กสม. เดินหน้าตรวจสอบกรณีลักลอบทิ้งสารเคมีคลองพานทอง ชลบุรี อีกครั้ง หลังกากของเสียยังตกค้าง ไร้เจ้าภาพ

กสม. แถลงมติหยิบยกกรณีสารคมีตกค้างพื้นที่โรงงานท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ตรวจสอบอีกครั้ง หลังพบสารเคมีบางส่วนยังตกค้างในพื้นที่ กระทบประชาชนและสิ่งแวดล้อม คพ. ระบุ ผู้กระทำความผิดต้องรับผิดชอบฟื้นฟู

วันนี้ (14 ต.ค. 2564) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงข่าวกรณีมีมติหยิบยกสารคมีตกค้างในพื้นที่โรงงาน ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ขึ้นตรวจสอบอีกครั้ง สืบเนื่องจาก กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อปลายปี 2557 จากประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ว่าได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการโรงงานของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งมีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมลงลำรางสาธารณะ (คลองพานทอง) โดยไม่มีมาตรการควบคุมดูแลอย่างเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างปลอดภัย 

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา กรมโรงงานอุตสาหกรรมและเทศบาลตำลท่าข้าม ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและออกคำสั่งปิดโรงงานบางส่วน และให้บริษัทแก้ไขระงับเหตุรำคาญจากกลิ่นเหม็นรบกวน ตามระเบียบและขั้นตอนของกฎหมายแล้ว และประชาชนผู้ร้องทุกข์ได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับบริษัทในความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 แล้ว  แต่กากอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีการขนย้ายออกไปอาจรั่วซึมออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกได้ ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสุขภาพและการดำรงชีวิตของบุคคลชุมชนได้ กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยนชนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 จึงมีข้อเสนอแนะให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดดำเนินจำกัดกากอุตสาหกรรมให้ถูกต้องตามหลักวิาการ 

ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า ผ่านมากว่า 1 ปี ที่ กสม. ได้ทำข้อเสนอแนะไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนถึงแนวทางในการจัดการปัญหาและการขนย้ายสารเคมีที่เหลือไปกำจัด กสม. จึงต้องหยิบยกประเด็นนี้มาเผยแพร่สาธารณะตามอำนาจอีกครั้ง เพื่อให้ฝ่ายนโยบายจัดการ

“บริษัทล้มละลายไปแล้ว แต่สารเคมีบางส่วนยังตกค้างอยู่ อบต. ก็ทำทุกทางแล้ว แต่ไม่มีอำนาจ เราจึงเสนอให้ใช้เงินกองทุนสิ่งแวดล้อมมากำจัดก่อนและไล่บี้ทีหลัง คพ. และอุตสาหกรรม ต้องออกมารับผิดชอบเรื่องนี้ ไม่ใช่เกี่ยงกันไปกันมา”

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุเพิ่มเติมว่า งบประมาณสำหรับการฟื้นฟูบริเวณนั้นคาดว่าต้องใช้งบฯ ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท และหากปล่อยทิ้งให้ตกค้างโดยไม่รีบกำจัดตามหลักวิชาการ สารเคมีจะไหลลงคลองที่เชื่อมต่อกับอ่าวตัว ก ซึ่งมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เช่น วาฬบลูด้า ซึ่งสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวไทย ทั้งนี้ กสม. เตรียมศึกษาข้อกฎหมายและทำเรื่องเสนอไปที่กรมควบคุมมลพิษรวมถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้ง

ด้าน อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ระบุว่าการใช้งบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อม เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูดูแลทรัพยากรธรรมชาติ แต่กรณีนี้อยากให้ใช้กระบวนการที่มีอยู่เนื่องจากมีผู้กระทำความผิดอย่างชัดเจน จึงไม่สามารถที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบได้ไม่ว่าจะถูกฟ้องล้มละลายไปแล้วหรือไม่

“ผมคุยกับสถาบันการเงินเมื่อปีที่แล้วที่เขาดูแลเป็นเจ้าของทรัพย์สิน จะมีการดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดกระบวนการฟ้องร้อง ยังไงผู้กระทำความผิดต้องเป็นคนรับผิดชอบ กองทุนฯก็มีเงินน้อยมาก เราใช้ไปกับการบำบัดน้ำเสียซะส่วนใหญ่ และมีขั้นตอนที่ไม่ง่าย หากจะใช้เงินจากกองทุน ที่สำคัญคือกรณีนี้มีผู้กระทำความผิดแค่ต้องหาเจ้าภาพจัดการ”

ส่วนของเสียที่ยังตกค้างก่อนหน้านี้ มีการสั่งให้ปิดรอยรั่วเพื่อป้องกันไม่ให้ไหลลงคลอง สิ่งแวดล้อมแล้ว ปัจจุบันยังมีคณะกรรมการหลายฝ่ายในพื้นที่ทำงานร่วมกันเพื่อติดตามแก้ไขปัญหาดังกล่าว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active