ฉากทัศน์การปกครอง ปาตานี/ชายแดนใต้ ควรเป็นแบบไหน ?

เสวนาหาทางออกการเมืองภาคใต้ มอง ‘รัฐ’ ต้องเปิดโอกาสให้พูดเรื่อง ‘เอกราช’ คืนอำนาจตัดสินใจให้ท้องถิ่น ‘นักวิชาการ’ เสนอ 8 รูปแบบการปกครอง จากความต้องการร่วมของคนในพื้นที่ ผุดนิยาม ‘สหพันธรัฐ’ ภายใต้ดินแดนเดียวกัน

วงเสวนาประเด็น “การเมืองการปกครอง” ภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ผ่านทางเพจ The Motive เปิดพื้นที่พูดคุยถึง ฉากทัศน์ (Scenario) การเมืองการปกครองของจังหวัดชายแดนใต้ ให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ ภายใต้เงื่อนไขความเป็นรัฐ และการยอมรับร่วมกันของสังคม ผ่านการถอดบทเรียนจากอดีต ทำความเข้าใจปัจจุบัน และมองภาพอนาคตร่วมกัน

ปมขัดแย้ง ไม่ใช่ ‘ศาสนา’ แต่คือ ‘การเมือง’

รอมฎอน ปันจอร์ ศูนย์เผ้าระวังชายแดนใต้ (DSW) หนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนา กล่าวว่า เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว มีจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่นำมาสู่การพูดคุยเรื่องการเมืองการปกครองของปาตานี เรื่องแรก คือ นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นกรอบนโยบายหลัก เริ่มต้นจาก พ.ร.บ.การบริหารชายแดนภาคใต้ฯ ที่เปิดให้เห็นความเป็นไปได้ในทางการเมือง และสิ่งที่ไม่เคยปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรมาก่อน

“รัฐต้องส่งเสริมให้มีการพูดคุยสันติภาพ เปิดโอกาสให้มีการแสวงหารูปแบบการปกครองที่เหมาะสมในชายแดนใต้ โดยไม่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน”

จุดเปลี่ยนประการต่อมา คือ การจัดตั้ง 200 เวที พูดคุยและถกเถียงเรื่อง ‘ตัวแบบ’ ของการปกครองว่าควรเป็นแบบใด ซึ่งเกิดจากการรวบรวมข้อเสนอ ตกผลึกมาเป็นรูปแบบการปกครองมากมาย เช่น การจัดตั้งทบวงชายแดนใต้, รูปแบบการปกครองพิเศษภายใต้รัฐเดี่ยว, การเลือกตั้งผู้ว่าฯ 3 จังหวัด หรือ รวมกันเป็นปัตตานีมหานคร นั่นหมายถึง มีการพูดกันในรายละเอียด เชิงโครงสร้างทางปกครองกันมาก่อนแล้ว

“ความขัดแย้งที่เราเจอตอนนี้เป็นเรื่องของการเมือง ไม่ใช่ศาสนา หรือภัยแทรกซ้อนใดๆ หัวใจสำคัญ คือ ความต่อเนื่องของการถกเถียงกันว่า ตกลงแล้วจะปกครองพื้นที่และผู้คนตรงนี้อย่างไร ให้ชอบธรรม และทุกคนยินยอมพร้อมใจรับอำนาจที่ปกครองแบบนั้น”

รอมฎอน กล่าวว่า การพูดถึงอนาคต จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้อดีต ว่ามีความเป็นมาอย่างไร เพราะบางครั้งข้อถกเถียงในปัจจุบัน คนรุ่นก่อนเขาได้ถกกันมาก่อนแล้ว ว่ามีคนพยายามคัดค้าน สกัดกั้น หรือต่อสู้ในรูปแบบใด เพื่อเป็นข้อเตือนใจ หากอดีตเป็นเรือนจำ ที่เคยคุมขังเรา อาจหมายถึง ทางความคิด หรือเป็นความทรงจำที่ไม่ การจะไปสู่อนาคต คุณต้องปลดปล่อย และแหกพันธนาการออกไปด้วย

‘อนาคต’ ที่ไม่ขึ้นกับผู้อำนาจ หรือ เงื่อนไขในทาง ‘เผด็จการ’

อาเต็ฟ โซ๊ะโก จาก The Patani เริ่มต้นด้วยสถานการณ์ที่น่าอึดอัดว่า การพูดถึงเรื่องรูปแบบการปกครองในประเทศไทย ได้ตัดตอนชุดความฝันของคนบางกลุ่ม เพราะยังมีคนที่ไม่สามารถพูดความเชื่อว่า สิ่งที่ดีที่สุดของคนที่นี่ คือ เอกราช นั่นเพราะ ประเทศไทย ไม่ได้มีวุฒิภาวะมากพอในทางประชาธิปไตย ที่จะพูดถึงเอกราช ในมุมมองของพวกเขา ว่าควรเป็นแบบไหน

“เราควรจะพูดเรื่องนี้ได้ โดยที่ไม่ต้องเกรงใจคนขับรถถัง หรือผู้มีอำนาจอาญาสิทธิ์ แต่เถียงกันบนฐานความแตกต่างของคนปัตตานี แต่สุดท้ายอนาคตปัตตานี ยังขึ้นอยู่กับชนชั้นปกครองในกรุงเทพฯ อยู่ดี คนที่กำหนดที่นี่ คือ คนที่อื่น ทำไมพวกเราถึงไม่สามารถกำหนดสิ่งที่ตัวเองต้องการได้…”

อาเต็ฟ กล่าวว่า ความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้ มีอยู่ 2 เรื่องหลักที่ปะทะกันอยู่ คือ การรัฐประหาร ยึดอำนาจ แล้วตั้งคนเข้ามาบริหารแทน โดยทำลายการเคารพในสิทธิของประชาชน กับ ความเชื่อว่ามีประเทศของตนเอง และมีอำนาจเพียงพอในการปกครองตนเอง และ การอยู่ในรัฐเดิม ก็อาจมีรูปแบบการปกครองหลากหลาย ทั้งการมีอำนาจน้อย หรือมีอำนาจมาก หรือแม้แต่ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั้งนี้ หลักในการแก้ปัญหา คือ การให้สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง

“ตอนนี้เราอยู่ในภาพอนาคตที่มันแย่ที่สุด” อาเต็ฟ กล่าวต่อว่า การพูดคุยสันติสุข กับรัฐบาลลักษณะนี้ อาจได้ข้อตกลงออกมาก็จริง แต่ท้ายที่สุด คนปัตตานีจะถูกความเป็นศรีธนนชัยของผู้มีอำนาจมาหักหลัง ภาพที่ชัดเจนที่สุด คือ เราเป็นคนที่นี่ แต่ต้องมาเสวนาด้วยภาษาที่เราไม่ได้คิดว่าเป็นภาษาเรา(ภาษาไทย) แต่กลายมาเป็นภาษาของเราไปแล้ว เป็นรูปแบบการปกครอง ซึ่งมีเงื่อนไขไปในทางเผด็จการมากกว่า

5 ห้องหัวใจ ความต้องการร่วมของคน ‘ปาตานี’

อับดุลเราะมัน มอลอ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นผ่านการสัมภาษณ์บุคคลซึ่งทรงอิทธิพลในพื้นที่ชายแดนใต้ ว่า ความต้องการ ใดที่มุ่งหมายให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งเป็นรายงานเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2563 แต่ยังไม่เคยเปิดเผยที่ใดมาก่อน เวทีนี้เป็นเวทีแรก เพื่อเป็นทางออกทางการเมืองต่อชายแดนใต้ ใช้ชื่อว่า 5 ห้องหัวใจ

  1. ความสงบสุข เป็นสิ่งที่ไม่ว่าจะนิยามตนเองว่าอย่างไร ศาสนาใด แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ ความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ ซึ่งอาจมีนิยามรูปแบบไม่เหมือนกัน
  2. ต้องการมีอิสระในการดำเนินชีวิต ไปตามอัตลักษณ์วัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งคนนอกพื้นที่ต้องเข้าใจว่า เรามีสิ่งที่อยากรักษาไว้
  3. ต้องการให้ผู้มีอำนาจ ปฏิบัติต่อตนอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม ไม่ถูกเลือกปฏิบัติเหมือนประชาชนชั้นสอง
  4. ต้องการมีพื้นที่ส่งเสียงความต้องการของตนเองอย่างเสรี มีพื้นที่แสดงออก และพื้นที่ทางการเมือง โดยไม่ถูกจับตาหรือคุกคาม และความเห็นของพวกรา ได้รับการรับฟัง ตอบสนองจากผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ
  5. ต้องการมีอำนาจกำหนดความเป็นไป ทั้งคนพุทธ และคนมุสลิม เพราะ ระดับของการกำหนดตัดสินใจ ตอนนี้ไม่เท่ากัน

“สันติภาพที่แท้จริงของปัตตานี เราไม่อาจแบกรับเพียงลำพังได้ ในทางกลับกันประชาธิปไตยที่แท้จริงของไทย จะไม่มีวันได้สัมผัส หากขาข้างหนึ่งยังเหยียบเพื่อนร่วมชาติ ให้ไม่ได้สิทธิที่ควรจะเป็นของเขา การต่อสู้เพื่อให้ไทยเป็นประชาธิปไตย จึงต้องใจกว้างมากพอ…”

ออกแบบการปกครอง โดยเอา ‘คนเป็นศูนย์กลาง’

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา กล่าวว่า การกระจายอำนาจ กระแสความเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นในเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ แต่เป็นกระแสของโลกที่ไม่สามารถหยุดได้ เมื่อคนมีการศึกษามากขึ้น ความต้องการ ความหลากหลายก็มากขึ้น เพราะฉะนั้น จึงไม่มีรูปแบบการปกครองไหน ที่ตรงความต้องการมนุษย์ได้ นอกเหนือจากการกระจายอำนาจ

ในขณะที่ประเทศไทยเอง ชนชั้นปกครองตั้งแต่อดีตมีแนวคิดที่มองว่า ตนเองเป็นศูนย์กลางอำนาจ ซึ่งตรงกันข้ามกับการกระจายอำนาจ ที่ต้องเคารพประชาชนเป็นศูนย์กลาง และไม่มีสิทธิคิดอะไรแทนประชาชน ซึ่งตนเห็นด้วยกับแนวคิด 5 ห้องหัวใจของ อ.อับดุลเราะมัน ทั้งเรื่องความสงบสุข ที่ทุกคนต้องการ จะทำอย่างไรให้ประชาชน มั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินก่อนคิดเรื่องอื่น หรือแม้แต่เคารพซึ่งกันและกัน ในสังคมพหุวัฒนธรรม นี่คือสิ่งสำคัญ ในการออกแบบฉากทัศน์ที่ต้องเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง

“การอยู่ในพื้นที่แบบนี้ การมีส่วนร่วมสำคัญมาก ใครจะเสนอเรื่องเอกราช ฝ่ายความมั่นคงต้องยอมให้ทำได้ และควรมีแพ็คเกจมาเสนอ เพื่อตั้งวงถกกันว่าแบบใดดีที่สุด ตกผลึกให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด ถ้ารัฐกลัวประชาชนฉลาด สุดท้ายเราจะโง่ แต่ถ้ามองว่าประชาชน คือ ผู้ฉลาด สุดท้ายเราจะได้เรียนรู้จากเขา”

8 รูปแบบการปกครอง สู่ทางออกการเมืองชายแดนใต้

อับดุลเราะมัน ยังได้นำเสนอ 8 ฉากทัศน์ ที่นำไปสู่การตกลงร่วมกันของคนในพื้นที่ ซึ่งมองว่าแนวทางดังกล่าวนี้ หากคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ของรัฐไทย และกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็นเห็นด้วย ก็สามารถนำไปสู่การเดินหน้าเพื่อผลักดันอย่างจริงจัง ซึ่งแบ่งได้ ดังนี้

  1. ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการปกครอง แค่ขจัดการก่อเหตุความไม่สงบ
  2. กระจายอำนาจมากขึ้น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีอิสระมากขึ้น โดยเพิ่มบทบาทให้ทุกหน่วยงานท้องถิ่น และลดอำนาจผู้ว่าฯ และราชการส่วนภูมิภาคลง
  3. ตั้งกระทรวงชายแดนใต้ ให้มีรัฐมนตรีเฉพาะ และมีรัฐมนตรีช่วย เป็นเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือศอบต.
  4. เลือกตั้งเลขาธิการ ศอบต. และให้สภาที่ปรึกษามาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการระดับพื้นที่ได้
  5. เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด ในฐานะหัวหน้าคณะบริหารท้องถิ่น
  6. จัดตั้งเขตปกครองพิเศษ หรือการบริหารท้องถิ่นขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการรวมพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เข้าด้วยกัน (3 จังหวัด และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา)
  7. เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ ที่ไม่ได้จำกัดแค่ในจังหวัดชายแดนใต้ โดยยกระดับการกำหนดความเป็นไปในประเทศไทยแบบภาพรวม ให้แต่ละส่วนมีเอกลักษณ์ของตัวเอง แต่ยังคงอยู่ในประเทศไทย
  8. มีเอกราชเหนือดินแดน คือ ต้องการมีอำนาจอธิปไตยที่เป็นอิสระจากประเทศไทย

ในส่วนของแนวคิด เรื่อง เอกราช อับดุลเราะมัน อธิบายเหตุผลหลักที่มีผู้เสนอไว้ว่า ไม่อยากอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐ ที่เน้นแค่ความเป็นไทย, ต้องการให้สิ้นสุดการยึดครอง หรือขับไล่การยึดครองออกไป, ต้องการสถาปนารูปแบบการปกครองรัฐอิสลาม เพื่อรักษาไว้ซึ่งคุณค่าทางศาสนา

“คำถามที่ผมได้รับมาโดยตลอด คือ ถ้าฝ่ายการเมือง BRN บังเอิญได้ข้อตกลงกับรัฐบาลไทยในรูปแบใดรูปแบบหนึ่งที่ว่ามานี้ ฝ่ายการทหารจะหยุดปฏิบัติการหรือไม่ จะยอมรับคนที่อยู่บนโต๊ะหรือไม่ นี่คือการตั้งคำถามเพื่อไปต่อ และเป็นสิ่งที่ต้องมีคำตอบสำหรับฉากทัศน์ในอนาคตด้วย”

อับดุลเราะมัน มอลอ

รอมฎอน กล่าวเสริมว่า การปรับตัวของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นปัจจัยสำคัญของการออกแบบรูปแบบการปกครอง ที่ต้องเผชิญความท้าทายในทุกด้าน เงื่อนไขโครงสร้างการเมืองการปกครองไทย กำลังเปลี่ยนแปลงเรา ในอนาคตจะมีการเปิดพื้นที่การเมืองมากขึ้น และการเมืองแห่งความหวัง จะเข้ามาดุลกับกลุ่มอำนาจแรกที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์ เกิดการปะทะต่อรองกัน แต่ทั้งหมดจะเป็นบริบทแวดล้อมของการคิดเรื่องการปกครองของคนปัตตานีด้วย

เช่นเดียวกับ อาเต็ฟ ที่มองว่าฉากทัศน์ที่ใกล้ตัว และมีความเป็นไปได้มากที่สุด คือ ฝ่ายอำนาจนิยมจะแพ้อย่างราบคาบในการเลือกตั้ง เราจะมีเพื่อนฝ่ายประชาธิปไตยที่ร่วมกันเป็นรัฐบาล เข้าใจ และเรียนรู้ว่าประชาธิปไตยนั้น ไม่มีรูปแบบ ไม่มีอะไรมาจำกัดได้ และต้องไม่เกรงใจคนถืออาวุธอีกต่อไป เมื่อนั้นคนปัตตานี จะพูดเรื่องเอกราชได้อย่างเต็มที่ เป็นภาพที่เราสามารถพูดได้อย่างสบายใจว่า การมีประเทศของตนเอง และคนจะอยู่อย่างปลอดภัยได้อย่างไร

ในขณะที่ พงษ์ศักดิ์ ยืนยันว่า ต้องทำเรื่องการกระจายอำนาจให้เป็นประเด็นสาธารณะ ปัจจุบันยังคงพูดคุยในวงการวิชาการ และผู้ที่สนใจ ท้องถิ่นต้องโปร่งใส สร้างมิติใหม่ของการบริหารงาน เพื่อชิงการนำของภูมิภาค ส่วนตัวต้องการความเป็นอิสระ อยากทำในสิ่งที่ต้องการทำ โดยมองที่คุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่เป็นหลัก

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้