แพทย์ชนบท ฝากการบ้าน กทม.

ย้ำ แจกชุดตรวจโควิด-19 ฟรีแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง กระทุ้ง ศบค.กทม. และ สธ. ต้องทำงานร่วมกัน ลดข้อจำกัดของประชาชน ให้ได้ตรวจเร็ว รักษาทันที และรัฐจัดหาวัคซีนที่ดีให้เพียงพอ 

10 ส.ค. 2564 คือ วันสุดท้ายของภารกิจ “ปฏิบัติการกู้ภัยโควิด-19 กรุงเทพมหานคร” ครั้ง 3 เฉพาะ 6 วัน (4 – 9 ส.ค.) ของการตรวจเชิงรุก (Active case finding) พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจด้วย Antigen Test Kit (ATK) แล้วจำนวน 12,509 คน จากยอดการตรวจ 117,020 คน คิดเป็น 10.7% หากสามารถคัดแยกคนกลุ่มนี้เข้าระบบการรักษา และฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่ผลเป็นลบ ก็น่าจะช่วยตัดตอนการระบาดได้ไม่น้อย 

ทว่า “แพทย์ชนบท” ไม่สามารถที่จะปฏิบัติภารกิจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ตลอดไป โจทย์ใหญ่หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว คือ “ระบบการแพย์และสาธารณสุข” ของกรุงเทพมหานคร ทั้งที่อยู่ในและนอก “โครงสร้างของ กทม.” ตั้งแต่ระดับชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น โรงพยาบาล ทั้งภาครัฐและเอกชน โรงเรียนแพทย์ต่าง ๆ ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร จะรับช่วงต่อปฏิบัติการเชิงรุกเหล่านี้ต่อไปหรือไม่ 

เพราะหาก “ตรวจเชื้อเร็ว รักษาให้ทัน และเร่งสร้างภูมิคุ้มกันอย่างจริงจัง” อาจช่วยให้โควิด-19 ที่ระบาดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พื้นที่ที่มีการระบาดมากที่สุดของประเทศบรรเทาลงในเร็ววัน การคลายล็อกดาวน์ หรือจินตนาการถึงการเปิดประเทศใกล้เคียงความจริงมากขึ้น

“ภารกิจของแพทย์ชนบท” ครั้งนี้ยังสะท้อนถึงความยากจนด้านสุขภาพของคนจนเมือง ความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร ที่ปล่อยให้กลุ่มคนเปราะบาง และชาวชุมชนเมืองต้องเผชิญยถากรรมอย่างโดดเดี่ยว ต่างจากชนบท ที่มีระบบดูแลพื้นฐานที่เรียกว่า “การแพทย์ปฐมภูมิ” อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

สำหรับวันสุดท้าย “ไม่หมด ไม่กลับ” เป็นประโยคปลุกใจผู้ปฏิบัติงานเกือบ 400 ชีวิตจาก 30 จังหวัด มุ่งมั่นตรวจเชื้อเชิงรุกวันที่ 7 ด้วยพลังที่มีทั้งหมด โดยแบ่งเป็น 26 จุดกระจายทั่วกรุงเทพฯ จุดใหญ่ที่อยู่มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งโดยรอบเป็นชุมเมืองหนาแน่น และโรงงานขนาดเล็กกระจายในพื้นที่ ตั้งเป้าตรวจ 5,000 คน รับผิดชอบโดยบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 

อีกจุดคือที่ โรงเรียนพิทยาลงกรณ์พิทยาคม เขตบางขุนเทียน ซึ่งมีชุมชนชายทะเล มีแรงงานข้ามชาติในกิจการประมงอยู่จำนวนมากและยังงพื้นที่ติดต่อกับ จ.สมุทรสาคร ทั้งยังเคยเป็นคลัสเตอร์ระบาดโควิด-19 ก่อนหน้านี้ ครั้งนี้จึงตั้งเป้าตรวจ 3,000 คน นำโดยบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช และโรงพยาบาลบ่อเกลือ จ.น่าน 

รวมทั้งจุดตรวจ วัดยายร่ม พระราม 2 เขตจอมทอง ชุมชนเมืองที่อยู่กันอย่างหนาแน่น อยู่กันในอาคารพาณิชย์ โรงงาน อุตสาหกรรม และสถานประกอบกิจการทั้งขนาดเล็กและขนาด ใหญ่ ตลอดจนหมู่บ้านจัดสรรต่าง ๆ มากมาย ตั้งเป้าตรวจไว้ 3,00 คน เช่นกัน

ปฏิบัติการในทุกจุด ถูกออกแบบมาเพื่อการควบคุมโรคและรักษาอย่างครบวงจรในคราวเดียวกัน นอกจากการตรวจเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK ที่ได้มาตรฐาน ผู้ที่พบผลบวกจะถูกแยกออกมา เพื่อ Swab ด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้ง รวมทั้งประเมินอาการและจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ทันที พร้อมรับคำแนะนำในการรักษาตัวที่บ้านหรือ Home isolation ในขณะที่บางจุดผู้ได้รับการตรวจแล้วไม่ติดเชื้อ หากเป็นผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยง 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน จะได้รับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาไปพร้อมกัน

นายแพทย์นิธิวัชร์​ แสงเรือง ผู้อำนวยการโรงพยาบาล​บ่อเกลือ​ จ.น่าน

หนึ่งในสมาชิกชมรมแพทย์ชนบทรุ่นใหม่​ นายแพทย์นิธิวัชร์​ แสงเรือง ผอ.โรงพยาบาล​บ่อเกลือ​ จ.น่าน​ ซึ่งเข้าร่วมปฏิบัติการบุกกรุงทั้ง 3 ครั้งสะท้อนว่า ภารกิจครั้งแรกพบผู้ติดเชื้อ 10% ครั้งที่ 2 มากขึ้นเป็น 15​ -​ 20 % และครั้งที่ 3 พบผู้ติดเชื้อลดลงมาเหลือ 10 % ลักษณะการติดเชื้อแบบนี้คาดว่าในอีก 1-2 สัปดาห์ กรุงเทพมหานคร​ จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งมาจากปัจจัยหนึ่งคือ ผู้ติดเชื้อบางส่วนที่ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวแล้วหายดีแล้ว​ ทำให้เกิดเป็นภูมิคุ้มกันหมู่ในบางชุมชน 

ทีมแพทย์ชนบทยังสะท้อนว่า วิกฤตโควิด-19 เข้ามา “ตั้งคำถาม” กับโครงสร้างระบบสาธารณสุขในกรุงเทพมหานคร ควรจะเลาะ รื้อ หรือออกแบบระบบบริการสาธารณสุขให้ปรับตัวรับมือเชิงกับปัญหาเชิงอนาคตอย่างไร ให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ซึ่งอาจต้องมีหน่วยปฏิบัติการเชิงรุกเคลื่อนที่เร็ว​ รวมทั้งแผนการฟื้นฟูรับคนกลับเข้าเมือง​ 

นิมิตร์ เทียนอุดม คณะทำงานโควิดชุมชน ซึ่งฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา 1 เข็มมาช่วยเป็นอาสาสมัครอธิบายการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ กับผู้ติดเชื้อ พร้อมทั้งแนะนำวิธีการรักษาตัวที่บ้านอย่างปลอดภัย

ขณะ​ที่​ นิมิตร์​ เทียนอุดม ในฐานะคณะทำงานโควิดชุมชน เห็นว่า ในระยะสั้น​ หลังสิ้นสุดภารกิจแพทย์ชนบท​ตรวจเชิงรุก​ ภาครัฐต้องกระจายชุดตรวจ ATK ฟรีให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง ​เพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อและสร้างระบบการกักตัวที่บ้าน ระบบการเฝ้าระวังอาการ​ รวมถึงการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์​ และการฉีดวัคซีนที่ต้องกระจายเชิงรุก​ ไม่รวมอยู่จุดใดจุดหนึ่งให้เกิดความแออัด​ 

“ในระยะยาวต้องยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นโรงพยาบาลประจำเขตเพื่อให้ทุกคนในกรุงเทพฯ เข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน”

นายแพทย์อารักษ์ วงศ์วรชาติ ที่ปรึกษาชมรมแพทย์ชนบท

ขณะที่ นายแพทย์อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.โรงพยาบาลสิชล ในฐานะที่ปรึกษาชมรมแพทย์ชนบท  บอกว่าหลังเสร็จสิ้นภารกิจของแพทย์ชนบทแล้ว น่าจะช่วยกระตุ้นให้สถาบันการแพทย์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย แพทย์กองทัพบก กองทัพเรือ รวมถึงศูนย์บริการสาธารณสุข ที่กระจายทั่วกรุงเทพฯ ออกหน่วยปฏิบัติการเชิงรุกเช่นเดียวกัน แบบ One Stop Service ซึ่งหากช่วยกันจริง ๆ เชื่อว่า จะสามารถยุติการระบาดได้ ขณะที่แผนรับมือที่สำคัญหลังจากนี้ คือการวางระบบรักษาตัวที่บ้าน และการจัดสรรวัคซีนให้ได้เดือนละ 10 ล้านโดสขึ้นไป เพื่อฉีดให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง

ส่วนบรรยากาศที่จุดตรวจคัดกรองภายใน มหาวิทยาลัยรังสิต มีประชาชนทยอยเดินทางมาเข้ารับการตรวจ โดยจุดนี้, เป็นความร่วมมือระหว่าง ม.รังสิต โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหลักหก องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เทศบาลหลักหก เครือข่ายสลัม 4 ภาค และภาคเอกชนจำนวนหนึ่งเข้าร่วม ทำให้จุดนี้มีเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครจำนวนมากให้บริการ

สุนี ไชยรส รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม บอกว่า ส่วนใหญ่ผู้เข้ารับการตรวจเป็นชาวชุมชนหลักหกและใกล้เคียงที่ได้รับการประสานก่อนหน้านี้ โดย ม.รังสิต ได้จัดทีมประสานงานชุมชน ทำงานร่วมกับเทศบาล รพ.สต. ร่วมกับแกนนำชุมชนหลักหก ออกสำรวจชุมชนและลงทะเบียนให้ถึงบ้าน ทำให้ผู้ที่ลงทะเบียนไว้ล่วงหน้าได้รับการตรวจอย่างรวดเร็วและลดความแออัดบริเวณจุดตรวจ

“สังเกตเห็นว่าชาวชุมชนบางส่วนมาเป็นครอบครัว มีเด็กมาด้วย เราก็ตรวจทั้งหมด ใครติดเชื้อ หมอจะสั่งจ่ายยา และมีระบบติดตามเพื่อดูแลต่อ แต่บางครอบครัว ลูกติด แต่แม่ไม่ติด หรือบางบ้าน แม่ติดลูกไม่ติด และไม่สามารถแยกกักตัวได้ นี่ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายทั้งระบบว่าจะดูแลคนกลุ่มนี่อย่างไร”

ที่จุดตรวจภายในมหาวิทยาลัยรังสิต ยังเปิดให้บริการอีก 1 วัน ในวันที่ 11 ส.ค. โดยเปิดให้บริการกับผู้ที่ลงทะเบียนล่วงหน้า ส่วนผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนที่หน้าจุดตรวจได้เช่นกัน

นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท สรุปภารกิจครั้งรวบยอดว่า เราไม่รู้ว่ารัฐบาลทำงานเหนื่อยไหม แต่พี่น้องร่วมวิชาชีพที่เดินทางมาจากทุกภาค 400 กว่าชีวิตเพื่อกู้ภัยโควิด-19 กรุงเทพเหนื่อยมาก สิ่งที่พวกเราทำถือว่าเป็นการ ‘ชะลอปัญหา’ ไว้ระดับหนึ่งเท่านั้นเอง ตั้งแต่ครั้งแรกที่มากลางเดือนกรกฎาคม บางชุมชน เช่น ชุมชนแออัดบริเวณริมทางรถไฟมักกะสัน มีคนเสียชีวิตที่บ้านถึง 5 คน มีผู้ป่วยหนักต้องเข้ารักษาไอซียู จนมาครั้งที่ 3 สถานการณ์เพียงแค่ ‘ทรงตัว’ ไม่ได้หมายความจะช่วยกดตัวเลขลงได้

ตัวเลขทุกวันที่ ศบค. แถลงทุกวันเป็นการสรุปจากการตรวจ RT-PCR เฉลี่ยวันเกือบละ 20,000 คน จำนวนนี้ยังไม่นับรวมการตรวจ ATK ด้วยตัวเองของประชาชนอีกจำนวนมาก

“เราคนต่างจังหวัดไม่อยากเห็นคนกรุงเทพฯ มีภูมิคุ้มกันหมู่จากการติดต่อโรคระบาด มันโหดร้ายเกินไป และเสี่ยงว่าชุมชนคนจนเมืองจะล่มสลายได้ อยากให้ ศบค. กทม. และ สธ. สร้างความร่วมมือเพื่อออกจากวิกฤตครั้งนี้ เพราะปัญหาที่คิดว่าน่ากังวลมากคือ คนจำนวนมากมีข้อจำกัดเขาถึงตรวจเชื้อ ทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงง่ายหรือสามารถตรวจด้วยตนเอง และมีระบบรองรับการรักษาตัวที่บ้าน โดยผู้คนไม่เจ็บป่วยและสูญเสียจนมากเกินไป”

ภารกิจครั้งนี้ทำให้เห็นเป็นรูปธรรมการตรวจเร็ว รักษาเลย และรีบสร้างภูมิคุ้มกัน จะช่วยให้คนติดเชื้อลดลง คนตายลดลง คนตายที่บ้านก็น้อยลง ถ้ามีระบบส่งยาให้ผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้านโดยเร็ว ไม่ต้องให้ประชาชนมารับเองที่บ้านจะเกิดเป็นปัญหาคอขวดอีก ขณะนี้มีผู้สูงอายุ คนป่วยติดเตียงติดบ้านในชุมชนแออัดจำนวนไม่น้อยต้องสร้างระบบให้มีคนส่งยาให้คนเหล่านี้ทันท่วงที

ทั้งนี้ ปฏิบัติการแพทย์ชนบทบุกกรุงเป็นความร่วมมือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน หลายองค์กร

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS