“หมอ ผมจะโทรเบอร์ไหนดี หรือต้องโทรทุกเบอร์” ปัญหาสายด่วนโควิด-19 มีหลายเบอร์ แต่โทรไม่ติด

นักวิชาการเสนอ “ใช้เบอร์เดียว” ลดสับสนในห้วงเวลาวิกฤต แก้ข้อมูลผู้ป่วยถูกแจ้งซ้ำซ้อน-รับสายซ้ำ กระทบผู้ป่วยใหม่เข้าถึงการรักษาช้าลง

“ต้องไม่มีใครเสียชีวิตที่บ้านอีก ต้องไม่มีคนป่วยรอเตียงที่บ้านหรือข้างถนนอีก ให้ไปคิดกันมา” คือ คำพูดล่าสุดของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. อาจเกิดขึ้นไม่ง่ายนัก เมื่อเรายังพบปรากฏการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 บางรายเสียชีวิตขณะรอเตียงที่บ้าน หรือไม่ก็พยายามติดต่อประสานงานผ่านสายด่วน แต่ติดต่อไม่ได้ หรือ โทร. ติดแล้ว แต่ไม่มีการติดต่อกลับ

พล.อ.ต. นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ระบุว่า มีผู้ป่วยตั้งคำถามถึงการเข้าถึงระบบรักษาพยาบาล ที่ป่วยจากโควิด-19 คำถามแรกที่ผู้ป่วยถาม ทำให้นึกถึงการบริหารจัดการสายด่วนช่วยเหลือ ว่ามีความสับสนหรือไม่ จึงทำให้คิดว่าต่อจากนี้ประเทศไทยจะช้าไม่ได้แล้ว เพราะทุกวินาทีคือชีวิตที่รอการช่วยเหลือ

“หมอ ผมจะโทรเบอร์ไหนดี…หรือต้องโทรทุกเบอร์!” เป็นคำถามจากผู้ป่วย จนผมต้องกลับมาเปิดดูว่ามีเบอร์อะไรบ้าง เพราะหน่วยบริการของรัฐมีมากและหลากหลาย ทุกหน่วยพยายามช่วยกันดูแลประชาชน ผ่านระบบ Call Center ที่มีและทำได้ บางหน่วยมีภารกิจเฉพาะอยู่แล้ว ปัญหาคือประชาชน ไม่รู้ว่าควรโทรเบอร์ไหน บางคนโทรทุกเบอร์ ทำให้สายโทรเข้าคับคั่ง

พล.อ.ต. นพ.อิทธพร ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบัน เรามีทั้งสายด่วน 1668, 1669, 1330 ทุกคนมีจุดประสงค์เดียวกันที่พร้อมช่วยเหลือคนไทย แต่ปัญหาการมีหลายเบอร์อาจทำให้ประชาชนสับสน และทำให้เกิดการรับสายซ้ำซ้อน เพราะ Dashboard เพื่อกรอกข้อมูลเดียวกัน เช่นถ้า มีคนโทรไปขอเตียง 1,000 คน แต่ละคนโทรไป 3 ที่ มันก็เหมือนเจ้าหน้าที่ทำงาน 3 เท่า และแต่ละคนก็ใช้เวลา 3-5 นาที ทำให้สายอื่น ๆ ที่เข้ามาใหม่โทรไม่ติด จึงเสนอให้ใช้เบอร์เดียว โดยทุกหน่วยงานร่วมกันประสานระบบหลังบ้านให้สอดคล้องกันและเพิ่มผู้รับสายให้มากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงชีวิตผู้ป่วยให้ทันท่วงที

ด้าน สืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า สถานการณ์การรอสายขณะนี้มักเกิดจากปัญหาปลายทางที่ไม่มีจำนวนผู้รับสายหรือผู้รับเรื่องมากพอ ซึ่งอาจไม่ใช่ปัญหาด้านโทรคมนาคม แต่เป็นปัญหาของหน่วยงานผู้ให้บริการ ที่ต้องประสานพูดคุยหาทางให้มีเจ้าหน้าที่รับเรื่องมากขึ้น และเห็นด้วยกับการใช้เบอร์ไม่มาก โดยเสนอว่าควรต้องมีหน่วยงานกลางในการรับแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเป็นระบบ ที่ชัดเจน มีกฎหมาย อำนาจสั่งการ งบประมาณ เพราะขณะนี้หลายคนทำผ่านระบบ Call Center แต่ละหน่วยงานยังต่างคนต่างทำ

ยกตัวอย่างในบางประเทศในช่วงโควิด-19 จะรวมศูนย์ข้อมูลไว้จุดใหญ่เพียงอย่างเดียว จะมีทั้งข้อมูลภาครัฐและ เป็นข้อมูลที่ต้องการเผยแพร่ หลาย ๆ ประเทศเขาจะไม่แยก เขาจะรวมศูนย์ เช่น จะรวมทั้งข้อมูลโควิด-19 การฉีดวัคซีน การลงทะเบียนรวมไว้ที่เดียวกัน ลดความสับสน การแยกระดับผู้ป่วยก่อนเข้าช่วยเหลือตามลำดับ เพื่อลดความเสี่ยงคัดกรองละเอียด เพราะเป็นฐานข้อมูลชุดเดียวกันที่จัดการระบบได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์