คืบหน้า ศาลปกครอง นัดไต่สวน นศ. – ผู้บริหาร มช. กรณี #วิจิตรสิ้น ขอคุ้มครอง ปมใช้หอศิลป์ฯ

ทนาย เผย นศ.ยืนยันขออนุญาตใช้พื้นที่หอศิลป์ฯ มช. จัดแสดงงานถูกต้อง ด้าน คณบดี คณะวิจิตรศิลป์ อาจดำเนินคดีกับกลุ่ม นศ. ขณะที่ อาจารย์ประจำสาขาวิชา Media Art and Design ชี้ผู้บริหาร มองระเบียบสำคัญกว่าชีวิต นศ. แนะประชาชนควรมีส่วนร่วมจัดการหอศิลป์ฯ มากขึ้น

วันนี้ (28 ต.ค.64) ศาลปกครอง เชียงใหม่ นัดไต่สวนเร่งด่วน กรณีนักศึกษาสาขาวิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) 24 คน ยื่นหนังสือเพื่อขออำนาจศาลปกครอง ขอคุ้มครองคำสั่งชั่วคราว กรณีไม่อนุมัติใช้หอศิลป์ เพื่อจัดแสดงผลงานทางวิชาการของนักศึกษา โดยมีตัวแทนนักศึกษาซึ่งเป็นผู้ฟ้อง และผู้ถูกฟ้อง ได้แก่ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรม มช. คณบดี คณะวิจิตรศิลป์ มช. และตัวแทนอธิการบดี มช. เข้าร่วมในกระบวนการไต่สวน

การนัดไต่สวนดังกล่าวสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 18 ต.ค.64 นักศึกษาสาขาวิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ประมาณ 15 คน พร้อมด้วย ผศ.ดร. ทัศนัย เศรษฐเสรี และ ปฐมพงศ์ มานะกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชา Media Art and Design รวมตัวกันไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวต่อคำสั่งของคณะวิจิตรศิลป์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ปฏิเสธการใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมในการแสดงผลงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการเมืองของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ในสาขาวิชา Media Art and Design ซึ่งจะต้องจัดแสดงนิทรรศการในธีสิสจบการศึกษา

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ศาลได้มีการไต่สวนครบทุกฝ่ายในช่วงเช้า ส่วนอธิการบดี มช. ไม่ได้มาเข้าร่วมด้วย เป็นการส่งตัวแทนมา ซึ่งนักศึกษาก็ยืนยันตามข้อเท็จจริงว่าได้มีการขออนุญาตใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรม มช. เพื่อจัดแสดงงานอย่างถูกต้องและครบถ้วนตามกระบวนการแล้ว อย่างไรก็ตามคณบดี คณะวิจิตรศิลป์ อาจดำเนินการทางคดีกับกลุ่มนักศึกษา

“ตัวนักศึกษาก็ยืนยันว่า ได้ขออนุญาตตามกระบวนการทุกอย่างครบถ้วนแล้ว แต่มหาวิทยาลัยก็ยังไม่มีคำสั่งว่าอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใช้หอศิลป์ในช่วงที่ผ่านมา จนเกิดเหตุการณ์ที่ต้องเข้าไปใช้โดยพลการ ซึ่งเราก็ให้ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ต่อทางศาลแล้ว ศาลก็ได้สอบถามทางมหาวิทยาลัยว่าจะมีการดำเนินคดีอาญาต่อนักศึกษาหรือไม่ คณบดีเองก็เป็นผู้ตอบคำถามนี้ว่าเป็นกระบวนการทางกฎหมายที่ต้องดำเนินการตามลำดับต่อไป”

ด้าน ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์ประจำสาขาวิชา Media Art and Design ตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการไต่สวนวันนี้ว่า นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ได้อภิปรายให้ข้อมูลตามข้อเท็จจริง ข้อมูล หลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏอยู่อย่างเต็มที่ ต่างจากฝั่งคณบดีที่มักอ้างอิงระเบียบราชการอยู่ตลอดเวลา และพยายามใช้ระเบียบราชการพิสูจน์ว่านักศึกษาคือผู้กระทำความผิด

ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์ประจำสาขาวิชา Media Art and Design

“ผมตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่าสำหรับผู้บริหารมักจะมองว่าตัวเอกสารมีความสำคัญกว่าชีวิตนักศึกษา หลายครั้งที่เอาเอกสารดังกล่าวมายืนยันและพยายามจะพิสูจน์ให้ได้ว่านักศึกษาคือผู้กระทำผิดและคือผู้บุกรุก เขาพยายามที่จะอ้างอิง บอกว่าพวกเรา หรือนักศึกษาคนอื่นเข้าไปใช้แล้วจะทำให้สกปรก โชว์ภาพบางภาพ เช่นภาพการสาดสีเข้าไปในหอศิลป์ ทั้งๆ ที่นักศึกษาก็พูดเองวันนี้ว่าสีพวกนั้นเขาก็ทำความสะอาดให้แล้วเรียบร้อย”

นอกจากนั้น อาจารย์ประจำสาขาวิชายังเห็นว่า ผู้บริหารในคณะวิจิตรศิลป์หรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยพยายามที่จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์อยู่ในกรอบและระเบียบของข้าราชการ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ อีกอันคือเขาพยายามทำให้ระเบียบราชการย้อนกลับมาทำร้ายศิลปินทุกคน ไม่ใช่แค่นักศึกษาเท่านั้น มหาวิทยาลัยไม่ว่าจะที่ไหนก็ตามมีแนวโน้มที่จะถูกผลักให้แยกขาดออกจากสังคมโดยความพยายามของผู้บริหารและความพยายามทำให้เป็นราชการมากยิ่งขึ้น

“ดังนั้นแล้วสิ่งที่มันควรจะเป็นและต้องเร่งคิดอย่างเร่งด่วนคือ การทำให้มหาวิทยาลัยหรือพื้นที่ทุกอณูของชีวิตในการเรียนรู้มันเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ในความหมายที่มันเป็นสมบัติของสาธารณะ และควรจะให้สาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่ต่างๆ ได้ด้วย ตัวอย่างหอศิลป์ ชัดเจนมากว่ามันอยู่ในมือคนแค่ไม่กี่กลุ่ม ทั้งที่มันเคยเป็นความภาคภูมิใจของคนทั้งเชียงใหม่และภาคเหนือมาก่อน ฉะนั้นสาธารณชนควรที่จะมีส่วนร่วมในการมีบทบาทจัดการหอศิลป์มากขึ้น”

หลังจากนี้ศาล จะนัดพิจารณาคดีครั้งที่ 1 ในวันที่ 3 พ.ย. และจะมีคำตัดสินในวันที่ 4 พ.ย.นี้ ว่า สุดท้ายแล้วการเข้าไปใช้พื้นที่ของนักศึกษาหรือการที่มหาวิทยาลัยไม่มีคำตอบเรื่องการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ เป็นสิ่งที่ถูกหรือผิดอย่างไร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active