เดิมพันหมดหน้าตัก “วัคซีน” หยุดระบาด “กรุงเทพฯ”

คนหนุ่มสาว วัยใช้แรงงานจำนวนมาก ที่ทำงานในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร และมีอาชีพเสี่ยงรับเชื้อมาแพร่กระจายในครอบครัว ได้ ‘รู้สึกผิด’ ว่าพวกเขากำลังแย่งวัคซีนจากผู้สูงอายุและคนมีโรคประจำตัว จากต่างจังหวัด

โรงพยาบาลหลายแห่งต้องประกาศเลื่อนฉีดวัคซีน สำหรับผู้ที่จองผ่าน “หมอพร้อม” และบางโรงพยาบาลชุมชนถูกตั้งกรรมการสอบสวนจากกระทรวงสาธารณสุข เพราะประกาศออกไปเช่นนั้น…

ในสังคมที่มีความเป็นเหตุเป็นผล จะอธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างไร หลังรัฐบาลเดินหน้าตามประกาศการ “ฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ” เริ่มปูพรมทั่วไทย “7 มิ.ย. 2564” มากถึง 416,847 โดส นับเป็นวันประวัติศาสตร์ของระบบสุขภาพ ที่มีการฉีดวัคซีนพร้อมกันจำนวนมาก เพื่อยับยั้งโควิด-19 ในระลอกสามที่ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด

ขณะเดียวกัน ก็เป็นวันที่มีคำถามถึงการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ความเท่าเทียม และการเข้าถึงวัคซีนมากที่สุดเช่นกัน

กล่าวเฉพาะเดือนมิถุนายน วัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตในโรงงานประเทศไทย จะทยอยจัดส่งให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เกือบ 6 ล้านโดส

ในจำนวนนี้ กรุงเทพฯ ได้รับจัดสรร 1 ล้านโดสในช่วงสองสัปดาห์แรก และวัคซีนที่เหลือหารแบ่งกัน 77 จังหวัด ดังนั้น “วาระแห่งชาติ” นี้ จึงมีตำบลที่กระสุนตกไม่ไปถึง เพราะมีวัคซีนไม่มากพอตามแผนกระจายวัคซีนแต่เดิม และการเทวัคซีน “ให้กลุ่มเสี่ยง” ใน “พื้นที่ระบาดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” (สีแดงเข้ม) จึงกลายเป็นยุทธศาสตร์เฉพาะหน้า

เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์โรคระบาดมาถึงจุดเสี่ยงระบบรักษาพยาบาลใกล้รับมือไม่ไหว มีผู้ป่วยหนักมากขึ้น คนตายสูงขึ้น และพบคลัสเตอร์การระบาดใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน ซึ่งเป็นที่มาของการปรับแผนยุทธศาสตร์ฉีดวัคซีนครั้งสำคัญ

The Active ชวนดูการทำหน้าที่เชิงยุทธศาสตร์ของ “วัคซีน” ว่าทำไมต้องดับไฟต้นเพลิงที่ “กรุงเทพฯ” และแม้จะเทหมดหน้าตักแลกกับการหยุดโรคระบาด จนถึงเวลานี้ เรามั่นใจได้แค่ไหน?


ทำไมต้องเทวัคซีนเพื่อคุมโควิด-19 ระบาดใน “กรุงเทพมหานคร” ?

กรุงเทพฯ มีประชากรมากที่สุดในประเทศ: ข้อมูลจากสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ 31 ธันวาคม 2563 กรุงเทพมหานคร มีประชากรมากที่สุด 5,487,876 คน หากนับรวมประชากรแฝงทั้งกลางวันและกลางคืน กรุงเทพฯ มีคนใช้ชีวิตอยู่ 7,754,222 คน หรือราว 10% จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ

กรุงเทพฯ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงที่สุดทุกวัน: เมื่อขยับเข้าไปใกล้ข้อมูลมากขึ้น จะพบว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันทั้งหมด กระจุกตัวอยู่ใจกลางของประเทศ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 49,589 คน อยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือเกือบ 1 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อทั้งประเทศราว 1.5 แสนคน กล่าวได้ว่า 28% ของผู้ติดเชื้อสะสมทั่วประเทศอยู่ในกรุงเทพ และสถานการณ์นี้ยังเกิดขึ้นคล้ายกันในจังหวัดปริมณฑล โดยเฉพาะปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ

กรุงเทพฯ เป็นแชมป์มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิตมากที่สุด: การระบาดรอบนี้ ไทยมีผู้เสียชีวิตเพราะโรคระบาดแล้ว 1,203 คน ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า 49% ของคนตายสะสมทั่วประเทศ อยู่ในกรุงเทพฯ จำนวน 597 คน และ 56% ของคนเสียชีวิตรายวันเฉลี่ย 7 วันสุดท้ายอยู่ที่กรุงเทพฯ เช่นกัน กล่าวคือมีคนเสียชีวิตเฉลี่ย 18 คนต่อวัน

กรุงเทพฯ มีผู้ป่วยล้นเตียงและมีอาการหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจมากที่สุด: หากนับถึงขณะนี้ (8 มิ.ย.) ผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาตัวทั้งในและนอกโรงพยาบาล มี 49,252 คน เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,281 คน ในจำนวนนี้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ถึง 359 คน บางวันมีการใช้เครื่องช่วยหายใจมากเกือบ 500 คน ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ใส่เครื่องช่วยหายใจทั่วประเทศ 53% อยู่ในกรุงเทพฯ

จนกรุงเทพมหานครต้องตั้ง “ICU สนาม” แห่งแรกของประเทศ ที่ รพ.เอราวัณ 3 (อาคารของสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ) เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนักได้มากถึง 432 เตียง

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ มีผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการปานกลาง (สีเหลือง) และอาการรุนแรง (สีแดง) จำนวนเพิ่มขึ้นมาก คิดเป็นร้อยละ 14 ของผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมด ทำให้ในทุก ๆ วัน ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นใน 100 คน จะมีผู้ป่วยอาการหนัก 14 คน จึงต้องเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางและอาการหนักอย่างเร่งด่วน”

พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดและส่งออกเชื้อให้จังหวัดอื่น: นับจากวันแรกของการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน 2564 กว่าสองเดือนประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อแล้ว 1.5 แสนคน จุดแรกของการพบเชื้อครั้งใหม่ คือ ใจกลางมหานคร จากคลัสเตอร์สถานบันเทิง หลังจากนั้นไม่กี่วันสถานการณ์แพร่ระบาดก็ลุกลามเป็นไฟลามทุ่งจนครบทั้ง 77 จังหวัด เมื่อสถานการณ์การระบาดยืดเยื้อ พบคลัสเตอร์ใหม่ ๆ เช่น แคมป์คนงาน ตลาดสดชานเมืองก็เป็นจุดแพร่กระจายเชื้อ ผ่านคนงาน ผู้ค้า และแรงงานข้ามชาติที่เดินทางเคลื่อนที่ข้ามจังหวัด

พูดให้เข้าใจง่ายคือ ยิ่งกรุงเทพฯ มีคนติดเชื้อมากเท่าไร ยิ่งมีผลต่อการแพร่กระจายเชื้อไปยังจังหวัดอื่น ๆ มากขึ้นเท่านั้น

เช่น หนึ่งในแรงงานจากคลัสเตอร์แคมป์คนงานกรุงเทพฯ ที่พบว่าติดเชื้อโควิด-19 เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม แต่เพราะผลตรวจในครั้งแรกไม่พบเชื้อ เมื่อแคมป์ฯ ปิด เธอเลือกเดินทางกลับภูมิลำเนาที่ จ.ชัยภูมิ และพบว่าตัวเองติดเชื้อหลังมีอาการแล้วในวันที่ 20 พ.ค. จังหวัดเดียวกันนี้ ยังพบว่ามีแรงงานอีกหลายคนที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงพร้อมกับโรคระบาด ทำให้ระลอกใหม่นี้ จ.ชัยภูมิ พบผู้ติดเชื้อแล้ว 314 คน (8 มิ.ย.)

นอกจากนี้ จากการรายงานของ ศบค. เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ยังพบว่า ในจำนวน 13 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อ คือ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม หนองบัวลำภู เลย ชัยภูมิ บุรีรัมย์ บึงกาฬ สุรินทร์ อุบลราชธานี มุกดาหาร ศรีสะเกษ อุดรธานี และสุราษฎร์ธานี เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางไปจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงสัมผัสกับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เหล่านี้ ที่มีทั้งจากการระบาดในคลัสเตอร์แคมป์คนงาน โรงงาน และสถานที่ทำงานที่มีคำสั่งปิดหรือให้หยุดทำงาน เมื่อเกิดการเคลื่อนย้ายจากแห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่ง ทำให้เกิดภาพคล้ายสะเก็ดไฟจากต้นเพลิงกระเด็นไปยังจังหวัดอื่น ๆ นอกพื้นที่ระบาดรุนแรง

กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ส่งออกเชื้อกลายพันธุ์ไปสู่จังหวัดอื่น ๆ : จากการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า หลังจากพบสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ในทุกจังหวัดเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ดั้งเดิมที่เคยระบาดในประเทศไทย

“พบว่า สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ในอนาคต เนื่องจากการแพร่กระจายเร็วกว่า ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากแคมป์คนงานย่านหลักสี่ จำนวน 206 ราย ไม่นานนักพบเชื้อเดลต้าที่นนทบุรี 2 ราย พิษณุโลก 2 ราย ที่มีความเชื่อมโยงกับแคมป์คนงานหลักสี่ บุรีรัมย์ 1 ราย อุบลราชธานี 1 ราย สมุทรสาคร 1 ราย ที่น่าห่วงคือ อุดรธานี 17 ราย ในจังหวัดนี้กำลังสอบสวนความเชื่อมโยงว่ามีความเกี่ยวข้องกับแคมป์คนงานก่อสร้างที่หลักสี่หรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีพบที่ร้อยเอ็ด 1 ราย นครราชสีมา 2 ราย และสระบุรี 2 ราย”

ปัจจัยทั้งหมดข้างต้นจึงเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการวัคซีนในพื้นที่ระบาดก่อนที่วัคซีนจะลดประสิทธิภาพในการต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ในอนาคต


หาก “วัคซีน” เป็นอาวุธช่วย “ดับไฟ” กรุงเทพฯ มีวัคซีนในมือเท่าไร?

เวลานี้ หลายคนจับจ้องไปที่ “วัคซีน” หวังให้ทำหน้าที่สำคัญ คือการ ช่วยดับไฟที่ต้นเพลิง

หากยึดตามแผนกระจายวัคซีนเดิมของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อ 18 พ.ค. 2564 ในเดือนมิถุนายน–กรกฎาคม กรุงเทพฯ จะมีวัคซีนแอสตราเซเนกาช่วยดับไฟในภัยพิบัตินี้ราว 5 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับประชากรกลุ่มเป้าหมาย เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และผู้ที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยง

นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังมีต้นทุนบุคลากรด่านหน้าและกลุ่มอาชีพเสี่ยง ที่ทยอยฉีดวัคซีนซิโนแวคไปก่อนหน้านี้ รวมแล้วนับล้านโดส (ข้อมูล ณ วันที่ 6 มิ.ย. มีการฉีดวัคซีนแล้วจำนวน 1,030,204 โดส แบ่งเป็น เข็มแรก 497,312 คน และฉีดครบสองเข็มแล้ว 266,446 คน)

และอีกหนึ่งต้นทุนที่ควรถูกนำมาคำนวณร่วมด้วย คือ ตัวเลขของคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และรักษาหาย นั่นหมายความว่ากรุงเทพฯ มีผู้ที่ทยอยสร้างภูมิต้านทานให้ตัวเองโดยนับรวมประชากรแฝงกลางวันและกลางคืนด้วย

แต่เมื่อดูจากสถานการณ์จริงของกรุงเทพฯ เวลานี้ จากเงื่อนไขสำคัญเรื่อง การส่งมอบ “วัคซีนแอสตราเซเนกา” จากบริษัทผู้ผลิต จะเห็นว่า สองสัปดาห์แรกของการคิกออฟ กรุงเทพฯ มีวัคซีน 1,031,200 โดส และคาดว่าจะทยอยจัดสรรเพิ่มในช่วงครึ่งหลังของเดือนมิถุนายน อีกไม่ต่ำกว่า 1 ล้านโดส ขณะที่ภาพรวมของวัคซีนแอสตราเซเนกาทั้งหมดในเดือนมิถุนายนจะมีมากกว่า 5 ล้านโดส ซึ่งต้องจัดสรรให้ทั่วประเทศ

สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความมั่นใจกับประชาชนไทยเวลานี้ ก็คือ การมีวัคซีนซิโนแวคสำรองอีก 1.5 ล้านโดส ในเดือนมิถุนายน และหากเป็นไปตามแผน จีนจะทยอยส่งให้ไทยอีกเดือนละ 3 ล้านโดส ทั้งจากการสั่งซื้อและบริจาคโดยรัฐบาลจีน ซึ่งยังไม่มีตัวเลขแน่ชัดว่าในจำนวนนี้ จะถูกจัดสรรให้พื้นที่กรุงเทพฯ เท่าไร


แอสตราเซเนกา วัคซีนแห่งความหวัง?

สองเหตุผลหลักที่ “วัคซีนแอสตราเซเนกา” เป็นความหวังสำหรับประเทศไทย คือ (1) โรงงานผลิตวัคซีนอยู่ที่ประเทศไทย และไทยใช้งบประมาณทุ่มซื้อเพื่อใช้เป็นวัคซีนหลักของประเทศ (2) บทเรียนการใช้วัคซีนเข็มแรกปูพรมควบคุมโรคจากต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ และผลการศึกษาในสกอตแลนด์ พบว่าการให้วัคซีนแอสตราเซเนกาเพียงเข็มเดียว มีประสิทธิภาพ ถึง 80% การปูพรมเข็มแรกให้มากที่สุดจึงเป็นประโยชน์ในการควบคุมการระบาดของโรค

แต่ในทางปฏิบัติจริง แม้ “61 ล้านโดส” จะเป็นตัวเลขตามแผนสั่งซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกาจาก บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผลิตโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ของประเทศไทย แต่ตัวเลขที่ได้รับการยืนยันถึงจำนวนที่จะทยอยส่งมอบตามสัญญานั้น ไม่มีการระบุแน่ชัดว่าแต่ละล็อตมีจำนวนเท่าไร

ส่วนการยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุข มีเพียงตัวเลขที่ระบุว่า ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ไทยจะมีวัคซีนแอสตราเซเนกาทั้งหมด 5.46 ล้านโดส ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นวัคซีนล็อตพิเศษที่นำเข้าจากประเทศเกาหลีใต้ 240,000 โดส ขณะที่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขได้รับคำยืนยันจากตัวแทนบริษัทว่าเดือนกรกฎาคม “ไทยจะได้วัคซีนไม่น้อยกว่าที่จัดสรรให้เดือนมิถุนายน” เป็นหลักประกันเท่านั้น

หากดูจากจำนวนวัคซีนที่จัดสรรสำหรับปูพรมฉีดทั้ง 77 จังหวัด มีการเปิดเผยจาก ชมรมแพทย์ชนบท ว่าในพื้นที่การระบาดภาคกลาง ตะวันตก และตะวันออก รวม 18 จังหวัด จะได้รับการจัดสรรวัคซีนสำหรับสองสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน จังหวัดละ 44,444 โดส (ค่าเฉลี่ยจากโควตา 8 แสนโดส) ส่วนอีก 58 จังหวัดที่พบอัตราการระบาดต่ำ ได้รับการจัดสรรเท่า ๆ กัน จังหวัดละ 3,600 โดส

ตัวเลขนี้ “ค่อนข้าง” สอดคล้องกับตัวเลขที่พบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุด กล่าวคือ กรุงเทพมหานคร ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนแอสตราเซเนกามากที่สุดในเดือนมิถุนายน คือ 1,031,200 โดส (รวมวัคซีนจากเกาหลีใต้) และอีก 4 จังหวัด คือ สมุทรปราการ นนทบุรี เพชรบุรี และชลบุรี เป็นกลุ่มจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนจังหวัดละมากกว่า 4 หมื่นโดส ในกลุ่ม 18 จังหวัดดังกล่าวด้วย

ขณะที่การจัดสรรวัคซีนโควิด-19 จำนวน 3.5 ล้านโดส (ทั้งแอสตราเซเนกาและซิโนแวค) สำหรับระดมฉีดในช่วง 2 สัปดาห์แรก คือ 7-19 มิ.ย. นั้น มีการเปิดเผยว่าแบ่งการจัดสรรเป็นกลุ่มจังหวัดตามเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ของกระทรวงสาธารณสุข 13 เขต โดยส่งมอบแอสตราเซเนกาให้กรุงเทพฯ แล้ว 350,000 โดส


กางแผนฉีดวัคซีนกรุงเทพฯ “หยุดระบาดภายใน 2 เดือน” ?

“เน้นสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้คนกรุง 70% เป็นอย่างน้อย” เป็นเป้าหมายแรก ๆ ในการหวังหยุดระบาดด้วยวัคซีนของผู้บริหารของ กทม. แม้เวลานี้ วัคซีนหลักอย่างแอสตราเซเนกา จะยังไม่เห็นรายละเอียดของความสามารถในการจัดสรรให้ได้ตามเป้าหมาย 5 ล้านโดสสำหรับกรุงเทพฯ เพื่อฉีดเข็มแรกครอบคลุมจำนวนประชากรให้มากที่สุด ให้ได้ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2564

แต่คลังสำรองอย่าง ซิโนแวค ก็ยังถูกเตรียมไว้รองรับการเร่งฉีดปูพรมให้คนกรุงเทพฯ ให้ได้มากที่สุด

9 กลุ่มเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข ถูกใช้เป็นเป้าหมายในการจัดสรรฉีดวัคซีนในระยะเร่งด่วนของกรุงเทพฯ เช่นกัน เช่น ข้อมูลผู้ได้รับการฉีดวัคซีน ระหว่างวันที่ 28 ก.พ. – 8 มิ.ย. มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว 330,018 โดส มีเจ้าหน้าที่ควบคุมการระบาดอีก 98,333 โดส และกลุ่มผู้สูงอายุและโรคประจำตัว อีก 116,485 โดส ฯลฯ

ขณะที่ กลุ่มโควตาที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนแอสตราเซเนกาในเดือนมิถุนายนนี้ แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง ที่จองผ่านระบบหมอพร้อม เฉพาะในกรุงเทพฯ จำนวน 981,453 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค. 2564), กลุ่มผู้ประกันตน ม.33 ที่จองผ่านระบบไทยร่วมใจอีก 1 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มประชาชนทั่วไปอายุ 18 – 59 ปี ที่ลงทะเบียนผ่านระบบไทยร่วมใจของ กทม. อีกราว 1 ล้านคน

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ที่อยู่ใน 9 กลุ่มเป้าหมาย ที่จัดสรรโดยหน่วยงานอื่น ๆ เช่น กลุ่มคนพิการ ภายใต้การดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กลุ่มพนักงานขับรถสาธารณะ โดยการประสานงานของกระทรวงคมนาคม กลุ่มบุคลากรครู ของกระทรวงศึกษาธิการและ กทม. รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานอื่น ๆ ที่ให้บริการใกล้ชิดประชาชน ฯลฯ

ทำให้วันคิกออฟฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเมื่อ 7 มิ.ย. มีคนกรุงเทพฯ ออกมาฉีดวัคซีนเข็มแรก 50,493 คน และมีผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 (ทั้งแอสตราเซเนกาและซิโนแวค) อีก 12,961 คน รวมประชาชนออกมาฉีดวัคซีนในวันนี้ 63,454 คน

ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข คาดหวังให้การกระจายวัคซีนไปถึงกลุ่มประชาชนที่ทำอาชีพในพื้นที่สาธารณสุข เช่น ลูกจ้าง คนทำงานในร้านอาหาร เพื่อให้คนกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับ “ความปกติ” ก่อนเกิดโรคระบาด และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ได้


ประสิทธิภาพวัคซีน กับเงื่อนไข “เวลาสร้างภูมิคุ้มกัน”

นอกจากจำนวนและความเร็วในการฉีดแล้ว “ประสิทธิภาพ” และ “เวลาในการสร้างภูมิคุ้มกัน” ของวัคซีนยังเป็นเงื่อนไขสำคัญของการหยุดยั้งโรคระบาด

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า โดยหลักของวัคซีน การทิ้งระยะห่าง ยิ่งห่างนานก็จะกระตุ้นภูมิต้านทานได้ดีกว่า ระดับภูมิต้านทานหลังเข็มที่ 2 จะสูงกว่าในการหวังผลให้อยู่นาน การยืดเข็มที่ 2 ออกไปจะมีข้อเสียตรงที่ว่า ประสิทธิภาพจะสู้การให้สองเข็มไม่ได้ ต้องคำนึงคือถ้ามีเชื้อกลายพันธุ์โดยเฉพาะสายพันธุ์แอฟริกาใต้ (Beta) วัคซีนทั่วไปประสิทธิภาพลดลงอยู่แล้วก็อาจจะป้องกันไม่ได้ แต่สายพันธุ์อังกฤษและอินเดียไม่น่าจะมีผลมาก

“การควบคุมการระบาดในประชากรหมู่มาก ทั้งประเทศไทย ในภาวะที่ทรัพยากรที่จำกัด จึงจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในภาพรวม ดังนั้น การกำหนดระยะห่างไปที่ 16 สัปดาห์ จึงเป็นการที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศไทย”

สอดคล้องกับวารสารทางการแพทย์ The Lancet วัคซีนแอสตราเซเนกา ประสิทธิผลในการป้องกันโควิด-19 แบบมีอาการของวัคซีนเข็มแรก เท่ากับ 76% หลังจากฉีด 22 วัน แต่การฉีดเข็มเดียวไม่มีประสิทธิผลในการป้องกันโควิด-19 แบบไร้อาการ และหากฉีดเข็มที่ 2 จะกลายเป็น 81.3% ซึ่งสามารถฉีดได้เมื่อครบ 12 สัปดาห์หลังจากรับเข็มแรก

นอกจากนี้ สาธารณสุขอังกฤษ ยังเปิดเผยข้อมูลอีกว่า ประสิทธิผลในการป้องกันโควิด-19 แบบมีอาการของวัคซีนแอสตราเซเนกาสองเข็ม จะเท่ากับ 66.7% หลังจากฉีดเข็มที่ 2 ไปสองสัปดาห์ และจะสูงขึ้น เมื่อระยะห่างระหว่างสองเข็มเพิ่มขึ้น จนถึงจุดสูงสุดที่ 80% เมื่อเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรกมากกว่า 12 สัปดาห์

ส่วน ซิโนแวค นั้น องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า มีประสิทธิผลในการป้องกันโควิด-19 แบบมีอาการ คือ 51% และประสิทธิผลในการป้องกันโควิด-19 แบบรุนแรงและการเข้ารักษาในโรงพยาบาล คือ 100% ของประชากรที่ทำการศึกษา

อีกหนึ่งตัวอย่างที่ถูกกล่าวถึงบ่อย และปรากฏในรายงานขององค์การอนามัยโลกเดือนเมษายน คือ การศึกษาในประเทศชิลี ที่มีประชากร 10.5 ล้านคน ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค (หรือ CoronaVac) ไปแล้ว 92% ของจำนวนวัคซีนทั้งหมดที่ถูกฉีด หรือ 3,378,000 โดส (ส่วนอีก 8% ได้รับวัคซีน Pfizer) พบว่า มีกรณีการแพ้รุนแรง (Serious Adverse Event, SAE) ทั้งหมด 90 คน คิดเป็น 2.67 คนต่อ 1 แสนคน (เทียบกับวัคซีนของ Pfizer ที่มีการแพ้รุนแรงทั้งหมด 30 คน คิดเป็น 10.26 คนต่อ 1 แสนคน)

ส่วนประสิทธิผลของซิโนแวค หลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 14 วัน พบว่าป้องกันโควิด-19 แบบมีอาการ 67% ป้องกันการนอนในโรงพยาบาล 85% ป้องกันการเข้ารับการรักษาในไอซียู 89% และป้องกันการเสียชีวิต 80%

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีเงื่อนไขเรื่องการลดการแพร่กระจายเชื้อ “โดยอ้อม” จากรายงานผลการศึกษาครัวเรือนจำนวนมากกว่า 365,000 ครัวเรือนในอังกฤษ ที่มีสมาชิกครอบครัวปนกัน ทั้งผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วและผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน พบว่า ภูมิต้านทานจากไฟเซอร์ หรือ แอสตราเซเนกา ลดโอกาสที่เชื้อไวรัสจะแพร่ลง 40-60% หมายความว่า ผู้ที่ติดเชื้อหลังจากได้รับการฉีดวัคซีน มีความน่าจะเป็นที่จะส่งต่อการติดเชื้อไปให้ผู้อื่น เพียงครึ่งเดียวของผู้ที่ติดเชื้อที่ไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน

กรณีนี้ แพทย์ระบาดวิทยาจากกรมควบคุมโรคของไทย อธิบายอย่างง่าย สำหรับเงื่อนไขลดการแพร่กระจายเชื้อ “โดยอ้อม” ก็คือเมื่อวัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อมีอาการ ก็ไม่มีสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ที่ทำหน้าที่แพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นนั่นเอง

ขณะที่อีกทางเลือก สำหรับการควบคุมการกระบาดของโควิด-19 ก็คือ การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) ที่ยังมีตัวเลขแตกต่างกันระหว่าง 50 – 70% (ผู้ป่วยรักษาหายและผู้มีภูมิต้านทานจากการฉีดวัคซีน) แต่ขณะเดียวกัน การทยอยฉีดในอัตราเร่งที่ “ช้าเกินไป” ด้วยเหตุผลของวัคซีนที่มีจำกัด หรือหน่วยบริการฉีดวัคซีนไม่ครอบคลุมเพียงพอ โดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไข “ภูมิต้านทานลดลง” ก็อาจทำให้ความพยายามฉีดวัคซีนแบบปูพรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ไม่เป็นผลได้


ทางเลือก หยุดระบาดด้วย “วัคซีน”

ก่อนวันคิกออฟฉีดวัคซีน 7 มิ.ย. มีข้อเสนอจากแพทย์ระบาดวิทยา และชมรมแพทย์ชนบท ขอให้รัฐบาล “เทกระจาด” วัคซีนแอสตราเซเนกา ลงพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อระงับการระบาดให้ได้ในเวลาที่รวดเร็วที่สุด ด้วยเงื่อนไขประสิทธิภาพวัคซีนและภูมิต้านทานที่ขึ้นเร็วกว่าตั้งแต่การฉีดวัคซีนเข็มแรก

กล่าวคือ หากคนกรุงเทพฯ ร้อยละ 30 หรือราวกว่า 2 ล้านคน ทยอยรับวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มแรกในวันที่ 7 มิ.ย. นั่นหมายความว่าช่วงปลายเดือนมิถุนายน หรือ 22 วัน (3 สัปดาห์) หลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 คนกรุงเทพฯ กว่า 2 ล้านคน จะเริ่มมีภูมิต้านทานขึ้นที่ 76%

ตัวเลขคนได้รับวัคซีนที่ 30% แล้วอาจมีผลต่อภูมิคุ้มกันนี้ มีที่มาจากผลการศึกษาที่ จ.ภูเก็ต ที่ได้รับวัคซีน “ซิโนแวค” หลังประชาชนกลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนเข็มแรกเกือบแสนราย และครบ 2 เข็ม 22 % พบกลุ่มที่รับวัคซีนครบสองเข็ม ลดโอกาสติดเชื้อ 83.3% ส่วนกลุ่มที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มขึ้นไป (รวมกลุ่มได้วัคซีนทั้ง 1 เข็มและ 2 เข็ม) จะมีประสิทธิผล 73.1% แต่หากคิดเป็นเข็มเดียวมีประสิทธิผล 37% ดังนั้น ประสิทธิภาพดีที่สุดต้อง 2 เข็ม ทั้งนี้ เป็นการศึกษาร่วมกันระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กระทรวงสาธารณสุข และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม หากโควตาวัคซีนแอสตราเซเนกาที่กรุงเทพฯ ได้รับการจัดสรร มีเพียงราว 1 ล้านโดสในเดือนมิถุนายน หมายความว่า หากจะทำให้มีภูมิต้านทานในระดับใกล้เคียงกัน ต้องมีวัคซีนซิโนแวคมาเสริมทัพอีกราว 2.6 ล้านโดส แต่เงื่อนไขที่ต่างกัน คือ จำนวนเข็มที่ต้องฉีดมากกว่า คือ แต่ละคนต้องฉีดให้ได้ 2 เข็มภายใน 2-3 สัปดาห์ เพื่อให้ภูมิต้านทานขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์หลังการฉีดเข็มที่ 2 ที่ 51% กล่าวโดยสรุป คือ หากฉีดวัคซีนซิโนแวค ภูมิต้านทานจะขึ้นที่ 51% ก็ต่อเมื่อครบ 5 สัปดาห์หลังการฉีดเข็มแรก

ส่วนทางเลือกที่อาจใกล้เคียงกับความเป็นไปได้มากที่สุด หากจะทำให้กรุงเทพฯ สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ 70% ให้ได้ภายในสองเดือน หรือภายในเดือนกรกฎาคม ตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเคยประกาศไว้ คือเมื่อคำนวณร่วมกันทั้งหมด จากผู้ป่วยที่รักษาหาย ผู้ฉีดวัคซีนครบทั้งสองเข็ม และประสิทธิภาพครึ่งเดียวของผู้ฉีดวัคซีนเข็มแรก จากวัคซีนแอสตราเซเนกา นั่นหมายความว่า ทุกหน่วยฉีดในกรุงเทพฯ ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 81,985 โดส ซึ่งเร็วกว่าที่เป็นอยู่กว่า 2 หมื่นโดส ต่อวัน (คำนวณโดย The Active)


บทส่งท้าย

โดยหลักการประชาชนทุนคนควรได้รับการฉีดวัคซีน…

ยุทธศาสตร์การเทวัคซีนให้กรุงเทพฯ ก่อน เพื่อดับไฟที่ต้นเพลิง ต้องถ่วงดุลกับการยืดเวลาฉีดวัคซีนผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวในพื้นที่ ‘ไม่มีการระบาด’ ให้ “ช้าลง”

ในขณะที่ทุกคนต้องการเกราะป้องกันการป่วยและเสียชีวิต เป็นการตัดสินใจเชิงนโยบายที่วางอยู่บนเงื่อนไขความพร้อมของวัคซีน ศักยภาพในการฉีดปูพรม และประสิทธิภาพการสร้างภูมิคุ้นกันต่อเชื้อกลายพันธุ์ด้วย

เหตุผล “ทำไมต้องเป็นกรุงเทพฯ?” จึงต้องการแรงสนับสนุนจากคนนอกพื้นที่อย่างมาก เพื่อให้ความไม่เท่าเทียมเป็นเรื่องของระยะเวลาเท่านั้น ไม่ใช่การเมืองของการแย่งชิงลงพื้นที่ที่คนจำนวนมากตั้งข้อสังเกต


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active