จะอยู่ร่วมกับโควิด-19 คิดรอบคอบแล้วหรือยัง ?

ธุรกิจร้านอาหาร วอนรัฐผ่อนคลายแล้ว ต้องช่วยเรื่องชุดตรวจและวัคซีน นักระบาด ชวนมองตัวเลขอย่างเข้าใจ ออกจาก รพ.เยอะ ไม่ใช่การแพร่ระบาดน้อย นักวิจัย ชี้ จะอยู่ร่วมกับโควิด-19 ต้องคิดให้รอบคอบ

1 กันยายน 2564 วันแรกของการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หรือการปรับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดครั้งแรกในรอบ 2 เดือน มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยกับการผ่อนคลาย เพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ไม่อาจสูญเสียได้มากกว่านี้ ในขณะเดียวกันยังมีผู้ที่เห็นว่าการปรับมาตรการครั้งนี้ยังเร็วเกินไป และเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดในระลอกใหม่อีกครั้ง

คลายล็อกดาวน์ แต่ไม่สบายใจ

สรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร กล่าวว่า การปรับมาตรการครั้งนี้ อาจดูเหมือนว่าร้านอาหารจะกลับมาเปิดแบบเต็มรูปแบบมากขึ้น แต่จากการสำรวจธุรกิจกลับพบว่า มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่กลับมาเปิด และเป็นการเปิดแบบ Soft opening หรือ เปิดธุรกิจเพียงบางส่วนเท่านั้น หมายถึง มาตรการที่กำหนดให้ร้านอาหารจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้ 75% และ 50% นั้น บางร้านเปิดเพียงแค่ 30% และบางร้านไม่เปิดให้นั่งรับประทานในร้านเลย โดยคิดว่าจะกลับมาเปิดอีกครั้ง ในช่วงกลางเดือนกันยายน

“บางร้านเขาฝังใจ และเจ็บปวด เพราะคราวที่แล้วเปิดให้นั่ง แล้วมาล็อกดาวน์เขาตอนตีหนึ่ง วัตถุดิบเขาเต็มตู้เลย เราเข็ดกับการล็อกดาวน์มาแล้ว 4 รอบ ไม่อยากเจอรอบที่ 5 จึงขอประคองไปให้ยาว ๆ ด้วยความระมัดระวัง”

สรเทพ โรจน์พจนารัช

สรเทพ กล่าวว่า เหตุผลที่ธุรกิจร้านอาหารส่วนหนึ่งยังไม่กลับมาเปิดอย่างเต็มที่ เพราะว่า (1) ยังคงกลัวกับความไม่แน่นอนของมาตรการ ว่าจะกลับมาล็อกดาวน์อีกหรือไม่ ร้านอาหารมีต้นทุนวัตถุดิบที่ต้องแบกรับ การซื้อมาแล้วไม่ได้ขาย ถือเป็นการสูญเสีย (2) กลัวมีคนนำเชื้อ มาแพร่ในร้าน หมายถึง ความปลอดภัยของพนักงาน และลูกจ้าง เพราะหากเกิดการติดเชื้อ ก็ไม่มีคนทำงาน และ (3) การฉีดวัคซีนที่ยังไม่ทั่วถึง บางร้านมีลูกจ้างเป็นแรงงานข้ามชาติ การเข้าถึงวัคซีนแทบไม่มีเลย และในส่วนของลูกจ้างที่เป็นคนไทยเอง ก็ได้รับวัคซีนในจำนวนที่น้อยมากเช่นกัน

นอกจากนั้นธุรกิจร้านอาหารยังเรียกร้องให้รัฐบาล เข้ามาสนับสนุนชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ให้ด้วยเนื่องจากว่าหากต้องใช้เป็นประจำ ในระยะยาว เป็นต้นทุนที่ร้านเล็ก ๆ ไม่สามารถทำได้ ราคาต่อชุดยังแพงเกินไป หากอยากให้ร้านปฏิบัติตามมาตรการต้องเข้ามาสนับสนุนอุปกรณ์ตรงนี้ด้วย

ชวนมองตัวเลขอย่างเข้าใจ หายป่วยเพิ่มขึ้น ไม่ใช่การระบาดน้อยลง

รศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ รอง ผอ.ศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า ตนเข้าใจเหตุผลของการคลายล็อกดาวน์ในครั้งนี้ว่า อาจคำนึงถึงผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ที่กำลังลำบาก และไม่อาจทนต่อการล็อกดาวน์ได้อีกต่อไป แต่ในขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงสถานการณ์ทางด้านสาธารณสุขด้วย โดยจากเหตุผลของการปรับมาตรการ หากพิจารณาเพียงแต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ลดลงมาอาจไม่เพียงพอ เพราะยังอยู่ในระดับที่สูงอยู่ เมื่อเทียบกับหลายครั้งที่ผ่านมา รวมถึงจำนวนผู้ที่รักษาหายดี และออกจากโรงพยาบาล ไม่ได้สะท้อนว่าการระบาดในประเทศเรามีน้อยลง

“คำว่าลดลง ผมคิดว่าแปลก เพราะขาขึ้นอยู่ที่ 14,000 คนก็ตกใจกันแย่แล้ว ตอนนี้ลงมาจาก 20,000 เราบอกว่าดีขึ้น มันก็แปลกนิดนึง มันขึ้นอยู่กับทิศทางว่าจะไปอย่างไรด้วย ไม่ใช่ดูแต่ตัวเลขอย่างเดียว”

รศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์

รศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ ยังย้ำว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวัน แปรผันตามจำนวนการตรวจเชื้อด้วย ซึ่งข้อมูลตรงนี้ต้องระมัดระวัง และมีความโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ลดลงนั้น มาจากการตรวจที่เท่าเดิม หรือลดลงตามกันไปด้วย เพราะหากตรวจน้อย ตัวเลขในระดับนี้ ถือว่ายังน่ากังวลอยู่มาก และตัวเลขในวันนี้เป็นผลมาจาก 1 – 3 สัปดาห์ก่อน และเราทำอะไรในวันนี้ จะส่งผลต่อไปในอนาคตเช่นกัน

รัฐบาลคลายล็อกดาวน์ เพราะไม่อยากเยียวยาหรือไม่ ?

สมชัย จิตสุชน ผอ.การวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เกณฑ์สำคัญของการคลายล็อกดาวน์นั้น ต่อเมื่อมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้แน่นอนในระยะยาว อย่างเช่นในรอบ 1 – 2 เดือนจะสามารถคุมตัวเลขทั้งผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตได้ลดลง แต่ถ้าหากยังไม่แน่ใจ ก็ไม่ควรคลายล็อกดาวน์ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่ไม่สามารถตัดสินใจได้

ในการปรับมาตรการครั้งนี้ สมชัย คาดการณ์ว่าเหตุผลสมำคัญที่รัฐบาลคลายล็อกดาวน์เนื่องจากมองว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภาคแรงงานนั้นรุนแรง ทั้งแรงงานระดับบน ระดับกลาง และระดับล่าง ซึ่งในส่วนของแรงงานระดับล่าง จะมีผลกระทบมากที่สุด ซึ่งหากไม่มีการคลายล็อกดาวน์เลย จะไม่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ เหมือนต้องให้อากาศเขาสำหรับหายใจ และมีชีวิตต่อไป ไม่เช่นนั้นแรงงานเหล่านี้ก็ต้องกลับภูมิลำเนา เนื่องจากขาดรายได้

“เหตุผลที่ดูเหมือนรัฐบาลจะคลายล็อกดาวน์เร็วเกินไป คือ ห่วงว่าถ้าล็อกดาวน์ไปนานจะต้องเยียวยาเยอะ เพราะท่าทีดูเหมือนจะไม่พร้อมเยียวยาเท่าไร และภาวนาแบบ Fingers Crossed ว่าคลายแล้วจะเอาอยู่… อาจจะเป็นไปได้ว่าคิดในแง่มุมนั้น”

สมชัย จิตสุชน

การล็อกดาวน์นั้น ต้องมาควบคู่กับการเยียวยาที่เหมาะสม ให้แรงงานสามารถอยู่บ้านได้โดยที่ไม่เดือดร้อน ซึ่งสมชัย มองว่าท่าทีของรัฐบาลนั้น ดูเหมือนว่าจะไม่พร้อมเยียวยา แม้จะมีคำแนะนำจากทั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นักวิชาการ และรวมถึงตนด้วยที่แนะนำว่ารัฐบาลต้องมีการกู้เงินเพิ่มเพื่อนำมาเยียวยาประชาชน แต่ในปัจจุบันดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น ท่าทีนี้จึงสะท้อนได้ว่ารัฐบาลไม่อยากล็อกดาวน์ต่อไปแล้ว เพราะไม่สามารถเยียวยาประชาชนได้

ในขณะที่ สรเทพ สะท้อนมุมมองตรงในฐานะเจ้าของธุรกิจร้านอาหารว่าที่ผ่านมารัฐบาลเยียวยาได้ไม่ถึงถึง และน้อยเกินไป มีหลายเรื่องที่เรียกร้องแล้ว ไม่ได้ตามที่ขอทั้ง ๆ ที่รัฐบาลสามารถทำได้ ในเรื่องของการลดค่าไฟให้กับร้านอาหาร เพราะหลายร้านต้องเก็บรักษาวัตถุดิบ ทั้งตู้แช่แข็ง และถังเก็บอุณหภูมิ การสนับสนุนจากการไฟฟ้าจะช่วยค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้มาก แต่ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือ และที่สำคัญคือการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ที่มีรายละเอียดมาก ไม่สอดคล้องต่อธุรกิจขนาดเล็กของไทย ที่ต้องใช้เอกสารหลายอย่างมายืนยัน ในเมื่อยังมีงบตรงนี้ค้างอยู่เยอะมาก เหตุใดจึงไม่ผ่อนคลายให้ธุรกิจเข้าถึงง่ายขึ้น

‘วัคซีน’ ปัจจัยสำคัญลดอัตราป่วยตาย และคุมระบาด

สรเทพ กล่าวว่า ตนได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาโดยตลอด ให้จัดหาวัคซีนสำหรับธุรกิจร้านอาหาร เพราะตนมองว่าพนักงาน และลูกจ้างเผชิญความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ ที่เข้ามาเป็นฟันเฟืองสำคัญในธุรกิจร้านอาหาร แทบทั้งหมดยังไม่สามารถเข้าถึงวันซีนได้ ตัวเลขแรงงานข้ามชาติในปัจจุบัน เฉพาะในกรุงเทพมหานคร อาจเหลือประมาณ 8,000 ราย เนื่องจากขาดอาชีพ และไม่ได้วัคซีนบางรายเลือกที่จะกลับประเทศของตนไป

“เราขอวัคซีนในธุรกิจร้านอาหาร เพราะทุกครั้งที่สั่งปิด คุณจะบอกว่าเราเป็นแหล่งการแพร่กระจาย แต่ในวันที่ประกาศออกมาว่าธุรกิจกลุ่มเสี่ยงที่จะให้วัคซีนก่อน กลับไม่มีร้านอาหาร มันเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกันมาก”

สรเทพ โรจน์พจนารัช

สมชัย กล่าวว่า ตนติดตามตัวเลขผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องการพิสูจน์ว่าผลจากการฉีดวัคซีนนั้น ส่งผลให้การติดเชื้อน้อยลงหรือไม่ ปรากฏว่าตัวเลขยังไม่ลดลงเท่าที่ควร ยังอยู่ในระดับ 3,000 – 4,000 คนต่อวัน จึงเกิดคำถามว่าผลของการฉีดวัคซีนนั้น จะเกิดขึ้นในช่วงใด เพราะฉะนั้นการฉีดวัคซีนในปัจจุบันยังไม่น่าไว้วางใจ และต้องคำนึงด้วยว่าในจำนวนของผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่สองนั้น มีคนที่ฉีด Sinovac มากน้องเพียงใด เพราะจำนวนนั้นก็ถือว่าไม่มีภูมิคุ้มกันเพียงพอ ต่อการใช้ชีวิตเช่นกัน

เช่นเดียวกับ รศ.นพ.บวรศม ที่กล่าวว่าหากมีวัคซีนเพียงพอ ควรเร่งฉีดให้ทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง และมองว่าเป้าหมายของการฉีดวัคซีนในปัจจุบัน ควรมุ่งเพื่อลดอัตราการป่วยตายของผู้ป่วย เพราะจะสังเกตได้ว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตนั้น ไม่ได้ลดน้อยลง นั่นหมายความว่าการฉีดในกับกลุ่มเสี่ยง เป็นสิ่งที่ต้องทำก่อนเป็นอันดับแรก โดยตั้งข้อสังเกตถึงพื้นที่ต่างจังหวัดว่าการฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงยังอยู่ในอัตราที่น้อยอยู่

และการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ที่ตั้งเป้าจะฉีด 70% ของจำนวนประชากร ไม่เพียงพออีกต่อไป อาจต้องฉีดวัคซีนในอัตราที่มากกว่านั้น เนื่องจากสายพันธุ์ที่ระบาดในบ้านเราตอนนี้ ระบาดต่อคนมากกว่าเดิม อาจจะต้องฉีดที่ 80% – 90% ของจำนวนประชากร และวัคซีนนั้นต้องได้ผลทั้งในแง่ป้องกันการติดเชื้อ และป้องกันการเสียชีวิต แต่ในปัจจุบันวัคซีนของเราที่มีได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร ก็มีความจำเป็นต้องฉีดมากกว่าที่ควรจะเป็นด้วย เพราะฉะนั้นความน่าจะเป็นที่ใกล้เคียงที่สุด ก็คือ ต้องฉีดทุกคน

‘อยู่ร่วมกับโควิด’ คิดรอบคอบแล้วหรือยัง ?

สมชัย กล่าวว่า แนวคิดการอยู่ร่วมกับโควิด-19 ถูกขับเคลื่อนเนื่องจากไม่อยากให้ประเทศเผชิญกับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจมากไปกว่านี้ จึงทำให้ทุกคนเข้าใจว่าเราต้องอยยู่ร่วมกับโควิดไปอีกนาน และไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์กันทุกครั้ง แต่มีประเด็นที่ต้องวางแผนว่า เราจะอยู่กับโควิด ไปพร้อมกับจำนวนผู้เสียชีวิตเท่าไร ที่เรารับได้ ?

“การอยู่ร่วมกับโควิด ต้องถามว่าอยู่แบบไหนด้วย อยู่แบบมีคนตายเท่าไรต่อวัน และวัคซีนต้องใช้อย่างรวดเร็ว ฉีดวันนึงต้องได้ 1 ล้านโดส”

จากข้อมูลของการเสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบันพบว่ามีผู้เสียชีวิตต่อวัน ไม่ถึง 2 คน แต่หากเราตั้งเป้าหมายของโควิดที่วันละ 2 คน กว่าจะถึงวันนั้นถือว่ามีอะไรอีกหลายอย่างที่ต้องทำ โดยเฉพาะการฉีดวัคซีน ถึงแม้ข้อมูลจะบอกว่าในปีนี้จะมีวัคซีนเข้ามา 130 ล้านโดส แต่ภายในสิ่งปีนี้ต้องเร่งฉีดอย่างรวดเร็ว และทั่วถึง โดยมีกลยุทธ์เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้

ด้าน รศ.นพ.บวรศม กล่าวว่า ทั่วโลกมีแนวทางการอยู่ร่วมกับโควิด 2 แนวทาง แนวทางแรกคือ เปิดเศรษฐกิจสังคมเท่าที่จะทำได้ และมีจำนวนผู้เสียชีวิตที่รับได้ไปเรื่อย ๆ อย่างเช่น สหราชอาณาจักร หรือ สหรัฐอเมริกา ในบางมลรัฐที่ไม่คุมเข้มมาตรการทางสาธารณสุขเท่าไรนัก และในช่วงที่มีเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่หลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีน ก็อาจจะมาล็อกดาวน์ปิดกันใหม่ ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร

และอีกแนวทางหนึ่งคือการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด เช่น นิวซีแลนด์ ไต้หวัน หรือออสเตรเลีย แม้กระทั่งประเทศจีนที่เข้มงวดในมาตรการอย่างมาก ซึ่งประเทศเราไม่สามารถทำได้ ประเทศต่าง ๆ ควบคุมจนตัวเลขต่ำที่สุด และเมื่อเกิดการระบาดก็พร้อมจะมีมาตรการเพิ่มเติม ในขณะที่ประเทศไทย เหมือนอยู่ตรงกลาง แล้วนำข้อเสียของแต่ละแนวทางมารวมกัน จึงเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง

“ถ้าเราไม่รู้ว่าเมื่อไรจะมีการระบาดระลอกใหม่ จะทำให้ต้นทุนสูงมา ทำอย่างไรที่เราจะตรวจได้เยอะในระยะสั้น ถ้าล็อกดาวน์แล้วต้องช่วยเหลือคนที่สายป่านสั้น และในระยะยาวพอเชื้อน้อยลงแล้วเราพร้อมเปิดกลับมาใช้ชีวิตอย่างสบายใจ”

รศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์

สรเทพ กล่าวว่า การจะอยู่ร่วมกับโควิด-19 นั้นต้องอยู่อย่างสมดุล โดยให้พนักงานและลูกจ้างเข้าใจว่าเราจะต้องอยู่กับโรคนี้ไปอีกนาน โอกาสที่จะกลับมาล็อกดาวน์ก็ยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นทำอย่างไรให้ธุรกิจเราพร้อมที่สุด คือ ต้องรักษา และดูแลระบบสาธารณสุขให้ดี ทำตามมาตรการอย่างเต็มที่ เพราะหากจะเปิดในระยะยาวก็จำเป็นต้องช่วยเหลือและร่วมมือกัน จะให้เป็นภาระต่อแพทย์และพยาบาลอย่างเดียวไม่ได้ และเมื่อมีการติดเชื้อ ก็สามารถนำไปรักษาได้ ในปริมาณที่ระบบรับไหว

ถ้ากลับไปล็อกดาวน์อีกครั้ง จะไหวหรือไม่ ?

สรเทพ กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดครั้งแรก เรื่อยมาจนปัจจุบัน มูลค่าทางการตลาดของธุรกิจร้านอาหารจากเดิม 4 แสนล้านบาท ปัจจุบันอาจจะอยู่ที่ 2 แสนล้านบาทเท่านั้น หากมีการล็อกดาวน์อีก ตัวเลขเหล่านี้ก็จะยิ่งลดลง จำนวนธุรกิจร้านอาหารก็จะทยอยหายไปเรื่อย ๆ ด้วยเหตุผลว่ากำลังซื้อภายในประเทศตกต่ำ คนไม่มีกำลังออกมาจับจ่ายใช้สอย และร้านค้าก็ไม่สามารถแบกรับการขาดทุนได้อีกต่อไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ๆ อาจกลายเป็นฝันร้ายของธุรกิจร้านอาหารได้

ด้าน สมชัย กล่าวว่า การล็อกดาวน์ที่นาน และมากครั้งย่อมทำให้เกิดการสูญเสีย สิ่งที่สำคัญคือเรื่องของการเยียวยา โดยเฉพาะเป็นการเยียวยาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อให้ได้ความแน่นอนกลับมา และแนวทางในการเยียวยาก็ต้องประกอบไปด้วยมาตรการทางการเงิน และการคลัง ทั้งการพักหนี้ และการ hair cut ที่รัฐบาลต้องจัดสรรเงินมาดูแลเรื่องนี้ในระยะยาว ดำเนินการไปพร้อมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่กันไป

เช่นเดียวกับ รศ.นพ.บวรศม ซึ่งกล่าวว่ามาตรการด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม ไม่ได้แยกออกจากกันเสียทีเดียว ในทางกลับกันต่างส่งผลสืบเนื่องถึงกันด้วย โดยหากจำเป็นต้องล็อกดาวน์อีกจริง ๆ ข้อมูลต้องชัดเจนกว่านี้ ว่า ATK ตรวจไปเท่าไร และมีความโปร่งใสมากขึ้น มาตรการเยียวยาต้องสมเหตุสมผล เพื่อให้คนที่ร่วมมือไม่เดือดร้อนจากมาตรการนี้ เราพูดถึงการเยียวยาคนสายป่านสั้นให้อยู่ได้ เพื่อช่วยให้โรคระบาดลดลง ไม่ใช่การเสียสละ แต่เป็นเรื่องของหน้าที่รัฐที่ต้องลงมาจัดการ


Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้