ดันอาชีพ ‘บริการทางเพศ’ ได้รับคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน

SWING – กสม. รับฟังความเห็น ‘กฎกระทรวงคุ้มครองพนักงานบริการ พ.ศ. …’ บรรเทาความเสี่ยง Sex Worker ถูกเอาเปรียบ ละเมิดสิทธิ์ ก่อนเดินหน้ายกเลิก แก้ไขให้เป็นอาชีพที่ไม่ผิดกฎหมาย

วันนี้ (9 ก.พ. 67) มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING), สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) จัดประชุมหารือแนวทางการผลักดัน (ร่าง) กฎกระทรวงคุ้มครองพนักงานบริการ พ.ศ. ….” เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบอาชีพบริการทางเพศ (Sex Worker) เป็นแรงงาน ที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงาน

สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บอกว่า จากข้อมูลมูลนิธิ SWING พบการร้องเรียนโดยพนักงานบริการในหลายพื้นที่ที่ถูกจับกุม ปราบปราม และต้องจ่ายค่าปรับมาตลอดระยะเวลาหลายปี นอกจากนั้น ยังมีสถานการณ์ของพนักงานบริการที่ทำงานในสถานประกอบการอีกจำนวนไม่น้อย ไม่ได้รับการคุ้มครองจากนายจ้างหรือสถานที่ทำงานเนื่องจากเป็นการทำงานที่ขัดต่อ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539  

สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ดังนั้นการมีกฎกระทรวงคุ้มครองพนักงานบริการ พ.ศ. …. จะเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ช่วยบรรเทาการถูกเอารัดเอาเปรียบหรือลดความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้น จนกว่าจะมีการยกเลิกหรือแก้ไขให้อาชีพ Sex Worker ไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ตามหลักการว่าด้วยเสรีภาพในการประกอบอาชีพ

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิ SWING กล่าวว่า ร่างฯ ฉบับดังกล่าว ได้หารือร่วมกับ กสม. และนักกฎหมาย โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้นเริ่มจาก Sex Worker ที่อยู่ในสถานบริการ เช่น ร้านอาหาร ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด แต่ต้องสมัครใจ และมีอายุเกิน 18 ปี ซึ่งในเดือนเมษายน 2566 ได้สำรวจ Sex Worker จำนวน 100 คน ในกรุงเทพฯ และ พัทยา จ.ชลบุรี พบว่า 77% ต้องการได้รับการคุ้มครอง ยอมจ่ายภาษีเพื่อย้อนกลับมาดูแลตนเอง และ 23% ยังไม่สนใจ เพราะอยากเป็นอิสระ ไม่อยากอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับของสถานประกอบการ

สมชาย หอมละออ นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงหลักการสำคัญของร่างฯ ฉบับนี้ อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 6 และ มาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดลูกจ้างที่มีลักษณะพิเศษ เช่นเดียวกับการคุ้มครองแรงงานในงานประมง ที่เปลี่ยนการตีความว่าเป็นแรงงานไม่ใช่หุ้นส่วน

ประเด็นสำคัญคือการกำหนดให้งานที่ใช้วิชาชีพ หรือวิชาการ งานด้านบริหารและงานจัดการ งานเสมียน พนักงาน งานอาชีพเกี่ยวกับการค้า งานอาชีพด้านบริการ งานที่เกี่ยวกับการผลิต หรืองานที่เกี่ยวข้องกับงานดังกล่าว เป็นงานที่ให้มีการคุ้มครองแรงงานกรณีต่าง ๆ แตกต่างไปจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 

โดยนิยามสถานประกอบการที่อยู่ในร่างฯ ฉบับนี้ 1. สถานที่เต้นรำ 2. สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการ โดยมีผู้บำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้า 3. สถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว ซึ่งมีผู้บริการให้แก่ลูกค้า 4. สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายหรือให้บริการ  5. สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่าย โดยจัดให้มีการแสดงดนตรี หรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 น. รวมถึงสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ซึ่ง Sex Worker จัดอยู่ในงานอาชีพด้านบริการ เช่นเดียวกับ แม่ครัว เด็กเสิร์ฟ นักร้อง

ส่วนลักษณะการให้บริการทางเพศเป็นการตกลงกับลูกค้า ออกไปนอกสถานประกอบการ ซึ่งถือเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นคนละประเภทกับธุรกิจค้าประเวณี แต่ที่ผ่านมา กลับไม่ถูกนับว่าเป็นแรงงาน โดยเฉพาะช่องว่างทางกฎหมายที่สถานบริการที่มีความเสี่ยงถูกจำกัด ถูกปิด และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ยังมีผลบังคับใช้ ยิ่งทำให้เปราะบางมากยิ่งขึ้น 

“ในทางกฎหมายพนักงานอาบ อบ นวด มาทำงานในสถานบริการเหล่านี้ถือเป็นลูกจ้างที่ต้องได้รับการคุ้มครอง แต่การที่เขาจะไปมีอะไรกันข้างนอกนั้น ถือเป็นเรื่องส่วนตัว ต้องแยกออกจากกัน”

สมชาย หอมละออ

ส่วนประเด็นเวลาทำงานยังตั้งเป็นโจทย์ไว้ เนื่องจากการทำงานในยามวิกาลหรือเกินเที่ยงคืน จึงต้องจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น เวลาทำงานปกติคือกี่ชั่วโมง การทำในเวลากลางคืน 8 ชั่วโมงหนักเกินไปหรือไม่ หรือควรคิดเป็นค่าล่วงเวลา, สถานบริการมีความเสี่ยงต่อการถูกปิดชั่วคราวเสมอ นายจ้างยังต้องรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างมากน้อยแค่ไหน, การเข้าระบบประกันสังคม ระบบกองทุนเงินทดแทน กับสถานประกอบการที่ยังขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่มาจากความเสี่ยง เช่น เพลิงไหม้ ระเบิด ลูกค้าตีกัน อยากให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานเท่าเทียมกับอาชีพอื่น ๆ

ขณะที่ ตัวแทนเจ้าของสถานประกอบการ ที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 40 ปี บอกว่า การผ่านร่างฯ ฉบับนี้ไม่ง่าย เนื่องจาก 

  • ผู้ประกอบการมาจากหลายรูปแบบ ทั้งที่มีใบอนุญาต ไม่มีใบอนุญาต ทำถูกประเภทที่ขึ้นทะเบียนหรือไม่  

  • การจะให้ลูกจ้างที่เป็นพนักงานบริการ เข้ามาอยู่ในระบบไม่ง่ายเนื่องจากไป ๆ มา ๆ 

  • ผู้ประกอบการต้องมีสามัญสำนึก ในการมองลูกจ้างเป็นคนเท่ากัน

  • การจ่ายประกันสังคม ม.33 กรณีที่ลูกจ้างไม่เยอะ ลูกจ้างจ่ายครึ่งหนึ่ง นายจ้างสมทบครึ่งหนึ่ง หากเจ็บป่วยบ่อยนายจ้างอาจจะไม่คุ้ม 

เช่นเดียวกับ ตัวแทนพนักงานบริการ ที่ทำงานในบาร์รูปแบบรับจ้างเป็นรายวัน เล่าว่า Sex Worker บางคนอาจไม่อยากอยู่ในกฎ ระเบียบ เช่น เวลาที่ผูกมัด แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องดี ไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ และที่ผ่านมาก็ได้รับฟังปัญหาจากคนอื่นๆ เช่น วันนี้ได้ลูกค้าพรุ่งนี้ห้ามหยุด, ห้ามหยุดวันเทศกาล หรือมาสายจะไม่ได้ค่ารถ, เข้างาน 20.00 – 02.00 น.  ถ้ามาสายไม่ได้ค่าตัวจากทางร้าน 

“เราไม่รู้ว่าใน 1 วันเราจะเจออะไรบ้าง ลูกค้าอาจจะทำร้ายร่างกาย ไปหาหมอครั้งหนึ่งก็หลายบาท ถ้าจ่ายเข้าประกันสังคมเดือนละ 750 บาท ถือว่าคุ้มที่ได้รับการคุ้มครอง เจ็บป่วยบ่อยก็ไม่ต้องจ่ายเอง”

ตัวแทนพนักงานบริการ

ในเวทียังแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงข้อสังเกตต่อ ร่างฯ กฎกระทรวงคุ้มครองพนักงานบริการ พ.ศ. …. จากตัวแทนนักกฎหมาย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในหลากหลายประเด็น เช่น ความเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้าง-นายจ้าง การรับงานข้างนอกถือเป็นเวลางานหรือไม่ ความระมัดระวังเพื่อป้องกันการบังคับเข้าสู่วงจรค้าประเวณี รวมถึงเส้นทางในการยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ที่ทำให้การทำงานบริการทางเพศ กลายเป็น อาชีพผิดกฎหมาย และผู้ที่ทำงานบริการทางเพศ ไม่มีโอกาสได้รับความคุ้มครองในฐานะแรงงานเช่นผู้ประกอบอาชีพอื่น โดยจะมีการจัดประชุมเพื่อหารือแนวทางที่ชัดเจนอีกครั้งก่อนเสนอเป็นกฎหมาย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active