รอดตกงาน! “ชาติพันธุ์ลัวะ” ปลื้มได้ฉีด “ซิโนฟาร์ม” ใบเบิกทางทำงานช่วงวิกฤตระบาด

หวั่นนายจ้างไม่ให้ทำงาน ถ้าไม่ได้ฉีดวัคซีน ท่ามกลางอุปสรรค เข้าไม่ถึงระบบ ด้าน นักวิชาการ ย้ำทุกคนต้องได้รับการดูแล วัคซีนต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติ กระทุ้งรัฐติดตามแก้ปัญหาไร้สัญชาติ ช่วยชาติพันธุ์เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน   

กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ พื้นที่เขตทวีวัฒนา กทม. และปริมณฑล รอรับการคัดกรอง
เพื่อฉีดวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

วันนี้ (25 ก.ย.64) กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 201 คน เข้ารับการฉีดวัคซีนพระราชทาน “ซิโนฟาร์ม” จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ภายหลังได้รับการจัดสรร ตามที่สมาคมลัวะแห่งประเทศไทย ขอสนับสนุนวัคซีนเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ ถือเป็นกลุ่มบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ที่อาศัย และใช้แรงงานอยู่ในพื้นที่เสี่ยงการระบาด ที่ผ่านมายังเข้าไม่ถึงวัคซีน และความช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ


หมาย เชียงเจริญ ตัวแทนชาติพันธุ์ลัวะ จาก อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เขาตัดสินใจเข้ามาทำงานรับจ้างในกรุงเทพฯ ไม่ต่ำกว่า 5 ปีแล้ว บอกว่า สถานะทางทะเบียนของเขาที่ไม่ชัดเจน ถือบัตรเลข 0 การทำงานจึงค่อนข้างจำกัด ทำได้แค่ใช้แรงงาน กรรมกรก่อสร้าง ซึ่งก็พอให้มีรายได้เลี้ยงตัวเอง แต่หลังเกิดระบาดโควิด ช่วงปีที่ผ่านมา งานน้อยลง รายได้ไม่มั่นคงเหมือนเดิม จะหวังพึ่งการเยียวยาจากรัฐก็ค่อนข้างยาก ในช่วงที่โควิดระบาดหนัก แม้จะระมัดระวังตัวเองอย่างดี แต่ก็รู้สึกอุ่นใจขึ้นเมื่อได้ฉีดวัคซีน

หมาย เชียงเจริญ ตัวแทนชาติพันธุ์ลัวะ

“ก่อนหน้านี้ช่วงที่ปิดแคมป์ ไม่ได้ทำงานมาเป็นเดือน ๆ ค่อนข้างลำบาก มาช่วงนี้พอได้ทำงานบ้าง แต่นายจ้างก็อยากให้ฉีดวัคซีน ผมก็ไม่รู้ว่าต้องไปเอาวัคซีนจากไหน จะให้ลงทะเบียนก็ยาก เพราะเราไม่มีสถานะ กลัวว่าจะไม่ได้ พอมีโอกาสได้ฉีด ก็เอาเลย อย่างน้อยผมฉีดแล้ว ก็ได้ทำงานอย่างมั่นใจ”



ไม่ต่างกับ อามลี เชียงฮง ชาติพันธุ์ลัวะ อีกคนที่จากบ้านเกิดใน อ.แม่จัน จ.เชียงราย มาทำงานในกรุงเทพฯ 10 กว่าปีแล้ว วันนี้เธอทำอาชีพแม่บ้าน วัคซีนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เธอต้องการ เพราะในช่วงที่โควิดระบาดหนัก ๆ เธอแทบไม่ได้ไปทำงาน เมื่อเจ้านายกลัวจะเอาเชื้อไปแพร่ในบ้าน ถึงขั้นบอกว่าถ้ายังไม่ฉีดวัคซีน ไม่ต้องมาทำงาน

อามลี เชียงฮง ตัวแทนชาติพันธุ์ลัวะ


“ดีใจค่ะ ที่ได้ฉีดสักที เราไปทำงานอยู่ในบ้านเขา เขาก็กลัวเราเอาเชื้อไปติด เพราะก่อนหน้านี้ในชุมชนที่อยู่ มีคนติดโควิดเยอะ เราเองก็กลัว แต่กลัวจะตกงานมากกว่า แม้จะลงทะเบียนวัคซีนไปหลายที่แล้ว แต่ก็ไม่เคยได้ วันนี้ได้ฉีดแล้วดีใจมาก เจ้านายเขาจะได้มั่นใจเรา”



วลฺลภ ยุติธรรมดำรงค์ รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ บอกว่า วัคซีนถือเป็นมนุษยธรรมที่ทุกคนในสังคมต้องได้รับการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน ในภาวะวิกฤตโรคระบาด ดังนั้นนอกเหนือการจัดหาวัคซีนให้กับหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ อีกบทบาทสำคัยที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้มีส่วนเติมเต็มคือการช่วยให้กลุ่มคนเปราะบางในสังคม ทั้งคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง คนไร้บ้าน กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มบุคคลไร้สถานะทางทะเบียน ได้มีโอกาสเข้าถึงวัคซีนเพื่อคุมระบาด

ขณะที่ รศ.พันธุ์ทิพย์ สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้มีส่วนขับเคลื่อนการช่วยเหลือบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติมาอย่างต่อเนื่อง บอกว่า ทุกคนควรได้รับการดูแลให้ปลอดภัยจากจากโควิด วัคซีนจึงต้องทำโดยไม่เลือกปฏิบัติต่อมนุษย์ วันนี้ต้องขอบคุณราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่ให้ความสำคัญ แต่ที่ต้องสร้างความเข้าใจกันต่อคือรับวัคซีนไปแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตามแนวทางควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ ที่มาอยู่ในเมืองตอนนี้ ยังคงประสบปัญหาเรื่องการขอรับรองสัญชาติ ทั้งที่ความจริงแล้วสามารถทำได้ตามกระบวนการทางกฎหมาย นี่คือประเด็นสำคัญที่ต้องสื่อสารไปยังรัฐบาลให้การช่วยเหลือ

“เรื่องวัคซีนก็สำคัญเพื่อให้พวกเขาได้ใช้ชีวิต ได้ทำงาน อย่างที่ควรจะเป็น แต่เรื่องสถานะทางทะเบียน ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ยังรอการแก้ปัญหา เพราะยังมีลัวะอีกจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้รับการรับรองสถานะ ที่น่าห่วงมากกว่าคือ ลูกหลานลัวะ ที่ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G หรือ เด็กติด G หมายถึงเด็กที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยที่เข้าเรียนในโรงเรียนไทย แต่เด็กกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอื่น ๆ ได้ เพราะเด็กติด G คือ รหัสประจำตัวที่ใช้ในการศึกษา ไม่เกี่ยวกับเลข 13 หลักของกระทรวงมหาดไทย นี่คือความพยายามที่จะทำให้ลูกหลานชาติพันธุ์ลัวะได้รับการดูแลเรื่องสถานะทางทะเบียนเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น”  

สำหรับการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ ในพื้นที่เขตทวีวัฒนาและใกล้เคียง จำนวน 201 คน วันนี้เป็นเข็มแรก จากนั้นอีก 3 สัปดาห์ หรือประมาณวันที่ 16 ต.ค.นี้ จะได้รับการฉีดเข็ม 2 แม้ทำให้หลายคนได้รับโอกาสเข้าถึงวัคซีน แต่ก็ยังไม่ครอบคลุม เพราะเมื่อพิจารณาจากข้อมูลศูนย์ประสานงานสมาคมลัวะแห่งประเทศไทย เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ระบุว่า ในเวลานี้มีประชากรชาติพันธุ์ลัวะอาศัย และทำงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไม่น้อยกว่า 2,000 คน เฉพาะที่ทวีวัฒนา อาจมีไม่น้อยกว่า 700 คน แน่นอนว่าส่วนใหญ่ไร้ซึ่งสถานะทางทะเบียน พวกเขาย้ายถิ่นทำงานรับจ้างไปในหลายพื้นที่ ทั้งทำงานรับจ้างอยู่ในเขตทวีวัฒนา บางแค หนองแขม รับจ้างทำสวนกล้วยไม้ในหลายพื้นที่ของ อ.บางเลน นครชัยศรี จ.นครปฐม รวมถึงในพื้นที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ด้วย





Author

Alternative Text
AUTHOR

พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

นักข่าวไม่จำกัดสาย จัดให้ได้ทุกประเด็น