ห่วงการติดเชื้อในครัวเรือน และการเข้าถึงยาเพื่อรักษาทันที

‘แพทย์ชนบท’ ชี้ โควิด-19 ฉายจุดอ่อนโครงสร้างระบบสาธารณสุข กทม. หวังผู้บริหารเห็น และนำไปปรับระบบสุขภาพในเมืองใหญ่ คาด อีก 2 สัปดาห์ ติดเชื้อกรุงเทพฯ ลดลง ด้าน ‘นายกฯ และ รมว.สธ.’ ขอบคุณ “ชมรมแพทย์ชนบท” ชื่นชม #ปฏิบัติการตรวจเชิงรุกในชุมชน

8 ส.ค. 2564 – วันที่ห้าของ ปฏิบัติการกู้ภัยโควิด-19 กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 ที่ชมรมแพทย์ชนบท จำนวน 33 ทีมจาก 30 จังหวัด ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักอนามัย กทม. และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน หลายองค์กร ได้กระจายจุดบริการตรวจเชื้อเชิงรุกดาวกระจาย 28 จุดทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล เน้นชุมชนแออัด โดยตั้งเป้าตรวจให้ได้ 30,000 คน

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท และหัวหน้าทีมจุดบริการหลังแคมป์คนงานและชุมชนแออัดริมคลองสามเสน ย่านมักกะสัน เขตราชเทวี ร่วมกับโรงพยาบาลบางกรวย 2 จ.นนทบุรี และกลุ่มเส้นด้าย กล่าวว่า เข้าวันที่ 5 ปฏิบัติการนี้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แม้ตัวเลขยอดผู้ได้รับการคัดกรองยังต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ด้วยอุปสรรคฝนเทลงมาหลายจุดตรวจในกรุงเทพมหานคร ตลอด 4 วันที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนไม่มีที่หลบฝน และด้วยสถานที่ตรวจไม่ได้สะดวกมากนัก

4 วันที่ผ่านมาตรวจคัดกรองได้ 69,115 คน ผลบวก 7,227 คน คิดเป็นร้อยละ 10.5 ลดลงกว่ารอบที่ 2 (ร้อยละ16.14) แสดงว่ายุทธศาสตร์ “ตรวจเร็ว ติดตามผู้สัมผัส รักษาเร็ว ให้วัคซีนตรงจุด” ด้วยหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เร็วและปฏิบัติการต่อเนื่อง เป็นความหวังของประเทศในการควบคุมโรคกู้ภัยโควิด-19

“สิ่งที่ยังเป็นห่วงคือ คนที่ตรวจเชื้อเองที่บ้านจะเข้าถึงยาฟาวิพิราเวียร์ได้อย่างไร?”

ความจริงของการติดโควิดในครัวเรือน

นพ.สุภัทร เล่าจากประสบการณ์ 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกที่อ่อนนุช มีหญิงสูงวัย อายุกว่า 70 ปี เดินไม่ค่อยไหว​ ติดบ้าน แต่ไม่ติดเตียง​ มีโรคประจำตัวหลายโรค​ ที่สำคัญคือ​ ที่บ้านมีลูกติดเชื้อด้วย​ กักอยู่ที่บ้าน​ วันนั้น ทีมแพทย์ชนบทไม่ได้ติดยาฟาวิพิราเวียร์ไปด้วย​ แต่ทีมภาคประชาชนที่ดูแล จัดหายาฟาวิพิราเวียร์ให้ในวันถัดมา ตอนนี้อาการสบายดีแล้ว 

และกรณีที่นครปฐม พบหญิงสูงวัยอีกคน อายุ 84 ปี เป็นอาม่าของครอบครัว เดินมาตรวจด้วยไม้เท้า ดูแข็งแรงพอสมควรตามวัย​ แต่ผล ​Rapid test เป็นบวก​ เธอติดโควิด-19​ จึงตรวจ RT-PCR ซ้ำให้และจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์​ ออกซิเจนในเลือดได้ 96%  จึงตามญาติมาคุย และได้ไปเยี่ยมดูสภาพที่บ้าน 

“มีเรื่องราวเศร้า ๆ ที่น่าสนใจมาก ที่บ้านอาม่าเป็นบ้านเอื้ออาทร​ ห้องหลังเล็ก ๆ อยู่กัน 5 – 6 คน​ มีหลานชายเป็นโควิดแล้ว​ กักตัวรักษาที่โรงพยาบาลสนามครบแล้ว​ ที่บ้านยังเจอเด็กน้อย 4 ขวบอีกคนเป็นโควิดด้วย​ แต่มีอาโกอายุ 60 ที่ดูแลเด็กน้อย​ ผลยังเป็นลบ​ อีกสองคนหนุ่มสาวออกไปทำงานข้างนอก”

นพ.สุภัทร บอกว่า ความยากของเคสนี้ คือ นอกจาก​คนดูแลเธอที่ต้องมีผู้ช่วยเมื่อเข้าห้องน้ำ ยังมีเด็กในครอบครัว ซึ่งมีเพียงอาโกอีกคน แต่กลับต้องเลือกให้ตัวเองยอมติดเชื้อ เพื่อดูแลทุกคนในครอบครัวร่วมกับหลาน ส่วนกรณีอาม่า จะต้องเป็นหลานอีกคนที่ติดเชื้อและมีภูมิคุ้มกันแล้ว​เป็นผู้ดูแล ซึ่งทั้งหมดนี้ คือความจริงของการติดโควิด-19 ในครัวเรือน”

“อาม่าน่าเป็นห่วงมาก​ เตียง​โรงพยาบาลยังไม่มี​ ต้องนอนรักษากินยาฟาวิฯ เองที่บ้านไปก่อน​ อาโกยิ่งน่าห่วง​ อายุ 60 ปีแล้ว​ แม้ยังไม่ติด​ แต่ต้องอยู่ดูแลใกล้ชิด​ คงยากที่จะหลีกเลี่ยงพ้น​ และอาโกจะได้ตรวจคัดกรองและได้ยาฟาวิฯ ในอนาคตไหม? ขอให้อาม่า​อาโก​ รอดปลอดภัย​ ทีม​ รพ.สต. ในพื้นที่รับปากว่าจะดูแลให้ดีที่สุด” 

นพ.สุภัทร ย้ำว่า ผู้สูงอายุที่ติดเชื้อ หากได้รับยาทันทีจะช่วยลดอาการป่วยและเสียชีวิตได้ ดังนั้น เป็นโจทย์ใหญ่ว่า สธ. และ สปสช. จะออกแบบให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงยาได้รวดเร็วอย่างไร ส่วนปัญหาการขาดแคลนยาฟาวิพิราเวียร์ นพ.สุภัทร ยังยืนยันข้อเสนอเดียวกับสภาเภสัชกรรม และชมรมเภสัชชนบท คือ ต้องการกระจายให้โรงงานยาในประเทศช่วยองค์การเภสัชกรรมผลิต 

นอกจากนี้ ที่บริการชุมชนริมคลองสามเสน มีการนำชุดตรวจ ATK สำหรับตรวจกลุ่มเสี่ยงจำนวน 1,000 ชุด โดยตรวจไปแล้วประมาณ 500 คน พบผลบวกประมาณ 20 คน คิดเป็นร้อยละ 4 และเตรียมยาฟาวิพิราเวียร์สำรองสำหรับผู้ติดเชื้อ 50 คน โดยชุมชนนี้เคยพบติดเชื้อจำนวนมาก การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อเก็บตก และค้นหาผู้ติดเชื้อที่เหลือในพื้นที่

รมว.สธ. ชื่นชมและลงพื้นที่ให้กำลังใจ

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข หน่วยปฏิบัติการเชิงรุกในชุมชน CCR Team มาให้กำลังใจทีมแพทย์ชนบทและลงพื้นที่เยี่บมผู้ป่วยติดบ้าน 2 จุด คือ ชุมชนริมคลองสามเสน และแฟลตแปลงจี เขตดินแดง เป็นการลงพื้นที่โดยทีมจากโรงพยาบาลน่าน และโรงพยาบาลรามัน จ.ยะลา

“กระทรวงสาธารณสุขพยายามทำทุกวิถีทางในการดูแลประชาชนให้ดีที่สุด ให้เข้าถึงการตรวจหาเชื้อ และฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม ส่วนผู้ป่วยโควิด-19 จะต้องได้รับยาโดยเร็ว นอกจากนี้ ได้ร่วมกับสำนักอนามัย กทม. สปสช. แก้ปัญหาการเข้าถึงระบบรักษาให้เกิดประสิทธิภาพ และเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ ให้ครอบคลุม  สำหรับภาพรวมการฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ ขณะนี้ ครอบคลุมแล้วกว่าร้อยละ 70 จากนี้จะเร่งเดินหน้าฉีดในภูมิภาคให้มากขึ้น”

อนุทิน ชาญวีรกูล

คาด อีก 2 สัปดาห์ สถานการณ์การติดเชื้อกรุงเทพฯ ลดลง

ที่แฟลตใหม่ ดินแดง แปลงจี เป็นทีมผสมระหว่างโรงพยาบาลบ่อเกลือ จ.น่าน และโรงพยาบาลรามัน จ.ยะลา ลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกให้ชาวชุมชนแฟลตดินแดง ประชาชนทยอยเดินทางเข้ารับการตรวจ ทำให้สถานที่ไม่หนาแน่นจนเกินไป

นพ.นิธิวัชร แสงเรือง ผอ.โรงพยาบาลบ่อเกลือ กล่าวว่า เพราะมีระบบการจัดการดี โดยอาสาสมัครจากหลายองค์กรที่มาเข้าร่วม ประกอบด้วยทีมงานโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ทำหน้าที่รับลงทะเบียนเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และยังมีอาสาสมัครนักศึกษาที่คอยส่งผลการตรวจให้แพทย์

นอกจากนี้ ยังมีอาสาสมัครกลุ่มเส้นด้าย ประสานงานร่วมกับแกนนำชุมชน ทำให้ทีมแพทย์สามารถตรวจประชาชนได้ 1,054 คน พบผู้ติดเชื้อ 87 คน คิดเป็น 8.38% แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อสีเขียว 67 คน สีเหลือง 20 คน ไม่พบผู้ป่วยสีแดง ซึ่งผู้ติดเชื้อได้พบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและสั่งจ่ายยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ 79 คน ส่วนผู้ที่ไม่พบเชื้อ และเป็นกลุ่มผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัวได้รับการฉีดวัคซีน 120 คน

จากการทำงานตลอด 5 วันที่ผ่านมา นพ.นิธิวัชร ประเมินสถานการณ์การระบาดในกรุงเทพมหานครว่า น่าจะอยู่ในช่วงทรงตัว เห็นได้จาการสัดส่วนการพบผู้ติดเชื้อรายวันที่อยู่ระหว่าง 5 – 10% และคาดว่าอาจลดลงในอีก 2 สัปดาห์หน้า

“หากทีมแพทย์ชนบทกลับไปแล้ว คนกรุงเทพฯ ที่ต้องการตรวจ ไม่ว่าจะตรวจที่จุดตรวจ หรือมีชุดตรวจเร็ว Antigen test kit (ATK) เมื่อพบเชื้อแล้ว จะเข้าถึงยาต้านไวรัสได้อย่างไร”

ด้าน นพ.รอซาลี ปัตยะบุตร ผอ.โรงพยาบาลรามัน ที่นำทีมงานเดินทางมากว่า 1,000 กิโลเมตร จากจ.ยะลา เข้าร่วมปฏิบัติการนี้ด้วยตัวเอง โดยในวันนี้ทำหน้าที่ Swab ให้ชาวชุมชนแฟลตดินแดงกว่า 1,000 คน ได้เปรียบเทียบโครงสร้างระบบสุขภาพของกรุงเทพมหานครกับระบบสุขภาพในชนบทว่า คนต่างจังหวัดเข้าถึงระบบสุขภาพได้ง่ายกว่าส่วนกลางมาก เพราะในชนบทมีระบบการจัดการเป็นระดับชั้น ตั้งแต่ ระดับหมู่บ้าน ตำบล จนถึงอำเภอ เมื่อเกิดโรคระบาดจึงมีระบบการจัดการที่ชัดเจน ต่างจากกรุงเทพมหานครที่ประชากรหนาแน่น แต่โครงสร้างระบบสุขภาพกลับมีขนาดใหญ่ทำให้เข้าถึงได้ยาก

“เห็นสภาพแล้วสงสารคนกรุงเทพฯ มาก การเข้าถึงบริการสุขภาพของเขาไม่เหมือนคนบ้านนอก ที่ชนบท ชาวบ้านจะเข้าถึงง่ายกว่าคนกรุงเทพฯ เยอะ ผมว่าโควิดฉายให้เห็นว่าโครงสร้างเมืองใหญ่ ๆ มีจุดอ่อน ควรถอดบทเรียนโควิดมาพัฒนาระบบสาธารณสุขในกรุงเทพมหานคร นี่เป็นโอกาสดีของกรุงเทพมหานคร ผู้บริหาร กทม. คงคิดเหมือนผม ว่าต่อไปต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างระบบสุขภาพของ กทม.”

นายกรัฐมนตรีขอบคุณแพทย์ชนบท

วันเดียวกัน อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชื่นชมทีมแพทย์ชนบท 38 ทีมจากทั่วประเทศ ร่วมดำเนินการเชิงรุกในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามแนวทางของ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข คือเร่งตรวจหาเชื้อ เพื่อคัดแยกผู้ป่วยออกให้เร็วที่สุด ซึ่งผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยจะถูกจัดระบบการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) และที่ชุมชน (Community Isolation) 

“ท่านนายกฯ แสดงความชื่นชมความเสียสละและอุทิศตนของทีมแพทย์ชนบทที่เข้ามาสนับสนุนการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ร่วมกับเครือข่าย ทีมอาสาภาคประชาชน ซึ่งมั่นใจว่า ความสามัคคีของคนไทยจะเป็นพลังของชาติให้ไทยสามารถฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้”

เมื่อ นพ.สุภัทร ทราบข่าวว่า นายกรัฐมนตรีชื่นชมปฏิบัติการครั้งนี้ ก็อมยิ้มและกล่าวว่า “นี่จะเป็นปฏิบัติการครั้งสุดท้าย ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายนโยบายต้องคิดต่อว่าจากนี้จะสร้างทีมปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อเข้าถึงกลุ่มคนจนเมือง คนเปราะบาง ทั้งผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง คนพิการ จะเข้าถึงการตรวจคัดกรองและเมื่อติดเชื้อพวกเขาจะเข้าถึงยารวดเร็วได้อย่างไร”

สำหรับบรรยากาศการในจุดอื่น ๆ เช่น ทีมโรงพยาบาลมาบตาพุด จ.ชลบุรี จุดตรวจเคหะคลอง 9 แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา บรรยากาศร้อนมากที่สุด เพราะเต็นท์มีจำกัด เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างทุลักทุเล ชาวบ้านก็ยืนกลางแจ้งรอตรวจไม่มีที่ร่มให้พัก แต่ทีมงานทุกคนและอาสาสมัครก็สู้เต็มที่

จุดตรวจโควิดที่ใต้สะพานลอย สวนสมเด็จฯ เขตห้วยขวาง โดยโรงพยาบาลสมเด็จฯ นาทวี จ.สงขลา ตรวจไปแล้วกว่า 800 คน ประชาชนก็ยังรอทยอยมาตรวจต่อเนื่อง ที่จุดนี้ พบผู้ติดเชื้อมากกว่า ร้อยละ 10

ทีมโรงพยาบาลปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน อยู่ที่จุดตรวจตลาดทุ่งเศรษฐี เขตประเวศ ประชาชนที่มารอตรวจอย่างหนาแน่นมีทั้งคนไทย และแรงงานข้ามชาติ ยอดตรวจรวมเกินกว่า 1,000 คน พบมีผลบวกหลายราย ที่จุดตรวจนี้ สถานที่จุดตรวจไม่สะดวกสบาย ทีมต้องผลัดออกไปสูดอากาศหายใจ ทุก 1-2 ชั่วโมง แต่ทุกคนสู้กันเต็มที่

จุดตรวจวัดสุทธาโภช เขตลาดกระบัง ทีมโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช ร่วมทีมสำนักวิชาการ สป.สธ. ตรวจได้เกินเป้า สามารถสรุปยอดตรวจ ATK ได้จำนวน 1,251 คน มีผลบวก 194 คน คิดเป็นร้อยละ 15.51 เก็บตัวอย่างตรวจ PCR ได้ 193 ราย ในระหว่างเก็บของ มีผู้ป่วยนั่งท้ายรถกะบะมา มีอาการชัก ผลตรวจให้ผลบวก ทีมแพทย์ต้องเร่งให้การรักษาทันที

ทั้งนี้ การลงพื้นที่ ของ CCR Team ชมรมแพทย์ชนบท ปฏิบัติการเชิงรุกในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งแต่วันที่ 4-7 สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้ตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK ไปแล้ว 69,115 คน พบผลบวก 7,227 คน คิดเป็นร้อยละ 10.5 ในจำนวนนี้ ได้ส่งตรวจด้วยวิธี RT-PCR ต่อจำนวน 6,667 คน และได้ส่งเข้าระบบดูแลรักษาที่บ้าน Home Isolation ตามเกณฑ์ของ สปสช. รวมถึงได้จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้กับผู้ป่วยที่พบจากการค้นหาเชิงรุกไปแล้ว 163,700 เม็ด และฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว 1,838 โดส

Author

Alternative Text
AUTHOR

ฐิตินบ โกมลนิมิ

อดีตนักข่าวกระทรวงสาธารณสุข ผู้คลุกคลีในสนามข่าวสีแดงชายแดนใต้ เป็นทั้งนักมนุษยวิทยา นักสตรีศึกษา และนักสันติศึกษา ที่ใช้การเขียนเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง