ชี้ เรียกร้องกฎหมายอุ้มหาย จากผู้เสียหายกลายเป็นผู้ต้องหา ด้าน ‘กมธ.ร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหายฯ’ ประชุมนัดสอง เห็นพ้อง พัฒนากฎหมายตามมาตรฐานสากล
วันนี้ (14 ต.ค. 2564) ที่ สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ‘สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ พี่สาวของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวไทย ที่ถูกบังคับสูญหายเมื่อปี 2563 จากที่พักในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา บริเวณแยกอโศก โดยเธอระบุว่า การชุมนุมดังกล่าว ได้ร่วมเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่น้องชายและเหยื่อการบังคับสูญหาย พร้อมต้องการผลักดันให้เกิดความคืบหน้าในกระบวนการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แต่กลับถูกฟ้องร้องดำเนินคดี โดยกล่าวว่า รู้สึกเสียใจและสิ้นหวังในกระบวนการยุติธรรมไทย ที่นอกจากรัฐจะไม่สนใจติดตามคดีแล้ว ยังเลือกใช้กฎหมายมาดำเนินคดีฟ้องปิดปากตนอีกด้วย
“สำหรับผู้ที่ลี้ภัยแล้วหายตัวไปนอกราชอาณาจักรไทย 9 ราย พวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม การออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง ก็เพื่อให้เรื่องของการป้องกันการบังคับให้สูญหายเป็นกฎหมายใช้ได้จริง แต่ก็ไม่ทราบว่าเนื้อหาส่วนไหนที่ไปกระทบกับใคร แล้วทำไมต้องแจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากปราศรัยไม่ถึง 10 นาที แล้วก็เดินทางกลับบ้านเลย”
เธอบอกอีกว่า การถูกดำเนินคดีในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิในการแสดงออก เพราะตลอดปีที่ผ่านมา ตั้งแต่น้องชายหายตัวไป ไม่มีความคืบหน้าและไม่ได้รับความเป็นธรรม การออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดความคืบหน้าในทางกฎหมาย แต่กลับให้เธอต้องเปลี่ยนจากการเป็นผู้เสียหายกลายเป็นผู้ต้องหา
สำหรับการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ เธอเดินทางพร้อมด้วยทีมทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒธรรม โดย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ ได้เดินทางไปยังประเทศกัมพูชา เพื่อให้การกับศาลแขวง กรุงพนมเปญ เมื่อ 8 ธันวาคม 2563 เพื่อให้การกับทางการกัมพูชา และเพื่อยันยันว่านายวันเฉลิมอยู่ในประเทศกัมพูชาจริง ก่อนจะถูกบังคับให้สูญหาย จากนั้นจึงร้องเรียนเพิ่มเติมไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งพบว่าจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า แม้มีความพยายามมอบหลักฐานที่ญาติสามารถค้นหาได้เอง โดยผ่านมานานกว่า 6 เดือนแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าของกระบวนการสืบสวนสอบสวนคดีดังกล่าว จากฝั่งทางการไทย
“ในฐานะคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ด้านกฎหมาย ก็อยากให้มี พ.ร.บ.ฯ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอีกในอนาคต อยากให้การสืบสวนสอบสวนเป็นอิสระจากการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และเพื่อตรวจสอบว่ามีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ การทำงานของญาติที่สนับสนุนกระบวนการนี้ เป็นความชอบธรรม มีสิทธิที่จะพูด ดังนั้นรัฐไทยควรเร่งออกกฎหมายเป็นบรรทัดฐาน”
กมธ. ร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหายฯ เห็นพ้องพัฒนากฎหมายตามมาตรฐานสากล
ด้าน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ได้จัดการประชุมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ที่ผ่านมา ตามวาระกำหนด เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย ในวาระที่ 2 โดยได้เชิญภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการด้านกฎหมาย หน่วยงานภาครัฐ สมาคมเพื่อการป้องกันการทรมาน และผู้เสียหายจากการซ้อมทรมานและการอุ้มหาย เข้าร่วมเพื่อรับฟังข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ ศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอนุสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องการซ้อมทรมานและอุ้มหายที่สำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment (UNCAT/CAT) และ International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance (ICPPED/CED) พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนากฎหมายของไทยให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ ในประเด็นที่สำคัญ เช่น การกำหนดนิยามความหมายของการทรมาน และการบังคับให้บุคคลสูญหาย ให้ชัดเจน ครอบคลุม และต้องกำหนดให้สิทธิในการไม่ถูกทรมาน-อุ้มหาย เป็นสิทธิเด็ดขาด จะอ้างเงื่อนไขใด ๆ มายกเว้นไม่ได้ แม้กระทั่งเรื่องความมั่นคง
นอกจากนั้น ประเด็นที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด คือ ‘อายุความ’ เพราะเป็นเรื่องที่ร่างกฎหมายแต่ละร่างมีความแตกต่างกัน โดยที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการ ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ว่า ควรกำหนดให้ไม่มีอายุความ และเป็นความผิดต่อเนื่อง ที่จะเริ่มนับอายุความเมื่อรู้เบาะแสพอสมควร ถึงชะตากรรมของผู้ถูกกระทำ
ด้าน ชวลิต วิชยสุทธิ์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนว่า การประชุมในครั้งที่ 2 นี้ เพื่อดำเนินการให้ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านกระบวนการในวาระที่ 2 โดยได้นำร่างกฎหมายที่มีชื่อเดียวกันมาร่วมพิจารณาทั้งสิ้น 4 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่างของรัฐบาล โดยกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นร่างหลัก 2. ร่างของพรรคประชาชาติ 3. ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ และ 4. ร่างของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย ในชั้นคณะกรรมาธิการฯ นี้ จะต้องแล้วเสร็จก่อนจะส่งเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ทันสมัยประชุมหน้า ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เพื่อมีมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวและประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป