาพกว้างชัด การพัฒนาจะเดินไปถูกต้อง ได้รับการยอมรับมากกว่า การคิดจะทำแล้วก็ไปกำหนดพื้นที่เอาเลย”
เป็นกลาง ไม่ตั้งธง หัวใจ SEA
ศ.จำลอง บอกด้วยว่า จากประสบการณ์ทำ SEA กรณีโรงไฟฟ้าภาคใต้ ช่วงแรก ๆ ยอมรับมีปัญหาเยอะมาก เพราะความขัดแย้งก่อตัวมานาน แต่ต้องพยายามรับฟังข้อเสนอจากทั้ง 2 ฝ่าย ให้มาร่วมคุยกันแต่ต้น แล้วพยายามนำข้อมูลที่แต่ละฝ่ายมีมาแลกเปลี่ยนกันใหม่มากที่สุด
พร้อมย้ำว่า หัวใจสำคัญที่จะทำให้กระบวนการ SEA เดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ทุกฝ่ายต้องไว้ใจคนทำการศึกษา ประเมิน เรียกง่าย ๆ คือ คนทำต้องเป็นกลาง ไม่มีธง เปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย และพยายามเชื่อมโยงให้มองเห็นภาพกว้างทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งเเวดล้อม ต้องไปด้วยกัน
“คนทำต้องเป็นกลางด้วยใจ ด้วยพฤติกรรม ตั้งธงไม่ได้เลย ตอนลงพื้นที่ไปทำกรณีโรงไฟฟ้า ช่วงแรก ๆ ก็ถูกระแวง แต่ยิ่งถูกระแวงเราต้องยิ่งระวังตัวว่าต้องเปิดรับข้อมูลจากทุกฝ่าย ไม่เข้าข้างใคร พอกระบวนการเริ่มเดินหน้าไปสักพักก็ดีขึ้น กระแสความไม่ไว้ใจค่อย ๆ ลดลง จนท้าย ๆ ต่างฝ่ายต่างก็ยอมรับเราได้ นั่นเพราะเราต้องแสดงความจริงใจด้วยเหตุผลทางวิชาการ ที่มาจากการรวบรวมความเห้นของ 2 ฝ่าย แล้วก็ให้ทั้งคู่มาช่วยกันประเมิน เพราะต้องการให้มีส่วนร่วมจริง ๆ พวกเขาจะได้เห็นว่าข้อเสนอต่าง ๆ ถูกนำมาใช้เป็นทางเลือก ไม่มีที่ดีที่สุด แต่ต้องทำให้สมดุลที่สุด ผลออกมาก็จะได้รับการยอมรับ”
SEA จะนะ ยังไม่สาย สร้างทางเลือก ลดขัดแย้ง
หัวหน้าโครงการ SEA โรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ บอกอีกว่า SEA ไม่มีคำตอบที่ 100% แต่ก็มีข้อดี คือทำให้แต่ละฝ่ายยอมรับในความเห็นของกันและกัน อย่างน้อย ได้เรียนรู้ร่วมกันมากขึ้น จากเดิมที่ต่างฝ่ายมีความคิดสุดโต่ง พอได้คุยกันนาน ๆ ก็เริ่มยอมรับกันมากขึ้น จนนำไปสู่ข้อสรุปได้ในระดับหนึ่ง แม้ไม่สามารถเปลี่ยนใจคนได้ทั้งหมด แต่พวกเขาก็ยอมรับในทางเลือกต่าง ๆ ที่ช่วยกันสรุปและหาทางออก
“กรณีจะนะถ้าไม่รีบจนเกินไป ก็น่าทำ SEA ค่อย ๆ คุยกัน หาคนกลางเข้ามาดูแล ให้ทุกฝ่ายได้เปิดใจ เพราะแม้จริง ๆ แล้ว SEA ต้องทำก่อนมีโครงการ แต่ถึงตอนนี้สำหรับจะนะ ก็ยังไม่สาย ถ้าภาครัฐตั้งใจหาทางออกสำหรับการพัฒนาที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ก็คงต้องมีทางเลือกให้กับพัฒนา ตามความเหมาะสม เพื่อไม่ทำให้การพัฒนาอยู่บนความขัดแย้ง”
สำหรับ โครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) พื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงปี 2562 แม้กระทรวงพลังงานตั้งเป้าให้เสร็จภายใน 9 เดือน แต่สุดท้ายกระบวนการก็ล่วงเลยมาจนเกือบ 3 ปี นี่คือสิ่งที่ ศ.จำลอง ชี้ให้เห็นว่า SEA รีบทำไม่ได้ ต้องค่อยเป็นค่อยไป
ส่วนข้อสรุปโครงการโรงไฟฟ้าภาคใต้ จนถึงขณะนี้ ได้เสนอร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ ต่อกรรมการที่กระทรวงพลังงานตั้งขึ้นแล้ว ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา เบื้องต้นข้อสรุปทำให้มีทางเลือกยุทธศาสตร์พลังงานไฟฟ้าภาคใต้ 6 แนวทาง จากสิ่งที่ทุกฝ่ายช่วยกันเสนอ และร่วมกันประเมิน ซึ่งแต่ละทางเลือกประกอบด้วยข้อดี ข้อเสีย และข้อเสนอปรับปรุงแก้ไข นอกจากนี้ยังมีข้อสรุปด้วยว่าที่สุดแล้วหากภาคใต้ต้องมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นจริง พื้นที่ไหนเหมาะสมและเกิดประโยชน์ที่สุด โดยข้อสรุปที่ได้ คาดว่าจะเสนอต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณาอีกครั้งเร็ว ๆ นี้