บทบาทหญิงชาย ในสนามเลือกตั้ง อบต. สู่การจัดทำงบประมาณอย่างเป็นธรรม

ผอ.สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายฯ แนะ ส่งเสริม ‘ผู้หญิง’ ลงการเมืองท้องถิ่น ต่อยอดการเมืองระดับชาติ สะท้อนความหลากหลายเชิงนโยบาย เร่งสร้างกระบวนการจัดทำงบฯ แบบคำนึงมิติหญิงชาย

ภาพจำของนักการเมืองท้องถิ่น โดยเฉพาะในระดับ “องค์การบริหารส่วนตำบล” หรือ อบต. ยังพบว่ามีสัดส่วนเพศชายมากกว่าเพศหญิง ข้อมูลจาก กองการเลือกตั้งท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย พบว่า นายก อบต.ที่ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2557 และพ้นจากตำแหน่งเมื่อ 28 กันยายน 2564 ใน อบต. 5,300 แห่ง เป็นเพศชาย 92.83% และเป็นเพศหญิงเพียง 7.17% เท่านั้น

จากข้อมูลดังกล่าว อาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ที่ทำให้พื้นที่ทางการเมืองของผู้หญิงมีไม่มากเท่าที่ควร แต่ในปัจจุบัน เราเห็นการตัดสินใจ และสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้ามาเป็นผู้นำท้องถิ่นมากขึ้น สัดส่วนหญิง ชาย ในเวทีการเมืองจะสะท้อนอะไรต่อการจัดทำนโยบายที่ส่งผลต่อคนในชุมชน

The Active คุยกับ เรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา 

สะท้อนความเป็นประชาธิปไตย เพิ่มสัดส่วนนักการเมืองหญิง

เรืองรวี กล่าวว่า การดำรงตำแหน่งของนักการเมืองท้องถิ่นที่เป็นผู้หญิง สะท้อนความเป็นประชาธิปไตย ของพื้นที่นั้น ๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีพื้นที่ทางการเมือง มีอำนาจตัดสินใจในทางการเมืองทัดเทียมกับนักการเมืองผู้ชาย และยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs เป้าหมายที่ 5 ว่าด้วย Gender Equality หรือ ความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต การประกอบอาชีพ สิทธิในการแสดงออก หรือแม้แต่กระทั่งสิทธิในทางการเมือง

ประเทศไทยมีประชากรหญิง ประมาณร้อยละ 50 ของจำนวนประชากร แต่สัดส่วนของนักการเมืองหญิงในสภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 15 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ การเข้าสู่ตำแหน่งของผู้หญิงในระดับการเมืองท้องถิ่น เป็นเส้นทางการต่อยอดสู่การเมืองระดับชาติ การลงสมัครรับเลือกตั้ง นายก อบต. และ ส.อบต. ที่มีมากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเป็นความหวังของการเพิ่มสัดส่วนนักการเมืองหญิงในเวทีระดับชาติ

ผู้นำ หญิง – ชาย ส่งผลต่อความแตกต่างเชิงนโยบายในท้องถิ่น

เรืองรวี กล่าวว่า เท่าที่ตนมีประสบการณ์การทำงานร่วมกับ นายก อบต. ที่เป็นผู้หญิง สิ่งที่น่าสนใจ คือ นโยบายการพัฒนาท้องถิ่นมีความแตกต่างกันด้วย คือ ถ้าเป็น นายก อบต. ผู้ชาย ยังคงมีแนวคิดที่เน้นไปในเรื่องการดูแลความปลอดภัย โครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง แต่ถ้าเป็นผู้หญิง กลับให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างอาชีพเป็นหลัก การส่งเสริมความเข้มแข็งในครอบครัว ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณี แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าอาจมีความแตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่นั้นด้วย

เหตุที่เป็นเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่าแนวนโยบายของหญิง หรือชายดีกว่ากัน แต่พื้นที่ทางการเมืองที่มีสัดส่วนของเพศที่หลากหลาย ทำให้เราเห็นความแตกต่างใน กระบวนการคิด วิธีการทำงาน และประสบการณ์ ที่พบเจอมาของผู้ชายและผู้หญิง การจะบอกว่านโยบายแบบใดดีนั้น ขึ้นอยู่กับว่าในพื้นที่นั้นมีสภาพปัญหาอย่างไร แล้วควรให้ความสำคัญกับเรื่องใดมากที่สุด

การจัดทำงบประมาณแบบคำนึงถึงมิติชายหญิง

เรืองรวี กล่าวต่อว่า นโยบายการพัฒนาที่หลากหลาย และการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าไปมีพื้นที่ทางการเมืองนั้น อาจนำไปสู่การจัดทำงบประมาณแบบคำนึงถึงมิติชายหญิง หรือ Gender Responsive Budgeting หมายถึง การจัดทำนโยบายที่คำนึงถึงคนทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงการเข้าไปดูแลวิถีชีวิตของคนทุกเพศ ที่อาจต้องการให้หน่วยงานท้องถิ่นเข้าไปดูแล แม้ผู้บริหารหรือนักการเมืองท้องถิ่นจะไม่ได้มีเพศสภาพที่ตรงกับเรื่องนั้นก็ตาม

การจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติหญิงชาย ถูกวางหลักไว้ตามมาตรา 71 หมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 แต่ทั้งนี้ เรืองรวี กล่าวว่า ความเข้าใจและความมุ่งมั่นของเรื่องดังกล่าว ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างจริงจังในประเทศไทย โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น ที่เป็นแบบนี้เพราะเรื่องดังกล่าวยังคงเป็น ‘แนวนโยบาย’ จะทำอย่างไรที่สามารถผลักดันในเรื่องนี้เป็น ‘หน้าที่ของรัฐ’ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งมีหน้าที่ต้องจัดทำงบประมาณเพื่อคนทุกคน

แม้เพศ และอายุ อาจไม่ใช่ปัจจัยชี้วัดความสำเร็จในการพัฒนาท้องถิ่น แต่อย่างน้อยความหลากหลายทางความคิด อาจช่วยให้เกิดแนวทางแก้ไขปัญหาใหม่ ๆ ได้ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าการเลือกตั้ง อบต. ในครั้งนี้ นอกจากนโยบายความสามารถแล้ว อาจต้องให้ความสำคัญกับเรื่องบทบาทชายหญิงในเวทีการเมืองระดับท้องถิ่นที่ทุกคนสามารถกำหนดได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้