“คนในคุก” ลมหายใจของทุกคนต้องเท่าเทียม | กฤตยา อาชวนิจกุล

ตอนแรกผู้เขียนตั้งชื่อบทสัมภาษณ์พิเศษนี้ว่า “ข้อเสนอคุมโควิด-19 ในเรือนจำ” : โอกาสปฏิรูปความเป็นธรรมทางสังคม

แต่เมื่อย้อนพิจารณาน้ำหนักของข้อเสนอและความเห็น ‘รศ.กฤตยาอาชวนิจกุล’ ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จากประสบการณ์ลงพื้นที่ทำวิจัยเกี่ยวกับ ‘สุขภาวะของผู้ต้องขังในเรือนจำ/ราชทัณฑ์ไทย’ ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานนานนับสิบปี

โดยเฉพาะงานวิจัยชิ้นล่าสุด “ชีวิตต้องขังในเรือนจำกำหนดสุขภาพ” ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ทั้งองค์ความรู้ ประสบการณ์ และสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่อย่างวิกฤต ได้ขมวดข้อเสนอที่เป็นหัวใจและหลักการไว้ว่า “รัฐบาลควรปกป้องชีวิตประชาชนทุกคนทั้งในและนอกเรือนจำ/ทัณฑสถานอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน” 

ดังนั้น สถานการณ์โควิด-19 ระบาดเรือนจำ/ราชทัณฑ์จำนวนมากและรวดเร็วในการระบาดระลอกสาม ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2564 โดยสาธารณชนเอง ยากลำบากในการตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างหลังกำแพงเรือนจำ

บทสัมภาษณ์นี้จึงมีท่วงทำนองและใจความสำคัญเรียกร้องให้ “ลมหายใจของทุกคนต้องเท่าเทียมกัน”

แฟ้มภาพ: ขอบคุณภาพ สสส.

จุดเริ่มต้น: โควิด-19 ทำให้เราเห็นอะไรในเรือนจำ

ในฐานะนักวิจัย – เรามีสมมติฐานนานแล้วว่า ชีวิตความเป็นอยู่และความป่วยไข้ต่าง ๆ  ของผู้ต้องขังถูกกำหนดโดยสภาพแวดล้อมในเรือนจำ/ทัณฑสถานเอง ดังนั้น หนังสือเล่มสุดท้ายจึงตั้งชื่อว่า ‘ชีวิตผู้ต้องขังในเรือนจำกำหนดสุขภาพ’ สาเหตุสำคัญเพราะมีผู้ต้องขังล้นคุก

ปี 2535 เป็นปีสุดท้ายที่มีผู้ต้องขังทั้งหมดประมาณ 70,000 กว่าคน และตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา จากนโนยายสงครามยาเสพติดของรัฐบาลไทย ทำให้มีผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นมาเป็นหลักแสน จากนั้น ไม่เคยลดต่ำลงเลย ล่าสุดปี 2563 มีผู้ต้องขังประมาณ 350,000 คน

ขณะนี้ ศบค. รายงานว่าผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำ/ทัณฑสถาน ประมาณ 11,000 กว่าคน ถ้านำจำนวนผู้ต้องขังโดยรวมมาคำณวน เฉลี่ยแล้วมีผู้ติดเชื้อประมาณ 3.3 % แต่นี่ยังไม่ใช่ตัวเลขแท้จริง เนื่องจากกรมราชทัณฑ์ยังทำการตรวจเชิงรุกไม่ครบ 100%  ซึ่งเราเชื่อว่าจำนวนผู้ต้องขังติดเชื้อต้องมากกว่านี้ 

“เรื่องนี้ต้องตำหนิทั้งรัฐบาล และตำหนิทางราชทัณฑ์ ในแง่ที่ว่า เมื่อปัญหาผู้ต้องขังติดเชื้อโควิดจำนวนมากอย่างรวดเร็ว ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ‘โป๊ะแตก’ อย่างนี้แล้ว รัฐจะต้องสื่อสารกับสาธารณะ ถึงแผนปฏิบัติการที่มีการเป้าหมายเชิงเวลากำกับอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อหยุดบาดแผลนี้ได้อย่างไร เช่น ต้องตรวจเชื้อเชิงรุก 100% ผู้ต้องขัง 300,000 กว่าคนนี้ให้เสร็จภายในวันที่เท่าไร จะได้รู้ตัวเลขอัตราการติดเชื้อที่แท้จริง”

จากข้อมูลเบื้องต้นที่ทราบ เฉพาะเรือนจำ/ทัณฑสถานที่กรุงเทพฯ รวม 4 แห่ง มีอัตราการติดเชื้อมากถึง 60% จากจำนวนที่ตรวจ และที่ทัณฑสถานหญิงกลาง มีผู้ติดเชื้อมาก 30% จากจำนวนที่ตรวจเช่นเดียวกัน การได้รู้สถานการณ์ที่แท้จริงโดยเร็วที่สุด จะทำให้แผนปฏิบัติการแก้ไขเป็นรูปธรรม ไม่ว่าทางเลือกจะเป็นการเร่งฉีดวัคซีน หรือเร่งแยกผู้ติดเชื้อออกจากคนที่ไม่ติดเชื้อก่อน หรืออะไรก็ตาม  

ทำไมคุกล้นเรือนจำแออัดถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมดา

โดยส่วนตัว การควบคุมโรคในกลุ่มผู้ต้องขังเป็นเรื่องยากมาก เพราะเรือนจำ/ทัณฑสถานไทยแออัดมาก ๆ และความแออัดนี้ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องธรรมดามานาน  สถานการณ์วิกฤตนี้ โทษกรมราชทัณฑ์ไม่ได้เลย เพราะเป็นปลายน้ำของกระบวนการยุติธรรม ตำรวจ อัยการ ศาลส่งนักโทษมาเท่าไร กรมราชทัณฑ์ไม่มีสิทธิปฏิเสธเลย 

สาเหตุที่ทำให้นักโทษล้นคุก คือ (1) รัฐบาลไทยใจร้ายมาก งบประมาณไม่ครอบคลุมการดูแลผู้ต้องขังทั้งหมด ทุกปีมีนักโทษเพิ่มขึ้น แต่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ไม่เคยเพิ่มงบประมาณให้กับกรมราชทัณฑ์เลย โดยเฉพาะงบฯ ค่าอาหาร แต่ละเรือนจำไม่ได้งบฯ เท่าจำนวนหัวที่เขามีอยู่จริง กล่าวคือ งบฯ ค่าอาหารผู้ต้องขังมีแค่ 54 บาทต่อคนต่อวัน (แบ่งเป็นค่าข้าว 8 บาท ค่าอาหารดิบ 44 บาท ค่าแก๊สหุงต้ม 2 บาท) โดยงบประมาณต่อปีที่ได้รับนั้น ครอบคลุมผู้ต้องขังเพียง 1.9 แสนคนเท่านั้น ในขณะที่ กรมราชทัณฑ์มีผู้ขังมากกว่า 300,000 คน

“ประเด็นนี้ อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์หลายคนเล่าให้ฟังเองในที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหลายสาเหตุที่กรมราชทัณฑ์กระอักโลหิตในการที่จะต้องทำงานภายใต้ข้อจำกัด”  

สาเหตุที่ (2) ระบบยุติธรรมของไทยใจร้าย ไม่มีการให้คนประกันตัวออกไป ดิฉันเขียนข้อเสนอเรื่องนี้ไว้นานแล้ว กรมราชทัณฑ์มีนักโทษที่เป็น ‘ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี’ อยู่ตลอดเวลาประมาณ 20% ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด ตัวเลขล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 มี ‘ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี’ ประมาณ 60,000 คนนี้ ถ้าให้เขาประกันตัวออกไป จะช่วยลดจำนวนต้องขังไม่ให้แออัดได้ไหม ฉะนั้น ประเด็นนี้ต้องตั้งคำถามทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ และศาล

มากกว่านั้น ยังมีผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์และฎีกาอีกประมาณ 9.8% หรือเกือบ 30,000 คน ยังมีนักโทษที่เป็น ‘ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา-ไต่สวนในขั้นตอนของศาลชั้นต้น’ ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้น เช่น กรณีคดีการเมือง อัยการส่งฟ้อง ‘พริษฐ์ ชิวารักษ์’ หรือ ‘เพนกวิน’ คดีของ ‘รุ้ง’ – ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ศาลยังไม่ได้พิจารณามูลฟ้องเลย ยังอยู่ในกระบวนการเป็นผู้ต้องหา เฉพาะนักโทษที่เป็น ‘ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา-ไต่สวน’ มีอยู่ราว 3 % คือ 9,453 คน และยังมีผู้ต้องหาอยู่ระหว่างสอบสวนในชั้นตำรวจที่นำมาฝากขังที่ศาลเกือบ 20,000 คน คือ 14%  นอกจากนั้น เรายังมีเยาวชนที่ฝากขัง ยังมีผู้ถูกกักกันอีกประมาณ 1,000 กว่าคน 

ในต่างประเทศ ระบบยุติธรรมของเขาจะไม่นำ ‘ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี’ มารวมกับ ‘ผู้ต้องขังที่คดีเด็ดขาด’ แล้ว  พวกเขาไม่ควรถูกนำเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่ปลอดภัย เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เรือนจำไทยไม่ได้น่าอยู่ ทั้งเก่าและไม่ได้มาตรฐาน 

“ศาลก็ไม่เคยคิดถึงเรื่องปลายน้ำ ไม่ว่าศาลตัดสินอย่างไรเพื่อให้คนเข้าไปอยู่ในเรือนจำ/ทัณฑสถาน โดยไม่ให้เขาประกัน คุณไม่รู้ว่าฝ่ายราชทัณฑ์กระอักโลหิตกันแค่ไหน” 

ดังนั้น งานขับเคลื่อนความรู้บางโครงการ ทีมนักวิจัยพยายามจะสื่อสารกับศาลให้เห็นภาพเหล่านี้ ซึ่งเป็นบาดแผลของความยุติธรรมทางสังคม ที่แก้ไม่หาย ผู้ต้องขังในจำนวนทั้งหมด 80% เป็นผู้ต้องขังเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด คดีเล็กน้อย ๆ ในฐานะเป็นผู้เสพ ซึ่งควรพาเขาไปบำบัดไม่ใช่พามาติดคุก 

“อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ‘วันชัย รุจนวงศ์’ และ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ‘ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์’ สองคนนี้พูดตรงกัน  ความผิดพลาดจากนโยบายสงครามยาเสพติด ทำให้คนซึ่งไม่ควรจะเข้าไปอยู่ในคุกเต็มไปหมด แล้วระบบศาล มี ‘ระบบยี่ต๊อก’ เช่น สมมุติว่ามีคนหนึ่งถือยาบ้า 5 เม็ดข้ามราชอาณาจักรมา ก็ถือว่าเป็นการค้ายาเสพติดข้ามราชอาณาจักร โทษประหารและจำคุกสูงสุด 25 ปี  ดังนั้น ในคุกไทยจึงมีหญิงลาวที่ถูกหลอกให้ถือยาข้ามประเทศ ช่วงหนึ่ง ในแดนหญิงเรือนจำอุดรฯ ขังผู้หญิงลาวถึง 25% ของนักโทษทั้งหมด”

“เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหานักโทษล้นคุกไม่ใช่เรื่องของกรมราชทัณฑ์ฝ่ายเดียว
แต่ต้องเป็นนโยบายรัฐบาลเรื่องระบบประเมินความยุติธรรมของศาล” 

ชีวิตผู้ต้องขังในเรือนจำกำหนดสุขภาพ

สภาพแวดล้อมในเรือนจำ/ทัณฑสถานทำให้คนดี ๆ ป่วยได้ ด้วยหลายปัจจัย

ปัจจัยแรกสภาพสถานคุมขังที่แออัด ถ้าเป็นมาตรฐานกาชาดสากล หรือ ‘คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ’ (ICRC) กำหนดให้ที่นอนในสถานที่คุมขังคนละ 3.4 ตารางเมตร คือ ประมาณเตียงเดี่ยว มาตรฐานสากลปกติของยูเอ็น (UN) ให้ 2.25 ตารางเมตร ประมาณเตียงสนาม แต่มาตรฐานของราชทัณฑ์ไทยให้ 1.1 ตารางเมตร แล้วยังไม่พอ ยังมีวิธีพิเศษเพิ่มคนเข้าไปอีก ทำให้พื้นที่ของแต่ละคนลดลง 23 % เหลือเพียง 0.85 ตารางเมตรเท่านั้น มีเรือนจำ/ทัณฑสถานชายบางแห่งเกินไปกว่า 400% เรียนจำหญิงบางแห่งเกินไป 100%  ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในเรือนจำ/ทัณฑสถาน ถ้าห้องนอนแน่นมากเขาสร้างเป็น 2 ชั้น อัดคนเข้าไป

ปัจจัยที่สองการสัมผัสใกล้ชิดกันเป็นเวลานานในพื้นที่ปิด ตามตารางของเรือนจำ/ทัณฑสถานผู้ต้องขังต้องอยู่ในเรือนนอน 14 ชั่วโมง อยู่ข้างนอก 10 ชั่วโมง เพื่ออาบน้ำ กินข้าว และทำงาน หรือกิจกรรมที่เรือนจำจัดให้ ผู้ต้องขังหลายคน และอดีตผู้ต้องขัง ให้ข้อมูลว่าเขาต้องอัดกันอยู่ที่เรือนนอน 15 ชั่วโมง เพราะเจ้าหน้าที่ต้องคุมผู้ต้องขังจำนวนมาก กิจกรรมทุกอย่างจึงเร่งรีบไปหมด ทำให้ผู้ต้องขังจำนวนมากจึงเป็นโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน หิด เป็นต้น ทุกคนถึงได้อาบน้ำคนละประมาณ 3 นาที การอาบน้ำ 3 นาทีถือเป็นผู้ที่มีเวลาสุรุ่ยสุร่าย เพราะส่วนใหญ่จะอาบตามปี๊ด 8 ขัน คือ ใช้นกหวีดเป่าปี๊ด ๆ หรือเรือนจำบางแห่งที่อาบน้ำเจาะรูให้ทุกคนไปยืนใต้ก๊อกน้ำ พอเปียกตัวเท่านั้น ช่วงปล่อยนักโทษอาบน้ำถ้าจัดระเบียบไม่ดีจะโกลาหน แต่ส่วนใหญ่ผู้คุมจะให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยอาบก่อน

“สภาพที่เคยเป็นอย่างไรเมื่อ 30 ปี ขณะนี้ก็ยังเป็นอยู่”

ทุกคนหายใจด้วยอากาศเดียวกัน

ปัจจัยที่สามในห้องขังไม่มีที่ระบายอากาศ สิ่งที่พบในงานวิจัยล่าสุด การอยู่ร่วมกันอย่างแออัดในเรือนนอน 14-15 ชั่วโมง สูดอากาศเดียวกันเป็นเวลานาน โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน จึงเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่ง ของผู้ต้องขังทั้งชายและหญิง รองลงมาคือไข้หวัดใหญ่ หอบหืด แล้วมีอาการแพ้อากาศเจ็บคอ ไอ

“ก่อนที่โควิดจะระบาดในเรือนจำ ผู้คุมพูดกับเราว่าตอนเช้า ตีห้าครึ่ง ไปเปิดประตูห้องขัง ประตูเปิดออกมา เขาผงะเลย เพราะว่าไอร้อนพุ่งออกมาจากห้อง ในห้องที่ผู้ต้องขังอยู่ยาว ๆ หลายแห่งไม่มีแม้พื้นที่ที่จะยืน เรือนจำส่วนใหญ่ไม่มีพัดลมดูดอากาศ บางแห่งที่มีก็ระบายไม่ดี ที่ระบายดีมีบ้าง แต่น้อยมาก” 

“อย่าแปลกใจว่า ทำไมอัตราผู้ต้องขังติดเชื้อโควิดสูงมาก
และระบาดอย่างรวดเร็ว…มากกว่าประชาชนนอกเรือนจำ”

8 ชั่วโมงกับอาหาร 3 มื้อ

อีกโรคหนึ่งซึ่งผู้ต้องขังเป็นมาก คือ โรคระบบย่อยอาหาร เมื่อกฎระเบียบไปบังคับให้ผู้ต้องขังกินข้าวติดกันสามมื้อภายใน 8 ชั่วโมง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้ต้องขังจำนวน มากจะไม่กินข้าวกลางวัน เพราะมื้อกลางวันกับมื้อเย็นติดกันมาก คือ กินเช้า 7 โมงเช้า 

“คุณรู้ไหมผู้ต้องขังกินข้าวกลางวัน 11.00 น. กินข้าวเย็น 14:30 น.บางแห่งให้กินได้ตั้งแต่ 14:00 น. มื้ออาหารห่างกันเพียง 3 ชั่วโมง แล้วก็ไล่อาบน้ำเลย”

ผู้ต้องขังตื่นแล้ว ส่วนใหญ่จะกินข้าวเช้า หลายเรือนจำ/ทัณฑสถานทำอาหารกลางวันเป็นข้าวต้ม หลานชายดิฉันเคยอยู่โรงเรียนประจำ และเรียกข้าวต้มโรงเรียนประจำของตัวเองว่า ‘ข้าวต้มหมาถอย’ คือหมายังถอยเลย แต่ข้าวต้มในเรือนจำ/ทัณฑสถานจะเป็นอย่างไร? คือแทบไม่เห็นข้าวเลย กินไปท้องก็อืด ผู้ต้องขังส่วนใหญ่จึงไม่กินมื้อกลางวัน

ปัจจัยที่ทำให้โควิด-19 บุกเรือนจำ

ด้วยสภาพของเรือนำ/ทัณฑสถานที่เล่าให้ฟังข้างต้น สรุป ปัจจัยที่ทำให้โควิด-19 ระบาดในเรือนจำ 3 ประเด็นหลักคือ (1) เรือนจำแออัดมาก แออัดฉิบหาย คำว่า ‘ฉิบหาย’ ไม่ได้เป็นคำหยาบแต่กำลังหมายถึง สิ่งที่มาก ๆ จริง ๆ  (2) ความแออัดไม่สามารถรักษาระยะห่างได้ (3) ขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันโรค ทั้งหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ 

ข่าวเพิ่งออก เมื่อ 2-3 วัน หลังจากที่กรมราชทัณฑ์ ‘โป๊ะแตก’ พบผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนมากในเรือนจำ/ทัณฑสถาน แต่มีการจัดสรรงบประมาณปีนี้ให้กรมราชทัณฑ์ดูแลเรือนจำ/ทัณฑสถาน 142 แห่ง จำนวน 750,000 บาทเท่านั้น งบฯ จำนวนนี้ มีเรือนจำ 10 แห่งได้รับการจัดสรร 10,000 บาท เรือนจำขนาดค่อนข้างใหญ่ได้แค่ 8,000 บาท ขนาดปานกลางได้ 5,000 บาท ขนาดเล็กสุดได้ 3,000 บาท เฉลี่ยกับจำนวนนักโทษทั้งหมด ตกหัวละ 2.41บาท ซื้อหน้ากากอนามัยหนึ่งชิ้นยังไม่พอเลย โอกาสติดเชื้อจึงมีเยอะขึ้น

“ต้องไม่ลืมว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่าไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 จะแพร่กระจายผ่านฝอยละอองเป็นหลัก ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อผู้ติดเชื้อไอ จาม หรือหายใจออก ฝอยละอองเหล่านี้ลอยอยู่ในอากาศ และจะตกลงบนพื้นหรือพื้นผิวอย่างรวดเร็ว คุณอาจติดเชื้อได้จากการหายใจเอาไวรัสเข้าสู่ร่างกายเมื่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19”

โดยสภาพทั้งหมดที่เล่าให้ฟังนี้ เมื่อจำนวนผู้ต้องขังติดโควิด-19 แล้ว ยังต้องนำเขาเข้าไปนอนรวมอยู่ในห้องขังที่แออัดอย่างนั้น โอกาสติดเชื้อจึงมีสูง ส่วนหน้ากากอนามัย สมมติใส่มาแล้วตั้ง 3-6 เดือน ไม่ได้เปลี่ยนเลย หน้ากากอนามัยจะป้องกันความเสี่ยงอะไรได้ 

ข้อเสนอคุมโควิด-19 ในเรือนจำ

รัฐบาลอย่าปล่อยให้กรมราชทัณฑ์ทำงานฝ่ายเดียว เพราะเขาไม่มีทั้งงบประมาณและกำลังจะลงไปจัดการกับปัญหาที่ใหญ่เกินตัวได้  ตัวรัฐบาล องค์กรต่าง ๆ ต้องเข้ามาช่วยคิดว่าจะแก้ไขปัญหานี้ในเรือนจำ/ทัณฑสถานอย่างไร เพราะถ้ามีแผนการที่ดี การแก้ไขง่ายกว่าแคมป์คนงานที่แจ้งวัฒนะ เพราะกลุ่มผู้ต้องขัง เขาถูกล้อมขังไม่ได้เคลื่อนไหวไปไหน สามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

อย่าให้ไปถึงจุดที่เลวร้ายที่สุด เพราะอาจมีผู้ต้องขังเจ็บป่วยหนักและเสียชีวิตจำนวนมาก ขณะนี้สถานการณ์ระดับประเทศมีผู้ป่วยอาการหนัก 1,213 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ 400 กว่าคน ก็เป็นสถานการณ์ที่วิกฤตมากพออยู่แล้ว เข้าใจว่าระบบสาธารณสุขไทยมีเครื่องช่วยหายใจประมาณ 600-700 เครื่อง ดังนั้น รัฐบาลควรจะต้องประกาศเป็นนโยบายว่าเราจะปกป้องชีวิตทุกคนเสมอเท่าเทียมกันทั้งคนในและนอกเรือนจำ  

กลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นบุคลากรที่คนลืมคิดถึง การพาผู้ต้องหาเข้า ๆ ออกๆ เรือนจำ/ทัณฑสถาน สิ่งที่เรากังวล คือ การติดเชื้อจากในเรือนจำออกมาสู่นอกข้างนอก และระบาดไปที่ชุมชนได้ เป็นเรื่องที่น่ากังวล หากเป็นไปได้อยากให้ศาลมีวิธีคิดที่ก้าวหน้า โดยใช้การไต่สวนผ่านระบบ conference เพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวของผู้ต้องขังในช่วงนี้ก่อน 

ส่วนข้อเสนอเร่งด่วนในการควบคุมโควิด-19 ระบาดในเรือนจำนั้น (1) การตรวจหาเชื้อเชิงรุก 100% ให้เสร็จภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม โดยระดมคนเข้ามาช่วย (2) ควรมีทีมเข้าไปฉีดวัคซีนให้ผู้ต้องขัง 100% ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

“ถ้าดิฉันเป็นนายกรัฐมนตรี หรืออธิบดีกรมราชทัณฑ์ จะทำทุกวิถีทางเพื่อหาวัคซีนมาให้ผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ บุคลากรในเรือนจำทุกคน ผู้ต้องขังจำนวน 300,000 กว่า เชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่ทำได้”

(3) การเพิ่มพื้นที่เรือนนอนเพื่อสร้างระยะห่างระหว่างกัน กรมราชทัณฑ์และรัฐบาลควรกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาเรือนจำทุกแห่งทำแผนขึ้นมาและทำ Timeline ให้ชัดเจน

“ดิฉันไม่ค่อยเข้าใจวิธีคิดของกรมราชทัณฑ์ เท่าที่ได้ลงพื้นที่เข้าออกเรือนจำหลายภูมิภาค เรือนจำ/ทัณฑสถานหลายแห่งมีพื้นที่เยอะมาก แต่ทำไมทำเรือนนอนเล็กทุกแห่งเลย จึงทำให้เรือนจำแออัดมาก มีเรือนจำที่ไม่แออัดอยู่น้อยมาก เช่น เรือนจำ/ทัณฑสถานแบบเปิดซึ่งเป็นอุตสาหกรรม ที่ให้นักโทษออกไปทำเกษตร ดังนั้น กรมราชทัณฑ์และรัฐบาลจะทำอย่างไรก็ตาม ต้องเพิ่มพื้นที่เรือนนอนเป็นการเร่งด่วน รวมทั้งขอความร่วมมือจากหน่วยงานภายในจังหวัด ระดมสรรพกำลังบุคลากรเข้ามาทำงาน เชื่อว่าทำ 3 เรื่องนี้จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายในเดือนมิถุนายน”

ในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ รัฐบาลควรประกาศระดมบุลากรสาธารณสุขที่ไม่ใช่แพทย์เข้ามาช่วยงานได้แล้ว รวมทั้งเจ้าหน้าที่เรือนจำก็ควรถูกฝึกให้ทำงานควบคุมโรคเบื้องต้นได้ และในเรือนจำมี ‘อาสาสมัครเรือนจำ’ (อสจ.) ที่ทำหน้าที่คล้ายกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แต่ละแดนจะมีอย่างต่ำ 5-10 คน สามารถช่วยประเมินและสังเกตอาการผู้ป่วยได้ นี่คือแผนงานด้านสุขภาวะของกรมราชทัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว ควรใช้ประโยชน์จากต้นทุนที่มีอยู่ให้มากที่สุด กรมราชทัณฑ์ต้องมี warroom เพื่อสำรวจสิ่งที่มีอยู่และสิ่งที่ต้องระดมเข้ามาเสริมศักยภาพ เพื่อหยุดสถานการ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในเรือนจำ

ความโปร่งใสหลังกำแพงเรือนจำ

เราแทบไม่รู้เลยว่า พอเกิดโควิด-19 ระบาดแล้ว ตอนนี้เกิดอะไรบ้างขึ้นในเรือนจำ/ทัณฑสถาน เชื่อว่าแม้แต่องค์กรระหว่างประเทศ เช่น คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ที่มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบสถานคุมขังทั่วโลก ก็คงไม่สามารถเข้าไปได้ เพราะเหตุผลของโรคระบาด เรือนจำก็ปิดไม่ให้คนเข้าเยี่ยมนักโทษรวมทั้งญาติ อนุญาตเพียงทนายความ เพราะฉะนั้น ถ้ายิ่งมีการติดเชื้อจำนวนมาก ทั้งผู้บังคับบัญชาการเรือนจำและกรมราชทัณฑ์คงไม่ให้ใครเข้าไปได้ 

ขณะเดียวกัน ก็ไม่เห็น ศบค. รายงานแผนการว่าจะจัดการอย่างไร มี Timeline กำกับไหม เอามาเล่าให้ประชาชนและสาธารณะได้รับทราบ ไม่เคยเห็น ศบค. เล่าในลักษณะนี้ เช่นเดียวกัน กรณีแคมป์คนงานก่อสร้าง ที่แจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ที่ใหญ่มาก ก็ยังไม่เห็นแผนการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม ศบค. ทำอะไรบ้างประชาชนไม่รู้เลย ดิฉันควรคาดหวังและวางใจกับคณะทำงานของ ศบค. ได้อย่างไร ในเมื่อองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นทหาร เจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ไข้หวัดใหญ่หลายคนยังไม่รู้จักเลย เพราะฉะนั้น เขาจะทำความเข้าใจเรื่องโควิด-19 ได้อย่างไร อันนี้คือเรื่องเศร้าของประเทศไทย

“อีกประเด็นที่สำคัญมาก ศบค. ออกข่าวว่าจะทำโรงพยาบาลสนามในเรือนจำ/ราชทัณฑ์ และมีเว็บไซต์ขอบริจาคสิ่งของที่จำเป็นในการควบคุมโรค  คือ เราในฐานะประชาชนไม่รู้ว่าเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อวัตถุประสงค์การควบคุมโรคโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจรัฐบาลนำไปใช้อะไร เท่าที่ติดตามในการอภิปรายในรัฐสภา เงินที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุขถูกนำมาใช้ไม่ถึง 10% เราไม่เห็นรัฐบาล หรือ ศบค. รายงานหรือพูดเรื่องนี้เลย”

โควิด-19 ระบาดคือโอกาสในการปฏิรูปเรือนจำและความเป็นธรรมทางสังคม

ปัญหาคนล้นคุก เป็นสิ่งที่ทีมวิจัยสื่อสารกับกรมราชทัณฑ์และผู้เกี่ยวข้องก่อนที่โควิด-19 จะระบาด เจรจาและกดดันมานาน พยายามสร้างทางเบี่ยงให้คนไม่ต้องเข้าคุก คือ โทษที่ไม่จำเป็นก็ไม่ควรต้องอยู่คุก ใครที่ควรประกันตัวได้ก็ควรให้ประกัน และหามาตรการอื่นมา สร้างสมดุลแทนการกักขังควบคุม ดังนั้น สิ่งที่ทำก็คือ ต้องทำให้เป็นจริง ที่ผ่านมา ขอชื่นชม คุณจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ให้ความสำคัญมากกับเรื่องคนจนติดคุก ทำอย่างไรไม่ให้คนจนติดคุก เพราะไม่มีเงินประกัน ฉะนั้นแล้ว การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อแก้ปัญหาปลายน้ำคนล้นคุก จะต้องเป็นนโยบายของรัฐบาลสั่งลงมาที่กระทรวงยุติธรรม และต้องทำตามนโยบายด้วย 

“เรื่องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม มีแต่คนพูดเชิงนโยบายหลายคน แต่ไม่ลงมือทำ แล้วเราต้องพึ่งรัฐบาลที่มีความคิดแบบทหาร พลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาลที่ทำให้คนสิ้นหวัง ขอประทานโทษที่ต้องพูดตรงไปตรง เพราะตั้งแต่มีเรื่องโควิด-19 นี้ เราก็สิ้นหวังขึ้นทุกวัน ไม่มีวันไหนเลยที่จะมีความหวัง”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ฐิตินบ โกมลนิมิ

อดีตนักข่าวกระทรวงสาธารณสุข ผู้คลุกคลีในสนามข่าวสีแดงชายแดนใต้ เป็นทั้งนักมนุษยวิทยา นักสตรีศึกษา และนักสันติศึกษา ที่ใช้การเขียนเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง