หลายประเทศทั่วโลกประสบกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรง เกิดน้ำท่วมใหญ่ ภัยแล้ง และอุณหภูมิโลกพุ่งสูงขึ้น นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถควบคุม หรือหยุดยั้งการเกิดขึ้นได้ แต่การเตรียมพร้อมรับมืออย่างรู้เท่าทัน และสามารถอยู่ร่วมกับภัยพิบัติได้ เป็นสิ่งที่ประเทศเหล่านั้นเลือกทำ
หลังจากมหาอุทกภัยปี 2554 มีความพยายามป้องกันผลกระทบจากน้ำท่วม ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ อ่างเก็บน้ำตั้งแต่ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก การขุดลอกเพิ่มความจุน้ำ และระบบการระบายน้ำ งบประมาณแต่ละปีที่มากกว่า หนึ่งแสนล้านถูกทุ่มลงไปกับการก่อสร้าง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถรองรับภัยพิบัติได้ทั้งหมด จนนำมาสู่เหตุการณ์น้ำท่วม ในปี 2564
เมื่อโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างในปี 54 อาจใช้ได้ไม่เต็มที่
รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ อ.ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านการจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนอุทกภัยในปี 2554 คือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หมายถึงจุดไหนพังก็ซ่อมกันไปทีละจุด จึงไม่เกิดการแก้ไขอย่างเป็นระบบ จนกระทั่งเมื่อเกิดวิกฤตในปี 2554 ทำให้เกิด ‘ชุดโครงการ’ ในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบมากขึ้น คือการดูแลเขื่อนในภาพรวม และมีการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำอย่างเป็นขั้นตอน จึงสามารถแก้ไขปัญหาได้มากขึ้น
ในวันนี้ หากมองในมุม ‘ส่วนกลาง’ แล้ว ค่อนข้างมีความมั่นใจมากขึ้น เนื่องจากเรามีเครื่องมือ และกลไกที่สามารถรองรับน้ำไว้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ณ วันนี้ที่ฝนตกลงมาแม้อาจจะดูมาก แต่เรายังมีพื้นที่รับน้ำได้อีกประมาณ 1,000 ล้าน ลบ.ม. ที่ยังไม่ได้ใช้ ซึ่งเป็นพื้นที่ของทุ่งรับน้ำต่างๆ ที่ดำเนินการไว้ ในส่วนนี้ถือว่าดีขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม รศ.สุจริต กล่าวว่า โจทย์ในปีนี้เปลี่ยนไปจากเดิม ความเข้าใจเรื่องการเตือนภัยในอดีต คือ พายุจะต้องขึ้นจากเหนือ แล้วลงใต้ แต่ปีนี้กลับกัน เพราะพายุมาลงตรงกลาง และมีช่วงที่ลมจากมหาสมุทรอินเดีย พัดจากใต้ขึ้นเหนือ หมายถึงกลับทิศทางกันโดยสิ้นเชิง จึงทำให้การทำนายเหตุการณ์ และการเตือนภัยทำได้ยาก เหตุการณ์แบบนี้ในประเทศญี่ปุ่นก็เจอเช่นกัน คือ มีการปะทะกันของลม เรียกว่า ความแปรปรวนของภูมิอากาศ ที่เมื่อร้อนขึ้นลมก็จะมีกำลังแรงขึ้น และเมื่อเจอกับมวลน้ำ จึงทำให้ฝนตกรุนแรง (Extreme)
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อพายุพัดผ่านเข้าตามร่องเขา ไม่ไปทางเขื่อนใหญ่ๆ ทั้งเขื่อนภูมิพล หรือเขื่อนสิริกิต์แล้ว ถือเป็นจุดอ่อนอย่างมาก เนื่องจากในพื้นที่นั้นๆ จะไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ มีแต่เขื่อนขนาดเล็ก ที่ไม่สามารถรับมวลน้ำขนาดใหญ่ได้ ท้ายที่สุดก็จะรับไม่ไหว แล้วจะพังลงในที่สุด
“หลังจากปี 2554 Macro (`โครงสร้างขนาดใหญ่) ได้ แต่หลังจากนี้เราต้องแก้ที่ Local (เชิงพื้นที่) เรามีปัญหาในพื้นที่เฉพาะเป็นจุดๆ ไป และหากรับมือไม่ได้ ก็จะเจอน้ำท่วมซ้ำซ้อนต่อไป”
รศ.สุจริต กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่เรามองว่ามีพร้อม แต่เมื่อฝนมาแบบกระจุกตัวเช่นนี้ จึงทำให้ระบบใหญ่ช่วยไม่ได้อย่างเต็มที่ ในปัจจุบันนี้ เราจึงต้องสร้างแผนระดับชุมชน และระดับจังหวัด ประกอบกับแผนใหญ่ซึ่งเรามีอยู่แล้ว รวมถึง สร้างแบบจำลองเหตุการณ์ให้มากที่สุด และทางออกอาจไม่ใช่เพียงการก่อสร้างเพิ่ม แต่สามารถเตือนภัยเพื่อลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินให้มากที่สุด เมื่อเหตุการณ์จบลงสามารถกลับมาใช้ชีวิตต่อได้
อายุเฉลี่ยเขื่อน 40 ปี กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง
รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรมปฐพี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ย้อนกลับไปเมื่อสิบปีที่แล้ว นอกเหนือจากลักษณะน้ำที่ไม่เหมือนกัน และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เรื่องของโครงสร้างพื้นฐานในการรับมือก็เปลี่ยนแปลงไปมาก สามารถรองรับ และป้องกันตนเองได้มากขึ้น หลายๆ พื้นที่ซึ่งเคยน้ำท่วมมีการก่อสร้างกำแพงกันน้ำ และเขื่อนกันน้ำรอบเมือง
และให้ถือว่าน้ำท่วมในปี 2564 นี้เป็นตัวชี้วัด และประเมินผลสิ่งที่ได้ทำลงไป ว่ามีอะไรที่ได้ผล หรือเกิดความผิดพลาดบ้าง ถึงแม้ความรุนแรงจะไม่เท่ากัน แต่อย่างน้อยที่สุด เราเห็นข้อดีที่เกิดขึ้นจากการติดตามข้อมูล การวัดระดับน้ำหลายจุดยังคงรับมือได้ ไม่เหมือนในปี 2554 ส่งผลให้เกิดความมั่นใจมากขึ้นสำหรับผู้ปฏิบัติงาน
“เขื่อนในบ้านเรา อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 30 – 40 ปี เรากำลังใช้เครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำที่ออกแบบและใช้มานานแล้ว ในการรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง … เรื่องนี้ต้องทบทวนการใช้งานอย่างปลอดภัย”
รศ.สุทธิศักดิ์ กล่าวถึง เครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำที่สำคัญ คือ ‘เขื่อน’ เพราะในปัจจุบันนี้เขื่อนขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่กักเก็บน้ำเอาไว้ อายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30-40 ปี บางเขื่อนในภาคอีสานที่เริ่มโครงการกันมาก่อน อาจถึง 50 ปี หมายถึงเรายังใช้เครื่องมือซึ่งมีโครงสร้างและการใช้งานมานานกว่า 50 ปีแล้ว ในขณะที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
นอกเหนือจากปัญหาการใช้งาน ยังมีปัญหาเรื่อง Climate change หรือ สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดฝนตกในบางพื้นที่มากกว่าอัตราปกติที่เคยมี ขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่ไหนจะได้รับผลกระทบ และต้องลุ้นว่าเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำบริเวณนั้นสามารถรับมือได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นโครงสร้างในพื้นที่ต้องควรได้รับการปรับปรุง ดูแลการใช้งานให้ปลอดภัย
กระจายอำนาจ และทรัพยากรสู่ ‘ท้องถิ่น’ จัดการตนเอง
รศ.สุจริต กล่าวว่า ปัญหาในขณะนี้อยู่ในพื้นที่ จึงต้องมีการแบ่งหน้าที่ และความรับผิดชอบอย่างชัดเจน ไม่ใช่เพียงแค่ตามกฎหมาย เพราะตอนนี้ส่วนกลาง จังหวัด และท้องถิ่น มีกฎหมายแยกกันชัด แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ เพราะมอบมาแต่อำนาจ แต่ขาดทรัพยากรและองค์ความรู้
‘การถ่ายโอนอำนาจสร้างปัญหาในตัวเอง’ รศ.สุจริต กล่าวว่าจำนวนอ่างเก็บน้ำในประเทศไทย มีผู้ดูแลเพียงแค่ 30% เท่านั้น ยังมีอีกเกือบ 100,000 แห่งที่ขาดคนดูแลรับผิดชอบ เนื่องจากท้องถิ่นแต่ละที่ความสามารถไม่เท่ากัน ในขณะที่หน้าที่อาจจะเท่ากัน หรือมากกว่านั้น การกระจายอำนาจอย่างเหมาะสม จะเกิดขึ้นด้วย 3 ปัจจัย คือ 1.งบประมาณ ต้องจัดสรรงบประมาณลงท้องถิ่นในการจัดการน้ำมากขึ้น และเพียงพอต่อการดูแล
2.ความสามารถของท้องถิ่น หมายถึง กับภาระและสิ่งที่ต้องดูแล ท้องถิ่นนั้นๆสามารถจัดการเองได้หรือไม่ หรือจำเป็นต้องร่วมกันดูแลระหว่างท้องถิ่น และ 3.ข้อมูลด้านการจัดการน้ำ ท้องถิ่นต้องเข้าใจสถานการณ์ และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง รู้วิธีรับมือ ด้วยข้อมูลที่ได้รับจากส่วนกลาง สุดท้ายต้องมีนวัตกรรมด้วย ในการแก้ปัญหาแบบใหม่
รศ.สุจริต กล่าวว่า จะเกิดการกระจายอำนาจอย่างเป็นธรรมต้องมีคนมองในภาพรวม และต้องมีหน่วยงานดูแแลท้องถิ่น เสมือนโค้ชที่คอยฝึกฝนทักษะต่างๆ โดยใช้เจ้าหน้าที่ของหน่วยปฏิบัติ อย่างกรมชลประทาน เข้าไปทำหน้าที่ มีการระบุขอบเขตการทำงานให้ชัดเจน เพราะปัจจุบันอยู่นอกเหนือหน้าที่ของหน่วยงานเหล่านี้
โลกใหม่ ที่ต้องอยู่ร่วมกับภัยพิบัติ
‘เจ้าพระยา เดลตา’ คือคำตอบ รศ.สุจริต กล่าวเสริมว่า เราไม่สามารถกำหนดสภาพภูมิอากาศได้ แต่เราต้องกำหนดการใช้ชีวิตของตัวเองให้ได้ สิ่งสำคัญคือการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ในระยะยาวที่เรามีพื้นที่ปลูกข้าวในภาคกลางจำนวน 10 ล้านไร่ จำเป็นต้องมีขนาดนั้นหรือไม่ การออกแบบการใช้ที่ดิน ต้องแตกต่างกันไปตามลักษณะของพื้นที่การใช้ประโยชน์ และสร้างความรู้สึกร่วมในการร่วมดูแล
เช่นเดียวกับ รศ.สุทธิศักดิ์ ที่กล่าวว่า หลักการของ ‘เจ้าพระยา เดลตา’ คือการชวนคนในพื้นที่มาออกแบบชีวิตร่วมกัน เพราะที่ผ่านมาการใช้ชีวิตในปัจจุบัน ไม่ได้เกิดจากการออกแบบ ในอดีตเราเคยอยู่ร่วมกับน้ำกันมาได้ เรายอมรับการที่มีน้ำท่วมได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเทคโนโลยีเข้ามา เราปรับตัวเลือกไปอยู่ในพื้นที่แห้ง นำมาสู่ระบบคมนาคมก็เปลี่ยนไป สิ่งนี้เป็นไปโดยที่เราไม่ได้ออกแบบ
แต่ในสภาพภูมิอากาศปัจจุบัน เราต้องชวนคนมาออกแบบชีวิตกันใหม่ ทั่วโลกยอมรับหลักการนี้ หากจะถามว่าถึงแม้เราจะทำตามแผนจัดการน้ำ 20 ปี แล้วน้ำจะท่วมหรือไม่ ? สามารถตอบได้ทันทีว่าน้ำยังท่วมอยู่ แต่แผนนั้นต้องทำให้เรายอมรับลักษณะของการอยู่ร่วมกับน้ำ และมีความสุข
แผนที่ดีในอนาคตควรเป็นอย่างไร ?
รศ.สุจริต กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงในภาพรวม และแบ่งแยกประเภทของการท่วมให้ชัดเจน นำไปสู่การจัดการที่แตกต่างกัน หรือที่เรียกว่า ‘area base’ และต้องมีการสื่อสารให้เข้าใจในแต่ละประเด็น ว่าหากเกิดน้ำท่วมเป็นเพราะอะไร ไม่ใช่เพียงภาพที่ออกไปว่าท่วมแล้วจะแย่เสมอไป ต้องหาให้ได้ว่าท่วมในแง่บวกหรือแง่ลบ
ในแง่ของแผนที่ชัดเจน ตอนนี้เรามีหน่วยงานอย่าง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. แล้ว นั่นหมายถึงโครงสร้างด้านบนมีการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างระดับกลางอย่างอนุกรรมการลุ่มน้ำจังหวัด และระดับล่าง คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ต้องหาเวทีร่วมให้ทั้งโครงสร้างปรับความเร็วในการแก้ปัญหาร่วมกัน
นอกจากนั้น รัฐต้องมีแนวทางส่งเสริมให้เกิดอาชีพใหม่ ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก อาจจะต้องมองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตไปพร้อมกัน เพื่อให้คนในพื้นที่อยู่ได้ ภายใต้สภาวะอากาศที่แปรปรวน เพราะ ‘น้ำเป็นทรัพย์สมบัติ’ ไม่ได้เป็นภัย โจทย์ใหญ่ จึงกลับมาสู่พื้นที่ ตอนนี้ต้องมีการกระจายอำนาจที่เหมาะสม
ในขณะที่ รศ.สุทธิศักดิ์ กล่าวว่า ในขณะนี้เราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือ transition ที่โครงสร้างพื้นฐานก็ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือต้องมีการมองการแก้ปัญหาในภาพรวม หรือ Over all สิ่งใดที่สามารถป้องกันได้ก็จำเป็นต้องทำอย่างเต็มที่ ไม่ให้ตกม้าตายได้ง่ายๆ เพราะถ้าเรื่องที่ไม่ควรจะท่วม ก็ควรอยู่ในระดับที่จัดการได้ด้วย
ต้องมีลิมิต และความเสี่ยงที่สามารถรองรับได้ หากท้ายที่สุดเป็นวิกฤตที่ไม่สามารถรับได้ ก็ควรมีการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง การสั่งอพยพ ต่างประเทศมีจำนวนเป็น ล้านคน แต่ประเทศไทยตอนนี้ยังไม่ขนาดนั้น หมายถึงเขาเข้าใจในความเปลี่ยนแปลง ตอนนี้ต้องยอมรับความเสี่ยง การเตือนภัยต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น ต้องมาควบคู่กันเพื่อให้ข้อมูลประชาชนได้ปรับตัว