“ชุมชนริมทางด่วนบางนา” ยังหนัก หญิง 67 ปี ตายจากโควิด ผู้ติดเชื้อตกค้าง – กักตัวครึ่งร้อย

แพทย์ระบุสาเหตุการตาย “ปอดอักเสบจากเชื้อโควิด-19” ผู้นำชุมชน หวั่นปัญหาประสิทธิภาพบริหารจัดการภาครัฐในภาวะวิกฤต ต้นเหตุผู้คนเข้าไม่ถึงระบบการรักษา เกิดความเหลื่อมล้ำ ซ้ำวิกฤตขาดเตียง

เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (2 ก.ค.64) เจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู เดินทางมารับศพหญิง วัย 67 ปี ชาวชุมชนริมทางด่วนบางนา เขตบางนา กรุงเทพฯ หลังวูบหมดสติ เสียชีวิตอยู่ภายในบ้าน
กรณีที่เกิดขึ้น จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานชุมชนริมทางด่วนบางนา เปิดเผยกับ TheActive ว่า  หญิงรายนี้คือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง อยู่ระหว่างรอผลตรวจคัดกรองจากโรงพยาบาล เธอมีโรคประจำตัว ทั้ง เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจโต

จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานชุมชนริมทางด่วนบางนา


ก่อนเกิดเหตุทราบว่า เธอมีอาการเหนื่อย หอบ จนวูบหมดสติ ลูกชาย วัย 30 ปี ซึ่งมีอาการทางสมอง ต้องกินยาระงับประสาท  จึงวิ่งไปตามอาสาสมัครในชุมชนให้มาช่วยปฐมพยาบาล แต่สุดท้ายก็ยี้อชีวิตไม่ทัน หลังจากนั้นผ่านไปประมาณ 2 ชั่วโมง ทางโรงพยาบาลได้แจ้งยืนยันผลการตรวจ ว่าเธอติดเชื้อโควิด-19 นี่คือการสูญเสียกรณีแรกของชุมชนที่แพทย์ยืนยันสาเหตุการตาย สันนิษฐานปอดอักเสบจากเชื้อโควิด-19 



นี่เป็นภาพสะท้อนวิกฤตระบบสาธารณสุขไทยในการรับมือภาวะโรคระบาด ซึ่งประธานชุมชนฯ ตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพการบริหารจัดการจากฝ่ายนโยบาย จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ผู้คนเข้าไม่ถึงระบบการรักษาอย่างทั่วถึง


“นี่คือความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน เมื่อรัฐไม่ดูแล แม้แต่ในภาวะโรคระบาดชาวบ้านก็ยังถูกเลือกปฏิบัติ เขาเลือกที่จะดูแลแต่คนที่มีสถานะทางสังคม เป็น VIP กรณีการเสียชีวิตในบ้าน ในชุมชน ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะพวกเขาต้องรอคอยความช่วยเหลือ รอเตียง ถ้าระบบดีกรณีแบบนี้จะไม่เกิดขึ้น นี่สะท้อนถึงวิกฤตโรคระบาดในไทย”  


สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น ส่งผลให้อาสาสมัครในชุมชน อย่างน้อย 2 คน ที่เข้าปฐมพยาบาลผู้เสียชีวิต กลายเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องกักตัวเอง 14 วัน ส่วนลูกชายของผู้ตาย กำลังรอผลตรวจ และอยู่ระหว่างการประสานหน่วยงานรับไปดูแล

ผู้ติดเชื้อตกค้างรอเตียง – เสี่ยงสูง กักตัว 50 คน


ขณะที่สถานการณ์ของชุมชนฯ พบว่า ในเวลานี้มีผู้ติดเชื้อโควิด แล้วไม่น้อยกว่า 40 คน ส่วนใหญ่ได้รับการส่งตัวไปรักษา อย่างกรณีล่าสุดคือ แม่และทารกวัย 3 เดือนที่ติดเชื้อได้รับการส่งตัวไปรักษาแล้ว แต่ก็ยังคงมีผู้ติดเชื้อตกค้างในชุมชนกำลังรอเตียงอยู่บ้านอีกจำนวนหนึ่ง และมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในชุมชนอีกอย่างน้อย 50 คน 




ก่อนหน้านี้ 2 วัน ชาวชุมชนริมทางด่วนบางนา รวมตัวชุมนุมบริเวณแยกบางนา เรียกร้องให้ภาครัฐเร่งดูแลคนจนเมืองในชุมชนแออัดที่ติดเชื้อโควิด เพราะต้องรอเตียงนานหลาย 4-5 วัน ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามถึงระบบการส่งต่อ เพราะมองว่าคนจนเมือง ไม่ถูกให้ความสำคัญและเข้าไม่ถึงการรักษา


ความร่วมมือเฉพาะหน้าเยียวยาคนกักตัว


แต่ท่ามกลางการสูญเสีย ที่สะเทือนใจคนทั้งชุมชน ก็ได้เห็นภาพความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่หยิบยื่นเข้ามา เพื่อช่วยเหลือบรรเทาควาเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้กับผู้ที่ยังต้องกักตัวที่บ้าน โดยเฉพาะวัตถุดิบประกอบอาหาร เช่น ไข่ไก่ เนื้อสัตว์ น้ำมันพืช จนถึงของใช้จำเป็นถูกนำมาแจกจ่าย ให้คนในชุมชนประมาณ 50 คน 16 หลังคาเรือน ได้ใช้บรรเทาผลกระทบในช่วงการกักตัว




อาสาสมัครในชุมชน ยังแบ่งหน้าที่กัน ทั้งจัดทำบัญชี ประสานงาน และเก็บภาพ จัดทำข้อมูลชุมชน มีประธานชุมชนฯ เป็นแกนนำ คอยประสานกับเครือข่ายภาคประชาชน และองค์กรภายนอก อย่างวัตถุดิบทำอาหารดังกล่าว ได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค และเอกชนร่วมสมทบทุน ประเมินว่า จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ที่ต้องกักตัวได้ อย่างน้อย 5 วัน


สำหรับชุมชนริมทางด่วนบางนา ยังเป็นหนึ่งใน 23 ชุมชนนำร่อง ที่กำลังเตรียมระบบ “ชุมชนจับคู่โรงพยาบาล” ดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ ให้รักษาตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation ลดภาระโรงพยาบาลท่ามกลางวิกฤตขาดเตียง

อ่านเพิ่มเติม : กู้วิกฤตเตียง! จับคู่ “ชุมชน – โรงพยาบาล” ดึงผู้ติดเชื้อโควิด รักษาตัวที่บ้าน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active