เปิดประเทศ 1 พ.ย. “พร้อมไม่พร้อม?”

‘รองปลัด สธ.’ ยัน พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว เตียงเพียงพอ สิ้น พ.ย. นี้ ฉีดวัคซีน 75% ‘ภาคท่องเที่ยว’ ตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยว 5,000 คนต่อวัน ‘ภาคประชาชน’ หวังรัฐสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกัน วัคซีน ชี้ ตรวจเชื้อไม่ช่วยป้องกันโรค

1 พฤศจิกายน 2564 นี้ ประเทศไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวจาก 45 ประเทศ 1 เขตปกครองพิเศษ ให้สามารถเข้ามาในประเทศไทยได้โดยที่ไม่ต้องกักตัว เพื่อเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศ รวมถึงอัตราการฉีดวัคซีนที่ยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร

The Active สะท้อนเสียงจากภาคการท่องเที่ยว ประชาชน และด้านสาธารณสุข เพื่อให้การเปิดประเทศครั้งนี้ ไม่ซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปมากกว่าเดิม

รายการ Active Talk วันที่ 29 พ.ย. 2564

ภาคการท่องเที่ยวขานรับ ‘เปิดประเทศ’ ตั้งเป้า 5,000 คนต่อวัน

สุรวัช อัครวรมาศ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวมีการเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา ดำเนินการตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข นโยบายการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน จะช่วยทำให้มีรายได้เข้าสู่ประเทศ ธุรกิจท่องเที่ยวสามารถลืมตาอ้าปากได้บ้าง หลังจากที่ไม่มีงานมาแล้วเกือบ 2 ปี ถือเป็นความบอบช้ำที่ไม่อาจที่จะทนรับได้อีกต่อไป

“อยากให้คนไทยสบายใจกับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เราคุมกันอยู่ ที่น่าเป็นห่วงคือห่วงแรงงานของประเทศเราเอง การทำงานของไทย และระบบการจัดการของไทยเองที่น่าเป็นห่วงมากกว่า”

สุรวัช อัครวรมาศ

สำหรับความคาดหวังที่มีต่อการเปิดประเทศ สุรวัช กล่าวว่า มีทั้งมุมของการท่องเที่ยวภายในประเทศ และการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ ส่วนใหญ่ที่คาดหวัง คือ นักท่องเที่ยวที่มาจากต่างประเทศ และคิดว่าอาจจะไม่ได้หลั่งไหลเข้ามามากอย่างที่หลายคนกังวล โดยเฉพาะในช่วง 1-2 เดือนแรกนี้ มีเป้าหมายที่เราคาดไว้ อยู่ที่ประมาณ 3,000 – 5,000 คนต่อวัน แต่หากมาถึงหลักหมื่นคนก็ถือเป็นเรื่องที่ดี และการตั้งเป้าหมายไว้เช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่าหากมาไม่ถึงจะถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ เพราะอย่างไรก็ตามเรามีความจำเป็นต้องเปิดประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

สุรวัช กล่าวต่อว่า ข้อดีอีกประการหนึ่งของการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน นี้ เนื่องจากจำเป็นต้องครองส่วนแบ่งนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เพราะหลายประเทศกำลังจะเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวเช่นกัน ทั้ง สิงคโปร์ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ในขณะที่การท่องเที่ยวของไทยเอง มีมาตรฐานทางการท่องเที่ยวที่ดีอยู่แล้ว เช่น มาตรฐาน SHA มีการวางแผนระบบสาธารณสุข และการท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อเราเปิดประเทศก็สามารถดำเนินทุกอย่างตามระบบที่วางไว้ได้เลย

สาธารณสุขมาตรการเข้ม ฉีดวัคซีน ต้องตรวจ RT-PCR 2 รอบ

นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ด้านสาธารณสุขเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดประเทศไว้อย่างเต็มที่ แม้นักท่องเที่ยวจะเข้ามาเยอะ ขอแค่ปฏิบัติตามมาตรการอย่างถูกต้อง ทางกระทรวงพร้อมจัดเจ้าหน้าลงไปดูแล ประสบการณ์การรับนักท่องเที่ยวที่ผ่านมา ทำให้เราเตรียมการรองรับโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยตั้งแต่ที่สนามบิน โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตอนนี้ มีการซักซ้อมกระบวนการเพื่อดูแลนักท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย

นพ.สุระ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศตลอดผ่าน 2 ช่องทาง คือ 1. คนไทยหรือชาวต่างชาติ ที่ขออนุญาตเข้าประเทศ และกักตัวใน State Quarantine และ 2. Sandbox อย่างจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น และในส่วนของการเข้าประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน จะเป็นการ รับนักท่องเที่ยวจาก 45 ประเทศ และ 1 ดินแดน เรียกช่องทางนี้ว่า Test&Go คือตรวจ แล้วสามารถเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องกักตัว ซึ่งประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศไทยนั้น เราจะพิจารณาจากการเดินทางเป็นสำคัญ คือ หากไม่ใช่คนสัญชาตินั้น ๆ ต้องพำนักในประเทศดังกล่าวไม่น้อยกว่า 21 วัน จึงจะเดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทยได้

โดยนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ต้องได้รับการฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 2 เข็ม โดย นพ.สุระ กล่าวว่า ประเทศไทยไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นวัคซีนชนิดใด เนื่องจากมองว่าสามารถลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ทั้งหมด อีกทั้งเรามีกระบวนการตรวจแบบ RT-PCR รองรับไว้ด้วย คือนักท่องเที่ยวจะต้องตรวจจากประเทศต้นทางก่อน และเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยต้องเข้ารับการตรวจอีกครั้งภายในเวลา 24 ชั่วโมง ผ่านโรงพยาบาลที่จับคู่กับโรงแรมที่พักของนักท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด

มองการตรวจเชื้อเป็นอุปสรรค และไม่อาจป้องกันโรคได้

นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนผู้ทำงานด้านโควิด-19 ในชุมชน กล่าวว่า ตนสนับสนุนและยินดีที่จะมีการเปิดประเทศ เพราะทุกอย่างเดินไปข้างหน้าได้ แต่มองว่าการตรวจเชื้อด้วย RT-PCR หลายครั้ง อาจเป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจมาเที่ยวของนักท่องเที่ยว เมื่อจะเปิดแล้วควรลดข้อจำกัดให้มากที่สุด เนื่องจากการตรวจหาเชื้อก็จะมีช่วงเวลาที่เหมาะสมอยู่ อาจจะตรวจแล้วไม่เจอก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ติดเชื้อ และมองว่าสุดท้ายผลประโยชน์ก็จะตกไปอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่

นิมิตร์ กล่าวว่า ควรเน้นเรื่องการป้องกัน การใส่หน้ากากอนามัย สร้างความมั่นใจและความเข้าใจที่ถูกต้องแก่นักท่องเที่ยว และคนไทยเองมากกว่า ว่าถ้าเราปิดทางเข้า-ออกของเชื้อ เราก็จะไม่รับเชื้อ อย่าให้คนเข้าใจว่าเมื่อตรวจเชื้อแล้วไม่พบเชื้อ จะใช้ชีวิตกันยังไงก็ได้ เพราะสิ่งสำคัญคือมาตรการเฉพาะตัวของแต่ละคนมากกว่า อย่างให้สิ่งนี้กลายมาเป็นเงื่อนไข และช่องวางการหาประโยชน์ทางธุรกิจ

นพ.สุระ กล่าวว่า สำหรับประเด็นการตรวจหาเชื้อนักท่องเที่ยวนั้น กระทรวงได้รับประสบการณ์จากการรับนักท่องเที่ยวที่ผ่านมาว่า มีหลายคนที่ตรวจเชื้อจากประเทศต้นทางแล้วไม่พบเชื้อ หลังจากนั้น 6-7 วันเดินทางมาสู่ประเทศเราแล้วมามีผลบวกในบ้านเราเยอะมาก หากถามว่ากระทรวงอยากให้มีมาตรการนี้หรือไม่ กระทรวงก็ไม่อยากสร้างข้อจำกัด แต่เราเรียนรู้จากประสบการณ์และมาปรับใช้ เพราะเราไม่อยากให้นักท่องเที่ยวนำเชื้อมาแพร่ในประเทศเราต่อไป

ขณะที่ สุรวัช สะท้อนว่า มาตรการตรวจเชื้อด้วย RT-PCR ยังเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะในมุมหนึ่งเราเปิดให้เข้ามาแล้วอยากให้ทุกคนปลอดภัย และในอีกมุมหนึ่งยังมีคนที่กำลังตัดสินใจว่าระบบของประเทศไทยเอาอยู่หรือไม่ โมเดลที่ภูเก็ต บอกเราชัดเจนว่าสิ่งนี้สร้างความมั่นใจได้ อย่างน้อยที่สุดเพื่อคนไทยในพื้นที่นั้น ๆ เอง

นอกจากนั้น นิมิตร์ กล่าวว่า อย่าให้มาตรการตรวจเชื้อด้วย ATK มาเป็นเงื่อนไขในการทำงาน หรือภาคบริการ ที่พนักงานทุกคนจะต้องตรวจเชื้อก่อนทำงาน หรือเป็นเงื่อนไขว่าจะรับเข้าทำงานหรือไม่ เพราะสร้างความทุกข์ให้กับคนในระบบบริการ และไม่ได้ช่วยในแง่ของการป้องกันโรคได้จริง อีกทั้งยังเป็นการตีตรา เราควรทำความเข้าใจกับประชาชนให้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด ใช้มาตรการป้องกัน สนับสนุนหน้ากากอนามัย จัดสรรวัคซีนให้เต็มที่ มาตรการเช่นนี้จะได้ผลมากกว่า

นพ.สุระ กล่าวว่า ในขณะนี้หลายพื้นที่แม้ไม่บังคับ แต่สถานประกอบการเขาสร้างความมั่นใจในการทำงานด้วยตนเองเอง เพื่อความสบายใจในการปฏิบัติงานร่วมกัน การตรวจเชื้อด้วย ATK ถ้าเป็นในมุมของนักท่องเที่ยว คือ ป้องกันไม่ให้เขานำเชื้อมาติดให้กับคนไทย แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ ทำให้มั่นใจว่า “เขาไม่ได้ติดจากเรา” เพราะถ้าหากเราสืบค้นมาได้ว่าติดจากโรงแรมใด ร้านอาหารใด จะเสียมากกว่าได้ อาจต้องมีการปิดสถานที่ หรือกักตัวพนักงาน นี่คือผลกระทบระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นได้ หากไม่มีการป้องกัน

ห่วงแรงงานเคลื่อนย้ายเข้าประเทศ 1 พ.ย. เตรียมวอล์กอินฉีดวัคซีน

นพ.สุระ กล่าวว่า สิ่งที่กังวลในตอนนี้ คือ แรงงานที่เคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ในภาคท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น และอาจหลุดรอดจากมาตรการป้องกันไปได้ แต่ที่ประชุม EOC ของกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดมาตรการไว้แล้ว คือตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน เราจะเปิดให้ประชาชนสามารถมาฉีดวัคซีนแบบ walk in ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติที่ต้องทำงานในประเทศไทย โดยได้ขอความร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม สื่อสารถึงนายจ้างที่มีลูกจ้างต่างด้าวและยังไม่ได้ฉีด ให้เข้ามารับวัคซีนกับกระทรวงสาธารณสุขได้

โดยการฉีดวัคซีนในครั้งนี้ กระทรวงจะทำหน้าที่เพียงแค่การพิสูจน์ตัวบุคคล ยืนยันว่าตัวตนให้ตรงกับบัตรประจำตัว หรือพาสปอร์ตเท่านั้น โดยยืนยันว่าจะฉีดให้ทุกคน ในขณะนี้เรามีแนวคิดว่าไม่ควรใช้กฎหมายความมั่นคงไปจัดการแรงงาน เพราะอาจทำให้หลบเลี่ยง และไม่มาฉีดวัคซีน จะยิ่งสร้างผลกระทบ เพราะเมื่อมีผู้รักษากฎหมายด้านการเข้าเมือง สาธารณสุขก็จะทำงานลำบากมากขึ้น หลังจากนี้ทางกระทรวงจะมีการสื่อสารกับหน่วยปฏิบัติให้เข้าใจตรงกัน โดยจะไม่เรียกขอดูเอกสารอะไร เพราะเป็นขั้นตอนของหน่วยงานอื่น

สุรวัช กล่าวว่า การที่แรงงานข้ามชาติอยู่ในไทยตอนนี้ หมายความว่ามีงานทำ เราจะทำอย่างไรให้ได้รับวัคซีนอย่างเท่าเทียมและรวดเร็ว โดยที่ไม่ต้องให้ผู้ประกอบการดำเนินการให้ เพราะหากมีความผิดนายจ้างก็ไม่กล้าดำเนินการ ควรมีแนวทางให้เขาไปด้วยตนเองได้ และควรใช้โอกาสนี้ในการเก็บข้อมูลเอาไว้ และช่วยให้แรงงานเหล่านี้ไปขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ในเมื่อดำเนินการได้แล้ว ควรมองไปข้างหน้าว่าจะจัดระเบียบแรงงานอย่างไร เพราะประเทศไทยจำเป็นที่ต้องพึ่งพาแรงงานกลุ่มนี้เช่นกัน

เตียงเพียงพอ วัคซีนครอบคลุม 75% ในสิ้นเดือน พ.ย.

“ตอนนี้เตียงเรามีเพียงพอ และมั่นใจว่าวัคซีนที่เราระดมฉีดกันอยู่ จะเป็นตัวช่วยที่ดี ในภาพรวมคิดว่าการเปิดประเทศเราเอาอยู่ เพราะระบบเราแข็งแรง และมีภาคประชาชนที่เข้มแข็ง คอยช่วยเหลือกัน”

นพ.สุระ กล่าวว่า สำหรับแผนรองรับกรณีเกิดการแพร่ระบาดขึ้นมา สถานการณ์ตอนนี้ดีขึ้นกว่าเดิม เรามีจำนวนเตียงเพียงพอ จะเห็นได้จากมีจำนวนคนไข้ที่เป็นปอดบวมลดลง และคนไข้ที่ใส่ท่อช่วยหายใจก็ลดลง อีกทั้งมั่นใจว่าวัคซีนที่เราระดมฉีดกันอยู่ จะเป็นตัวช่วยที่ดี ในระยะยาวสิ้นเดือนพฤศจิกายน จะสามารถฉีดวัคซีนเข็มแรกได้มากกว่า 75% และเข็มสองได้ 54% เพราะฉะนั้นในภาพรวมยังคิดว่าประเทศไทยจะสามารถรับมือกับการเปิดประเทศได้ เนื่องจากเรามีภาคประชาชนที่แข็งแรง เป็นเครือข่ายในการทำงานเชิงรุก มีทีมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ถือเป็นข้อได้เปรียบของประเทศไทย

สำหรับการผ่อนคลายเรื่องสถานบันเทิง นพ.สุระ กล่าวว่า เราไม่สามารถจัดเจ้าหน้าที่ดูแลทุกร้านได้ แต่ผู้ประกอบการต้องช่วยกันด้วย ต้องค้าขายระยะยาว สาธารณสุขเราให้แนวทางอย่างเดียวเท่านั้น แต่นักท่องเที่ยวจะรู้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร กรมอนามัยก็จะออกมาตรการสำหรับร้านอาหาร และสถานบริการออกมาเพิ่มเติม น่าจะตรึงการติดเชื้อได้ในระดับหนึ่ง คนไทยทั้งประเทศต้องช่วยกัน และผู้ประกอบการ ต้องตรวจสอบลูกค้าและพนักงานของตนเองเสมอเช่นกัน

เปิดประเทศแล้ว หากจะปิดอีกทุกฝ่ายต้องตัดสินใจร่วมกัน

สุรวัช กล่าวว่า เราสามารถเปิดประเทศได้ ภายใต้มาตรการควบคุมที่มั่นใจที่สุด หากมีปัญหาขึ้น การสื่อสารอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แล้วอย่าต่อว่ากันเองจนเกินไป ถ้าติดปัญหาอะไรก็ช่วยกันคิด ตอนนี้ประเทศไทยเป็นผู้นำของการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยของโลกได้ ถ้าเกิดทุกอย่างปกติ ก็จะมีนักท่องเที่ยวกลับมาเยอะมาก ภาครัฐต้องเข้าใจ และใช้โอกาสนี้ คัดเลือกนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ อยากให้รับจัดการเรื่องนี้ให้ดีขึ้น

นิมิตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาต้องขอบคุณคนไทยทุกคน เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาโควิดได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน ตอนนี้คิดว่าเรามีระเบียบวินัยดีพอ เพื่อเดินหน้า และป้องกันโรค คนหันมาฉีดวัคซีนเยอะขึ้น คนใส่หน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น สิ่งสำคัญคือให้ความมั่นใจในการใช้ชีวิต และการกลับมาใช้ชีวิตของผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้ว

การเปิดประเทศอย่างยั่งยืน นายจ้าง ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง กระทรวงสาธารณสุขและทุกภาคส่วน ต้องร่วมกันหามาตรการการป้องกันการติดเชื้อในที่ทำงาน และให้ความเข้าใจที่ถูกต้องว่าอะไรที่จำเป็นต้องทำ จะได้ทำให้ทุกคนมั่นใจว่าเราจะออกไปงานได้อย่างปลอดภัย โดยที่ยังมีอาชีพ มีรายได้

“หากเปิดประเทศแล้ว แต่ยังเกิดปัญหาอีก ถ้าจะสั่งปิด หลายฝ่ายต้องตัดสินใจร่วมกัน เพราะเราเห็นอยู่แล้วว่าขนาดเราปิดประเทศก็ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม ไม่ใช่คุยไม่กี่คนแล้วมาสั่งปิดอีก”

นิมิตร์ เทียนอุดม

นิมิตร์ กล่าวว่า ภาครัฐต้องส่งเสริมอุปกรณ์ป้องกันให้ทุกคนเข้าถึงได้ กลไกสนับสนุนให้เขารักษาตัวที่บ้านต้องดำเนินการต่อเนื่อง และเมื่อสถานที่ใดมีผู้ติดเชื้อ ไม่ควรใช้วิธีปิดสถานที่นั้นทั้งหมด แต่ให้ไปสอบสวนโรคสำหรับกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น ท้ายที่สุดคือ การเปิดประเทศ อยากให้อานิสงส์กระจายถึงคนเล็ก คนน้อยทุกภาคส่วนในวงการท่องเที่ยวจริง ๆ ไม่ใช่เพียงโรงแรมขนาดใหญ่ และผู้ประกอบการบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ทุกคนควรมีชีวิตที่ดีขึ้นไปพร้อมกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้