เอกฉันท์! มติ 480 เสียง “สภาประชาชน” ไม่ไว้วางใจ รัฐบาลประยุทธ์

ชี้ รัฐล้มเหลวจัดการที่ดิน ป่าไม้ ด้าน “วราวุธ” โดนด้วย หลังแจง “ประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง” แต่รอดศึกซักฟอกรัฐมนตรีครั้งที่ผ่านมา

วันนี้ (4 ต.ค.64) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ภาคีเครือข่าย ร่วมจัดเวทีสภาประชาชน : อภิปราย (ออนไลน์) “ไม่ไว้วางใจรัฐบาลประยุทธ์ว่าด้วยความล้มเหลวในการจัดการที่ดินและป่าไม้” ภายหลังการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เดือนกันยายน 2564 ประเด็นดังกล่าวไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปราย และไม่มีรายชื่อของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ในศึกซักฟอกครั้งนั้น โดยเวทีเสวนาประชาชนครั้งนี้มี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และฝ่ายค้าน ตัวแทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

“ไม่ไว้วางใจรัฐบาลประยุทธ์ว่าด้วยความล้มเหลวในการจัดการที่ดินและป่าไม้”
“ไม่ไว้วางใจรัฐบาลประยุทธ์ว่าด้วยความล้มเหลวในการจัดการที่ดินและป่าไม้” (ช่วงที่ 2)

เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ​ประธานสภาประชาชน กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจของสภาประชาชนในวันนี้ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะลุกขึ้นมาอภิปรายให้รัฐบาลได้รับฟัง ใคร่ครวญ ทบทวน กระบวนการทางนโยบายเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา การตัดสินใจ ดูแลแก้ไขปัญหาของประชาชนร่วมกัน โดยเฉพาะนโยบายเรื่องที่ดิน ป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำในหลาย ๆ ประการ โดยเฉพาะการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากร ซึ่งเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต การพัฒนาเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของคนในประเทศ ที่ทำให้ฐานเศรษฐกิจ สังคมของประเทศอ่อนแอ และนำไปสู่ปัญหาความยากจนของประชาชนจำนวนมากกว่า 4,000 ชุมชน อยู่ในสถานะที่ไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย ที่ทำกินในทรัพย์สิน

สุนี ไชยรส ผู้ประสานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กแบบถ้วนหน้า ในฐานะ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 กล่าวถึงการทำหน้าที่ของ “สมาชิกสภาประชาชน” โดยหวังว่าจะเป็นกระจกเงาที่ทำให้สังคมเห็นว่าสมาชิกสภาประชาชน ที่ทำงานใกล้ชิด ผูกพันธ์ กับเรื่องราวของประชาชน จะช่วยเป็นตัวแทนในการสะท้อนปัญหา และไม่ใช่เพียงสะท้อนปัญหาที่ถูกต้อง แต่ยังสะท้อนความล้มเหลว หรือการไม่ตอบสนองในการแก้ไขปัญหาของประชาชนในรูปแบบรัฐสภาปกติ ดังนั้นสภาประชาชนก็จะเปิดขึ้นและคิดว่าข้อสะท้อนด้วยความจริงเหล่านี้จะเป็นหลักประชาธิปไตยที่จะส่งต่อข้อเสนอไปยังภาคตัวแทนต่างๆ

การ​อภิปรายในครั้งนี้ใช้เวลาร่วม 9 ชั่วโมง เริ่มต้นด้วยการอภิปรายนำ “รัฐบาลประยุทธ์ว่าด้วยความล้มเหลวในการจัดการที่ดินและป่าไม้” โดย​ ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สภาประชาชน กล่าวว่า ปัญหาการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากร เริ่มมาจากการรัฐประหาร ในปี 2557 รัฐบาล คสช. ได้สร้างรัฐธรรมนูญเพื่อครองอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ โดยที่ไม่มีความเข้าใจในชีวิตพลเมือง จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขวางกั้นทางเดินที่จะนำไปสู่ความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ส่งผลกระทบต่อสายธารแห่งความเป็นธรรมในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ที่พี่น้องประชาชนได้ร่วมกันสร้างสรรค์มานับสิบๆ ปี ซึ่งเห็นเด่นชัด คือการทำให้เกิดสิทธิของพลเมือง สิทธิของชุมชน ในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า เช่น สิทธิป่าชุมชน การถือครองที่ดิน หรือเสนอความคิดเรื่องที่ดินชุมชน เหล่านี้กำลังถูกทำลายลงด้วยระบอบของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีจินตนาการเพียงแค่ว่าปฏิบัติตามระบบ ระเบียบของราชการเท่านั้น

“นโยบายทวงคืนผืนป่า กระทบต่อ พ.ร.บ.ป่าชุมชน การรังแกประมงพื้นบ้าน รวมทั้งการเพิกเฉยต่อนโยบายโฉนดชุมชน สะท้อนให้เห็นถึงความจำกัดของความสามารถของผู้นำรัฐบาล หากนายกฯ มองเห็นความสำคัญในการสร้างสรรค์นี้ว่ามีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ก็จะทำให้การดำเนินเศรษฐกิจของประเทศชาติดำเนินไปได้ด้วยดี ไม่ใช่เพียงแค่การแจกจ่ายแบบ “เฮลิคอปเตอร์มันนี่” แบบนี้เท่านั้น”

ศ.อรรถจักร์ ยังกล่าวต่ออีกว่า การขยายอำนาจแบบริบสิทธิตามธรรมชาติ สิทธิของพลเมือง สิทธิของชุมชน ยิ่งทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือการพยายามเกื้อหนุนกลุ่มทุน เช่น การทำให้เกิดการควบรวมของบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านการเกษตรและการค้าปลีก รวมถึงที่กำลังจะปรากฏขึ้น คือการขยายเวลาให้ต่างชาติครอบครองที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ในไทยได้ กระบวนการนี้เองทำให้การสร้างสรรค์ของประชาชนที่ผ่านมา ที่จะสร้างหลังพิงให้แก่คนตัวเล็กตัวน้อยและจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของไทยขยายตัวมากขึ้นจึงไม่เกิดขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต

ด้าน พชร คำชำนาญ เจ้าหน้าที่สื่อสาร มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ สมาชิกสภาฯ ในนามผู้ได้รับมอบหมายให้แถลงเปิดญัตติไม่ไว้วางใจครั้งนี้  กล่าวว่า สภาฯ ได้ตั้งประเด็นการอภิปรายต่อที่ประชุมสภาฯ ไว้ 10 ประเด็น โดยมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชุมชน ที่อยู่ในเขตป่าและนอกเขตป่า ดังนี้

  • หลักการของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ แก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ซ้ำซ้อน เร่งคืนพื้นที่ป่าในการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎรที่ยากไร้และเกษตรกร ให้สามารถอยู่ร่วมกับป่าและทำกินได้ย่างเหมาะสม
  • รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งประกาศใช้วันที่ 6 เม.ย.60 มีบทบัญญัติหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ
  • ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งแต่ 2561-2580 ซึ่งรัฐบาลชุดนี้อ้างว่าเป็นฉบับแรกของประเทศ ที่จะต้องนำไปสู่การปฎิบัติเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภายในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อความสุขของคนไทยทุกคน เช่น ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม กระจายการถือครองที่ดิน และการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเป็นธรรม

อย่างไรก็ตามการบริหารราชการของรัฐบาลชุดนี้ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มิได้ดำเนินการตามถ้อยแถลงต่อรัฐสภา และบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แต่อย่างใด โดยเฉพาะนโยบายที่มุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม กลับยิ่งทวีความเหลื่อมล้ำให้คนจน เอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้องและกลุ่มทุน

ในนามผู้ได้รับมอบหมายให้แถลงเปิดญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาลประยุทธ์ ตั้งประเด็นการอภิปรายต่อที่ประชุมสภาฯ 10 ประเด็น ดังนี้

1.รัฐบาลประยุทธ์ ใช้อำนาจเผด็จการ ออกกฎหมายป่าไม้ 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 ภายใต้แนวคิดรัฐรวมศูนย์ เพิ่มอำนาจรัฐ ลดอำนาจชุมชน ซึ่งทั้ง 3 ฉบับ กระทบต่อประชาชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไม่ต่ำว่า 4,000 ชุมชน เป็นประชากรกว่า 10 ล้านคน แต่กลับเร่งรัดตรากฎหมายในช่วงการดำเนินการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และตัดขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ภายใต้แผนแม่บทป่าไม้ที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของประเทศ

2.รัฐบาลสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ ในกฎหมายลำดับรองประกอบ พ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับ ในการเป็นระเบียบปฏิบัติของหน่วยงานรัฐ ใช้หลักแพ้คัดออก เช่น ออกข้อสอบแบบตั้งข้อกล่าวหาว่าชุมชนในพื้นที่ป่าคือผู้บุกรุก บีบรัดให้ชุมชนต้องหาหลักฐานมาต่อสู้ด้วยตนเอง อ้างแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศที่ไม่สอดคล้องกับระบบวิถีชีวิตชุมชนพหุวัฒนธรรม ระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ประชากรในพื้นที่กว่า 12,000 ไร่ ที่ถูกตรวจยึดจะต้องสูญเสียที่ดินทำกินไปตลอดกาล ผลักดันให้ประชาชนอีกมากมายต้องกลายเป็นเกษตรกรไร้ที่ดิน กรมอุทยานฯ ตั้งหลักเกณฑ์ให้ประชาชนอยู่ในพื้นที่ภายใต้มาตรการควบคุม

3.นโยบายทวงคืนผืนป่า ตลอดจนแนวทางการเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ได้ร้อยละ 25 ป่าเศรษฐกิจ ร้อยละ 15 ตามแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดิน ของรัฐและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน หรือแผนแม่บทป่าไม้ มีกระบวนการที่มีความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ที่บ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทำให้เกิดคดีความด้านป่าไม้เพิ่มขึ้นกว่า 46,600 คดี กับประชาชนรายได้น้อย

4. รัฐบาลตัดแขนขา ขัดขวางการพัฒนา ให้ชุมชนเข้าถึงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ภายหลังพื้นที่ป่ารูปแบบต่างๆ ถูกประกาศทับเข้าไปในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่เป็นที่อยู่อาศัยมาก่อน การพัฒนาเส้นทางคมนาคม ไฟฟ้า ระบบชลประทาน เพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นนั้นกลับถูกสกัดกั้นด้วยข้อกฎหมายด้านการอนุรักษ์ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ป่ากลายเป็นพลมืองชั้น 2 ไร้สิทธิทางพลเมือง

5.เจ้ากระทรวงไร้ความสามารถ ปล่อยให้ข้าราชการประจำกำหนดนโยบายเหนือฝ่ายการเมือง นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไร้ศักยภาพและขาดวิสัยทัศน์ ในการจัดการที่ดินและทรัพยากรป่าไม้ ที่กล่าวอ้างว่าประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง

6.ปัญหาการกระจุกตัวของที่ดิน มีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2557 และการขึ้นดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ในสมัยที่สองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อล้ำมากที่สุดในโลก มีกลุ่มทุนและบริษัทยักษ์ใหญ่ สามารถถือครองที่ดินได้สูงสุดถึง 630,000 ไร่ ในขณะที่ประชาชนอีกร้อยละ 75 ไม่อาจเข้าถึงที่ดินถูกกฎหมายได้เลย

7.ไม่มีแนวนโยบายที่จะทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกลไกว่าด้วยการเก็บภาษีที่ดิน ที่ภาคประชาชนพยายามผลักดันให้เกิดการเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า เพื่อให้นายทุนผู้ถือครองที่ดินมากต้องกระจายที่ดินออกมาให้หน่วยงานด้านการกระจายด้านการถือครองที่ดินจัดการต่อไป แต่กลับทำให้กลไกภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่อาจแก้ไขปัญหาได้เปิดช่องทางให้นายทุนยังคงสามารถกว้านซื้อที่ดิน และเลี่ยงการเก็บภาษี ยิ่งทำให้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เคยได้รับจากการจัดเก็บภาษีที่ดินต้องลดน้อยลง

8.การปฏิบัติงานของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 ผ่านมติคณะรัฐมนตรี ได้รับพื้นที่นำร่องธนาคารที่ดิน 5 พื้นที่ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. พ.ศ.2554 มาดำเนินการด้วยงบประมาณ 690 ล้านบาท กลับไม่ดำเนินการตามเจตนารมย์ของภาคประชาชน ยังคงใช้แนวคิดแบบสถาบันทางการเงินทั่วไปที่ค้ากำไรกับชาวบ้าน ขูดรีดดอกเบี้ยมหาศาลกับเกษตรกร ไม่สามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมได้ และจะนำไปสู่การหลุดมือของที่ดินจากมือเกษตรกรอีกครั้ง

9.แนวคิดโฉนดชุมชนที่ภาคประชาชนเคยได้ผลักดัน กลับกลายเป็นโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่เป็นเสมือนซูเปอร์บอร์ดรวมศูนย์ควบคุมแนวทางการจัดการที่ดินทั้งประเทศ ปัญหาของโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนคือการที่ชุมชนจะต้องขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินหรือพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจากผู้ว่าราชการจังหวัด โฉนดชุมชนที่ควรจะเป็นนวัตกรรมการจัดการที่ดินนั้นกลับถูกตัดตอนด้วยหลักเกณฑ์และกฎระเบียบที่ทำให้การเข้าถึงที่ดินทำกินอันเป็นปัจจัยการผลิตนั้นเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเคร่งครัดจากภาคราชการ

10.รัฐบาลประยุทธ์เอื้อให้นายทุนทั้งไทยและต่างประเทศสามารถเข้าถึงที่ดินบนผืนแผ่นดินนี้ได้ด้วยหลักคิดมือใครยาวสาวได้สาวเอา มองเพียงเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ แต่ไม่เคยมองเห็นหยาดหยดน้ำตาของประชาชนผู้ไม่มีแม้แต่ที่อยู่อาศัยซุกหัวนอน ในขณะที่รัฐบาลประยุทธ์มีนโยบายฟื้นเศรษฐกิจด้วยการให้ต่างชาติเข้ามาเช่าที่ดินในประเทศไทยได้นั้น ประชาชนมากมายต้องถูกแย่งยึดที่ดินและทรัพยากร ในขณะที่รัฐบาลมีแนวนโยบายในการสร้างโครงการพัฒนาของรัฐขนาดใหญ่มากมาย ทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรม เหมืองแร่ อ่างเก็บน้ำ และอุโมงค์ผันน้ำ เสียงของประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกลับไม่ได้รับการรับฟัง

“ต้องยืนยันอีกครั้งว่าทิศทางการจัดการที่ดินและทรัพยากรของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังนำประเทศถอยหลังลงคลอง ซ้ำเติมให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ที่ดินและทรัพยากรคือหลังพิงสำคัญที่พาประชาชนรอดพ้นจากวิกฤตความหิวโหย หากรัฐบาลมีวิสัยทัศน์ควรจะต้องหาแนวทางลดช่องว่างระหว่างชนชั้น โดยเฉพาะการเข้าถึงปัจจัยการผลิต ดังคำกล่าวที่ว่า ที่ดินคือชีวิต”

ขณะที่ ณัฐวุฒิ อุปปะ คณะทำงานสภาประชาชน กล่าวว่า การจัดการที่ดินและทรัพยากรป่าไม้ในประเทศไทย ที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความพยายามควบคุมการจัดการโดยรัฐรวมศูนย์ แต่การสูญเสียพื้นที่ป่าในแบบเรียนกลับพูดถึงน้อยมาก ก็คือ “การให้สัมปทานป่า” โดยเฉพาะการให้สัมปทานป่าไม้สักในภาคเหนือ นำมาสู่การตั้งกรมป่าไม้ เพื่อเข้ามาบริหารจัดการสัมปทานไม่ใช่การอนุรักษ์ ตามมาด้วยการใช้ที่ดินไปกำหนดระบบศักดินา ทำให้เกิดการถือครองแบบกระจุกตัว  และการรวมศูนย์อำนาจให้การตัดสินใจอยู่ที่รัฐส่วนกลาง ก่อให้เกิด พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับป่า เพื่อมาควบคุมทรัพยากรมาโดยตลอด

ส่วน พ.ร.บ.ป่า พ.ศ.2484 ก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งของปัญหาป่าไม้ที่ดินโดยระบุว่า ที่ดินป่าไม้ที่ไม่ได้จำแนกหรือครอบครองโดยเอกสารสิทธิ์ให้ประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้ นำไปสู่ปัญหาการแย่ง ยึดที่ดินเขตป่าอนุรักษ์ในมิติเชิงเดี่ยวความเชื่อทางวนศาสตร์ ที่นำแนวคิด “ป่าปลอดคน” มาจากอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน ของสหรัฐอเมริกา ที่ไม่ได้สอดคล้องกับวิถีคนอยู่กับป่า วิถีชีวิตการทำกินที่พึ่งพิงป่า โดยใช้นโยบายพื้นที่ป่าร้อย 40 ที่มีความพยายามมาตั้งแต่ พ.ศ.2528 ภายใต้นโยบายป่าไม้แห่งชาติ แต่จนถึงวันนี้เรายังมีป่าไม้อยู่ที่ร้อยละ 31 จึงเป็นที่มาว่านโยบายรวมศูนย์สะท้อนอย่างหนึ่งว่าไม่สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้จริง และยังก่อให้เกิดการดำเนินคดี แย้ง ยึด ที่ดินชุมชน ส่งผลให้ที่ดินเป็นตัวกำหนดหนึ่งที่ยืนยันว่าเป็นความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย

การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ปี 2557 ยังนำไปสู่การกลับมาอีกครั้งของความมั่นคงในมิติของการจัดการทรัพยากร มีการออกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และ 66/2557 การนำหน่วยงานความมั่นคงเข้ามาอยู่ในเงื่อนไข กลไกจัดการทรัพยากร การพยายามผลักดันกฎหมายที่ผ่านโดย สนช. ที่แต่งตั้งโดย คสช. กระบวนการมีส่วนร่วมในช่วงนั้นแทบจะไม่มี หนึ่งในนั้นคือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่เกี่ยวข้องกับคนอยู่กับป่า กว่า 10 ล้านคน

“ในวันที่ผ่านร่างกฎหมายประชาชนทำเต็มที่ในการเข้าไปคัดค้านให้เกิดการทบทวน ก็ถูกหิ้วออกมา ถูกปิดกันการแสดงความคิดเห็น ท้ายที่สุดกฏหมายเหล่านี้ก็ออกมา สะท้อนว่าที่ผ่านมาเราได้ทำตามกรอบรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว ซึ่งหลังจากนี้นับตั้งแต่การเลือกตั้งท้องถิ่นจนถึงการเลือกตั้งระดับประเทศ เราจะสนับสนุนพรรคที่มีนโยบายแก้ไข พ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับนี้”

ในเวทีอภิปรายออนไลน์ ยังมีผู้แทนสภาประชาชน ทั้ง 4 ภาค จำนวน 480 คน ร่วมกันอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ด้านการจัดการทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม และการจัดการที่ดินและปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน พร้อมร่วมลงคะแนนไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยผลโหวตมีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่ไว้วางใจ​ 480 เสียง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวของเครือข่ายที่ทำงานติดตามการแก้ไขปัญหาการจัดการทรัพยากร ในรูปแบบการจัดเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน