เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม ยื่นจดหมายเปิดผนึกเรียกร้อง กมธ.แรงงาน ดันกฎหมาย “ประกันสังคมถ้วนหน้า” เสนอขึ้นค่าจ้างทุกปี เพิ่มสิทธิลาคลอด ครอบคลุมวัยแรงงานทุกคน รวมแรงงานแพลตฟอร์ม – แรงงานข้ามชาติ
21 ก.ค. 2564 – เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair เปิดเวทีเสวนาออนไลน์ในซีรีส์ “We Fair We Care ชวนคุยถึงรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าในทุกวัยของชีวิต” พบคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 21-23 ก.ค. 2564 เริ่มเวทีแรกในประเด็น “ประกันสังคมถ้วนหน้าเพื่อคนวัยทำงาน” โดยมี ส.ส. สุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน จากพรรคก้าวไกล และ ส.ส. อนุรักษ์ บุญศล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ จากพรรคเพื่อไทย เข้ารับฟังข้อเสนอ
นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ และ ธนพร วิจันทร์ เป็นตัวแทนเครือข่าย ยื่นจดหมายเปิดผนึกข้อเสนอแนวทางการพัฒนาสิทธิสวัสดิการแรงงาน และระบบประกันสังคมแรงงานต่อประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร โดยมีข้อเสนอในประเด็นการทำงาน รายได้ และระบบประกันสังคม 2 เรื่องหลัก ดังนี้
1. ข้อเสนอการทำงานและรายได้
1.1 ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นทุกปี และควรให้เท่ากันทั้งประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำและเลือกปฏิบัติ เป็นการกำหนดมาตรฐานว่าค่าจ้างขั้นต่ำต้องมีการปรับขึ้นอัตโนมัติตามอัตราเงินเฟ้อ
1.2 ค่าจ้างแรงงานให้ปรับขึ้นตามอายุงานและมีโครงสร้างค่าจ้าง รองรับความไม่มั่นคงของแรงงานในระบบอุตสาหกรรม แรงงานอิสระ จากการถูกเลิกจ้างและการสูญเสียรายได้จากสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ เช่น โควิด-19
1.3 การลาคลอด 180 วัน ใช้ร่วมกันได้ทุกเพศสภาพ โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ สำหรับคู่สมรส ได้สิทธิลาเลี้ยงดูบุตร 3 เดือน เพื่อไม่ให้การมีบุตรเป็นภาระต่อแรงงานรุ่นใหม่ โดยเฉพาะแรงงานสตรีจะไม่เสียโอกาสในชีวิตการทำงาน รวมไปถึงแรงงานนอกระบบด้วย
2. ข้อเสนอระบบประกันสังคม
2.1 พัฒนาระบบประกันสังคมปัจจุบันประเด็น “บำนาญชราภาพ” ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งจัดสวัสดิการให้กลุ่มแรงงานที่มีรายได้ประจำและมีนายจ้างเป็นหลัก แต่ปัจจุบันมีการเติบโตของแรงงานภาคบริการ แรงงานอิสระ และการประกอบการรายย่อย โดยในช่วงหลังปี 2553 มีกลุ่มแรงงานอิสระ ควบคู่กับระบบเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม ที่ผู้ใช้แรงงานแบกรับความเสี่ยงแทนกลุ่มผู้ประกอบการมากขึ้น แรงงานส่วนนี้มีความเปราะบางสูง รายได้ไม่แน่นอน และอำนาจการต่อรองต่ำ
เครือข่าย We Fair เสนอว่า ควรให้สิทธิแรงงานในระบบขยับเพดานเงินสมทบ 3,000 บาทต่อเดือน แรงงานนอกระบบ ฐานเงินเดือน 20,000 บาท หรือ 30,000 บาท สมทบ 1,800 บาท หรือ 2,700 บาทต่อเดือน และแรงงานนอกระบบรายได้น้อย สมทบ 300 บาท รัฐสมทบ 700 บาท เพื่อให้มีฐานเงินเดือน 10,000 บาท
กรณีว่างงานจากการเลิกจ้าง ลาออก หรือถูกไล่ออก ให้ได้รับเงินชดเชย 80% ของฐานเงินเดือนเป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นให้ได้ค่าจ้างรายวันเท่าค่าจ้างขั้นต่ำจนได้งานใหม่ใน 3 เดือน
นอกจากนี้ ยังได้สอบถามถามความคืบหน้าการเลือกตั้งคณะกรรมการบอร์ดประกันสังคมด้วย
“เป็นความท้าทาย เราจะทำยังไงให้ระบบประกันสังคม ไม่ใช่ประกันเฉพาะในรั้วโรงงานอุตสาหกรรม หรือเฉพาะคนมีรายได้ประจำ ปัจจุบันมีแรงงานในระบบเข้าถึงสิทธิประกันสังคมประมาณ 14 ล้านคน มีแรงงานนอกระบบประมาณ 20 ล้านคน แต่เข้าถึงสิทธิประกันสังคมเพียง 3.3 ล้านคน เราจึงมองไปถึงระบบประกันสังคมพื้นฐานถ้วนหน้า แต่ถ้าพูดกันตรง ๆ กระทรวงแรงงานยังทำงานเชิงรับ เราอยากเน้นเรื่องบำนาญชราภาพขยายวงเงินสมทบตามศักยภาพให้สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตได้ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนหลังเกษียณ”
ผู้ประสานงานเครือข่าย We Fair
2.2 พัฒนาระบบประกันสังคมพื้นฐานถ้วนหน้า ครอบคลุมประชากรวัยทำงาน ตามหลักต่อไปนี้ 1. ประกันสังคมพื้นฐาน (พัฒนาจากมาตรา 40) เปิดกว้างสำหรับทุกคนที่มีอายุ 18-60 ปี รัฐบาลสมทบให้ผู้มีรายได้น้อยกว่าปีละ 300,000 บาท หรืออายุน้อยกว่า 25 ปี, 2.สถานะของผู้ประกันตนไม่สามารถเพิกถอนได้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนอาชีพหรือเป็นผู้ประกันตนมาตราอื่น, 3.การสมทบรายปี พร้อมกับการยื่นภาษีประจำปี, 4.พนักงานที่มีรายได้ประจำ (มาตรา 33) นายจ้างเป็นผู้สมทบส่วนนี้ให้, 5. ผู้สมทบ มาตรา 39 รัฐบาลสมทบส่วน 100 บาทให้อัตโนมัติ, 6.หลังอายุ 60 ปี ให้การสมทบสิ้นสุด และได้รับสิทธิประโยชน์ต่อเนื่องทันที รวมถึงประเด็นด้านบำนาญชราภาพ, 7.สัดส่วนที่สมทบด้วยตนเองสามารถลดหย่อนภาษีได้
สุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวภายหลังรับจดหมายเปิดผนึกจาก เครือข่าย We Fair ว่าเห็นด้วยเรื่องการสร้างระบบประกันสังคมถ้วนหน้า และในฐานะประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน จะเร่งนำข้อเสนอนี้เข้าสู่ที่ประชุมทันทีที่เปิดประชุมได้
“วันนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ ขอบคุณ We Fair ที่ไปผลักดันกฎหมายบำนาญถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาทในสภา แต่ถูกปัดตกเพราะเขามองไม่เห็นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ไงครับ ต้องอยู่กันแบบกดให้จน แล้วก็ใช้วิธีให้เงินภาษีมาเยียวยาแบบมีบุญคุณ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ทำให้เห็นกันอยู่ชัดเจน”
ด้าน อนุรักษ์ บุญศล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เห็นด้วยกับทุกข้อเสนอ โดยเฉพาะสิทธิเรื่องการลาคลอด 180 วัน โดยยังได้รับค่าจ้าง และสิทธิลาเลี้ยงดูบุตรของคู่สมรส เป็นสวัสดิการเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความก้าวหน้า
ขณะที่ การพัฒนาระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม รวมถึงแรงงานข้ามชาติ และแรงงานแพลตฟอร์ม เห็นด้วยเช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด รัฐบาลยังจัดสวัสดิการไม่ครอบคลุมแรงงานแพลตฟอร์ม ซึ่งที่ผ่านมาได้รับข้อร้องเรียนจากแรงงานกลุ่มนี้จำนวนมาก โดยเฉพาะประเด็นการระบุนายจ้างที่มีผลสำคัญต่อการจัดสวัสดิการที่เหมาะสม
“เรื่อง Grab Uber ไรเดอร์ต่าง ๆ อยู่ในคณะกรรมาธิการ 7 เดือนแล้ว เรื่องแรงงานแพลตฟอร์มรัฐบาลยังไปไม่ทัน ส่วนข้อเสนอค่าจ้างขั้นต่ำต้องปรับทุกปีมีรายละเอียดเยอะ แต่สำหรับข้อเสนอบำนาญถ้วนหน้า เมื่อหยุดทำงานหรือเกษียณแล้วควรได้เงินบำนาญตลอดชีวิตไม่ใช่แค่ตามจำนวนเงินที่สะสมมา อันนี้เป็นข้อเสนอที่ดีมากอยากให้ระบุตัวเลขเงินบำนาญที่ชัดเจน”
ทั้งนี้ เครือข่าย We Fair เสนอให้ประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เร่งพิจารณาข้อเสนอทั้งหมด เพื่อให้สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้ทันกับจำนวนวาระการทำงานที่เหลืออยู่ 1 ปีกว่าของคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ชุดนี้