เช็กแผนวัคซีนโควิด-19 ก.ค – ส.ค. นี้ 13 ล้านโดส ฉีดวันละ 2.59 แสนโดส

ปี 2564 ไทยยังขาดวัคซีนอีก 11.28 ล้านโดส จากเป้าหมาย 100 ล้านโดส ด้าน “นพ.เฉลิมชัย” แนะรัฐจัดหายี่ห้ออื่นเพิ่ม หนุนซื้อ “Novavax” ตัวใหม่ของสหรัฐฯ 

สถานการณ์โควิด-19 เวลานี้ นอกจากความพยายามสร้างระบบ เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ และพยุงไม่ให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในเกณฑ์สีเขียวต้องเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือแดง ต้องยอมรับว่า เรายังไม่สามารถควบคุมหรือ ลดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันลงได้

ถ้าจะเปรียบสถานการณ์โรคระบาดเป็น “สงคราม” ต้องยอมรับว่า อาวุธที่ทุกคนเห็นตรงกันว่าพอจะใช้สู้กับโควิด-19 ได้คือวัคซีน แต่ความหวังนี้จะเป็นไปได้แค่ไหน ภายใต้ปริมาณวัคซีนที่ไทยมีต่อเดือน อัตราการฉีดต่อวัน จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ท่ามกลางข้อสงสัยในการบริหารจัดการวัคซีน

มติ ครม.รับทราบการจัดสรรวัคซีน วันที่ 19 กรกฎาคม -31 สิงหาคม 2564 จำนวนทั้งหมด 13 ล้านโดส โดยแบ่งเป็นแอสตราเซเนกา 8 ล้านโดส และซิโนแวค 5 ล้านโดส ซึ่งจะเน้นฉีดให้กับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง แบ่งเป็น 4.29 ล้านโดสหรือ 33% ฉีดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวด และควบคุมสูงสุดบางจังหวัด รวม 11 จังหวัด และแบ่งแอสตราเซเนกาไว้ฉีดเป็นเข็มที่ 2 จำนวน 1.56 ล้านโดส โดยใช้แนวทางการฉีดวัคซีนแบบผสม ซิโนแวคเข็มแรก ตามด้วยแอสตราเซเนกาเข็ม 2 เมื่อถึงสิ้นเดือนสิงหาคมที่จะฉีดวัคซีนตามแผน 13 ล้านโดส จะรวมเป็น 27.22 ล้านโดส ซึ่งจะต้องฉีดให้ได้เฉลี่ยวันละ 2.59 แสนโดส

ขณะที่เป้าหมายสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในการฉีดให้ได้ 100 ล้านโดสในเดือนธันวาคม 2564 นี้ ต้องฉีดเพิ่มอีก 72.78 ล้านโดสในช่วงเวลาที่เหลือตั้งแต่ 1 กันยายนถึง 31 ธันวาคม รวมเวลา 122 วัน หรือ ต้องฉีดให้ได้เฉลี่ย 5.96 แสนโดสต่อวัน

ปัจจุบัน วัคซีนของไทยมาจาก 1. แอสตราเซเนกา 20 ล้านโดส คือเดือนละ 5 ล้านโดส รวม 4 เดือน 2. ซิโนแวค  12 ล้านโดส คือ เดือนละ 3 ล้านโดส 3. ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส และได้รับบริจาคจากสหรัฐฯ อีก 1.5 ล้านโดส  รวมเป็น 21.5 ล้านโดส 4. โมเดอร์นา 5 ล้านโดส 5. ซิโนฟาร์ม 2 ล้านโดส รวมเป็น 61.5 ล้านโดส ยังคงขาดวัคซีนที่จะต้องเร่งจัดหามาภายในสิ้นปีนี้อีก 11.28 ล้านโดส

แต่ข้อมูลนี้สวนทางกับ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ที่ระบุเป้าหมาย 100 ล้านโดสประกอบด้วย แอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส ซิโนแวค 19 ล้านโดส และไฟเซอร์ 20 ล้านโดส ท่ามกลางข้อสังเกตว่า ขณะนี้มีการส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกาให้ไทยได้เพียง 5 ล้านโดสต่อเดือนเท่านั้น

ขณะที่ภายในปี้นี้ รัฐบาลยังต้องจัดหาวัคซีนเพิ่มให้ครบตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส ซึ่ง “นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ” รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุขวุฒิสภา ระบุ ต้องเจรจากับแอสตราเซเนกา ให้จัดสรรวัคซีนเพิ่มให้กับไทย หรือนำเข้าวัคซีน ซิโนฟาร์ม, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, สปุตนิก วี จากรัสเซีย ตลอดจนวัคซีนโนวาแวกซ์ของสหรัฐอเมริกาเข้ามาเสริมไปพร้อมกัน 

สำหรับโนวาแวกซ์ “Novavax” เป็นหนึ่งในวัคซีนหลักของโครงการโคแวกซ์ (Covax) ในการกระจายวัคซีนให้ประเทศที่มีร้ายได้น้อยและปานกลางทั่วโลก เมื่อเดือนที่แล้วเพิ่งได้เผยผลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่า 90% จึงถูกจับตาว่าเป็นวัคซีนความหวังโลก ผู้ผลิตวัคซีนดังกล่าว ระบุว่า วัคซีนของตนป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้หลากหลายสายพันธุ์ รวมถึงสายพันธุ์เดลต้าด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS