“แพทย์ชนบท” มาตามคำขอ ลุยตรวจโควิด “นครปฐม” หวังสร้างโมเดลต่างจังหวัด

บุกนครปฐมวันแรก ตั้งเป้าตรวจวันละ 5,000 คน ท้องถิ่นร่วมสังเกตการณ์ รับไม้ต่อ 9-10 ส.ค. นี้ “หมอสุภัทร” เทียบความร่วมมือ ระบุ ต่างจังหวัดจัดการง่ายกว่า เหตุระบบสาธารณสุขเป็นเอกภาพ ตรวจเจอ จ่ายยา และเข้ารักษาทันที

5 ส.ค. 2564 – ชมรมแพทย์ชนบท จัดบุคลากรทางการแพทย์ตรวจคัดกรองเชิงรุกให้กับประชาชนในพื้นที่แพร่ระบาด จังหวัดนครปฐม วันที่ 5-6 สิงหาคม ตั้งเป้าตรวจ 10,000 คน ใน 3 อำเภอ  ได้แก่

  1. อำเภอเมืองนครปฐม ตั้งจุดตรวจ ณ องค์พระปฐมเจดีย์ และ อบต.ลำพยา
  2. อำเภอสามพราน ตั้งจุดตรวจ ณ หมู่บ้านเอื้ออาทรนครชื่นชุ่ม, หมู่บ้านเอื้ออาทรหลังองค์พระ และตลาดน้ำดอนหวาย
  3. อำเภอนครชัยศรี ตั้งจุดตรวจ ณ หมู่บ้านเอื้ออาทรท่าตำหนัก และโรงเรียนบ้านบ่อตะกั่ว

ซึ่งทุกจุดจะต้องผ่านการลงทะเบียนล่วงหน้ากับหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อลดความแออัด พร้อมประเมินว่า เป็นจุดที่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน หรือมีผู้เสียชีวิต เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่ามากที่สุด

ผลการตรวจคัดกรอง จุดตรวจหมู่บ้านเอื้ออาทรนครชื่นชุ่ม อำเภอสามพราน ในวันนี้ ตรวจไปทั้งหมด 883 คน พบผู้ติดเชื้อ 74 คน คิดเป็นอัตราร้อยละ 8.3 ของผู้เข้ารับการตรวจ ซึ่งถือว่ามีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับในกรุงเทพมหานคร

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ตั้งข้อสังเกตใน 2 ประเด็น คือ มีการติดเชื้อกันแล้วในวงกว้างก่อนหน้านี้ จนคนในชุมชนมีภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ จะเป็นชุมชนที่มีอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงกันแน่ ซึ่งจากข้อมูลการฉีดวัคซีนในพื้นที่จังหวัดนครปฐมถือว่าอยู่ในอัตราร้อยละ 14 ของจำนวนประชากรเท่านั้น

แต่หากดูจากข้อมูลผู้ติดเชื้อที่มีการรายงานก่อนหน้านี้ ในหมู่ที่ 9 ตำบลกระทุ่มล้ม ซึ่งเป็นเขตพื้นที่หมู่บ้านเอื้ออาทรนครชื่นชุ่ม พบว่า จนถึงวันที่ 5 ส.ค. มีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 505 คน สูงที่สุดในเขตตำบลกระทุ่มล้ม ข้อสังเกตแรก คือมีการติดเชื้อจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่จึงน่าจะเป็นไปได้มากกว่า

เมื่อยังพบผู้ติดเชื้ออยู่ จะต้องแยกผู้ป่วยออกจากชุมชน เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดในระลอกใหม่ขึ้น ซึ่งหากพิจาณาขั้นตอนการตรวจคัดกรองในจังหวัดนครปฐม เมื่อเปรียบเทียบกับการตรวจในพื้นที่กรุงเทพมหานครพบความแตกต่างที่สำคัญ คือ การจัดการในต่างจังหวัด “ระบบสาธารณสุขเป็นเอกภาพ” มากกว่ากรุงเทพฯ ที่มีโครงสร้างของระบบสาธารณสุขที่ซับซ้อน มีหลายสังกัด แต่ในต่างจังหวัด สามารถวางแนวทางในทิศทางเดียวกันได้ ซึ่งทุกจังหวัดควรใช้ข้อดีนี้ในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ

ปฏิบัติการในครั้งนี้ “แพทย์ชนบท” ทุกทีมที่กระจายลงไปยังจุดตรวจต่างๆ ในแต่ละจุดนั้น จะมียาฟาวิพิราเวียร์ จำนวน 50 ชุด (ชุดละ 50 เม็ด) รวมถึงยาฟ้าทะลายโจร 50 ชุด (ชุดละ 60 เม็ด) ไปแจกให้กับผู้ติดเชื้อด้วยด้วย ซึ่งในจำนวนดังกล่าว ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าว่า ได้รับยามาในจำนวนที่น้อยกว่าที่ขอไว้ และกังวลว่าจำนวนยาฟาวิพิราเวียร์ จะมีไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต

สำหรับจุดตรวจอำเภอนครชัยศรียังอยู่ระหว่างการตรวจหาเชื้อ แต่หลังจากน้ีหากพบผู้ติดเชื้อสาธารณสุขอำเภอนครชัยศรีจะรับไม้ต่อเพื่อประเมินอาการผู้ป่วย หากอยู่ในกลุ่มสีเขียวค่อนไปเหลือง จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์รักษาสำหรับ 5 วัน ซึ่งเป็นยาที่ชมรมแพทย์ชนบท และกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุน 

รวมถึงการจัดให้ลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่ระบบ Home Isolation หรือ Community Isolation ทันที พร้อมติดตามคนในครอบครัวมาซักประวัติเพื่อแจ้งให้ทาง รพ.สต. เข้าไปสอบสวนโรคอีกครั้ง แต่ถ้าผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มสีเหลืองหรือแดงจะตรวจ RT-PCR ก่อนส่งต่อไปยังโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามในอำเภอและจังหวัดต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีบุคลากรสาธารณสุขจากอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดนครปฐม เข้ามาร่วมสังเกตการณ์ ก่อนกลับไปตรวจเชิงรุกในแต่ละพื้นที่ ระหว่างวันที่ 9-10 สิงหาคม นี้  เห็นได้ว่าจังหวัดนครปฐม นอกจากจะเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมทั้งสถานที่รองรับหลังการตรวจแล้ว ยังเป็นพื้นที่เรียนรู้ในการตัดวงจรการระบาดของโควิด-19 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย

ส่วนภาพรวมจังหวัดนครปฐม พบผู้ติดเชื้อใหม่ 814 คน ติดเชื้อในจังหวัด 476 คน และติดเชื้อในเรือนจำ 338 คน โดยอำเภอที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด คือ อำเภอเมือง มีจำนวน 188 คน รองลงมา คือ อำเภอสามพราน มีจำนวน 80 คน และพบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 8 คน

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน