ผลวิจัยอังกฤษ พบ ฉีดแอสตราฯ 1 เข็ม ป้องกันป่วยหนักได้ 71% ฉีดครบ 2 เข็ม ป้องกันได้ 92% ผลวิเคราะห์ GISAID พบ สายพันธุ์ Alpha ที่ครองพื้นที่เดิมในไทยกำลังลดลง ส่วน Delta พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
15 มิ.ย. 2564 – ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เผยแพร่ข้อความบนเฟซบุ๊ก มานพ พิทักษ์ภากร ระบุว่า เป็นเรื่องดีที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2564 เห็นชอบกำหนดระยะห่างฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา เป็น 10-12 สัปดาห์ จากเดิมเคยมีข้อเสนอว่าให้เว้นระยะห่างนานถึง 16 สัปดาห์ แต่หากจำเป็น พิจารณาเพิ่มเป็น 16 สัปดาห์ได้ โดยคณะกรรมการฯ มีมติว่า ให้เป็นดุลพินิจของกรมควบคุมโรค ที่จะกำหนดเป็นนโยบายในแต่ละจังหวัด
ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า ข้อมูลจากประเทศอังกฤษ ระบุว่า แม้พบว่าระยะห่างที่ดีที่สุดในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน คือ 12-16 สัปดาห์ แต่แทบทุกประเทศเลือกฉีดที่ 12 สัปดาห์ เพราะมีข้อมูลผู้ได้รับวัคซีนที่ช่วงเวลานี้มากกว่า 16 สัปดาห์มาก จึงมีความน่าเชื่อถือมากกว่า นอกจากนี้การระบาดของ Delta variant (สายพันธุ์เดลต้า – อินเดีย) ที่พบว่าระดับแอนติบอดีของผู้ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มเดียวที่ 10 สัปดาห์ แทบยับยั้งเชื้อสายพันธุ์นี้ไม่ได้
นอกจากนี้ ข้อมูลจากสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England) แสดงออกมาว่าผู้ได้วัคซีนแค่เข็มเดียว มีประสิทธิผลต่อสายพันธุ์นี้แค่ 33% จำเป็นต้องได้รับวัคซีนเข็มที่สองโดยเร็ว โดยปัจจุบันอังกฤษเร่งปูพรมฉีดเข็มสอง โดยย่นระยะเวลาเหลือเพียง 8 สัปดาห์แล้ว
“บริบทเมืองไทยขณะนี้ การเว้นระยะ 10-12 สัปดาห์ถือว่าพอไหว แต่คงต้องเฝ้าระวังและปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์การระบาดของ Delta variant ผมไม่ทราบข้อมูลว่าตอนนี้ การสุ่มตรวจพบมากขึ้นหรือไม่ แต่สัดส่วนของ Delta variant ที่ถูกส่งจากเมืองไทยขึ้น GISAID สัปดาห์ล่าสุดพุ่งขึ้นเกิน 60%”
สอดคล้องกับ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ระบุว่า ตามรายงานของ PHE ของรัฐบาลอังกฤษ ชี้ว่า การได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา 1 เข็ม (วัดที่ 3 สัปดาห์หลังเข็มแรกเป็นต้นไป) ประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลได้ 71%
แต่หากได้แอสตราเซเนกา 2 เข็ม (วัดที่ 2 สัปดาห์หลังเข็มสองเป็นต้นไป) ประสิทธิผลป้องกันป่วยหนักได้ 92% ดังนั้น การปูพรมเข็มแรกแอสตราเซเนกา ออกไป น่าจะช่วยลดการป่วยหนักได้ดีระดับหนึ่ง
สายพันธุ์ Alpha ที่ครองพื้นที่เดิมในไทยกำลังลดลง ส่วน Delta พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
ก่อนหน้านี้ ดร.อนันต์ ออกมาเปิดเผยว่า ผลการวิเคราะห์ข้อมูลไวรัสสายพันธุ์น่ากังวลในประเทศไทยที่ส่งไปที่ฐานข้อมูลกลาง (GISAID) ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 พ.ค. พบว่า Alpha-CoV (สายพันธุ์แอลฟา – อังกฤษ) ที่ครองพื้นที่เดิมในประเทศไทยกำลังลดลง ขณะที่สายพันธุ์เดลต้า พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ดร.อนันต์ กล่าวว่า จุดตัดระหว่างสองเส้น ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนช่วงปลายเดือนที่แล้ว แสดงว่า ณ เวลานี้ สายพันธุ์เดลต้าน่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของประเทศไทยไปแล้ว และคลัสเตอร์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมีโอกาสสูงที่จะเป็นสาเหตุจากเดลต้า
ส่วน Beta-CoVs (สายพันธุ์เบต้า – แอฟริกาใต้) ที่พบระบาดที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ดูเหมือนจะแพร่กระจายอยู่ในวงจำกัด การแพร่กระจายน้อยกว่าอีกสองสายพันธุ์ชัดเจน และต่อไปอาจจะตรวจไม่พบในประเทศไทยก็เป็นได้