แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงวัคซีน ปัจจัยเสี่ยง เชียงใหม่ ระบาดหนัก

แรงงานข้ามชาติ “ไม่กล้าตรวจ กลัวถูกส่งกลับ เข้าไม่ถึงวัคซีน” ปัจจัยเสี่ยง ทำตลาดเมืองใหม่ ศูนย์กลางการระบาดโควิด-19 จ.เชียงใหม่ ระลอกเดือนตุลาคม คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. แนะ สธ. จัดสรรวัคซีนเพิ่มให้ครอบลุมประชากรแฝง-แรงงานข้ามชาติ 

3 พ.ย.​ 2564 – สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ จังหวัดเชียงใหม่เพิ่ม 492 คน ขณะสาธารณสุข ตั้งจุดตรวจ ด้วยรถตรวจชีวนิรภัยพระราชทานเพิ่มในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ลงตรวจ ATK และฉีดวัคซีนเชิงรุกในชุมชน ทั้งคนไทย และแรงงานข้ามชาติ ขณะเดียวกัน สสจ.เชียงใหม่ ตั้งเป้าเร่งฉีดให้ได้วันละ 46,000 โดส ขณะที่บรรยากาศที่จุดฉีดวัคซีน เซ็นทรัลแอร์พอร์ต มีประชาชนมารอฉีดวัคซีนจำนวนมากจนล้นออกมาด้านออก 

บรรยากาศการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่จุดฉีดวัคซีนเซ็นทรัล แอร์พอร์ต จ.เชียงใหม่

ซาน ซาน มิ​ แรงงานข้ามชาติในตลาดสดเมืองใหม่ กล่าวว่า เข้ามาทำงานอยู่ในประเทศไทย 4 ปีแล้ว และหลังเกิด covid-19 ระบาดตั้งแต่ปี 2563 เพิ่งตัดสินใจ เข้ารับการตรวจเชื้อด้วย​ ATK เป็นครั้งแรก โดยได้ยินเสียงตามสายของประธานชุมชน เชิญชวนให้แรงงานข้ามชาติเข้ารับการตรวจ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องข้อกฎหมายและการส่งกลับประเทศ

เธอ กล่าวอีกว่า หอพักที่อาศัยอยู่ มีเพื่อนแรงงานอาศัยอยู่กันอย่างแออัด ติดเชื้อไปแล้ว 3 คน ยังมีผู้กักตัวดูอาการอีกจำนวนหนึ่ง เธอกลัวว่าจะติดเชื้อจากตลาด ไปติดลูกและสามีที่ติดตามมาด้วย

สำหรับตลาดสดเมืองใหม่  เป็นตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ที่สุดของภาคเหนือตอนบน สินค้าโดยเฉพาะ​ผักสดจากบนดอย และจากสถานที่ต่างๆ จะถูกนำมาขายรวมกันที่นี่ ขณะเดียวกันก็จะมีพ่อค้า​ จากตลาดโดยรอบ​  และจังหวัดข้างเคียง​เข้ามาซื้อไปขายต่อ

แรงงานข้ามชาติรอคิวตรวจ ATK ที่จุดตรวจคัดกรองวัดสันป่าข่อย จ.เชียงใหม่

เสกสรร​ ขันธสีมา​ ประธานชุมชนตลาดสดเมืองใหม่ ระบุว่า ตลาดนี้เป็นคลัสเตอร์การระบาด ครั้งล่าสุด เดือนตุลาคมที่ผ่านมา และเป็นศูนย์กลางการระบาดที่กระจายเชื้อไปสู่ตลาดต่างๆ ในอำเภอเมืองและอำเภอข้างเคียง ของจังหวัดเชียงใหม่​ จากพ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อของไปขายต่อ  จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความปลอดภัย 100% เนื่องจากยังมีแรงงานข้ามชาติอีกจำนวนมากยังกลัวที่จะเข้ารับการตรวจ

เสกสรร มองว่า ฉีดวัคซีนต้องฉีดครอบคลุมไปถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติด้วยเพราะอยู่รวมกันกับคนไทย ปัจจุบันมีความพยายามของจังหวัด ในการจัดสรรวัคซีน ฉีดให้กับแรงงานข้ามชาติ แต่อัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำมาก่อนหน้านี้ทำให้คนในจังหวัดเชียงใหม่​กว่า 30 % ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน  ขณะที่การฉีดวัคซีนเชิงรุก ยังเห็นได้น้อย การเข้าถึงวัคซีนของแรงงานข้ามชาติจึงอาจยังเป็นช่องโหว่ของการระบาดซ้ำ

คณบดีแพทย์ฯ​ มช.​ ห่วงการเข้าถึงวัคซีนแรงงานชาติ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานข้ามชาติในจังหวัด​เชียงใหม่​ ที่อาจจะมีปัญหา​การเข้าเมืองอย่างถูกต้อง คงกังวลว่าถ้าหากเข้าตรวจเชิงรุก​ หรือไปลงทะเบียนฉีดวัคซีนจะถูกดำเนินการส่งกลับหรือไม่​ นี่เป็นปัญหาสำคัญ เพราะคลัสเตอร์การระบาดส่วนหนึ่งก็ติดจากแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ด้วย

ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ด้าน ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่​ วิเคราะสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดเชียงใหม่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น และยังไม่ขึ้นถึงจุดสูงสุดเนื่องจากยังคงมีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยรายวัน 200 ถึง 300 คน จำนวนนี้ 20% จะเป็นผู้ป่วยหนัก​ ปัจจัยที่จะช่วยกดจำนวนผู้ติดเชื้อให้ต่ำลงได้ ส่วนหนึ่งคือการที่มีบุคลากรสาธารณสุขที่ถูกระดมมาจากหลายจังหวัด​ช่วยกัน​ ทั้งการตรวจเชิงรุกในหลายชุมชนแออัด​ และการเร่งฉีดวัคซีน​ ซึ่งคาดว่าจะเห็นผู้ติดเชื้อลดลงในอีก 14 วัน

ส่วนการฉีดวัคซีนนั้น​ จังหวัดเชียงใหม่ดำเนินการฉีดไปแล้วกว่า 60% การจัดสรรวัคซีนมาอีก 7​ แสนโดส ของกระทรวงสาธารณสุขก็จะมาเติมเต็ม​อีก​ 40% ของคนที่ยังไม่ได้ฉีด ให้ฉีดได้ครบ 100% แต่ทว่านั่นเป็นตัวเลขของประชากรจังหวัดเชียงใหม่ที่ยังไม่รวมประชากรแฝง​ และกลุ่มแรงงานข้ามชาติ​ ที่อาจยังเข้าไม่ถึงวัคซีน

คณบดี​คณะแพทยศาสตร์​ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นว่าการแก้ปัญหาโควิด-19 ในระยะยาวจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้กับคนทุกกลุ่ม ​ กระทรวงสาธารณสุข อาจต้องจัดสรรวัคซีน​เพิ่มให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติ​ ไปพร้อมกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS