ยะลาตั้งเป้า ‘ศูนย์กลางเสื้อผ้ามลายู’ กระตุ้นเศรษฐกิจ

หวังผนึกกำลังผู้ประกอบการ ผลักดันแบรนด์ ‘ปากายันมลายู’ ผ้าพื้นเมืองภาคใต้ เป็นศูนย์กลางออกแบบ จำหน่าย เสื้อผ้ามลายูครบวงจร เตรียมเปิดตัวสิงหาคมนี้

วานนี้ (17 มิ.ย.65) เทศบาลนครยะลา จัดประชุมร่วมภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และหน่วยงานในพื้นที่ ผลักดันโครงการ ปากายันมลายู เพื่อให้พื้นที่เขตเทศบาลนครยะลา เป็นศูนย์กลางออกแบบ จำหน่าย เสื้อผ้าแฟชั่นมลายูของชายแดนใต้และภูมิภาค เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่สำหรับจังหวัดยะลา และวัฒนธรรมมลายู

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา กล่าวในที่ประชุมว่า แนวคิดเบื้องต้นเกิดจากช่วงการลงหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา แล้วพบว่าคนจากจังหวัดอื่นนิยมเข้ามาซื้อสินค้าที่เป็น ‘ผ้าพื้นเมือง’ ของยะลาจำนวนมาก นอกจากนั้นยังเห็นพ่อค้า แม่ค้าใช้ช่องทางออนไลน์ไลฟ์สดขายผ้าดังกล่าวอีกด้วย จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสร้างยะลาให้เป็นศูนย์กลางของแฟชั่นเสื้อผ้ามลายูเพื่อเป็นการส่งเสริมสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่

“คาดหวังไว้ว่าในอนาคตลายผ้ามลายูเหล่านี้ อาจจะกลายเป็น แบรนด์ดังของยะลา ที่สามารถจะขายไปทั่วโลก ซึ่งต้องเริ่มต้นจัดการเรียน การอบรม ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ หรือ Young – Designer ให้มาสานต่อการออกแบบให้เข้าได้กับวัยต่างๆ และสอดคล้องกับเมืองยะลาด้วย”

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ

นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา ยังนำเสนอแนวทางการผลักดันโครงการดังกล่าวว่า จำเป็นต้องระดมความคิด ออกแบบธีมงานให้สอดคล้องกับเมืองยะลา โดยภายในงาน อาจจะมีการจัดกิจกรรมการเดินแฟชั่น ซึ่งมีความคิดว่าอาจจะนำนางแบบที่มีชื่อเสียง ทั้งของไทย มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย มาเดินแบบด้วยชุดที่ออกแบบโดยคนไทย หรือการจัดการแข่งขันออกแบบ ตัดเย็บ ลายผ้า เพราะ ที่ผ่านมาเทศบาลนครยะลา ร่วมกับสถานกงสุลใหญ่อินโดนีเซีย และสถานกงสุลใหญ่มาเลเซีย จัดงาน มลายูเดย์ มาแล้วหลายปี ดังนั้น อาจจะนำเรื่องผ้าไปรวมกับการจัดงานนี้ได้ด้วย

สำหรับเสื้อผ้ามลายู ถือว่า เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่สวยงามของภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันได้มองผ้าออกเป็น 3 ประเภท ผ้าร่วมสมัย คือ ผ้าที่เราใส่กันทั่วไป ผ้าพื้นเมือง ได้แก่ ผ้าบาติก ผ้าปะลางิง และผ้าพระราชทาน ซึ่งเป็นผ้าไหม หรือเป็นลายพระราชทาน ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงออกแบบลวดลาย แล้วพระราชทานให้นักออกแบบผ้าพื้นเมืองประยุกต์ใช้

ทางด้าน นักออกแบบผ้าในยะลา ที่มาร่วมประชุมก็ได้นำเสนอความเห็นที่หลากหลาย เพื่อช่วยกันผลักดันกิจกรรมนี้ให้สำเร็จ นอกจากนี้ร้านขายผ้า ขายชุดแต่งกายที่มาร่วมประชุม ก็ให้ความร่วมมือที่จะรวมพลังผลักดันให้พื้นที่ในเขตเทศบาลนครยะลา เป็นศูนย์กลางการออกแบบ จำหน่ายเสื้อผ้าแฟชั่นเครื่องแต่งกายมลายู โดยใช้ชื่อว่า ‘ปากายันมลายู’ หรือแปลว่า เครื่องแต่งกายตามอัตลักษณ์มลายู เพื่อส่งเสริมให้เป็นจุดเด่นของสินค้ายะลา ที่จะส่งจำหน่ายได้กว้างขึ้นในอนาคตต่อไป

โครงการนี้เป็นการผนึกกำลังของผู้ประกอบการจำหน่ายผ้า นักออกแบบผ้า ดีไชน์เนอร์ วัฒนธรรมจังหวัดยะลา พัฒนาชุมชนจังหวัดยะลา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมผลักดันพื้นที่ย่านตลาดเก่า และย่านการค้าในเขตเทศบาลนครยะลา ให้เป็นศูนย์กลางการจำหน่ายเสื้อผ้าแฟชั่นมลายู เน้นออกแบบให้เป็นอัตลักษณ์ เพื่อส่งขายในสังคมมลายู และผู้ที่สนใจ คาดว่าจะเปิดตัวในเดือนสิงหาคมนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้