นายกฯ ปัดตก ร่าง PRTR ก้าวไกล-ภาค ปชช. เตรียมล่า 10,000 รายชื่อเสนอใหม่

ศิริกัญญา เผย นายกฯ ปัดตก ร่าง พ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ชี้ กรณีโรงงานหมิงตี้ ทำให้เห็นความเสี่ยงใกล้ตัว “พรรคก้าวไกล” และเครือข่ายสิ่งแวดล้อม ไม่ท้อ เตรียมล่า 10,000 รายชื่อ เสนอใหม่

7 ก.ค. 2564 – ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายนโยบาย เผย นายกรัฐมนตรีปัดตก ร่าง พ.ร.บ.การรายงานปล่อย และเคลื่อนย้ายสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม หรือ PRTR (Pollutant Release and Transfer Registers) แล้วเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2564

โดยคาดว่า เหตุผลของการปัดตกร่างครั้งนี้ มาจาก 2 ประเด็น คือ 1) เป็นร่างที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ต้องมีภาระการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น และ มีความซ้ำซ้อนกับภารกิจของกรมควบคุมมลพิษที่ทำอยู่แล้ว 2) ฝ่ายรัฐบาลก็กำลัง ร่างกฎกระทรวงประเด็นเดียวกัน โดยมอบหมายให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม

แต่ ศิริกัญญา แสดงความกังวลว่า กฎกระทรวงนั้น มีศักดิ์ทางกฎหมายต่ำกว่ากฎหมายพร้อมระบุถึง 3 เหตุผลที่ไทยไม่ควรรอกฎกระทรวงจาก กรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม แต่ควรผลักดันร่างกฎหมาย PRTR อีกครั้ง คือ

  • กรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอ ที่จะกำกับดูแลข้อมูลเรื่องสารพิษ ซึ่งมีความหลากหลาย ไม่เฉพาะที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม หน้าที่นี้ควรเป็นของ กรมควบคุมมลพิษ
  • กรมโรงงาน ในฐานะผู้ให้ใบอนุญาต อาจจะเกิดปัญหาทับซ้อนในแง่ของผลประโยชน์แต่ถ้ามีการกักเก็บสารมากเกิน Capacity ตัวโรงงานก็อาจจะมีความผิด จึงควรให้ต่างหน่วยงานกำกับดูแลแทน
  • เหตุผลที่ไม่ควรเป็น กฎกระทรวง เพราะปัจจุบัน ร่างกฎกระทรวง ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ต่างจาก ร่าง พ.ร.บ.PRTR ที่จะเปิดเผยข้อมูลเกือบจะเรียลไทม์ หน้าเว็บไซต์ที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ทันที

ส่วนประเด็นที่ประธานสภาฯ คัดค้านว่ามีกรมควบคุมมลพิษดูแลประเด็นนี้อยู่แล้ว ก็เป็นเพียงโครงการนำร่อง ที่เริ่มทำไปเพียงบางจังหวัด เช่น ในจังหวัดระยอง แต่ไม่ได้ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยร่างกฎหมาย PRTR ฉบับนี้ถูกเสนอไปตั้งแต่ช่วงธันวาคมปี 2563 ที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 และช่วงที่เกิดเหตุระเบิดในเลบานอน ซึ่งเวลานั้นก็ไม่ทราบเช่นกันว่า สารเคมีที่ระเบิดคืออะไร จนนำมาสู่การให้ความสำคัญผลักดันร่างกฎหมาย PRTR เพื่อป้องกันภัยจากสารเคมี และไม่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างที่ผ่านมา

ล่าสุด พรรคก้าวไกล ร่วมกับ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และมูลนิธิบูรณนิเวศ เห็นร่วมหลังถูกปรับตกร่างกฎหมาย PRTR เตรียมเดินหน้า ล่ารายชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมาย PRTR อีกครั้งเพื่อเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ ประชาชนรับรู้ว่า รอบบ้านเกิดอะไร โดยพรรคก้าวไกล คาดว่าจะมีการนำเสนอปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงานปี 2562 ควบคู่กันไปในครั้งนี้ด้วย

“วันนี้เหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นทำให้เราเห็นแล้วว่า ความเสี่ยงอยู่รอบตัวประชาชนจริง ๆ คิดว่า คนที่เข้าไปอยู่อาศัยบริเวณนั้น ไม่ทราบถึงความเสี่ยง ที่มีถึงแม้โรงงานจะตั้งมาตั้งแต่ปี 2532 ไม่ต้องทำ EIA ไม่ต้องปฏิบัติตามผังเมือง เพราะว่าเกิดมาก่อนที่ ผังเมืองจะเปลี่ยนสี ดังนั้น เข้าใจแล้วว่าประชาชนตื่นตัว และระวังภัยจากสิ่งแวดล้อม จากการตั้งอุตสาหกรรมต่าง ๆ

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายนโยบาย

ศิริกัญญา ทิ้งท้าย ขออภัยที่ไม่สามารถดันได้สุดทางในฐานะที่เป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรที่เสนอกฎหมาย เพราะสุดท้ายกฎหมายก็ถูกปัดตกโดยนายกรัฐมนตรี ก็ต้องขอแรงประชาชนอีกครั้ง เพื่อร่วมกันผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่สภาฯ อีกครั้ง หากตื่นรู้ว่าภัยอยู่ใกล้ตัว เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจการป้องกันภัยจากสารเคมี พร้อมเชิญชวนประชาชนที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น ต้องการรับรู้ว่าบริเวณบ้านตัวเองมีการปล่อยสารพิษ และกักเก็บสารอะไรอยู่บ้าง หรือ ต้องการสร้างความรู้ความเข้าใจ และซักซ้อมเตือนภัยพิบัติ การอพยพ ขอให้มาสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อีกครั้ง.

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน