ส.ส. กรุงเทพฯ ชี้ ต้องมีความชัดเจนมาตรการเยียวยา ก่อนยกระดับ “ล็อกดาวน์”

3 ส.ส. พรรคก้าวไกล สะท้อนปัญหาจากพื้นที่สีแดงเข้ม แนะ 6 ข้อ พัฒนาระบบรุกตรวจ ส่งต่อ หาเตียง ถามหาความชัดเจนการเยียวยาก่อนยกระดับ ‘ล็อกดาวน์’ เผย สถานการณ์วิกฤตสูง ต้องเร่งทำ ICU สำหรับผู้ป่วย ‘สีแดง’

19 ก.ค. 2564 – สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต พรรคก้าวไกล กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ได้แก่ ณัฐพงษ์​ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส. กรุงเทพฯ เขต 28 บางเเค ภาษีเจริญ​, เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส. กรุงเทพฯ เขต 22 บางกอกใหญ่ ธนบุรี คลองสาน และ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. กรุงเทพฯ เขต 25 บางขุนเทียน ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล ได้ร่วมกันแถลงข่าวออนไลน์ เพื่อสะท้อนสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็นปัญหาจริงในพื้นที่ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุด

ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ขอส่งกำลังใจให้ประชาชนทุกคน รวมถึงประชาชนในพื้นที่เขตบางแค ซึ่งตนเป็น ส.ส. สำหรับข้อเสนอ รัฐบาลควรมีมาตรการที่ชัดเจนและในบางเรื่องก็ควรต้องรวมศูนย์ในการจัดการโดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญต่อวิกฤตนี้ นั่นคือ เรื่องของการจัดหาเตียงที่มีปัญหาและความสับสนมาก

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตเพื่อสะท้อนไปยังรัฐบาลใน 6 ประเด็น

1) การใช้ชุดตรวจ Rapid antigen test เพื่อคัดกรองหาผู้ติดเชื้อ รัฐบาลไทยนำมาตรการนี้มาใช้ล่าช้ากว่าต่างประเทศหลายเดือน และเพิ่งจะมาปลดล็อกไม่นานมานี้ แต่ยังมีปัญหาตามมาคือ พบผู้ติดเชื้อแล้วก็ไม่สามารถดำเนินการใดต่อได้เลย ยังต้องรอผลตรวจเเบบ RT PCR ซึ่งเสียเวลา โดยเฉพาะหากเป็นผู้ป่วยวิกฤตยิ่งไม่สามารถรอได้ รัฐบาลจะต้องรับรองให้ผลตรวจจาก Rapid antigen test สามารถลงทะเบียนเพื่อใช้รักษาในกระบวนการ Home Isolation ได้ทันที โดยไม่ต้องรอผลตรวจแบบ RT PCR

2) การเเสดงผลตัวเลขผู้ติดเชื้อจากผลตรวจ RT PCR ไม่สามารถทำให้รับทราบผลของผู้ติดเชื้อจริงว่ามีเท่าไร หลังจากที่มีการตรวจชัดเจนเเล้ว รัฐบาลจะต้องมีความโปร่งใส โดยเเยกตัวเลขจากผลตรวจ RT PCR และตัวเลขจาก Rapid antigen test เพื่อให้ประชาชนได้ทราบอย่างชัดเจน ขอยกตัวอย่างเคสหนึ่งที่หากรัฐบาลบริหารจัดการได้ดี คงไม่มีการสูญเสีย โดยเคสนี้เป็นคุณแม่ท่านหนึ่งที่ติดเชื้อและมีอาการหลายวัน แต่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้ เพราะติดปัญหาจากการไม่มีผลตรวจแบบ RT PCR จนทำให้ต้องสูญเสีย ซึ่งปัญหานี้เกิดจากการไม่กระจายศูนย์ของรัฐบาล

3) การสื่อสารให้ชัดเจน อย่างในเรื่องของ Home Isolation รายละเอียดเป็นอย่างไร ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข้อมูล ยกตัวอย่างเคสหนึ่งในเขตหนองเเขม สตรีมีครรภ์หลายรายรอเตียงมาหลายสัปดาห์ บางคนอาจต้องบอกว่ารอเตียงจนหายเเล้วด้วยซ้ำ แต่รัฐไม่ควรละเลยต่อกรณีที่เกิดขึ้น เพราะบางคนอาจไม่หายแต่กลายเป็นเสียชีวิตก็ได้ เมื่อรู้ว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่บ้านไหน รัฐจะต้องส่งอุปกรณ์ทางการเเพทย์ไปให้อย่างเร่งด่วน อย่างกรณีญี่ปุ่น เมื่อมีการทำ Home Isolation ทางรัฐบาลส่งเครื่องวัดออกซิเจนให้กับประชาชนทุกบ้าน เพื่อประเมินความหนักเบาของอาการ ช่วยประคองชีวิตประชาชน ลดความสูญเสียได้ในหลายอัตรา

4) ศูนย์พักคอย เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก กรณีของเขตบางเเคมีกว่า 40 ชุมชน ไม่ใช่ทุกครัวเรือนจะมีฐานะ หลายครอบครัวต้องอาศัยอยู่รวมกัน เมื่อใครคนหนึ่งติดเชื้อจึงป้องกันได้ยาก ตนรับทราบข้อมูล อำนาจ ปานเผือก ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เขตบางเเค พรรคก้าวไกล ว่า ขณะนี้มีหลายครัวเรือนติดเชื้อและต้องการแยกตัวออกไป เพื่อลดการเเพร่เชื้อเเละกระจายความเสี่ยง แต่ปัจจุบันยังไม่มีการรองรับในเรื่องเหล่านี้

5) บุคลกรทางการเเพทย์และสาธารณสุข ยังไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมาเป็นเกราะป้องกัน ซึ่งพวกเขาควรต้องได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด แต่เรายังได้รับการข้อมูลมาว่า ขณะนี้ยังมีทีมแพทย์เเละพยาบาลที่ปฏิบัติงานจำนวนหนึ่ง ในโรงพยาบาลหลายแห่ง ไม่ได้รับการตรวจเชื้อโควิดอย่างเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยอ้างว่าใช้ต้นทุนสูง เรื่องนี้จึงขอให้รัฐแก้ไขอย่างเร่งด่วน

6) งานธุรการเอกสาร คิดว่าต้องพอได้เเล้วสำหรับยุคปัจจุบันที่รัฐบาลบอกว่าจะเป็นรัฐบาลดิจิทัล แต่กลับยึดติดกับงานเอกสาร ต้องบอกว่า ขณะนี่ทุก ๆ งานเอกสารกำลังหมายถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น เพราะการรอใบตรวจ หรือผลตรวจที่ต้องการเอกสารยืนยัน แต่นี่คือต้นทุนชีวิตที่ประชาชนต้องสูญเสียไป เป็นอีกเรื่องที่ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการปรับปรุงแก้ไข

ขอความชัดเจนการเยียวยาก่อนยกระดับ ‘ล็อกดาวน์

ด้าน เท่าพิภพ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ขณะนี้ หากรัฐบาลต้องการล็อกดาวน์ก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เเต่จะต้องมีการเยียวยาอย่างเหมาะสมออกมาด้วย เเต่อย่างเช่นเคย เหมือนรัฐบาลยังไม่ได้คิดอะไรนอกจากสั่งล็อกดาวน์ทำตามอำเภอใจผ่านการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกำลังจะล็อกดาวน์เพิ่มอีก 3 จังหวัด ซึ่งความรู้สึกของประชาชนจากการที่ตนลงพื้นที่รับฟังมา เขาต้องการรู้ว่ารัฐบาลจะเยียวยาอะไรเขาบ้างเมื่อมีคำสั่งออกมา และหาก 14 วันไม่ดีขึ้น รัฐบาลจะทำอย่างไรต่อ ต้องมีขั้นตอน มีความชัดเจนให้เขาวางแผนได้ อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าหากยังไม่มีการตรวจเชิงรุก หรือเพิ่ม ICU สนาม ล็อกดาวน์ไปก็ไม่มีประโยชน์

“รัฐบาลพยายามให้ประชาชนโทรเบอร์ 1669 หรือ 1330 เพื่อเป็นช่องทางในการหาเตียง แต่ปัญหาคือ การโยนเเละผลักภาระกันไปมาระหว่างหน่วยงาน ยิ่งประชาชนโทรหลายสายการทำงานก็ยิ่งช้าลง จึงอยากฝากให้รัฐบาลรวมศูนย์อำนาจในการจัดหาเตียงมาที่ ศบค. อย่างชัดเจน และจัดทำแอปพลิเคชันในการลงทะเบียนเพื่อความรวดเร็วและโปร่งใส จะได้ไม่มีข้อครหา ว่าการหาเตียงให้ผู้ป่วยเอื้อเเต่คนรวย กลุ่มอภิสิทธิ์ชน รัฐบาลต้องทำระบบให้เป็นระบบเดียว วันนี้มีผู้ป่วยกว่า 12,000 คน แต่ประชาชนกลับไม่เห็นอนาคตเเละสิ้นหวังจากรัฐบาล ขอให้ดูเเลสภาพจิตใจประชาชนด้วย เเละควรจัดทำศูนย์พักคอย และ ICU สนามเพิ่มเติมสำหรับผู้ป่วยสีเเดงได้แล้ว”

จี้ ดูเเล ‘เเรงงานต่างชาติ’ ไม่เลือกปฏิบัติก่อนบานปลาย

ณัฐชา กล่าวว่า อีกปัญหาที่ถูกละเลยจากภาครัฐ คือ การดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะเเรงงานข้ามชาติ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในกรุงเทพมหานคร โดยยกตัวอย่าง ชุมชนวงเเหวนชัชวาลย์ เทียนทะเล 26 ซึ่งมีเเรงงานข้ามชาติมากกว่า 2,000 คน ที่ยังไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 หรือไม่มีการตรวจเชิงรุกในกลุ่มนี้ ทั้งที่เป็นสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดคลัสเตอร์ใหม่อย่างมาก เพราะเป็นแหล่งโรงงานและบริษัทเอกชน รวมถึงมีชุมชนอยู่โดยรอบ อย่างบางโรงงานหรือบริษัทเมื่อทดลองตรวจเชิงรุกกันเอง จาก 30 – 40 คน พบการติดเชื้อถึง 20 ท่าน เรียกว่าพบเป็นร้อยละ 60 % ของผู้ได้รับการตรวจเชิงรุกโดยประมาณ ปัญหาก็คือพบแล้วก็ไม่สามารถที่จะควบคุมการกระจายของเชื้อได้เลยหากรัฐบาลยังคงนิ่งเฉยแบบนี้

“ไม่มีการตรวจเชิงรุก ไม่มีการบอกว่าติดหรือไม่ติด นอกจากการตรวจกันเองแต่ไม่มีการเข้ามาเยียวยาดูเเลแต่อย่างใด พวกเขายังคงอยู่กันแบบปะปนแม้บางคนจะรู้ว่าติดเชื้อและเสี่ยงต่อการเเพร่เชื้ออย่างสูง ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ เเรงงานต่างชาติจำนวนมากถูกให้ออกจากงานโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือ ทำให้เขาก็ต้องไปหางานอื่นทำเรื่อยไป สำหรับคนหาเช้ากินค่ำหรือหาค่ำกินเช้า เขาหยุดไม่ได้ เขายังต้องเอาตัวเองออกไปทำงาน ทั้งๆที่รู้ว่าติดเชื้อโควิด”

ณัฐชา ยังกล่าวด้วยว่า ในฐานะที่พรรคก้าวไกลได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พบว่า กรุงเทพมหานคร ยังคงวิกฤตในทุกพื้นที่ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 10,000 คน ติดต่อกันมา 3 วัน ยอดผู้เสียชีวิตเเตะร้อยทุกวัน ยังมีปัญหาทั้งด้านการจัดสรรเตียงให้ผู้ป่วย การตรวจเชิงรุก และการบริการทางด้านสาธารณสุข การดูเเลหลังพบการติดเชื้อ หรือ Home Isolation ที่ยังไม่มีเเนวทางที่ชัดเจน รวมถึงกระบวนการฉีดวัคซีนที่ไม่มีความเเน่นอน พี่น้องประชาชนยังไม่รู้ว่าจะต้องฉีดวัคซีนประเภทไหนวันไหน จึงคิดว่าถึงขณะนี้ รัฐบาลนี้ก็ยังคงไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้เลย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active