วัคซีนเด็กควรเป็น เชื้อตาย หรือ mRNA ?

เด็กกลุ่มเสี่ยง กทม. นำร่องฉีดไฟเซอร์ 21 ก.ย.นี้ ขณะที่ “ศ.นพ.ธีระวัฒน์” ระบุวัคซีนเชื้อตายปลอดภัยกว่า ด้าน “ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย” ชี้ยังไม่มีวัคซีนที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน ส่วนทั่วโลกเริ่มฉีดวัคซีนเด็กทั้ง เชื้อตาย และ mRNA 

จับตา 21 ก.ย.2564 กรุงเทพมหานคร จะฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยงอายุ 12-18 ปี โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 437 แห่ง ให้เข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์กับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช โดยให้ผู้ปกครองลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ผ่าน QR Code ตั้งแต่วันที่ 6-8 ก.ย.นี้ ซึ่งนักเรียนที่จะได้รับการฉีดวัคซีนต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ มีเอกสารที่ระบุการเจ็บป่วย เช่น ใบรับรองแพทย์ หรือใบนัดตรวจสถานพยาบาล หรือใบรับรองความพิการ หรือใบรับรองหรือเอกสารใดๆ ที่ระบุว่ามีการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนจำนวนผู้ได้รับวัคซีน ตามหลักเกณฑ์ ต่อไปนี้ 

  • ผู้ที่มีภาวะเสี่ยง กลุ่มอายุ 12-13 ปี น้ำหนัก 70 กิโลกรัม, กลุ่มอายุ 13-15 ปีน้ำหนัก 80 กิโลกรัม, กลุ่มอายุ 15-18 ปี น้ำหนัก 90 กิโลกรัม
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่
    1. โรคอ้วน ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น 
    2. โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง 
    3. โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง 
    4. โรคไตวายเรื้อรัง 
    5. โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ 
    6. โรคเบาหวาน 
    7. กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการช้า

ข้อถกเถียงวัคซีนเด็กควรเป็น เชื้อตาย หรือ mRNA 

ชัดเจนแล้วว่าวัคซีนไฟเซอร์ ประเภท mRNA จะเป็นวัคซีนที่กรุงเทพมหานครฉีดให้เด็ก ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2564 ให้ฉีดวัคชีนที่ได้รับการรับรองให้ใช้ในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปโดยองค์การอาหารและยาเท่านั้น ซึ่งมีเพียงชนิดเดียว คือ วัคชีนชนิด mRNA ของไฟเซอร์ 

ทว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  ไม่แนะนำฉีดไฟเซอร์ให้เด็กเพราะผลข้างเคียงหลังรับวัคซีนชนิด mRNA ในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ที่ข้อมูลในต่างประเทศพบเรื่องของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หรือระบบหัวใจ เกิดขึ้นค่อนข้างเด่นกว่ากลุ่มอายุอื่น แม้เกิดขึ้นไม่มาก แต่มีความอันตรายมาก หากคำนึกถึงความปลอดภัย คงต้องเป็นวัคซีนเชื้อตาย เช่น วัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม ซึ่งในประเทศจีนขณะนี้เอามาฉีดให้กับเด็กเล็ก เด็กโตและวัยรุ่นแล้ว

ขณะที่ ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ยืนยัน ยังไม่มีวัคซีนที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน ให้เน้นฉีดผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง ครู คนในบ้านให้ครบเพื่อไม่แพร่เชื้อไปยังเด็ก โดยจำนวนเด็กที่ป่วยในช่วงแรก 997 คน หรือคิดเป็น 6 % ต่อมาได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนถึง 1.4 แสนคน หรือ 14 % ของผู้ติดเชื้อและติดเชื้อจากที่บ้าน เพราะโรงเรียนยังไม่ได้เปิด

ส่วนการฉีดวัคซีนเด็กในต่างประเทศ (8 ก.ย.) กระทรวงสาธารณสุขของชิลี ฉีดวัคซีนซิโนแวค กับเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปี ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองในการให้บุตรหลาน มีภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 เพื่อการกลับเข้าเรียนแบบปกติในสถานศึกษา ขณะที่ประเทศคิวบา เป็นชาติแรกที่ฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 2 ปีซึ่งน้อยที่สุด ด้วยวัคซีนที่พัฒนาเอง คือ อับดาลา และโซเบรานาประเภทโปรตีนซับยูนิต แบบเดียวกับของโนวาแวกซ์จากสหรัฐ

เมื่อเดือน ส.ค. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เริ่มโครงการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มสำหรับเด็กอายุระหว่าง 3-17 ปี ขณะที่สหราชอาณาจักรฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรกของไฟเซอร์ให้เด็กอายุระหว่าง 16-17 ปี หลังคณะกรรมการร่วมด้านวัคซีนและภูมิคุ้มกัน (JCVI) เห็นว่าปลอดภัย อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่ฉีดวัคซีนเด็กอายุ 12-15 ปี ของไฟเซอร์ ตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS