เตือน 11-13 ส.ค. นี้ อิทธิพลพายุ “มู่หลาน” ส่งผลกระทบไทย

กรมอุตุนิยมวิทยา เตือน พายุโซนร้อนมู่หลาน คาด เคลื่อนผ่านเกาะไหหลำและเคลื่อนขึ้นฝั่งเวียดนามตอนบน 11 ส.ค. นี้ ส่งผลถึงไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากไปจนถึง 13 ส.ค. กระทบภาคเหนือ อีสาน และตะวันออก เสี่ยงน้ำหลาก น้ำล้นตลิ่ง ขณะที่หลายจังหวัดกระทบน้ำท่วมฉับพลันแล้วกว่า 300 คน

ชาวบ้านเวียงพัฒนา อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ กว่า 300 คน กำลังขาดแคลนอาหารและน้ำ หลังถนนถูกตัดขาดมาแล้ว 4 วัน ทหารกองกำลังผาเมืองและอาสาสมัครจำนวนกว่า 100 คน นำสิ่งของจำเป็น เดินเท้าเข้าไปช่วยผู้เดือดร้อน 300 หลังคาเรือน ที่หมู่บ้านดอยเวียงผา หมู่ 18 ตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่

ฝนที่ตกหนัก ทำให้ดินถล่มลงมาปิดทับเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ต้องเดินเท้าอย่างยากลำบากใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ส่วนการเปิดเส้นทางทำได้ 2 จุดแล้ว จากทั้งหมด 9 จุด

ขณะที่จังหวัดเพชรบูรณ์ น้ำจากแม่น้ำป่าสักที่ไหลเอ่อท่วมอำเภอหล่มสัก ครูในอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ต้องอุ้มและนำเด็กนักเรียนเดินฝ่าน้ำท่วมเข้าโรงเรียน เพราะน้ำจากแม่น้ำป่าสักไหลเข้าท่วมบริเวณทางเข้าโรงเรียน โรงเรียนที่ถูกน้ำท่วมสูง ต้องประกาศหยุดเรียน ล่าสุดสถานการณ์น้ำท่วมยังทรงตัว

ที่จังหวัดพิจิตร น้ำคลองสาขา เอ่อท้นเข้าท่วมโรงเรียนบ้านท่าเยี่ยม อำเภอสากเหล็ก อาคารเรียนถูกน้ำท่วมจำนวน 3 ห้อง ครูต้องเร่งเก็บอุปกรณ์การเรียน เพื่อไม่ให้ถูกน้ำท่วม พร้อมให้ผู้ปกครองมารับนักเรียน 160 คนกลับบ้าน

ส่วนที่จังหวัดนครนายก เจ้าหน้าที่กู้ภัยระดมกำลังค้นหา นายสวย สอนนอก อายุ 41 ปี ชายพิการ ที่เกิดอุบัติเหตุเรือล่ม ภายในคลองห้วยทราย หมู่ 11 ตำบลเขาพระ อำเภอเมืองนครนายก ตั้งแต่ช่วงบ่ายเมื่อวานนี้ (10 ส.ค.) ล่าสุด เจ้าหน้าที่พบศพแล้ว โดยลอยติดกับกิ่งไม้ที่อยู่ใต้น้ำ ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 300 เมตร

ขณะที่สถานการณ์น้ำป่า ที่ไหลลงมาบริเวณน้ำตกนางรอง ตำบลหินตั้ง อำเภอเมืองนครนายก ล่าสุดเริ่มกลับคืนสู่สภาวะปกติ แต่ยังคงมีน้ำจากเทือกเขาใหญ่ไหลลงมาบริเวณน้ำตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปักธงแดงห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำโดยเด็ดขาดต่อไป

ด้าน กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) จึงประกาศเตือนเรื่องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก หลังได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าจะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์น้ำ ในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก

ชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า ฝนที่ตกสะสมต่อเนื่องอาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน รวมทั้งมีบางพื้นที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิมอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง ในช่วงวันที่ 11 – 17 สิงหาคม 2565 ดังนี้

1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง

ภาคเหนือ 7 จังหวัด

– จ.เชียงราย (อ.เวียงแก่น อ.ขุนตาล อ.เทิง อ.ดอยหลวง และ อ.เชียงของ)

– จ.เชียงใหม่ (อ.แม่แตง และเวียงแหง)

– จ.พะเยา (อ.เชียงคำ และปง)

– จ.แม่ฮ่องสอน (อ.เมืองแม่ฮ่องสอน อ.ปาย อ.แม่สะเรียง อ.แม่ลาน้อย อ.ขุนยวม อ.ปางมะผ้า และ อ.สบเมย)

– จ.น่าน (อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.เชียงกลาง อ.ท่าวังผา อ.ทุ่งช้าง อ.บ่อเกลือ อ.ปัว และ อ.สองแคว)

– จ.พิษณุโลก (อ.นครไทย)- จ.ตาก (อ.อุ้มผาง)


ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด

– จ.เลย (อ.ด่านซ้าย และ อ.วังสะพุง)

– จ.หนองคาย (อ.รัตนวาปี)

– จ.บึงกาฬ (อ.เมืองบึงกาฬ อ.บึงโขงหลง อ.โซ่พิสัย อ.เซกา และ อ.ปากคาด)

– จ.นครพนม (อ.เมืองนครพนม อ.ท่าอุเทน อ.โพนสวรรค์ อ.บ้านแพง และ อ.ศรีสงคราม)

– จ.ศรีสะเกษ (อ.เมืองศรีสะเกษ อ.ยางชุมน้อย และ อ.ราษีไศล)


ภาคตะวันออก 5 จังหวัด

– จ.นครนายก (อ.เมืองนครนายก อ.บ้านนา อ.ปากพลี และ อ.องครักษ์)

– จ.ปราจีนบุรี (อ.เมืองปราจีนบุรี อ.กบินทร์บุรี อ.ประจันตคาม อ.ศรีมหาโพธิ อ.บ้านสร้าง และ อ.นาดี)

– จ.ระยอง (อ.แกลง)

– จ.จันทบุรี (อ.เมืองจันทบุรี อ.นายายอาม อ.แก่งหางแมว อ.ขลุง อ.เขาคิชฌกูฏ อ.โป่งน้ำร้อน อ.มะขาม อ.แหลมสิงห์ อ.ท่าใหม่ และ อ.สอยดาว)

– จ.ตราด (อ.เกาะช้าง อ.เกาะกูด อ.แหลมงอบ และ อ.เขาสมิง)

2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง

บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ได้แก่ แม่น้ำกก แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำตราด

3. เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 9 แห่ง

– อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่

– อ่างเก็บน้ำกิ่วลม และกิ่วคอหมา จ.ลำปาง

– บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์

– อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี

– อ่างเก็บน้ำน้ำพุง จ.สกลนคร

– อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

– อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี

– อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง

รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ

ขณะที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติเร่งกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ

  1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ
  2. ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ สถานีสูบน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำ และระดับน้ำในลำน้ำ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
  4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์