เจาะสนามเลือกตั้ง อบต. วัฒนธรรมเก่า VS คนรุ่นใหม่

‘โกวิท พวงงาม’ มองการเลือกตั้ง อบต. แข่งขันดุเดือด เงินอาจเป็นใหญ่มากกว่านโยบายหาเสียง ชี้ คนรุ่นใหม่ อย่ามองเพียงแค่อายุ แต่ต้องดูที่การทำงาน

The Active นำเสนอข้อมูล ความเคลื่อนไหว และมุมมองที่มีต่อการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ เลือกผู้บริหารท้องถิ่นที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด ในรอบเกือบ 8 ปี

ศ.โกวิท พวงงาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ เปิดเผยกับ The Active ว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้มีประเด็นที่น่าจับตามองอยู่ 2 เรื่อง คือบทบาทของคนรุ่นใหม่ และการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้น

สำหรับคนรุ่นใหม่ในการเมืองท้องถิ่น โดยเฉพาะการเลือกตั้ง อบต. ครั้งนี้ อาจแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ ส.อบต. ที่อาจมีสัดส่วนของคนหนุ่มสาวเข้าไปทำหน้าที่มากขึ้น เนื่องจากกฎหมายกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งเป็น ส.อบต. ได้นั้น ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี หากเราใช้เกณฑ์อายุคนหนุ่มสาวที่ไม่เกิน 35 ปี ก็มีโอกาสที่คนเหล่านี้จะลงสมัครรับเลือกตั้งได้

2. นายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ นายก อบต. กฎหมายกำหนดคุณสมบัติด้านอายุไว้ไม่ต่ำกว่า 35 ปี หากมองที่เกณฑ์อายุก็อาจจะไม่ถือว่าเป็นวัยหนุ่มสาวเสียทีเดียว แต่ในประเด็นของผู้บริหารอย่าง นายก อบต. นั้น อาจจะต้องมองที่นโยบายในการหาเสียง วิธีคิดการทำงานที่แตกต่างไปจากเก่า มีความคิดสร้างสรรค์ และไม่ใช้วัฒนธรรมเก่า ๆ อย่าง การใช้อิทธิพล และการทุจริตคอร์รัปชัน ก็หมายถึงคนรุ่นใหม่เหมือนกัน

ในขณะเดียวกันหากเป็นคนหนุ่มสาว แต่ยังมีวัฒนธรรมการเมืองแบบเก่า เล่นพรรคเล่นพวก เข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนและพวกพ้อง ก็ไม่ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ในความหมายนี้เช่นเดียวกัน ประชาชนควรเลือกมอง และมีวิจารณญาณในการคัดเลือกผู้สมัครที่ตนเองมองว่าสามารถพัฒนาท้องถิ่นของตนได้ มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้

3. ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็น First Voter จำนวนมาก หากย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 8 ปีที่แล้ว พวกเขาเหล่านั้นอาจจะยังมีอายุแค่เพียง 10 ปีเท่านั้น แต่ในครั้งนี้กลับเข้ามามีโอกาสในการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นของตัวเอง จำนวนคนรุ่นใหม่ในแต่ละเขตเลือกตั้ง ในระดับตำบลจึงมีความสำคัญอย่างมาก ในการกำหนดว่าใครอาจเป็นผู้ชนะ ถ้าหากมีจำนวนคนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากพอ

นอกจากนั้น ศ.โกวิท กล่าวต่อว่าประเด็นที่น่าจับตามองอีกเรื่อง คือ ‘การแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้น’ เห็นได้ชัดจากการออกตัวสนับสนุนผู้สมัครทั้งทางตรงทางอ้อม ของพรรคการเมืองในประเทศ รวมถึงกลุ่มการเมืองที่ก้าวเข้ามาเป็นหน้าใหม่ในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น ส่วนตนแล้วมองว่า อบต. ควรตัดขาดจากพรรคการเมืองโดยสิ้นเชิง เพราะการอยู่ใต้ร่มเงาของพรรคการเมืองไม่สามารถหลุดจากอิสระและการครอบงำได้ อาจเป็นแหล่งที่มาของรายได้ที่ใช้ในการหาเสียง

ตนจึงไม่เห็นด้วยที่จะให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในท้องถิ่น ชูความเป็นพรรคการเมืองในระดับชาติ เพราะสมควรต้องแยกออกจากกันอย่างชัดเจน แต่ในส่วนของคณะหรือกลุ่มการเมืองนั้นสามารถทำได้ อย่างการเป็นกลุ่มอิสระในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้การเมืองท้องถิ่นมีอิสระ ปราศจากการควบคุมอย่างแท้จริง

เมื่อมีการแข่งขันที่สูงมาก ‘เงินจะเป็นใหญ่’ ศ.โกวิท ยังกังวลเกี่ยวกับการซื้อสิทธิขายเสียง และทุจริตการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้ง อบต. บางทีอาจใช้งบประมาณท้องถิ่นล่วงหน้าไปกับการหาเสียงแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะต้องมีภูมิคุ้มกัน ดูกันที่นโยบายและการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อให้ได้ นายก อบต. ที่เคารพประชาชน และยินดีให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองของท้องถิ่นมากขึ้น


อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้