เปิด 20 รายชื่อ ประเดิมร่างแก้รัฐธรรมนูญ ชวนเข้าชื่อประชาชน

“กลุ่ม Re-Solution” ชวนเข้าชื่อประชาชน แก้ไขรัฐธรรมนูญ พุ่งเป้าต้นตอปัญหา หยุดสืบทอดอำนาจ เปิด 20 รายชื่อแรก ตาม พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย “แกนนำคณะก้าวหน้า กลุ่มราษฎร” และนักวิชาการ NGO หลายวงการ

15 มิ.ย. 2564 – กลุ่ม Re-Solution แถลงข่าวกรณีรณรงค์เข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในแคมเปญ “ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์” ท่ามกลางกระแสการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองใหญ่ ซึ่งมุ่งไปที่การแก้ไขรายมาตรา เน้นที่เรื่องระบบการเลือกตั้ง ขณะที่ทางกลุ่มเสนอแก้ไขใน 4 ประเด็น คือ 1. ยกเลิกวุฒิสภา เดินหน้าสภาเดี่ยว 2. ปฏิรูปที่มา อำนาจ และการตรวจสอบ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ 3. ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และ 4. ล้างมรดกรัฐประหาร

“ปิยบุตร – ธนาธร” ชี้พิรุธ แก้รัฐธรรมนูญโดยไม่แตะโครงสร้างปัญหา ชวนประชาชนร่วมลงชื่อ

รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ตัวแทนกลุ่ม Re-Solution กล่าวว่า รัฐธรมนูญฉบับปี 2560 หากยังมีผลบังคับใช้ ประเทศไทยจะไม่กลับมาปกติแบบนานาอารยะประเทศ ซึ่งเห็นว่าต้องจัดทำใหม่ทั้งฉบับ อย่างไรก็ตาม กระบวนการนั้นถูกคว่ำไปด้วยกระบวนการทางรัฐสภา และมีทีท่าว่าจะหันมาแก้รายมาตราแทน โดยตนมองว่ากระบวนการแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้ เป็นการเล่นละคร ตบตา ปาหี่ กันมาตั้งแต่ต้น เห็นชัดว่ารัฐบาลเสียงข้างมากในเวลานี้ รวมถึง ส.ว. ไม่ได้มีความจริงใจตั้งแต่ต้น ที่ผ่านมาทำราวกับว่าการจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือการจะทำใหม่ทั้งฉบับจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย แต่ท้ายที่สุด พอสถานการณ์การเมืองบีบงวดมากขึ้น พรรคร่วมรัฐบาลเริ่มมีปัญหากันเองมากขึ้น คราวนี้เริ่มกลับมาคิดเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ

“อยากชวนพิจารณา การแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้ ที่พรรคต่าง ๆ มีการเสนอมาหลายร่าง ตามแต่ละพรรคนั้น ๆ จะออกแบบ แต่ความสำคัญอยู่ที่ วัตถุประสงค์ลึก ๆ แล้วเขาต้องการอะไรกันแน่ ซึ่งคิดว่าฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านบางพรรค เขาต้องการเน้นไปที่ระบบเลือกตั้ง เรื่องอื่นเป็นเพียงองค์ประกอบ เป็นเพียงเครื่องประดับที่ตกแต่งเท่านั้นเอง และท้ายที่สุด ก็คาดการณ์ว่าการแก้ระบบเลือกตั้งครั้งนี้จะมีโอกาสสำเร็จด้วย และถ้าหากการแก้ระบบการเลือกตั้งครั้งนี้สำเร็จ กลับไปเป็นแบบรัฐธรรมนูญ 2540 จริง นี่คือการเปิดทางให้ระบอบประยุทธ์ได้สืบทอดอำนาจอีกรอบ”

ขณะที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า หากย้อนหลังกลับไปดูสถิติการเลือกตั้งปี 2562 พรรคที่พูดชัดเจนว่าจะสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ และการสืบทอดอำนาจรวมกัน 3 พรรค มีคะแนนเพียง 25.04% ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด ขณะที่พรรคที่พูดชัดเจนว่าไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ไม่สนับสนุนการที่ พล.อ. ประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งรวมถึงพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยเข้าไปด้วย ซึ่งวันนั้นแสดงจุดยืนชัดเจน พรรคต่าง ๆ เหล่านี้รวมกันมีคะแนนถึง 67.82% ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ตอนนี้ เหลือเวลาอีกเพียง 1 ปี 9 เดือนเท่านั้น จะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ดังนั้น เพื่อที่จะทำให้มั่นใจว่าระบบประยุทธ์จะยังคงอยู่ ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราโดยมุ่งเน้นไปที่เรื่องของระบบการเลือกตั้ง นี่คือความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจรอบที่สอง

“ไอติม พริษฐ์” ปลุกฝ่ายค้านคว่ำร่างพลังประชารัฐ ไม่ร่วมสังฆกรรมแก้รัฐธรรมนูญ

ด้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม Re-Solution กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายฝ่ายที่กำลังเตรียมยื่นข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา จากข้อมูลล่าสุด มีชุดข้อเสนอจาก 4 กลุ่ม จำนวน 14 ร่าง รวม 18 ประเด็น ประกอบด้วย (1) พรรคพลังประชารัฐ 5 ประเด็น (2) พรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา 7 ประเด็น (3) พรรคเพื่อไทย และ พรรคร่วมฝ่ายค้านบางพรรค 5 ประเด็น และ (4) กลุ่ม Re-Solution ผ่านการรวบรวมรายชื่อจากประชาชน 4 ประเด็น

ซึ่งตนขอแบ่งข้อเสนอเหล่านี้ออกเป็น 3 ประเภท ตามความเร่งด่วน ได้แก่ ข้อเสนอที่ส่งเสริมประชาธิปไตย และแก้ต้นตอของปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ต้องทำทันที ประเภทที่สอง คือ ข้อเสนอที่อาจส่งเสริมประชาธิปไตย แต่ไม่เกี่ยวข้องกับต้นตอของปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 เรื่องการสืบทอดอำนาจระบอบประยุทธ์ ข้อเสนอประเภทนี้ ถ้าทำได้ก็ต้องทำทันที แต่ถ้ายังไม่ได้ ให้เก็บไปคุยตอนมี ส.ส.ร. มาร่างฉบับใหม่ และสุดท้ายคือข้อเสนอที่ไม่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมประชาธิปไตย และอาจเอื้อประโยชน์ต่อบางพรรคการเมืองโดยไม่มีหลักการทางประชาธิปไตยมารองรับ ข้อเสนอประเภทนี้เป็นข้อเสนอที่ไม่ควรทำตอนนี้เด็ดขาด แต่ควรไปคุยตอนมี ส.ส.ร. มาร่างฉบับใหม่

พริษฐ์ กล่าวต่อว่า สำหรับพรรคการเมืองและประชาชน มี 3 แนวทางที่ต้องร่วมกันทำเพื่อสกัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการสืบทอดอำนาจ แนวทางแรก คือ ทุกพรรคต้องร่วมกันคว่ำข้อเสนอหรือร่างของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งชัดเจนแล้วว่าเป็นข้อเสนอที่ไม่มีส่วนไหนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอของรัฐธรรมนูญเรื่องการสืบทอดอำนาจ แม้กระทั่งข้อเสนอพื้นฐานที่สุดเรื่องการตัดอำนาจ ส.ว. เลือก นายกฯ ก็ไม่ถูกรวมอยู่ในข้อเสนอ แต่เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงเพื่อประโยชน์ตนเอง ผ่านการปรับระบบเลือกตั้งให้เป็นระบบที่พวกเขามองว่าตัวเองได้เปรียบ หรือ ปรับกฎระเบียบให้ ส.ส. สามารถเข้ามายุ่งกับการใช้งบประมาณ ทั้งที่ควรเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร จนอาจนำไปสู่ความได้เปรียบทางการเมืองของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล

“แม้หลายคนอาจรู้สึกท้อกับระบบรัฐสภา ที่ถูกทำให้มีสภาพเป็นเหมือน ‘สภาตรายาง’ แต่ข้อดีอย่างหนึ่งของกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบัน มาตรา 256 คือการกำหนดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญใด ๆ จะไม่สามารถผ่านวาระที่ 3 ได้ หากไม่ได้รับเสียงเกิน 20% จาก ส.ส. ฝ่ายค้าน หรือคิดเป็น 43 คน เพราะฉะนั้น ตราบใดที่พรรคร่วมฝ่ายค้านผนึกกำลังกันคว่ำร่างฉบับนี้ของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก็ตาม ก็จะทำให้ร่างฉบับนี้ไม่สามารถผ่านได้ตามอำเภอใจของระบอบประยุทธ์ ถึงจะมี ส.ว. ในมือถึง 250 คนก็ตาม”


ส่วน แนวทางที่ 2 คือ พรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ควรร่วมสังฆกรรมแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เพราะหากไม่ระมัดระวัง อาจเข้าทางระบอบประยุทธ์ แม้หลายร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีการเสนอประเด็นที่มุ่งไปที่ต้นตอของปัญหา แต่หากตั้งหลักไม่ดี มีโอกาสสูงที่ร่างเหล่านี้จะถูกบล็อกโดย ส.ว. และร่างเดียวที่จะผ่าน จะเป็นแค่เรื่องระบบเลือกตั้งที่ไม่แตะที่ต้นตอของปัญหา เพราะเป็นข้อเสนอที่พรรคพลังประชารัฐเห็นชอบด้วย ยิ่งหากพรรคเพื่อไทยหรือพรรคร่วมฝ่ายค้านใช้ยุทธศาสตร์การเสนอแบบแยกร่าง เนื่องจากรัฐบาลอาจควบคุมได้ทั้งเสียงของ ส.ว. รวมไปถึงลำดับการพิจารณาของแต่ละร่าง

และ แนวทางที่ 3 คือ การเชิญชวนประชาชน มาร่วมลงชื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของกลุ่ม Re-Solution ซึ่งยืนยันมาตลอดว่าจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเฉพาะประเด็นที่เป็นต้นตอของปัญหาเรื่องการสืบทอดอำนาจ ถึงแม้มีอีกหลายประเด็นที่อยากแก้ไข เช่น การขยายสิทธิเสรีภาพ การกระจายอำนาจ หรือ การปรับระบบเลือกตั้ง แต่ประเด็นเหล่านี้ควรถูกนำไปพูดและถกเถียงในเวทีของ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ในวันที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากกว่า

เผย 20 รายชื่อผู้เชิญชวน “นักการเมือง นักวิชาการ นักกิจกรรม”

สำหรับการรณรงค์เข้าชื่อของกลุ่มในครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 ซึ่งเอื้ออำนวยให้สามารถเข้าชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้บัตรประชาชน แต่ต้องมีผู้เชิญชวนประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอย่างน้อย 20 คน ตามที่กฎหมายกำหนด

ซึ่งผู้เชิญชวนการร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ของกลุ่มในครั้งนี้ได้แก่ 1. รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำกลุ่ม Re-Solution และเลขาธิการคณะก้าวหน้า 2. พริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม Re-Solution และรัฐธรรมนูญก้าวหน้า 3. ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า 4. ธิษะณา ชุณหะวัณ แกนนำกลุ่ม Re-Solution และรัฐธรรมนูญก้าวหน้า 5. ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ Pre-Doctoral Fellow, สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 6. เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า 7. ณัชปกร นามเมือง โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) 8. ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) 9. เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. พรรคก้าวไกล 10. ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. พรรคก้าวไกล

11. สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ 12. รศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 13. กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 14. ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักกิจกรรม 15. อรนุช ผลภิญโญ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสาน 16. เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการ 17. ชญาธนุส ศรทัตต์ นางแบบและนักกิจกรรมเพื่อสิทธิชาติพันธุ์ 18. ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรม 19. สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรม และ 20. ผศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต​ปัตตานี

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active