ถ้าการเมือง(ท้องถิ่น) ดี…?

: ใกล้เลือกตั้ง อบต. แล้วนะ รู้ยัง?

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะระดับ องค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. ที่ว่ากันว่า เป็นหน่วยงานท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด

ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา ประชาชนไทยในท้องถิ่นได้เลือกผู้บริหารท้องถิ่นของตัวเอง เพื่อทำหน้าที่สำคัญ เช่น การรักษาความสะอาด กำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล จัดให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร จัดให้มีไฟฟ้าหรือแสงสว่าง รวมถึงการป้องกันโรคติดต่อ การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ หลังจากที่ก่อนหน้านั้น ในปี 2518 คนกรุงเทพฯ ได้เลือกตั้งผู้ว่าราชการของตัวเองไปก่อนแล้ว

จากจำนวน อบต. 5,765 แห่ง เมื่อปี 2554 ผ่านไป 10 ปี ในการเลือกตั้ง อบต. ทั่วประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นวันที่ 28 พฤศจิกายน นี้ ลดลงเหลือเพียง 5,300 แห่ง และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับจำนวนหน่วยงานท้องถิ่นระดับเทศบาล ที่มีประชากร งบประมาณ และอำนาจหน้าที่มากขึ้นและครอบคลุมยิ่งกว่า

ส่วนทัศนคติที่ว่า การทุจริตคอร์รัปชัน มักเกิดขึ้นได้ง่ายในระดับการเมืองท้องถิ่น อาจเป็นความจริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด หากเทียบกับอำนาจหน้าที่ในการที่จะยืนยันว่า นี่เป็นเครื่องมือสำคัญในการกระจายอำนาจ เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปตามที่คนในท้องถิ่นต้องการ หากเกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง

The Active รวบรวมข้อมูลสำคัญ เพื่อชวนกันร่วมคิด ร่วมสร้างจินตนาการใหม่ของการเมืองท้องถิ่นระดับเล็ก แต่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดอย่าง “อบต.” ในโอกาสที่คนรุ่นใหม่กว่า 4 ล้านคน จะมีสิทธิเลือกตั้ง อบต. ครั้งแรก หลังทิ้งห่างมานานกว่า 7 ปี


ดราฟท์

นักการเมืองท้องถิ่นในจินตนาการ เป็นอย่างไร?

หากดูจากนักการเมืองท้องถิ่นชื่อดังในหลายประเทศ จะเห็นได้ว่า “อายุเป็นเพียงตัวเลข”

ที่กล่าวเช่นนั้น ก็เพราะไม่ว่าจะอายุน้อยหรือมาก อาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะชี้วัด ว่าท้องถิ่นหรือเมืองนั้น ๆ จะมีการพัฒนามากน้อยแค่ไหน หากแต่เป็นวิสัยทัศน์ นโยบาย และทัศนคติในตัวผู้สมัคร รวมถึงศักยภาพที่จะนำพาให้ท้องถิ่นได้รับการพัฒนา

ยูริโกะ โคอิเกะ (Yuriko Koike) ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียว (สิงหาคม 2016 – ปัจจุบัน )

เริ่มต้นจากผู้บริหารท้องถิ่นระดับเมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น ‘ยูริโกะ โคอิเกะ’ วัย 69 ปี จากอาชีพล่ามแปลภาษาอาหรับ นักข่าว และผู้ประกาศข่าว เธอเริ่มต้นงานการเมืองในปี 1992 (พ.ศ. 2535) โดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษา หรือสภาสูง จากพรรค Japan New Party จากนั้นตั้งแต่ปี 1993 – 2016 เธอได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างต่อเนื่อง โดยย้ายสังกัดพรรคการเมืองหลายครั้ง ระหว่างนั้นเธอยังได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีเพื่อกิจการแห่งเกาะโอกินาวาและดินแดนตอนเหนือ รวมถึงเป็นรัฐมนตรีกลาโหมในเดือนมิถุนายน 2007 อีกด้วย แต่อีกสองเดือนถัดมา คือในเดือนสิงหาคม เธอประกาศลาออก โดยอ้างเหตุผลการรั่วไหลของข้อมูลระบบอาวุธทางนาวีแบบครบวงจรของสหรัฐอเมริกา ที่ใช้ขีปณาวุธและเรดาร์พื้นผิวน้ำ (Aegis) ซึ่งต่อมาเธอออกมายอมรับว่า เหตุผลที่แท้จริง คือ ความขัดแย้งกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในประเด็นทางการเมือง ที่อาจส่งผลต่อการนำเสนอกฎหมายเกี่ยวกับการก่อการร้ายฉบับใหม่ของญี่ปุ่น

จากนั้น ในปี 2016 เธอชนะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ จากข้อมูลระบุว่า เธอมีแนวคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมนิยม และชาติอนุรักษ์นิยม นอกจากนั้น ยังนับได้ว่าเธอเป็นสายเหยี่ยวด้านการต่างประเทศและความมั่นคง ขณะเดียวกัน เธอก็มีแนวคิดและนโยบายที่สนันสนุน J-Pop และส่งเสริมการใช้โทรคมนาคม การเริ่มชั่วโมงการทำงานที่ไม่พร้อมกัน เพื่อลดปัญหาความแออัดของการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนของกรุงโตเกียว

แนน เวลี (Nannette L. Whaley) นายกเทศมนตรีแห่งเมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา (2014 – ปัจจุบัน)

นับได้ว่า ‘แนน เวลี’ เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่เรียนรู้ในระดับมหาวิทยาลัย เธอเป็นผู้แทนของรัฐโอไฮโอ ใน College Democrats of America และยังเคยทำงานในทีมรณรงค์หาเสียงของ จอห์น เคร์รี (John Forbes Kerry)

ในปี 2005 (พ.ศ. 2548) เธอได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการเมืองเดย์ตัน ด้วยทำสถิติใหม่เป็นผู้หญิงอายุน้อยที่สุดที่เคยรับตำแหน่งนี้ และในปี 2014 เธอได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีคนที่ 56 ของเมืองเดย์ตัน โดยได้รับคะแนนเสียง 56% จากผู้ลงคะแนนทั้งหมด

นโยบายและผลงานการบริหารงานที่สำคัญของ แนน เวลี คือการตั้งกองกำลังอุตสาหกรรมแห่งภูมิภาคเดย์ตัน เพื่อแก้ปัญหาโรงงานย้ายออก ด้วยการกระตุ้นตำแหน่งงานที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและการวิจัย โดยเพิ่มการลงทุนในภูมิภาคได้สูงถึง 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ช่วงปี 2014 – 2017 อัตราการว่างงานของเมืองลดลงจาก 9.3% เป็น 5.7%

นอกจากนี้ เธอยังสนับสนุนให้โรงเรียนและนักเรียนบรรลุผลสัมฤทธิ์ในระดับใหม่ เพื่อสร้างกำลังแรงงานที่เข้มแข็งสำหรับอนาคต คือ 1) รับประกันว่าเด็กทุกคนได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพสูง 2) รับประกันว่าเด็กทุกคนจะได้รับโอกาสเข้าโรงเรียนอนุบาลที่คุณภาพสูง 3) เพิ่มความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาคธุรกิจกับโรงดรียน 4) จัดหาผู้สอนให้แก่เด็กเพิ่มมากขึ้น และ 5) ขยายพื้นที่สำหรับการเรียนรู้หลังเลิกเรียนและช่วงฤดูร้อน

ในปี 2016 ผู้มีสิทธิออกเสียงของเมืองเดย์ตันอนุมัติให้มีการขึ้นภาษีเงินได้ 0.25% เพื่อสนับสนุนบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นของเมือง และเสนอบริการ 1 ปีในโรงเรียนอนุบาลที่มีคุณภาพด้วยราคาที่ย่อมเยาให้แก่ครอบครัวชาวเมืองเดย์ตันทุกคนที่มีบุตรอายุ 4 ปี

แนน เวลี มุ่งไปสู่การสร้างให้เมืองเดย์ตันเป็นชุมชนที่เป็นมิตรต่อจักรยาน เช่น การใช้โครงการแชร์จักรยาน เป็นต้น นอกจากนี้ เธอยังเป็นผู้ส่งเสริมสำคัญให้เกิดระบบธนาคารที่ดิน (Landbank System) ระดับประเทศ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเคหะ

และในปี 2017 เธอได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกเทศมนตรีอีกครั้งแบบไร้คู่แข่ง ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเมืองเดย์ตัน

เอจา บราวน์ (Aja Brown) นายกเทศมนตรีแห่งเมืองคอมป์ตัน รัฐแคลิฟอร์เนียร์ สหรัฐอเมริกา (กรกฎาคม 2013 – มิถุนายน 2021)

ในปี 2012 (พ.ศ. 2555) หลังจากทำงานในฐานะลูกจ้างของเมืองคอมป์ตัน ‘เอจา บราวน์’ ตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี แม้จะเป็นหน้าใหม่ แต่เธอสามารถเอาชนะผู้สมัครอีก 12 คน รวมถึง Omar Bradley อดีตนายกเทศมนตรี และ Eric J. Perrodin นายกเทศมนตรีในขณะนั้นได้ จนเป็นนายกเทศมนตรีที่อายุน้อยที่สุดของเมืองคอมป์ตัน ด้วยวัยเพียง 31 ปี

นอกจากจะเป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่อายุน้อย เธอยังเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ที่ใช้ประสบการณ์ด้านการวางผังเมืองและการพัฒนาเศรษฐกิจ ในสมัยยังเป็นลูกจ้างของเมือง เพื่อกำหนดแผน 12 จุด (12-Point Plan) ที่จัดการปัญหาในหลากหลายด้านพร้อมกัน รวมไปถึงการพัฒนาเยาวชน โครงสร้างพื้นฐาน การทำงานกับกลุ่มทางการศึกษา และการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยชาวเมืองคอมป์ตันสามารถเข้าถึงแผน 12 จุดนี้ และสามารถติดตามความคืบหน้าของเมืองคอมป์ตันได้อย่างพร้อมกัน

ในปี 2014 เอจา บราวน์ เริ่มพยายามติดต่อผู้นำแก๊ง Compton Bloods และแก๊ง Crips ผ่านอดีตสมาชิกของแก๊งเพื่อเจรจาสันติภาพ โดยใช้หลักการบรรเทาความขัดแย้งแทนการใช้กำลังตำรวจอย่างรุนแรง เมื่อแก๊งต่าง ๆ เหล่านั้นเริ่มมีการประชุมกันอย่างสม่ำเสมอ กิจกรรมที่มีความรุนแรงและอาชญากรรมต่าง ๆ จึงลดลงถึง 65% เมื่อเทียบกับจุดสูงสุดเมื่อ 25 ปีก่อน

ซาดิก คาน (Sadiq Khan) นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน‬ สหราชอาณาจักร (พฤษภาคม 2016 – ปัจจุบัน)

ชายมุสลิมวัย 50 ปี จากครอบครัวชนชั้นแรงงานชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ ได้รับความไว้วางใจจากชาวลอนดอน เลือกให้มาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี โดยเป็นชาวมุสลิมคนแรกและชนกลุ่มน้อยคนแรกที่ได้เป็นนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนและเมืองหลวงของโลกตะวันตก เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงของพรรคแรงงาน ถึงขนาดที่มีการคาดหมายกันว่าอังกฤษอาจจะมีนายกรัฐมนตรีผู้เป็นมุสลิมลูกผู้อพยพในอนาคตหรือไม่

ในวัยเด็ก คุณครูคนหนึ่งแนะนำให้เขาศึกษาด้านกฎหมายแทนที่จะอยากเป็นทันตแพทย์ เพราะบุคลิกที่ชอบถกเถียงของเขา ด้วยคำแนะนำของคุณครูท่านนั้น ประกอบกับแรงบันดาลใจจากรายการโทรทัศน์ของอเมริกันชื่อ L.A. Law เขาจึงเข้าเรียนนิติศาสตร์ที่ University of North London (ปัจจุบันคือ London Metropolitan University) ทำให้เขาเดินบนเส้นทางของการเป็นนักกฎหมาย โดยเป็นทนายความที่เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน และทนายความหุ้นส่วน

ในปี 2016 (พ.ศ. 2559) ‘ซาดิก คาน’ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีแห่งกรุงลอนดอน โดยชูนโยบายยุติการขึ้นค่าธรรมเนียมขนส่งมวลชนในกรุงลอนดอน 4 ปี นอกจากนี้ แม้เขาจะเคยสนับสนุนการขยายสนามบิน Heathrow ในอดีต แต่เขากลับลำมาต่อต้านและเรียกร้องให้มีการขยายสนามบิน Gatwick แทน เพราะเขาทราบว่า ผู้มีสิทธิลงคะแนนส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนการขยายสนามบิน Heathrow

ในการรณรงค์หาเสียง ซาดิก คาน ผู้ซึ่งตระหนักถึงความรุนแรงของความขาดแคลนที่อยู่อาศัยในกรุงลอนดอน ได้กล่าวถึงมาตรการปราบปรามนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างชาติ และเสนอการให้เช่าด้วย “London Living Rent” หรือค่าเช่าที่มีชีวิตอยู่ได้ในลอนดอน และหน่วยงานให้เช่าที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อตัดราคาผู้ให้เช่าเชิงพาณิชย์และลดต้นทุนการเช่าที่สูงในลอนดอน นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้มีการสร้างบ้านบนที่ดินของการขนส่งเพื่อลอนดอน (Transport for London, TfL) โดยยืนยันว่า อย่างน้อย 50% ของบ้านที่ก่อสร้างนั้นจะ “มีราคาที่สามารถซื้อได้อย่างแท้จริง”

โพลที่จัดโดย YouGov ซึ่งเป็นบริษัทอังกฤษที่ทำวิจัยด้านการตลาดและวิเคราะห์ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ชาวกรุงลอนดอน 31% กล่าวว่า “ไม่สบายใจ” ที่จะมีนากยกเทศมนตรีเป็นชาวมุสลิม เมื่อตระหนักถึงความไม่เชื่อถือของผู้ลงคะแนนเสียงในความจงรักภักดีของชาวอังกฤษที่เป็นมุสลิม ซาดิก คาน จึงเน้นการอุทิศตนให้ระบบคุณค่าสังคมเสรีนิยม โดยเน้นว่า ตนต่อต้านโฮโมโฟเบีย หรือ อาการเกลียดกลัวกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และไม่อดทนต่อการต่อต้านชาวยิว เขาประณามลัทธิอิสลามหัวรุนแรงอย่างเปิดเผย และเรียกร้องให้ชุมชนมุสลิมมีบทบาทนำในการต่อสู้กับลัทธินี้

ซาดิก คาน ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 57% หรือ 1.3 ล้านเสียง ซึ่งมากที่สุดเท่าที่นักการเมืองสหราชอาณาจักรคนใดเคยได้รับมา ให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีแห่งกรุงลอนดอนคนที่ 3 (ชาวลอนดอนลงประชามติในปี ในปี 1998 รับการถ่ายโอนอำนาจจากรัฐบาลกลางเพื่อปกครองตนเอง)

นโยบายและบทบาทสำคัญของเขา คือการปฏิรูประบบขนส่งมวลชนในกรุงลอนดอน ทำให้ค่าใช้จ่ายการเดินทางลดลง และเพิ่มเวลาการให้บริการในบางเส้นทาง รวมถึงพัฒนาการเคหะของกรุงลอนดอน ให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถพักอาศัยได้ และกำหนดพื้นที่มลพิษต่ำพิเศษและจัดเก็บค่าธรรมเนียมความเป็นพิษจากรถยนต์ที่ก่อมลพิษสูงที่เข้าสู่ในพื้นที่เหล่านี้

จิม วัตสัน (Jim Watson) นายกเทศมนตรีแห่งกรุงออตตาวา แคนาดา (1997 – 2000, 2010 – ปัจจุบัน)

‘จิม วัตสัน’ เป็นอีกคนหนึ่งที่เริ่มต้นชีวิตการทำงานเป็นนักข่าวให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น และชนะการเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีแห่งกรุงออตตาวา ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของกรุงออตโตวาด้วยอายุเพียง 36 ปี เมื่อปี 1997

แต่ปี 2000 เขาลาออกจากตำแหน่ง เพื่อทำงานด้านการท่องเที่ยวของแคนาดา รวมถึงทำงานด้านสื่อ ทั้งรายการโทรทัศน์ สถานีวิทยุ และหนังสือพิมพ์ ในช่วงปี 2000 – 2003 และกลับมาลงสมัครเป็นนายกเทศมนตรีกรุงออตตาวาอีกครั้งในปี 2010 โดยชนะการเลือกตั้งติดต่อกัน 3 สมัย และยังคงดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีกรุงออตตาวาจนถึงปัจจุบัน

เขามีนโยบายบริหารด้านการจัดการงบประมาณอย่างยั่งยืน ลดต้นทุนการดำเนินงานของเทศบาล ในขณะที่ลดการขาดดุลงบประมาณและภาระหนี้ของกรุงออตตาวา ข้อมูลระบุว่า เขายังเคยเป็น “ขวากลาง” หรือ Red Tory ที่เน้นนโยบายสังคม ชุมชน โดยรักษาวินัยทางการคลัง เคารพระเบียบทางสังคมและการเมือง นอกจากนี้ ยังเคยเป็นอนุรักษ์นิยมหัวก้าวหน้าในสมัยเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย


แล้วนายก อบต. ไทย ก่อนหน้านี้ เป็นอย่างไร?

นายก อบต. คือ ผู้บริหารสูงสุดของ อบต. นั้น ๆ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามกฎหมาย แต่ละ อบต. จะมีเพียง 1 คนเท่านั้น

แล้ว นายก อบต. ในพื้นที่ของเราเป็นอย่างไร? ชื่อเสียงเรียงนามของเขาเป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่หรือไม่ บุคลิกของเขาเป็นที่รักของคนในตำบลหรือเปล่า แล้วผลงานของนายก อบต. คนนั้นมีสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ต่อเราบ้าง

นี่อาจเป็นคำถามที่จะบอกถึงความเหมาะสมของผู้ดำรงตำแหน่ง นายก อบต.

แต่เมื่อพูดถึง ‘คุณสมบัติ’ ของนายก อบต. ที่กำหนดอยู่ใน พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 พบว่ามีคุณสมบัติที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ (1) มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำทางอายุที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย ซึ่งหมายความว่า คงไม่มีโอกาสได้เห็นคนอายุน้อย ๆ เข้ามาเป็นผู้บริหารท้องถิ่นอย่างแน่นอน แต่เมื่อเทียบกับในบางประเทศที่มีผู้นำท้องถิ่นในวัยเพียงแค่ 20 ตอนปลาย – 30 ตอนต้น เท่านั้น

แล้ว นายก อบต. ของไทยมีอายุเท่าไหร่กันบ้าง ?

ข้อมูลจาก กองการเลือกตั้งท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย หากคำนวณจาก นายก อบต. ชุดล่าสุดที่ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2557 และพ้นจากตำแหน่งเมื่อ 28 กันยายน 2564 ทำให้เห็นค่าเฉลี่ยอายุของนายก อบต. ทั่วประเทศ ว่าอยู่ที่ 58 ปี 11 เดือน เรียกได้ว่าเป็นอายุของคน “วัยก่อนเกษียณ”

ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เราพบว่า นายก อบต. ที่มีอายุมากที่สุด คือ 88 ปี ซึ่งเป็นนายก อบต. ในอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่แม้จะอายุมาก แต่ยังสามารถเป็น นายก อบต. ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดเพดานอายุเอาไว้ เพราะฉะนั้น แม้จะมีอายุถึงร้อยปี แต่หากยังมีความสามารถ และได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ก็ยังสามารถเป็นนายก อบต. ได้

ขณะที่ นายก อบต. ที่อายุน้อยที่สุดของประเทศไทย อยู่ที่ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ที่มีอายุเพียง 38 ปี เท่านั้น และเมื่อเราแยกพิจารณาตามเพศของผู้ดำรงตำแหน่ง นายก อบต. พบว่า 92.83% เป็นผู้ชาย และมีผู้หญิงเพียง 7.17% เท่านั้น สะท้อนได้ถึงบทบาทของผู้หญิงที่ก้าวเข้ามาในตำแหน่ง นายก อบต. ยังมีจำนวนน้อย อาจเป็นเพราะค่านิยมทางสังคม และการเปิดโอกาสให้กับผู้หญิงได้ก้าวเข้ามามีบทบาทนำทางการเมืองของแต่ละพื้นที่ ยังมีสัดส่วนที่น้อยในการเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม อายุและเพศของผู้ดำรงตำแหน่ง อาจไม่ใช่ตัวชี้วัดการทำหน้าที่และการพัฒนาท้องถิ่น นโยบายและการทำงานร่วมกันของทีมบริหารต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญ แต่กระนั้น เมื่อถามถึงผลงานและการพัฒนาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ต้องยอมรับว่าระดับตำบลอาจมองหาผลงานที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักค่อนข้างยาก หรืออาจมีอยู่แต่ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ฉะนั้น หากผู้สมัครท่านใดอยากให้สังคมรู้จักจากผลงานที่ทำ มากกว่าอายุและหน้าตา เมื่อมีโอกาสได้เข้าไปทำหน้าที่ ก็ควรมุ่งมั่นตั้งใจ สร้างความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นให้ดีที่สุดนั่นเอง

การเลือกตั้ง นายก อบต. ในปี 2564 ที่จะถึงนี้ มีสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงในแง่ของตัวผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่สำคัญ คือ กลุ่มทางการเมืองซึ่งได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ แสดงตัวชัดเจนว่าจะเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง นายก อบต.ในครั้งนี้ เช่น “คณะก้าวหน้า” ภายใต้แคมเปญ “นายก อบต. ก้าวหน้า” เปิดรับสมัครตัวแทนชิง นายก อบต. เปิดกว้างสำหรับทุกคนที่มีความฝัน และได้รับความสนใจจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นปัญหาในพื้นที่ และอยากมีส่วนร่วมแก้ไขจำนวนมาก

นอกเหนือจากเรื่อง “อายุ” ที่เป็นคุณสมบัติสำคัญแล้ว ยังมีเรื่องวุฒิการศึกษาและประสบการณ์ ที่กฎหมายกำหนดไว้ว่า (2) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาตำบล สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกรัฐสภา ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วถือเป็นคุณวุฒิตามเกณฑ์การศึกษาขั้นพื้นฐาน และถึงแม้วุฒิการศึกษาของผู้สมัครจะไม่ถึงเกณฑ์ ก็อาจลงสมัครได้ หากมีประสบการณ์ตามตำแหน่งที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

“เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา” ทำไมถึงมาสมัครเป็นนายก อบต. ? นั่นเพราะกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ ถึงแม้จะเป็นการเมืองคนละระดับ แต่รูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันนี้ ก็อาจเปลี่ยนบทบาทมาทำงานในท้องถิ่นได้มากขึ้น กล่าวคือ หากเป็น “สมาชิกรัฐสภา” คือ ส.ส. หรือ ส.ว. อาจทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ แต่ นายก อบต. เป็นฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นบทบาทที่เอื้อต่อการบริหารท้องถิ่นและพัฒนาท้องถิ่นได้มากขึ้น


ทัศนคติที่ว่า นายก อบต. เป็นช่องทางผลประโยชน์และบันไดสู่การเมืองระดับอื่น ?

นี่อาจเป็น “ภาพลักษณ์” ที่ไม่ค่อยดีนักของ อบต. เพราะเมื่อถามความรู้สึกประชาชนที่มีต่อองค์กรส่วนท้องถิ่น รวมถึง อบต. มีไม่น้อยที่ตอบว่ามีการโกงกิน ทุจริตคอร์รัปชันจำนวนมาก

แล้วความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่? ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. พบว่าภาพรวมของปีงบประมาณ 2563 มีการกล่าวหาร้องเรียนเข้ามายัง ป.ป.ช. มากถึง 9,130 เรื่อง ในจำนวนนี้ เป็นเรื่องที่ ป.ป.ช. มีมติรับไว้ดำเนินการเอง 2,951 เรื่อง และเรื่องส่งให้หน่วยงานอื่นดำเนินการ 3,109 เรื่อง รวมเป็น 6,060 เรื่อง

ปรากฏว่า หน่วยงานที่ถูกกล่าวหามากที่สุด ได้แก่ หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มากถึง 2,303 เรื่อง (ร้อยละ 38.00) รองลงมา เป็นกระทรวงมหาดไทย 762 เรื่อง (ร้อยละ 12.57) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 704 เรื่อง (ร้อยละ 11.62) และส่วนราชการอื่น ๆ อีก 2,297 เรื่อง (ร้อยละ 37.81) ซึ่งในส่วนของท้องถิ่นนั้น เป็นข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นในหน่วยงานท้องถิ่นทุกระดับ ไม่ได้จำเพาะแค่ระดับ อบต. เท่านั้น

หากดูข้อมูลอีกชุด คือ คดีที่เข้าสู่ ศาลอาญาคดีทุริตและประพฤติมิชอบทั่วประเทศ ประจำปี 2563 เกี่ยวกับข้อมูลหน่วยงานที่ “ถูกฟ้อง” พบว่ามีบุคคลในหน่วยงานที่ถูกฟ้องทั้งสิ้น 2,636 คน และหน่วยงานที่ครองแชมป์ อันดับ 1 ด้านคดีทุจริตคือ “องค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต.” 519 คน คิดเป็น 19.69% ของจำนวนผู้ถูกฟ้องทั้งหมด

สำหรับข้อหาที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จำแนกได้ 4 อันดับ คือ (1) เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยทุจริตหรือโดยมิชอบ (2) เจ้าพนักงานรับรองเอกสารอันเป็นเท็จ (3) เจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์ และ (4) ความผิดตามกฎหมายอื่น ๆ รวมมูลค่าความเสียหายที่ขึ้นสู่ศาล เป็นเงินกว่า 1,300 ล้านบาท

และเมื่อลงไปดูงบประมาณของ อบต. แม้จะเป็นงบประมาณที่รวมกับเทศบาลตำบลอยู่ด้วย แต่จากคำของบประมาณรายจ่ายที่ยื่นผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้เสนอตั้งงบประมาณในปีงบประมาณ 2564 เป็นจำนวนมากถึง 226,450 ล้านบาท และเมื่อคิดเป็นอัตราส่วนต่องบฯ เงินอุดหนุนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด คิดเป็น 70.9% ของงบประมาณที่มีอยู่ 322,250 ล้านบาท

แล้วประชาชนจะยังเฝ้ามองภาษีจำนวนหนึ่งหล่นหายไปจากการทุจริตคอร์รัปชันอีกนานแค่ไหน ?

ในทางกลับกัน สิ่งนี้อาจใช้เป็นแรงจูงใจ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและให้ความสำคัญในตัวว่าที่ผู้บริหารท้องถิ่นที่จะเข้ามาใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างคุ้มค่า เพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง


“มีรางวัลการันตีว่าดีเด่น” แม้ภาพลักษณ์ด้านลบอาจบดบังความตั้งใจของ อบต.บางแห่งไปบ้าง แต่ก็ไม่อาจมองข้ามความสำเร็จของการจัดการท้องถิ่น

มี อบต. จำนวนมากทำหน้าที่ในฐานะหน่วยงานท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี สะท้อนผ่านรางวัลที่หน่วยงานต่าง ๆ จัดขึ้น และมอบให้กับ อปท. เพื่อกระตุ้นและจูงใจให้เกิดการแข่งขัน การพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของท้องถิ่นนั้น ๆ

รางวัล “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี” เริ่มมอบครั้งแรกในปี 2546 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ถือเป็นรางวัลที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งประเทศมุ่งหวังอยากได้มาประดับไว้ ด้วยเงินรางวัลจำนวนมาก และแสดงภาพลักษณ์การทำงานได้โดดเด่นในระดับประเทศ

สอดคล้องกับความเห็นของ กัมพล กลั่นเนียม อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี ที่เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ รางวัลนี้ถือว่าได้รับความสนใจจากผู้บริหารท้องถิ่นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อบต. ที่ไม่ได้มีงบประมาณมากนัก ที่จะจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่ของตนเอง เงินรางวัลที่ได้รับนี้ อาจช่วยพัฒนาท้องถิ่นของตนเองได้ไม่น้อย

“อบต. ไหนที่เคยได้รับรางวัลนี้ ก็จะถือว่าเข้าตากรรมการ เพราะเราไม่ได้ของบประมาณโดยตรง ต้องผ่านจังหวัด ผ่านกระทรวงอีก ที่จะคอยตัดสินว่าต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ หากมีรางวัลติดไปด้วย ถือว่าโอกาสที่จะได้ตามที่ร้องขอสูง”

รางวัลดังกล่าว มีหลักเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน โดยพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน การสร้างเครือข่าย และสิ่งที่ทำต้องตรวจสอบได้ โดยผลของความสำเร็จต้องส่งผลถึงความมั่นคงทางสังคม การป้องกันความรุนแรง และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการทุจริต ผ่านกฎระเบียบที่มีนิติธรรมและมีคุณภาพ

ที่น่าสนใจคือสิ่งที่ทำ ต้องถือเป็น “นวัตกรรมท้องถิ่น” ที่เป็นการคิดค้น ริเริ่มโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ เอง

เช่นในปี 2564 แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับที่ผ่านเกณฑ์ประเมิน มีจำนวน 147 รางวัล รวมเงินสนับสนุนจำนวน 34.2 ล้านบาท และ ระดับที่เข้าสู่การประเมินในรอบสุดท้าย มีจำนวน 72 รางวัล รวมเงินสนับสนุนจำนวน 28.8 ล้านบาท ซึ่งหากหน่วยงานใดได้รับรางวัล จะมีเงินรางวัลมอบให้ตั้งแต่ระดับ 2 แสนบาทไปจนถึง 4 ล้านบาทเลยทีเดียว

รางวัลใหญ่ที่สุดสำหรับรายการนี้ คือ “รางวัลดีเลิศ” ซึ่งในปี 2564 นี้ รางวัลที่ 1 ได้แก่ “อบต.รางจรเข้” อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับเงินรางวัล 4 ล้านบาท ส่วน อบต.ที่ได้รับรางวัลที่ 2 และ 3 จะได้รับเงินรางวัล 3 และ 2 ล้านบาทตามลำดับ

ส่วน “รางวัล อบต.ประเภทโดดเด่น” มีจำนวน 5 รางวัล รวมเงินรางวัล 9.8 ล้านบาท ซึ่ง รางวัลที่ 1 ได้แก่ “อบต.นาพันสาม” อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี นอกจากนั้นยังมี อบต.มากกว่า 20 แห่ง ที่ได้รับรางวัลประเภททั่วไปในปีนี้อีกด้วย

งบประมาณสนับสนุนที่ได้รับจากรางวัลนี้ ไม่ใช่กรณีที่จะสามารถใช้อย่างไรก็ได้ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ อปท. ต่าง ๆ ที่ได้รับเงินจะต้องมีการายงานผลการใช้จ่ายเงินรางวัลให้หน่วยงานเจ้าของรางวัลทราบ ว่าได้มีการส่งเสริม หรือดำเนินการต่อยอดในผลงานที่หน่วยงานของตนได้ทำไว้หรือไม่ เพื่อให้เงินรางวัลที่ได้ ก่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในท้องถิ่น

“สถาบันพระปกเกล้า” เป็นอีกหน่วยงานที่จัดมอบรางวัล โดยใช้ชื่อว่าโครงการ “รางวัลพระปกเกล้า” เพื่อประเมินผลและให้รางวัล อปท. ที่เป็นเลิศในด้านต่าง ๆ ได้แก่ (1) ประเภทรางวัลความเป็นเลิศด้านความโปร่งใสและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน (2) ประเภทรางวัลความเป็นเลิศด้านการเสริมสร้างสันติสุขและความสมานฉันท์ และ (3) ประเภทรางวัลด้านความเป็นเลิศด้านการเสริมสร้างเครือข่าย รัฐ เอกชน และประชาสังคม และในปีหน้า สถาบันพระปกเกล้าจะมีการเพิ่ม รางวัลด้านการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม อีกด้วย

ก่อนจะมีการมอบรางวัล ได้แบ่งการประเมินเป็น 2 ขั้น คือ การประเมินขั้นต้น คือใช้เกณฑ์ตัวชี้วัดพื้นฐาน และการประเมินขั้นพัฒนา ด้วยค่าคะแนน T-Score หลังจากนั้น จึงเป็นการจัดอันดับคะแนนและมอบรางวัลความเป็นเลิศในแต่ละด้าน โดยข้อมูลล่าสุดมีการมอบรางวัลในปี 2562 พบว่ามีหน่วยงานระดับ อบต. ที่ได้รับรางวัลเป็นเลิศด้านความโปร่งใส จำนวน 5 แห่ง เป็นเลิศด้านสันติสุขและสมานฉันท์ จำนวน 1 แห่ง และด้านการสร้างเสริมเครือข่าย จำนวน 3 แห่ง โดยการให้รางวัลดังกล่าว เป็นความสมัครใจของแต่ละหน่วยงานที่จะยื่นขอรับการประเมินจากสถาบันพระปกเกล้า

อบต. ไทย ยังไปคว้ารางวัลระดับโลก โดยในปี 2562 อบต.หนองตาเเต้ม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้รับรางวัล United Nations Public Service Awards (UNPSA) 2019 จากผลงาน นวัตกรรมชุมชนไฟฟ้าพลังงานเเสงอาทิตย์แบบพึ่งพาตนเอง ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ อันเป็นการยกระดับมาตรฐานบริการสาธารณะของหน่วยงานท้องถิ่นไทย ที่มุ่งเน้นแค่การทำถนน ติดไฟส่องสว่าง แต่หันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับการใช้ชีวิตของคนในท้องถิ่นตนได้เป็นอย่างดี

เพราะฉะนั้น รางวัลที่มอบให้กับ อบต. และ อปท. ในทุกระดับ ไม่เพียงจะช่วยสร้างแรงจูงใจในการทำหน้าที่ของคนในองค์กรเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของท้องถิ่น ที่จะส่งผลให้การให้บริการสาธารณะ ตอบสนองความต้องการของประชาชน และเป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริง


“ความหวังของท้องถิ่น อยู่ในมือเรา…” 

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ทำให้การเลือกตั้ง อบต. ครั้งที่จะถึงนี้ ต่างจากการเลือกตั้ง อบต. ครั้งก่อน ๆ คือ “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” ที่เปลี่ยนไปเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

กล่าวคือ การเลือกตั้ง อบต. หรือการเลือกตั้งระดับอื่น ๆ ก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2560 จะประกาศใช้ ให้นับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันที่ 1 มกราคม ของ “ปีที่จัดให้มีการเลือกตั้ง”

แต่สำหรับกฎหมายเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี บริบูรณ์ “ในวันที่มีการเลือกตั้ง” นั่นหมายความว่า เกณฑ์นี้ทำให้เมื่อเทียบกับในอดีต ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะอายุน้อยลง 10-11 เดือน หากการเลือกตั้ง อบต. ถูกกำหนดให้มีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2564

อีกสิ่งที่น่าสนใจ คือ เมื่อการเลือกตั้งท้องถิ่น ระดับ อบต. ถูกเว้นระยะห่างมากกว่า 7 ปี เพราะการรัฐประหาร นั่นหมายความว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ที่จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันใน อบต. 5,300 แห่งทั่วประเทศ จะมี New Voter หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่ ที่ไม่เคยเลือกผู้บริหารท้องถิ่นระดับ อบต. มาก่อน ไม่มีอะไรการันตีว่าคะแนนที่เพิ่มมากถึง 12.99% นี้ จะมีผลให้หน้าตาของการเมืองท้องถิ่น เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน

การเลือกตั้งท้องถิ่นพร้อมกันทั่วประเทศครั้งนี้ ทำให้จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสูงถึง 34 ล้านคน โดยเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งเดิม 29.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 87.01% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ขณะที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่ 4.42 ล้านคนนี้ คิดเป็น 12.99% นั่นหมายความว่าส่วนต่างนี้ อาจมีผลในพื้นที่การแข่งขันที่ผู้ชนะการเลือกตั้งในอดีต เคยมีคะแนนทิ้งห่างคู่แข่งน้อยกว่า 12.99% ซึ่งส่วนต่างที่เพิ่มมานี้ อาจมีผลทำให้เปลี่ยนผู้ชนะในสนามนั้น ๆ ได้

ข้อมูลจาก สถาบันพระปกเกล้า รวบรวมสถิติสำคัญในการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ระหว่างปี 2556 – 2557 พบว่า จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น ราว 9.6 ล้านคน มีผู้มาใช้สิทธิ 78.30% ส่วนจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น ราว 11.8 ล้านคน มีผู้มาใช้สิทธิ 77.61% (เนื่องจากแต่ละท้องถิ่นมีการเลือกตั้งไม่พร้อมกัน)

ขณะเดียวกัน มีเพียงการเลือกตั้งใน 6 ท้องถิ่นเท่านั้น ที่มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งถึงร้อยละ 90 อยู่ในจังหวัดตรัง อ่างทอง พัทลุง กาญจนบุรี และพระนครศรีอยุธยา

สิ่งนี้อาจพออธิบายความตื่นตัวทางการเมืองในท้องถิ่นได้ว่า เมื่อตัวชี้วัดผู้แพ้หรือชนะ มาจากประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ ที่แม้ประชากรจะไม่มาก แต่หากมีผู้บริหารและสมาชิกสภาที่มีคุณภาพ ก็จะทำให้การพัฒนาท้องถิ่นเดินหน้าได้อย่างที่ประชาชนต้องการ และใกล้ฝันของการกระจายอำนาจได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะขึ้นอยู่กับว่า “อำนาจหน้าที่ งบประมาณ และการมีส่วนร่วมของประชาชน” ในท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นอย่างไร เพราะนั่นหมายความว่า “การพัฒนาท้องถิ่น” ในจินตนาการของใครหลาย ๆ คน ก็อาจจะเป็นจริงได้ ถ้าการเมือง (ท้องถิ่น) ดี


อ้างอิง

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active