กสม. เตรียมท้วง ‘สมศักดิ์’ ไม่เห็นด้วย ถือครองยาบ้า 1 เม็ดเป็นผู้เสพ

ชี้ยาเสพติดกลายเป็นประเด็นทางการเมือง หวั่นเกิดปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน เสียโอกาสในการประกอบอาชีพ เพราะมีประวัติอาชกรรม ด้านเครือข่าย Reform Thailand Partnership ห่วงระบบบำบัดผู้เสพยาถอยหลัง ขอมีส่วนร่วมในการแก้กฎกระทรวงถือครองยาบ้า 

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 67 เครือข่าย Reform Thailand Partnership ยื่นหนังสือต่อ สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อขอให้พิจารณาดำเนินการตรวจสอบว่าข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ให้ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แก้ไขกฎกระทรวงสาธารณสุข กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. 2567 ปรับลดการถือครองยาบ้าจาก 5 เม็ดเหลือ 1 เม็ดเป็นผู้เสพ อาจขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และอยากให้ตรวจสอบว่าเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการหรือไม่

จารุณี ศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย (FAIR) ระบุว่า เป็นห่วงการปรับลดการถือครองยาบ้าเหลือ 1 เม็ดอาจทำให้แนวทางการจัดการปัญหายาเสพติด ระบบการบำบัดผู้เสพยาในบ้านถอยหลัง และอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษย์ในกระบวนการยุติธรรม จึงขอให้ กสม. เป็นกลไกท้วงติงไปยังรัฐบาล ที่กำลังจะแก้กฎกระทรวงฯ​ โดยมองว่าการเกณฑ์กำหนดปริมาณยาเสพติดควรใช้เป็นกลไกคู่ไปกับการยกเลิกโทษทางอาญาแก่ผู้เสพ (decriminalization) ควรต้องพิจารณาถึงความเป็นไปของตลาดยาเสพติด รูปแบบการใช้ยา ปริมาณยาที่แต่ละคนน่าจะใช้ต่อวัน และรูปแบบการซื้อ ให้เครือข่ายผู้ใช้ยาเป็นผู้ร่วมกำหนดปริมาณยาเสพติดในการออกกฎกระทรวงนี้ รวมถึงการพิจารณาว่าเป็นผู้เสพหรือผู้ค้า ไม่ควรพิจารณาแค่ปริมาณ แต่ต้องพิจารณาเรื่องพฤติการณ์หรือเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา 

“การที่นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการกำหนดปริมาณยาเสพติดที่เพียง 1 เม็ด โดยไม่ได้ใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ประกอบกับการสนับสนุน มีความสุ่มเสี่ยงที่จะส่งผลให้ผู้ใช้สารเสพติด มีแนวโน้มที่จะถูกจับกุมในข้อหาครอบครองยาเสพติดโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อการค้า ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145(5) มากยิ่งขึ้น”

จารุณี ศิริพันธุ์

กสม. ชี้ยาบ้า 1 เม็ดเป็นผู้เสพ อาจซ้ำเติมปัญหา

สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) บอกว่า เล็งเห็นประเด็นที่อาจเป็นปัญหาจากข้อกฎหมายที่กำหนดให้การครอบครองยาบ้า เพียง 1 เม็ดสามารถชี้ได้ว่าเป็นผู้ค้า และผู้ใช้กฎหมายมีอำนาจในการยึดทรัพย์ ที่ผ่านมา กสม. เคยตั้งแต่คณะทำงานชุดรายงานการตรวจสอบรวมถึงข้อเสนอแนะ เมื่อครั้งประกาศสงครามยาเสพติดที่มุ่งเน้นการปราบปรามผู้เสพ จึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องตักเตือนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้เห็นความสำคัญของการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการออกนโยบายใด ๆ

สุภัทรา เห็นด้วยว่า การกำหนดปริมาณการครอบครองยาบ้ากี่เม็ดนั้น ไม่ใช่ประเด็นสำคัญในการพิจารณาดำเนินคดี เพราะกฎหมายอาญาที่จำเป็นต้องบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ต้องอาศัยการพิจารณาพฤติการณ์และเจตนาร่วมด้วย และเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของที่ประชุมสมัชชาว่าด้วยเรื่องยาเสพติดของสหประชาชาติเมื่อปี 2016 ที่ระบุว่า รัฐควรใช้มาตรการทางสาธารณสุขและสังคม รวมถึงการป้องกันอาชญากรรมแทนมาตรการทางด้านกฎหมายในการควบคุมผู้เสพสารเสพติด โดยมาตรการทางด้านกฎหมายนั้นควรใช้อย่างเข้มข้นกับผู้ผลิตและผู้ค้ารายใหญ่

“เราไม่ควรมีนโยบายที่แก้หนึ่งปัญหา แต่กลับไปสร้างอีกปัญหาที่ใหญ่กว่า”

สุภัทรา นาคะผิว  
สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

กรรมการสิทธิมนุษยชน บอกด้วยว่า หากผู้เสพยาเสพติดถูกดำเนินคดีทางอาญา มีประวัติทางอาชญากรรมแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและโอกาสในการทำงานได้ เนื่องจากผู้เสพสารเสพติดควรถูกปฏิบัติในฐานะผู้ป่วย การนำผู้ที่มีสถานะเป็นผู้ป่วยทางการแพทย์ไปคุมขังที่เรือนจำ จึงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาใด ๆ และเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด กลับกลายเป็นการสร้างภาระให้รัฐโดยใช่เหตุ

สุภัทร ยังเห็นว่า การแก้ไขกฎกระทรวงนี้ยังเป็นเพียงการมอบนโยบาย ซึ่งยังไม่มีผลบังคับใช้ในเชิงปฏิบัติ จึงยังพอมีเวลาให้ภาคส่วนต่าง ๆ แสดงความคิดเห็น อีกทั้งการดำเนินงานของ กสม. ต้องปฏิบัติตามขั้นตอน ซึ่งในกรณีที่เป็นแนวนโยบายเช่นนี้ จะต้องมีการจัดทำข้อเสนอแนะจากฝ่ายกฎหมาย โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยแลกเปลี่ยนว่าคิดเห็นอย่างไร และแนวนโยบายดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ทาง กสม. เข้าใจในความกังวล และจะออกแถลงการณ์ ทำหนังสือทวงติงไปยังกระทรวงสาธารณสุข สร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับผู้ใช้สารเสพติด เพื่อไม่ให้คนในสังคมเกิดภาพจำที่ผิด 

เห็นได้ชัดว่า ประเด็นยาเสพติดกลายเป็นประเด็นทางการเมือง ที่ใช้เล่นกับกระแสและความรู้สึกของคน โดยไม่ได้ใช้ข้อมูลเชิงวิชาการและหลักฐานเชิงประจักษ์ รัฐควรมีระบบบำบัด ดูแล และฟื้นฟูผู้เสพสารเสพติดอย่างมีประสิทธิผล ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากชุมชนและภาคส่วนอื่น ๆ รัฐต้องยอมรับความบกพร่องของตัวเองที่ปล่อยให้มีสารเสพติดมากมาย และหาซื้อได้ง่าย”

สุภัทรา นาคะผิว  

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active