“แพทย์ระบาด” ชี้ เชื้อที่รุนแรงและแพร่กระจายมากขึ้น แต่ความเข้มข้นของมาตรการกลับลดลงกว่าปีก่อน แพทย์มองความตื่นตัวของผู้ออกนโยบายหายไป ประกาศล็อกดาวน์ช้าเกินไป
29 ก.ค. 2564 – ศ.นพ.วีรศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตร สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อธิบายถึงอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่มีมากขึ้นว่า เมื่อพิจารณาจากตัวเลขแล้ว ในตอนแรกคิดว่าเชื้อไวรัสจะใช้ เวลาในการเพิ่มเป็นเท่าตัว หรือ doubling time ประมาณ 3 สัปดาห์ ในตอนนั้นอยู่ที่ 6,000 คน จึงคาดการณ์ไว้ว่าสิ้นเดือนนี้จะอยู่ที่ 12,000 คน ในขณะที่ตอนนี้ตัวเลขก็ไปที่กว่า 17,000 คนแล้ว เพราะฉะนั้น หมายความว่าระยะเวลาเพิ่มแบบเท่าตัว มันสั้นกว่าเดิม
เขาบอกว่า เรากำลังอยู่ในช่วงที่เรียกว่า “Funeral Phase ” หรือ ช่วงเวลาที่มีแต่คนเสียชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่ติดเชื้อ แต่ไม่ได้เข้าสู่การรักษาในโรงพยาบาล คือ “ตายอยู่ที่บ้าน” เพราะเนื่องจากการติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น จะยิ่งส่งผลให้ผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน เมื่อระบบสาธารณสุขไม่สามารถดูแลได้ทั้งหมด ก่อนหน้านี้ ตนคาดการณ์ไว้ว่า ถ้าไม่ทำการล็อกดาวน์ในต้นเดือนกรกฎาคม เดือนหน้า สิงหาคมจะเข้าสู่ funeral phase แต่ตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงนั้นแล้ว และคำถามที่สำคัญ คือ คนที่ตายที่บ้านแล้วไม่ได้สอบสวนโรค ได้เพิ่มตัวเลขลงไปในการรายงานผู้เสียชีวิตด้วยหรือไม่ ?
“มาตรการของรัฐบาล ระลอก 3 อ่อนกว่ามาตรการในระลอกแรก ในขณะที่ เชื้อมันแรงกว่า แล้วคุณจะสู้ได้อย่างไร เราจะมีปัญญาทำได้เท่าระลอกแรกไหม ที่คนไม่ออกจากบ้านเลยถนนโล่งมาก แล้วคุณจะบอกว่าล็อกดาวน์เข้มงวดแล้วได้อย่างไร ในเมื่อมันไม่มีภาพสะท้อนที่เป็นรูปธรรมให้เห็นเลย … “
ศ.นพ. วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์
ศ. นพ.วีระศักดิ์ ยังกล่าวต่อว่า โครงสร้างของประชากรไทย เอื้ออำนวยต่อการระบาด เรามีที่ที่คนอยู่รวมกันจำนวนมาก และเคลื่อนไหวบ่อยครั้ง โดยหลักการของระบาดวิทยานั้น การจะแพร่ระบาดมากแค่ไหน มี 2 ปัจจัยหลัก ข้อแรกคือ Contact less คือ ลดการสัมผัสระหว่างกัน ล็อกดาวน์จะช่วยในส่วนนี้ได้ แต่มาตรการของรัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมได้ เมื่อเทียบกับการระบาดในระลอกแรกที่คนไม่ออกจากบ้านเลย มองว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่คนรักสบาย และไม่กลัวตาย เพราะในการล็อกดาวน์รอบนี้ ไม่เห็นภาพที่ออกมาว่าสามารถทำได้จริง ทุกคนยังสามารถไปได้ในทุกที่ที่ตนต้องการทั้งหมด
ส่วนปัจจัยที่ 2 คือ Transmission หรือ อัตราการแพร่ระบาด เนื่องจาก ไวรัสสายพันธุ์เดลตา จะมีอัตราการแพร่ระบาดได้มากกว่า 2.5 เท่า ประเทศที่ต้านได้โดยที่ไม่มีวัคซีนมีเพียงแค่ประเทศจีน แต่ประเทศเค้าในตอนนั้น ใช้มาตรการล็อกดาวน์แน่นหนามาก แต่เราทำอย่างนั้นไม่ได้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ต่างกัน ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็ทำไม่ได้ การล็อกได้ไว มันจะทำให้โรคแพร่ช้าได้ในระดังหนึ่ง แต่สุดท้ายยอดก็จะสูงเหมือนกัน เราจะไม่สามารถหยุดการแพร่ของเชื้อที่ไวขนาดนี้ได้ โดยที่ไม่มีวัคซีน
ขณะที่ นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิวิทยาคลินิก รวบรวมข้อมูลและชี้ให้ความเห็นถึงการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ เช่น ในประกาศพระราชกำหนด ฉบับที่ 25 ใช้วันที่ 28 มิ.ย. 2564 เมื่อใช้ไป 14 วัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 60% รักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 98% ป่วยหนักเพิ่มขึ้น 60% ใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่ม 46%
ฉบับที่ 27 ใช้วันที่ 12 ก.ค. 2564 ปรากฏว่าใช้ไป 14 วัน ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 78% รักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 84% ป่วยหนักเพิ่มขึ้น 48% และใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้น 29% ส่วนฉบับที่ 28 ใช้วันที่ 20 ก.ค. 2564 หลังจากบังคับใช้ได้ 7 วัน เท่าที่เก็บตัวเลขมานั้น พบว่า มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น 36% รักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 31% ป่วยหนักเพิ่มขึ้น 15% และใส่เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้น 9.2%
หมายความว่ามาตรการที่ออกมา 3 ฉบับเรียงกัน และเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นมาตลอด ยังไม่สามารถดึงตัวเลขตัวไหนลงได้สักตัวหนึ่งเลย เป็นการสรุปในความเชื่อส่วนตัวของตน
“มาตรการที่เราประกาศ เรา Implement (ดำเนินการ) ช้าเกินไป มาตรการที่เราออกเรียงกันมา 3 ครั้งหลังนี้ และเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นมาตลอด ยังไม่สามารถดึงตัวเลขตัวไหนลงได้สักตัวหนึ่งเลย ในความเห็นผมจึงคิดว่าประกาศช้าไป ต้องเร็วเท่ากับเดือนเมษายน…”
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ
“ถ้าประกาศใช้ไวกว่านี้ ผู้ติดเชื้อจะลดลง”
นพ.เฉลิมชัย ให้ความเห็นต่อว่า หากประกาศมาตรการตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน จะได้ผลที่ดีกว่านี้ เพราะเทียบเคียงจากมาตรการในปีที่ผ่านมาที่ทำได้สำเร็จผล เพื่อให้เวลาหน่วยระบาดวิทยาได้ทำงานมากขึ้น ได้หาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และจำกัดพื้นที่แพร่ระบาด และที่สำคัญจะทำให้ผู้ติดเชื้อลดลงได้จริง ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าโรคมันจะหายไป แต่จะช่วยชะลอให้สถานการณ์อยู่ในระดับที่ควบคุมได้
การประกาศได้ไว และมีผู้ติดเชื้อน้อยลง จะช่วยให้เรามีเวลาทำในสองสิ่งที่สำคัญคือ 1. การหาวัคซีน ไม่ว่าเหตุผลของการจัดหาเป็นอย่างไร อย่างน้อยเราจะมีเวลาให้กับการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน และ 2. การทำให้ระบบสุขภาพเดินต่อได้ หากตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับ 2,000 คน จะสามารถทำการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ และลดจำนวนผู้เสียชีวิต ไม่ให้มีการเสียชีวิตมากมายขนาดนี้ได้แน่นอน
แต่สิ่งที่ทำให้สถานการณ์แย่ลงไปมากกว่านั้น คือ “ล็อกดาวน์ที่ว่าไม่ทัน ยังทำได้ไม่เต็มศักยภาพด้วยซ้ำ” แม้ทำได้เต็มนิยามของคำว่าล็อกดาวน์ ยังไม่ทันเลย เพราะการประกาศล็อกดาวน์ในแต่ละครั้ง ก็ยังมีการละเมิด หากทำได้เต็มที่ก็ยังถือว่าน้อยไป จึงเป็นเหตุผลว่าตัวเลขถึงเดินมาในระดับหมื่นกว่าคนแบบนี้
ล็อกดาวน์ที่เข้มข้น และเข้มงวดมากกว่านี้จะทำได้หรือไม่ ?
นพ.เฉลิมชัย ไม่เห็นด้วยกับการบอกว่า ไม่สามารถใช้มาตรการได้รุนแรงมากกว่านี้แล้ว เพราะการเคอร์ฟิวทำแค่ 7 ชั่วโมง จาก 24 ชั่วโมงเท่านั้น ส่วนประเด็นของการว่าล็อกดาวน์แล้วจะสร้างความลำบากอย่างไรบ้าง ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่หากบอกว่าทำไม่ได้มากกว่านี้แล้ว ยืนยันว่าไม่จริง หากสามารถทำได้จริง อยากให้มีการล็อกดาวน์แบบเข้มงวด 14 ชั่วโมง โดยที่ขอความร่วมมือไม่ให้ทุกคนออกจากบ้าน แต่ในความเป็นจริงมันทำไม่ได้ จึงต้องมาคุยหาวิธีการว่าทำอย่างไร เพื่อชะลอตัวเลขให้มันลดลง
ขณะที่ นพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าหากจะมีการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดแล้วจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้จริง เพราะในเวลาที่สถานการณ์เดินมาถึงจุดนี้แล้ว เราอาจจะทำได้เท่านี้ แล้วรอให้ตัวเลขลดลงตามธรรมชาติ เมื่อเชื้อไวรัสเจอภูมิคุ้มกันหมู่ ก็จะแพร่ต่อไปไม่ได้ ในอีก 2 สัปดาห์ ตัวเลขอาจจะลดลงมาแล้วในกรุงเทพมหานคร แต่ในต่างจังหวัดอาจจะเพิ่มขึ้น เพราะตอนนี้โดยนโยบายก็มีการให้ผู้ป่วยกลับไปบ้าน หากต่างจังหวัดตั้งรับได้ไม่ดีเท่ากับรอบแรก จะทำให้เกิดการระบาดในต่างจังหวัดได้ด้วย
ถือเป็นสถานการณ์วิกฤตและน่าหนักใจเป็นอย่างมากสำหรับการฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ ประชาชนจำเป็นต้องดูแลตนเอง และมีความระมัดระวังรับผิดชอบอย่างดีที่สุด
ในขณะเดียวกันภาครัฐจำเป็นต้องระดมกำลังอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือทุกชีวิตที่มีค่า สิ่งสำคัญ คือ เราต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะดีขึ้น หรือเลวร้ายลงมากกว่าเดิม