ทำไมต้องมีกฎหมาย PRTR คุมโรงงาน เปิดข้อมูลสารมลพิษ?

องค์กรสิ่งแวดล้อม ร่วมเสนอกฎหมาย PRTR หวังประชาชนเข้าถึงข้อมูลป้องกันอันตรายจากสารเคมี เรียกร้องรัฐบาลให้ความสำคัญ ก่อนชีวิตและธรรมชาติจะถูกทำลาย หลังปัดตกกฎหมายเมื่อปีก่อน

“ร่างกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อย และเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม” หรือ Pollutant Release and Transfer Registers (PRTR) ซึ่งเป็นร่างกฎหมายโดยภาคประชาชน ที่จะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร หลังปีที่ผ่านมา กฎหมายดังกล่าวไม่ได้รับการรับรองจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรด้านส่ิงแวดล้อม ได้ร่วมกันยื่นร่างกฎหมายดังกล่าวต่อประธานรัฐสภา หลังร่วมกันศึกษาทั้งงานวิจัยและการติดตามปัญหามลพิษในประเทศนานกว่า 10 ปี

ก่อนหน้าเพียง 1 วัน คือ 3 ก.ค. 2565 มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ร่วมกับกรีนพีซ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพของประชาชน ได้จัดเสวนาเปิดตัวร่างกฎหมายดังกล่าว The Active สรุปสาระสำคัญของวงสนทนามาให้ได้ติดตามกัน

ข้อมูล ‘มลพิษ’ เป็นสิ่งแรก ที่ทุกคนต้องรับรู้ร่วมกัน

สมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบโดยชุมชน กล่าวว่า แม้ปัจจุบันข้อมูลเรื่องสารก่อมลพิษของภาคอุตสาหกรรม จะมีกฎหมายควบคุม แต่คนที่เกี่ยวข้องล้วนเป็นฝ่ายผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่รัฐ ในขณะที่ผลกระทบนั้นเกิดกับประชาชน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ที่เผชิญอยู่กับความเสี่ยง ประชาชนควรมีสิทธิที่จะรู้เรื่องนี้ ว่าโรงงานที่มาตั้งอยู่ใกล้ชุมชน ใช้สารเคมีอะไรเป็นส่วนผสม แล้วมีผลกระทบอะไรต่อสุขภาพและการประกอบอาชีพบ้าง จึงควรมีฐานข้อมูลที่ประชาชนเฝ้าระวังได้ด้วยตนเอง

“เรากำลังพูดถึง สิทธิ ในการเข้าไปมีส่วนร่วมตัดสินใจของประชาชน ในการทำนโยบาบย หรือโครงการที่กระทบต่อสุขภาพพวกเขา การจะเข้าไปตัดสินใจได้ การเปิดเผยข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ต่อให้เปิดเวทีรับฟังความเห็นไปเป็นร้อยเวที มันไม่ได้สำคัญที่จำนวน แต่เป็นข้อมูลที่คุยตรงนั้นว่าคืออะไร”

สมพร กล่าวต่อว่า ประเทศไทยเมื่อพูดถึงผลกระทบ เป็นเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะเราพูดแต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว น้ำเป็นพิษ อากาศไม่สะอาด ดินพัง เมื่อถึงเวลาก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยให้เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานรัฐเข้าไปจัดการ ประชาชนเพียงแต่รอรับเงินเยียวยา ซึ่งบางครั้งก็ไม่เป็นธรรม แต่สาเหตุที่ทำให้สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของพวกเขาถูกทำลายนั้น เป็นสิทธิของประชาชนที่ควรรู้

โดยที่ผ่านมามีข้อจำกัด เพราะมักถูกอ้างว่าข้อมูลดังกล่าว เป็นความลับทางธุรกิจ แม้ก่อนตั้งโรงงาน จะมีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ  EIA แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรงงานนั้นทำอะไร ใช้สารเคมีเท่าไหร่ ประชาชนรู้ได้แค่เบื้องต้นเท่านั้น ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกได้ สมพร มองว่า แม้ข้อมูลจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจ แต่ก่อให้เกิดความเสี่ยง ย่อมเป็นสิทธิของประชาชนที่ควรรู้ จึงไม่ควรปกป้องภาคธุรกิจ แล้วปิดหู ปิดตาประชาชน กลัวโรงงานอื่นลอกเลียนแบบ แต่เมื่อผู้ประกอบการก่อความเสี่ยง ประชาชน ท้องถิ่น และทุกคนควรต้องรู้และทำงานร่วม

ประชาชน VS โรงงาน ความสัมพันธ์ที่ไร้ซึ่งความไว้ใจ

ภิญโญ ศรีสุทธิ ตัวแทนศูนย์เรียนรู้สิ่งแวดล้อม จ.ระยอง ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ สะท้อนว่าที่ผ่านมาเมื่อมีโรงงานมาตั้งใกล้ชุมชน คนในพื้นที่จะรู้สึกไม่ปลอดภัยทันที ทั้งในเรื่องของสุขภาพ ร่างกาย และการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม เพราะสารเคมีบางตัว มีส่วนทำให้คุณภาพดิน คุณภาพน้ำแย่ลง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชผลทางการเกษตรด้วย ประชาชนส่วนใหญ่ จึงอยากทราบข้อมูลก่อน ไม่ใช่รอให้เกิดเหตุการณ์ เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้ว โรงงานมักปกปิดข้อมูล หรือให้ข้อมูลเพียงบางส่วน อย่างกรณีน้ำมันรั่ว ที่ จ.ระยอง จนถึงตอนนี้ ข้อมูลก็ยังถกเถียงกันไม่จบ

“ประชาชน อาจจะไม่มีความรู้เรื่องสารเคมี แต่เรารู้ว่าผลกระทบที่เกิดคืออะไร เราเห็นควันดำ เห็นต้นไม้ตาย หรือน้ำเสีย พอจะจัดเวทีร่วมกัน ก็จะแต่งตัวเลข สร้างข้อมูลให้ประชาชนรับรู้ แล้วใช้เวทีนั้นเป็นสิ่งที่บอกว่าได้ดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่างแล้ว”

ภิญโญ กล่าวว่า ระหว่างประชาชน และโรงงานในพื้นที่ มีความไว้เนื้อเชื่อใจน้อยมาก ส่วนใหญ่การติดต่อ ประสานงาน และประชาสัมพันธ์ จะทำผ่านผู้นำชุมชนเป็นหลัก หากพื้นที่ใดมีผู้นำดี ประชาชนก็จะได้ประโยชน์ แต่ถ้าผู้นำเพิกเฉย ไม่ส่งต่อข้อมูล จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ เมื่อเกิดเหตุร้ายอะไรขึ้นมา ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทุกคนเฝ้าระวัง จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

นอกจากนั้น ภิญโญ ยังมองว่า ถ้ามีการเปิดเผยข้อมูลผ่านกฎหมาย PRTR จะช่วยให้การใช้งบประมาณนำไปใช้กับการป้องกันสุขภาพของประชาชน ซึ่งมีผลดีกว่าการใช้เพื่อการเยียวยา และรักษา และชุมชนอยากให้เปิดเผยข้อมูล เพื่อให้โรงงานปรับการประกอบธุรกิจให้ดีขึ้นในแต่ละปี มีการปล่อยมลพิษให้น้อยลง แต่เรื่องนี้โรงงาน อาจมองว่าถ้าเปิดเผยข้อมูลออกมาแล้ว จะทำให้ภาพลักษณ์ดูแย่ลงไป และควบคุมยากถ้าประชาชนรู้ข้อมูล แล้วออกมาประท้วงเรียกร้อง

เปิดข้อมูล ช่วย ‘พิสูจน์ข้อเท็จจริง’ ว่าใครปล่อยมลพิษ

ชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อม มีทั้งชนิดที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน เห็นผลทันที ซึ่งวัดไม่ยาก แต่จะมีสารก่อมลพิษที่สะสมร่างกายในเวลานาน ซึ่งจะมาส่งผลเมื่อผ่านไปมากกว่า 10 ปีแล้ว สุดท้ายไม่สามารถสืบหาต้นตอได้ว่าต้นเหตุมาจากอะไร ใครเป็นผู้ก่อ จึงจำเป็นต้องตรวจสอบและควบคุม ไม่เช่นนั้นเราจะไม่สามารถทราบได้ว่า ผู้ประกอบการรายใดเป็นผู้ทำให้เกิด

“สิ่งที่ผู้ประกอบการ มักจะอ้างอยู่เสมอ คือ เขาไม่ใช่ผู้ก่อมลพิษ ไม่ใช่เจ้าของสารเคมี หรือเกิดมาก่อนตั้งโรงงานแล้ว นี่เป็นปัญหาของการพิสูจน์ ที่ทำได้ยาก หากเราไม่มีข้อมูล กฎหมายนี้จะช่วยพิสูจน์ข้อเท็จจริง ว่าใครครอบครองเมื่อไหร่ ปลดปล่อย หรือเคลื่อนย้ายสารพิษตอนไหน เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ในการลดภาระการพิสูจน์”

เหตุผลที่กฎหมายนี้มีความจำเป็น เนื่องจาก หน่วยงานรัฐซึ่งมีหน้าที่ชี้แจงข้อมูล การเคลื่อนย้ายกากของเสีย ไม่เคยให้คำตอบที่ชัดเจนได้ ก่อให้เกิดความไม่สบายใจ และไม่ปลอดภัยของประชาชน ว่าโรงงานที่มาตั้งใกล้บ้าน จะมีอะไรบ้าง ในพื้นที่เกษตรสารใดเป็นภัยต่อการทำเกษตรบ้าง การปลดปล่อยน้ำจากโรงงาน จะกระทบพวกเขาหรือไม่ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่สังคมควรตระหนัก และให้ความสำคัญมากกว่านี้

ชำนัญ มองว่า ที่ผ่านมาคนไทย กำลังถูกคุกคามสิทธิ ฝ่ายหนึ่งทำการค้าร่ำรวยในประเทศไทย แต่ประชาชนที่ไม่ได้อะไรเลย แต่ยังต้องมาแบกรับภาระนี้ ทุกคนควรมีสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีเท่าเทียมกันกัน รัฐบาลควรให้ความสำคัญ ให้ภาคธุรกิจสามารถแจกแจงตัวเองให้ได้ มาใช้สารเคมีอะไร ใครเป็นผู้ก่อความเสี่ยงมาก ต้องรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การป้องกัน และฟื้นฟูอย่างจริงจังเสียที

3 องค์กรสิ่งแวดล้อม ตอกย้ำความสำคัญกฎหมาย PRTR

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง มูลนิธิบูรณะนิเวศ หรือ EARTH กล่าวถึงความแตกต่างของกฎหมาย PRTR กับกฎหมายควบคุมมลพิษที่บังคับใช้ในประเทศไทย โดยมองว่า กฎหมายนี้จะเป็นกฎหมายพื้นฐาน ที่ทำให้รู้ว่าประเทศไทย มีโรงงานตั้งอยู่ที่ใดบ้าง จำนวนเท่าไหร่ ประชาชนสามารถทราบได้ว่าอากาศ หรือแม่น้ำรอบชุมชน มีคุณภาพเป็นอย่างไร มีสารพิษชนิดใดเจือปนอยู่บ้าง ซึ่งจะออกแบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ทั้งระบบ ที่ให้โรงงานและภาคอุตสาหกรรมรายงานข้อมูลของตนเข้ามา เพียงแค่มีฐานข้อมูลก็จะทำให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ประโยชน์ได้อีกมาก

“ปัจจุบันมีสถิติคนป่วยด้วยโรคมะเร็งสูงมาก ที่ จ.ระยอง แต่เป็นเรื่องน่าแปลกที่เราไม่รู้สาเหตุว่ามาจากอะไร นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของกฎหมาย PRTR  ถ้าหากต้องการคุ้มครองสุขภาพประชาชน กฎหมายนี้เป็นฉบับเดียวที่จะช่วยเรื่องนี้ได้”

เพ็ญโฉม กล่าวต่อว่า กฎหมายนี้ไม่ได้ไปควบคุม หรือห้ามไม่ให้โรงงานปล่อยสารเคมี หรือห้ามไม่ให้ขนส่งสารอันตราย แต่เป็นกฎหมายพื้นฐาน ที่จะบอกว่าในอากาศ และแม่น้ำใกล้ตัวเรา มีสารอันตรายเจือปนกี่ชนิด และเราจะมีข้อมูลว่ารวมแล้วตลอดทั้งปี โรงงานต่าง ๆ ปล่อยสารมลพิษมากแค่ไหน และในอนาคตจะหาแนวทางลดการปล่อยสารมลพิษได้อย่าง ซึ่งที่ผ่านมากฎหมายที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด ไม่สามารถบอกได้ อีกทั้งกฎหมายนี้ถูกพิสูจน์แล้วทั้งในอเมริกา และสหภาพยุโรป ว่าสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนได้

สุรชัย ตรงงาม มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม หรือ EnLAW กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว จะเป็นมาตรการสำคัญเพื่อให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลสารมลพิษที่ครอบคลุม และเป็นระบบ และสามารถจัดการปัญหาตั้งแต่ต้นทางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งเป็นการรับรองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล และมีส่วนร่วมในการคุ้มครอง ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดความเสี่ยงภัยจากสารเคมีและสารมลพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม

โดยกฎหมายดังกลาว จะมุ่งเน้นไปที่การควบคุมสารมลพิษ ทั้งที่มีแหล่งกำเนิดแน่นอน อย่าง โรงงาน เหมืองแร่ หรือโรงไฟฟ้า และสารมลพิษที่ไม่มีแหล่งกำเนิดแน่นอน เช่น ไอเสียจากรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งอาจต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ อย่างกรมการขนส่งทางบก เข้ามาร่วมดูแลด้วย โดยขั้นตอนนั้นหน่วยงานจะต้องจัดทำรายงานการปล่อยสารมลพิษให้กับกรมควบคุมมลพิษ เพื่อรวบรวมและเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ

สุรชัย กล่าวว่า กรณีที่ไม่ส่งรายงาน จะมีโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 1% ของรายได้ในปีที่กระทำผิด หากยังไม่รายงานก็จะปรับเพิ่มวันละ 20,000 – 50,000 บาท ตลอดเวลาที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง นอกจากนั้นหากเป็นการรายงานข้อมูลอันเป็นเท็จ อาจมีโทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงห้าล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในขณะที่ ธารา  บัวคำศรี มูลนิธิเพื่อสันติภาพเขียว หรือ กรีนพีซ ประเทศไทย มองว่ากฎหมาย PRTR จะช่วยนำไปสู่กระบวนการผลิตที่สะอาด และการชดเชยให้กับความสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเพราะ ตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา ประเทศไทยใช้ทรัพยากรมากเกินกว่าศักยภาพพื้นที่ที่ก่อให้เกิดผลผลิตทางชีวภาพ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ยั่งยืนของระบบการผลิตและการบริโภคของสังคมไทย ส่งผลให้มลพิษลุกลามมากขึ้น และปริมาณของเสียเพิ่มทวีคูณ กลายเป็นบ่อนทำลายการพัฒนามนุษย์และงานที่มีคุณค่าของชุมชนท้องถิ่น ถือเป็นการแบกรับผลพวงของ หนี้นิเวศ

“การเดินทางของประเทศไทย และเส้นทางที่เรากำลังมุ่งไปนั้น เหมือนกำลังจะไปชนกับอุปสรรคและหายนะ เพราะฉะนั้น เราจะต้องเปลี่ยน จะทำอย่างไรให้เกิดการผลิตที่สะอาด ถ้าเราไม่ทำ จะทำให้โลกใบนี้สกปรก จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรม ด้วยจุดเริ่มต้นของการมีกฎหมายนี้…”

ความท้าทายในปัจจุบัน ธารา กล่าวว่า สารเคมีสังเคราะห์ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ทั่วโลกซึ่งมีมากกว่า 350,000 ชนิด ส่วนใหญ่ไม่มีการประเมินความปลอดภัย และการอนุญาตให้ใช้สารเคมีสังเคราะห์ชนิดใหม่มากขึ้นทุกปี หากไม่ทราบข้อมูลที่ก่อมลพิษที่รุนแรงมากขึ้น นอกจากนั้นยังส่งผลต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศไทย จากโรคภัยไข้เจ็บที่เกี่ยวข้องกับมลพิษ ทำให้คนไม่สามารถทำงานได้ หรือสูญเสียสวัสดิการ คิดเป็น 9.24-9.26% ของรายได้ประชาชาติ ซึ่งประเมินต่ำกว่าความเป็นจริงมาก

ซัด! ที่ผ่านมา รัฐบาลมองเรื่องสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ เป็นเรื่อง ‘น่ารำคาญ’

เพ็ญโฉม กล่าวทิ้งท้ายว่า มีความหวังว่าประเทศไทยน่าจะมีสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมดีขึ้น และกฎหมายนี้ เป็นการทำงานร่วมกันของภาคประชาชน และจากการเก็บข้อมูลเราพบว่า ทั้งหน่วยงานท้องถิ่น โรงงานอุตสาหกรรม หรือหน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว เพราะมองเห็นอุปสรรค และความเสี่ยงในการทำงาน กฎหมายนี้จะมีฐานข้อมูลที่ดี ครบถ้วน และสามารถต่อยอดในการป้องกันความเสี่ยงภัยด้านเคมี หรือการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดในแต่ละพื้นที่ได้ ติดอยู่เพียงแค่ฝ่ายนโยบายไม่กี่คนเท่านั้น ที่ยังไม่เข้าใจกฎหมายดังกล่าว

“การจะผ่านกฎหมายนี้ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลให้ความสำคัญมากแค่ไหน เราอาจจะโชคร้าย เพราะ หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลชุดนี้นอกจากไม่เห็นความสำคัญ ของการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องน่ารำคาญด้วยซ้ำ การออกกฎหมายในยุคที่มีทหารนำพาประเทศไป เป็นอุปสรรค และเป็นตัวขัดขวางการดูแลสิ่งแวดล้อม…”

ท้ายที่สุด กฎหมายนี้ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะประชาชน หรือมุ่งคุ้มครองประชาชนเพียงฝ่ายเดียว แต่หัวใจสำคัญ คือ ประโยชน์ต่อภาครัฐ เพราะ เมื่อมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ทุกกระทรวงใช้ประโยชน์ได้ ก็สามารถวางแผน ป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยได้ดี ส่วนภาคเอกชน ก็ได้รับประโยชน์ ในแง่การลดต้นทุนด้วย เพราะ จะเกิดระบบตรวจสอบระบบการรั่วไหลของสารเคมี หรือจัดเก็บไม่ถูกต้อง ที่เป็นต้นทุนที่ภาคเอกชนกำลังแบกรับ

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้