เปิดห้องจำลองเลือก​สว.ชุดใหม่ พบความสับสนในหลายจุด

ครช.​ – Senate67 จัดงาน “แสดงตน ทุกคนเป็นสว.“ จัดกิจกรรมจำลองการเลือก สว. ยังพบความโกลาหล การทำบัตรเสีย พร้อมตั้งคำถาม ข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือก สว. ยังน้อย เสนอ​เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปร่วมตรวจสอบมากกว่านี้

ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 นี้ สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว.ชุดปัจจุบัน​จะครบวาระ ซึ่งรวมแล้วมีอายุห้าปีนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง หลังจากสิ้นสุดวาระของ สว.ชุดพิเศษ 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเปิดรับสมัคร สว.ชุดใหม่ทั่วประเทศ เพื่อให้ได้มา สว. 200 คน ในวันที่ 13 พ.ค.นี้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ใช้วิธีการ “เลือกกันเอง” จากกลุ่มผู้สมัครชิงตำแหน่ง สว. จากกลุ่มอาชีพต่าง ๆ

ท่ามกลางการจับตาของฝ่าย ​คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ครช. และเครือข่าย Senate67 ​จัดงาน “แสดงตน ทุกคนเป็น สว.“ ​ให้มีการจำลองเลือกสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ พร้อมทั้งเป็นการประกาศเจตนารมณ์ในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ​ซึ่งมีประเด็นคำถามถึงการเลือก สว.ว่าเหตุใดการเลือก สว. ครั้งนี้ มีข้อมูลการตัดสินใจน้อย จนนำมาสู่การตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นการเลือกตั้งเงียบที่สุดในโลกหรือไม่

ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ยังมีความกังวลกับการเลือก สว.รอบนี้ การที่เราไม่มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจจะส่งผลให้เกิดการตัดสินใจที่ไม่รอบด้าน ควรให้มีการเปิดกว้างในการเพิ่มข้อมูลให้มากกว่านี้ ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปร่วมตรวจสอบมากกว่านี้ อย่างเช่น ก่อนหน้านี้ หากมีการเลือกไปแล้วการตรวจสอบยากกว่าเดิม ขณะที่การทำแบบจำลอง สว.ครั้งนี้คือยังถือเป็นพื้นที่ให้มีการเกิดแรงกระเพื่อมให้คนสนใจ ​รับรู้ข่าวสารมากขึ้นแต่ก็อาจยังไม่มากพอ ​ซึ่งต้องการให้​การเลือกตั้งต้องมีความโปรงใส

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือ ไอลอว์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เราเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขไป 26 ฉบับ ​สว. รับเพียงแค่เรื่องเดียว อีกทั้งเคยเสนอตัดอำนาจของ สว. ชุดนี้ ไป 5-6 ครั้ง ก็ไม่ผ่าน สว.ชุดนี้เลย จากไทม์ไลน์ จะเห็นว่าเราจะเลือก สว.ชุดหน้าภายในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567

“จริง ๆ แล้วหากถามว่าเชื่อมั่นในการะบวนการเลือกตั้ง สว.ชุดใหม่ไหม ผมเองยังไม่เชื่อมั่นเลย แต่ยังเชื่อว่าชุดใหม่คงจะมีความหลากหลายกว่าชุดที่แล้ว แต่เชื่อคงมีอุปสรรคที่หลากหลายตั้งแต่ การห้ามคุณสมบัติต่าง ๆ ค่าสมัคร 2,500 บาท ถึงวันนี้ยังไม่รู้ว่าสมัครวันไหน แต่ก็อยู่ในกระบวนการ ซึ่งเวลากระชั้นชิด ข้อมูลก็น้อย”

ขณะในรูปแบบจำลองก็โกลาหลไม่น้อย ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 ครั้งที่ 8 แล้ว เพียงแค่การลำลอง ก็ยังมีการทำบัตรเสีย หรือความสับสนไม่น้อย ที่จริงเราอยากเห็น กกต.มีความชัดเจน เพราะมีคำถามต่าง ๆ มากมาย บางครั้งมีคำถามอีกหลากหลาย เราก็ต้องรอ กกต.ชี้แจง ​ซึ่ง กกต.ต้องฟันธงให้ชัดเจน

ส่วนประเด็นคือปกติเวลาเราเลือกตั้ง สส. จะรู้ว่าใครลงสมัคร แต่สำหรับ สว.ตกลงมีใครสมัครบ้างยังเป็นเรื่องจำกัด เพราะคนที่จะรู้ก็จะมีแค่คนที่สมัครเท่านั้น ที่จะรู้มันยังดูไม่เปิดกว้าง ​ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้มีการรับรู้มากขึ้น

20 กลุ่มอาชีพ ประกอบด้วย

  1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เช่น อดีตข้าราชการ อดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐ
  2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ หรือผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย
  3. กลุ่มการศึกษา เช่น เช่น ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา
  4. กลุ่มการสาธารณสุข เช่น แพทย์ทุกประเภท พยาบาล เภสัชกร
  5. กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก
  6. กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง
  7. กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคล ซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ
  8. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน
  9. กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมาย (SME) และ ผู้ประกอบกิจการอื่นๆ
  10. กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากข้อ (9)
  11. กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม
  12. กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
  13. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
  14. กลุ่มสตรี
  15. กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น
  16. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี นักกีฬา การแสดงและบันเทิง
  17. กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์
  18. กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม
  19. กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
  20. กลุ่มอื่นๆ

 คุณสมบัติ

  1. ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
  2. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันที่สมัครรับเลือก
  3. มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี ไม่นับรวมผู้สมัครกลุ่มสตรี กลุ่มผู้สูงอายุ คน​
  4. พิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
    * เกิดในอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก
    * มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันที่สมัคร
    * เคยทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันที่สมัคร
    * เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
    * เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า สองปีการศึกษา

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active