เครือข่ายอนุรักษ์ แถลงค้านอ่างวังโตนด

ชี้ ยิ่งสร้างปัญหาขัดแย้งระหว่างคนในพื้นที่กับช้างป่า เลขาธิการ มูลนิธิสืบฯ เผย เตรียมไปยื่นหนังสือคัดค้านต่อ รมว.ทส. พร้อมชวนคนร่วมค้านใน Chang.org

เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ ออกแถลงการณ์คัดค้านการเห็นชอบรายงาน EHIA โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) พร้อมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยุติการอนุมัติโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เพื่อรักษาถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยไม่สร้างปัญหาใหม่ที่ทำให้บ้านที่เหมาะสมของสัตว์ป่าถูกทาลายลงอย่างสิ้นเชิง และอาจทำให้สัตว์ป่าออกมารบกวนประชาชนในพื้นที่ได้อีกด้วย

ภาพ : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

โดยแถลงการณ์ระบุว่า โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดจะก่อสร้างทับในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น 7,503 ไร่ และป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่อง 7,097 ไร่นั้น จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศและทรัพยากรป่าไม้

โดยบริเวณพื้นที่ที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำมีพืชอาหารช้างอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นป่าดิบแล้งที่ลุ่ม ทำให้มีความชุ่มเย็น เหมาะสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของช้างป่ามากกว่าบริเวณอื่นๆ นอกจากนี้ยังพบสัตว์ป่าอีกหลายชนิดอาศัยอยู่ เช่น กระทิง กวาง หมูป่า ฯ

“การเปลี่ยนสภาพพื้นที่ป่าให้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำ ถือเป็นการทำลายแหล่งอาศัยของช้างป่าซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่อย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสให้ช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่ามากยิ่งขึ้นหลายเท่าตัว และอาจสร้างความเสียหายให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ปัญหาสำคัญในพื้นที่นี้คือการที่ช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่า ซึ่งกำลังได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่องทั้งการปรับปรุงแหล่งน้ำและแหล่งอาหารด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยมีเป้าหมายสำคัญในการดึงช้างป่าที่ออกไปรบกวนประชาชนในพื้นที่โดยรอบให้กลับเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าอีกครั้ง

แต่หากพื้นที่นี้ต้องกลายสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำ นอกจากจะแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ตามที่ตั้งเป้าไว้ไม่ได้แล้ว ยังทำให้สูญเสียป่าพื้นราบขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพรองรับการอพยพกลับมาของช้างป่า ปิดกั้นทางเดินไม่ให้ช้างกลับคืนสู่ป่าอีกด้วย

ภาพ : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น เป็นส่วนหนึ่งของป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก อยู่ตรงกลางระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ซึ่งเป็นแนวเชื่อมต่อระบบนิเวศที่สำคัญ ซึ่งจากผลการศึกษาของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่าพื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 3 แห่ง เป็นผืนป่าที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก มีแนวเขตเชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกัน เหมาะสมในการเป็นแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าที่สำคัญในภาคตะวันออก

“เมื่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติเห็นชอบรายงานฯ นั่นเท่ากับว่าเป็นใบผ่านทางให้โครงการก่อสร้างได้ ซึ่งรายละเอียดหลังจากนี้แค่เป็นเรื่องที่เจ้าของโครงการต้องไปดำเนินการต่อตามกระบวนการ”

เลขาธิการ มูลนิธิสืบฯ เผย เตรียมไปยื่นหนังสือคัดค้านต่อ รมว.ทส.

ก่อนหน้านี้ จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ชี้แจงหลังเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ออกมาเปิดเผยว่า วาระการพิจารณาโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ในที่ประชุม กกวล. เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมานั้น ถูกแทรกเข้ามาอยู่ในวาระอื่นๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควร เนื่องจากเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ ทั้งด้านผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ สัตว์ป่า ความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์ ตลอดจนความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

โดยปลัด ทส. ชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม เคยพิจารณา EHIA โครงการเขื่อนคลองวังโตนดมาแล้ว แต่ได้ให้กรมชลประทาน กลับไปดูรายละเอียดและเสนอมาตรการแก้ปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สัตว์ป่าให้ครบถ้วนมากขึ้น จนมีการเสนอกลับเข้าพิจารณาอีกครั้งเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. และที่ประชุมได้พิจารณารายละเอียดและมาตรการที่เสนอมาอย่างรอบคอบและกว้างขวาง ไม่ใช่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว

“ยืนยันไม่ใช่การลักไก่ เพราะเรื่องนี้เคยเสนอมาแล้วปีก่อน โครงการผ่านจาก คชก.และผ่านกระบวนการมาหลายปี ต้องประเมินความคุ้มทุน และผลกระทบกับป่า สัตว์ป่า และการจัดหาแหล่งน้ำรองรับภาคการเกษตร”

ปลัด ทส. กล่าวว่า ในการประชุม พล.อ.ประวิตร ได้กำชับให้ดูเรื่องพื้นที่ป่าในพื้นที่โครงการ และมีมาตรการรองรับผลกระทบต่อช้างและสัตว์ป่าที่เหมาะสม โดยเฉพาะการทำอ่างคลองวังโตนด จะต้องมีการเชื่อมต่อระบบกับอ่างย่อยในพื้นที่อีก 3-4 แห่งเพื่อให้อ่างมีประโยชน์กับเกษตรกร ส่วนน้ำที่เหลือส่วนเกินจึงจะส่งไปช่วยใน EEC

“การผ่าน EHIA เป็นการอนุมัติในหลักการ หลังจากนี้กรมชลประทาน จะต้องกลับไปทำตามขั้นตอนของกฎหมาย รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และอาจจะต้องมีการปรับรายละเอียดของพื้นที่ตั้งโครงการ เรียกว่าต้องดูให้ครบถ้วนก่อนไม่ใช่ว่าผ่าน EHIA แล้วจะสร้างได้ทันที”

ขณะที่ ภานุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เปิดเผยกับ The Active ว่า กำลังมีการพูดคุยกับเครือข่ายเพื่อเตรียมที่จะไปยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโครงการดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งตามขั้นตอนของการทำโครงการ หลังจาก กกวล. เห็นชอบ EHIA แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการดำเนินการเพื่อขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติในส่วนพื้นที่โครงการ

นอกจากนี้ มูลนิธิสืบนาคะเถียร ยังได้เปิดรณรงค์คัดค้านในเวปไซต์ Chang.org เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยุติการอนุมัติโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เพื่อรักษาถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยไม่สร้างปัญหาใหม่ที่ทำให้บ้านที่เหมาะสมของสัตว์ป่าถูกทำลายลง

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว