จี้รัฐวางแผนบริหารความเสี่ยง ก่อนนับถอยหลังเปิดประเทศ 120 วัน

“นิพนธ์ ทีดีอาร์ไอ” เตือน พล.อ.ประยุทธ์ แก้ปัญหาโควิด-19 ไม่ได้ รัฐบาลไปไม่รอด “ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ” แนะ วางเป้าหมายควบคุมโรคระยะสั้น ต้องทำอะไรบ้างภายใน 1 เดือนก่อนเปิดประเทศ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “การตั้งเป้า 120 วันเปิดประเทศ” ส่งผลดีต่อคนที่ทำมาหากินรายวัน​และภาคการท่องเที่ยว ให้ใจชื้นขึ้นมาบ้างหลังซบเซามานาน​ แต่สวนทางกับด้านวิชาการ ที่ยังเป็นห่วงว่าความพยายามสร้างสมดุลสุขภาพและเศรษฐกิจสังคมของรัฐบาลนี้ จะควบคู่กันไปได้หรือไม่ แม้ยอมรับว่าการประเทศ​ เปิดเมืองเป็นเรื่องดี แต่ต้องไม่กระทบระบบสาธารณสุข จึงจำเป็นต้องมีแผนบริหารจัดการความเสี่ยง ซึ่งยังไม่เห็นแผนดังกล่าว หลัง​ “พลเอก ประยุทธ์​ จันทร์​โอชา”​ นายกรัฐมนตรี​ ได้แถลงนโยบายสำคัญนี้ไปเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.​ 2564​ 

“รศ.นิพนธ์ พัวพงศกร” นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แนะว่ารัฐควรมีแผนจัดการความเสี่ยง​ โดยการจำแนกความเสี่ยงเป็นหลายด้าน​ เช่น​ ความเสี่ยงด้านการกลายพันธุ์ของไวรัส และประสิทธิภาพของวัคซีนที่จะรับมือ หากพบไวรัสสายพัน​ธุ์ใหม่ ความเสี่ยงด้านการฉีดวัคซีนจำนวน 105 ล้านโดส จะสามารถจัดการ ได้ตามเป้าหมายหรือไม่ และในระหว่างที่วัคซีนยังมาไม่ครบ​ ก็มีความเสี่ยงที่โรคจะระบาดผ่านรูรั่วบริเวณชายแดนที่จะมีผู้คนข้ามเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ขณะที่ระบบกักกันโรคและตรวจคัดกรองติดตาม ยังทำได้ไม่เต็มศักยภาพ เห็นได้จากการเกิดคลัสเตอร์​ใหม่ในโรงงาน​ ตลาด​  ชุมชนแออัด​ และแคมป์คนงานก่อสร้าง​ ที่มีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา ต้องแก้ปัญหาควบคุมและอุดรอยรั่วปัญหาเหล่านี้ให้หมดก่อนที่จะเปิดประเทศ

ด้าน​ “พล.อ.ท. นพ.อนุตตร จิตตินันทน์” ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กังวลว่าหากครบ 120 วัน แล้วสถานการณ์ยังไม่สู้ดี​ รัฐบาลจะสามารถเลื่อนวันเปิดประเทศออกไปได้หรือไม่ หรืออีกแง่หนึ่งหากมองว่า 120 วันเป็นเพียงวิสัยทัศน์ ที่ต้องการวางไว้เป็นนโยบายให้ทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกัน ก็มีโอกาสเป็นไปได้ว่าจะสามารถควบคุมโรคได้​ แต่หากถึง 120 วันแล้วผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในหลัก 2,000-3,000 คน ขณะที่ผู้ติดเชื้อต่างประเทศยังมากอยู่ ก็เป็นความเสี่ยงที่น่ากลัว 

ปัจจุบันแผนกลยุทธ์และแผนบริหารความเสี่ยงของรัฐบาล ยังไม่มีความชัดเจนตัวเลขผู้ติดเชื้อหลังสงกรานต์ที่ผ่านมายังไม่มีแนวโน้มลดลง ส่วนใหญ่ยังคงพบการติดเชื้อในระบบบริการ และยังคงมีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่องยากที่จะหยุดได้ ขณะที่มาตรการควบคุมโรคขั้นสูงสุดและเข้มข้นอย่างมาตรการล็อกดาวน์ซึ่งได้ผล​ ก็กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ในทางการแพทย์ต้องการให้มีการตัดตอน หยุดวงจรระบาด​เพื่อกดตัวเลขผู้ติดเชื้อลงมาและพร้อมเปิดประเทศ

เปิดประเทศได้ ต้องกดผู้ติดเชื้อเหลือ 500 คน/วัน 

การเปิดประเทศเร็วขึ้น 1-2  เดือน จะทำให้ GDP เติบโตขึ้นราว 1.2 -​ 1.5 แสนล้านบาทต่อเดือน “รศ.นิพนธ์” คาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจ​พร้อมระบุว่ามองในแง่ดี​ เปิดประเทศจะไม่ต้องกู้เงินมาเยียวยาอีก แต่ถ้าสถานการณ์หลังเปิดประเทศเลวร้ายลง อาจส่งผลต่อเสถียรภาพและความอยู่รอดของรัฐบาล และหากประเทศไทยยังไม่สามารถควบคุมผู้ติดเชื้อให้ลงมาถึงหลักร้อย หรือ 500 คนต่อวัน ​ก็ยังคงกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจยังไม่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย เพราะไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย 

อย่างไรตาม มองในมิติด้านสังคม การเปิดประเทศก็ยังส่งผลดีต่อความรู้สึกประชาชน​ และผู้ประกอบการ​ร้านอาหาร​ให้กลับมาทำมาหากิน​ เด็กได้ไปโรงเรียน​ ส่งผลในเชิงจิตวิทยาให้คนรู้สึกมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นได้เข้าสู่วิถีปกติ​ พบเพื่อนฝูง

นักการเมืองแย่งงานข้าราชการประจำ ปัญหาบริหารในภาวะวิกฤต

การบริหารประเทศในภาวะวิกฤตไม่ใช่เรื่องง่ายและจำเป็นต้องมีความชัดเจนในการแบ่งอำนาจเพื่อบริหารจัดการ คือ อีกแง่มุนที่ “รศ.นิพนธ์”  กล่าวถึงการทำงานของรัฐบาลในขณะนี้ โดยชี้ว่า ประเทศไทยไม่มีระบบบริหารความเสี่ยงอย่างแท้จริง ทุกครั้งที่เกิดวิกฤต มักตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาเหมือนเป็นผักชีโรยหน้า ประเด็นสำคัญคือการแบ่งอำนาจหน้าที่ในการทำงาน 

ตามหลักการ นักการเมืองหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวง จะต้องเป็นคณะกรรมการนโยบาย และให้ข้าราชการประจำเป็นผู้ปฏิบัติงาน แต่ในปัจจุบันนักการเมืองมักจะไม่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายของตัวเอง แต่ชอบลงมาทำงานของข้าราชการประจำ เช่น วิกฤตน้ำท่วม นักการเมืองถือกุญแจประตูระบายน้ำเอง เพื่อจัดการหวังคะแนนเสียง สิ่งที่เกิดตามมา คือ ความวุ่นวาย สถานการณ์โควิด-19 ก็เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างการบริหารจัดการวัคซีนที่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง นักการเมือง ไปตั้งจุดฉีดวัคซีนเอง แย่งโควตาวัคซีน 

“ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่ามันผิดเพี้ยนในระดับนโยบาย เอาข้าราชการมานั่งทำงาน แล้วนักการเมืองเป็นฝ่ายปฏิบัติ ไม่ถูกต้อง อันที่จริงแล้วนักการเมืองต้องคุยกัน แบ่งเค้กกันให้เสร็จสรรพ ให้เกิดความชัดเจน และสั่งการลงมาให้ข้าราชการทำงานตามนโยบาย” 

ต้องทำอะไรบ้างภายใน 1 เดือนก่อนเปิดประเทศ​

หากนับถอยหลังเปิดประเทศของรัฐบาลกลับไม่วางเป้าหมายระยะสั้นรอบ​ 1​ เดือน​ บอกมาเพียง​ 120​ วัน ไม่กำหนดว่าจะต้องทำอะไรบ้าง​ “พล.อ.ท. นพ.อนุตตร” แนะว่าภายใน​ 1​ เดือนรัฐบาลจะต้องวางเป้าหมายควบคุมโรคในระยะสั้นและระยะยาว ว่าต้องควบคุมโรคได้เท่าไร ยังไม่เห็นเป้าหมายระยะสั้นในการควบคุมโรค 

ในมุมมองแพทย์ต้องการมาตรการควบคุมสูงสุด คือ ล็อกดาวน์ แต่ก็เข้าใจความลำบากทางเศรษฐกิจ การที่ผู้นำตั้งเป้าวิสัยทัศน์ได้นั้น ต้องเกิดจากความเชื่อมั่นให้ทุกคนปฏิบัติตาม แต่ทุกวันนี้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลมีน้อย ข้อควรระวังคือการเปิดประเทศทั้งที่ยังไม่พร้อม นอกจากจะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว ยังอาจทำให้ผู้ติดเชื้อสูงมากขึ้น

ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ  บอกอีกว่าก่อนถึง 120 วัน การควบคุมโรคจะต้องทำให้ถึงจุดที่เกิดความเชื่อมั่นภายใน 1 เดือน คือ 1. มีการตรวจเชิงรุกหาผู้ป่วยให้มากที่สุด 2. อุดรูรั่วทั้งหมดจากการระบาด ไม่ว่าจะเป็นแรงงานการลักลอบหลบหนีเข้าเมือง รวมทั้งเคร่งครัดมาตรการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม เพราะที่ผ่านมาหย่อนยาน ไม่มีการควบคุม ถ้าจะเปิดกิจการ ทุกคนต้องให้ความร่วมมือ 3. วัคซีนที่จะให้ได้ฉีดได้ถึง 50 ล้านคนใน 120 วัน ปัจจุบันทั้งประเทศเพียง 7 ล้านคน เหลืออีก 43 ล้านคน เฉลี่ยแล้วจะต้องฉีดวัคซีนให้ได้ถึงวันละ 3-4 แสนคน โดยหากพิจารณาจากวันที่ 7 มิถุนายนซึ่งเป็นวัน Kick Off ฉีดวัคซีนทั่วประเทศสามารถฉีดได้ถึง 4 แสนคน นั่นหมายความว่าเรามีศักยภาพที่ฉีดจำนวนมาก ๆ แต่ปัญหาคือไม่มีวัคซีนเพียงพอ เมื่อจัดหาวัคซีนไม่พอความเชื่อมั่นก็ลดลง 

การฉีดวัคซีนที่ผ่านมาเริ่มจากกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มผู้สูงอายุโรคประจำตัว ถูกต้องแล้ว เพราะเป้าหมายของวัคซีนเพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตใน 2 เดือนแรก ควรจะฉีดให้กับสูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวให้ครบ แล้วนำวัคซีนที่เหลือหลังจากนี้ฉีดลงไปในพื้นที่ที่มีการระบาด ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ประชาชนเคลื่อนย้ายตลอดเวลาคนจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ก็อาจจะพาโรคแพร่ต่อได้ 

“สิ่งที่กังวลไปอีก อาจจะไม่ต้องถึง 120 วัน คือรอบบ้านก็มีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ระบาด และในบ้านเราหากเกิดการระบาดเยอะ ๆ ไปนาน ๆ ก็มีโอกาสเกิดสายพันธุ์ไทย ที่จะเป็นความเสี่ยงต่อไปว่าวัคซีนที่มีอยู่จะมีประสิทธิภาพรองรับป้องกันโรคได้หรือไม่เมื่อถึงจุดนั้นอาจมีปัญหา” 

เตือน พล.อ. ประยุทธ์ แก้ปัญหาโควิด-19 ไม่ได้ รัฐบาลไปไม่รอด 

ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่กินเวลานับปีแล้ว ไม่เกินความคาดหมายของ “รศ.นิพนธ์” ที่เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจขณะนี้ดิ่งลงเหว และปัญหาสังคมจะรุนแรงมากขึ้น หากรัฐบาลนี้ไม่สามารถกอบกู้แก้ไขสถานการณ์ จะเกิดภาวะ “ระส่ำ” สั่นคลอนความอยู่รอดของรัฐบาล 

“เมื่อรู้แบบนี้แล้วจะหาทางป้องกันอย่างไร การจัดการความเสี่ยง และการตัดสินใจบนความรู้ หลักวิทยาศาสตร์ สามารถทำได้ แต่รัฐไม่ทำ ทั้งที่มีบุคลากรที่มีความสามารถ” 

เขามองว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือ ระบุประเภทความเสี่ยง และประเมินความเสี่ยง จากมากไปน้อยในแต่ละเรื่อง และต้องประเมินความเสี่ยงในทุก ๆ ปัจจัย เพื่อหาแนวทางแก้ไข เช่นความเสี่ยงจากวัคซีนที่จะได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส มีมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่ได้วัคซีนมีแผนรับมือต่อไปอย่างไร แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย มีความเสี่ยงมากถึงน้อยแค่ไหน ที่จะนำโควิด-19 เข้ามา และจะป้องกันตรงนี้อย่างไร รวมถึงความเสี่ยงจากการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ มีมากน้อยแค่ไหน ป้องกันอย่างไร 

“รศ.นิพนธ์” ประเมินว่าประเด็นที่เป็นความเสี่ยงมากที่สุด คือ “การระบาดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ” อาจจะมีขึ้นได้ ควบคุมยาก ก่อนหน้านี้ทีดีอาร์ไอเคยมีข้อเสนอให้ กทม. ตั้งทีมตรวจเชื้อเชิงรุก 200 ทีม ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีบุคลากรเพียงพอ ทุกวันนี้จึงรอให้เจอการระบาดเป็นกลุ่มก้อน หรือ เป็นคลัสเตอร์ก่อนแล้วค่อยตรวจเชื้อเชิงรุก แต่ในความเป็นจริงแล้วเราต้องตรวจเชื้อเชิงรุก ก่อนที่จะเจอการระบาดเป็นคลัสเตอร์

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS