ครอบครัวผู้ต้องขังคดีทางการเมือง ยื่นหนังสือติดตามขอพักโทษ

ครอบครัว ‘ณัฐชนน’ หวังกลับมามีอิสระ ด้านนักกิจกรรม ชี้ ไม่ใช่อาชญากร แต่เป็นประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมือง เข้าเกณฑ์ราชทัณฑ์ ต้องขอพักโทษได้

วันนี้ (14 ธ.ค. 2566) เวลา 9.00 น. ที่กระทรวงยุติธรรม ครอบครัวผู้ต้องขังคดีทางการเมือง เดินทางมายื่นหนังสือติดตามขอพักโทษ โดยในครั้งนี้เป็นคดีของ “มะ” ณัฐชนน ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีเกี่ยวข้องกับการมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง ในช่วงก่อนการชุมนุม เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2565

เวลา 10.00 น. ทางครอบครัวและผู้ร่วมกิจกรรมได้เข้าไปยื่นเรื่องติดตามการขอพักโทษผู้ต้องขังคดีทางการเมือง บริเวณศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม โดยมี สุรไกร นวลศิริ หัวหน้าสำนักรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และ ปริญญ์วัฒน์ เปี่ยมปิ่นวงศ์ หัวหน้าศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม เป็นตัวแทนในการรับเรื่อง ถือเป็นคดีทางเมืองแรก ๆ จากหลายกรณีที่มีการดำเนินการยื่นหนังสือขอพักโทษ

คเณศณัฏฐ์ สิมลาโคตร กลุ่มปล่อยเพื่อนในเรือนจำ และผู้ร่วมยื่นหนังสือในครั้งนี้ บอกว่าในครั้งนี้ต้องการมาแสดงกำลังใจให้กับญาติของผู้ต้องขังในคดีทางการเมือง ซึ่งตนไม่อยากเรียกว่านักโทษ เพราะพวกเขาคือนักสู้ที่อยากจะเห็นสังคมเปลี่ยนแปลง ที่อาจจะแสดงออกในมิติที่แตกต่าง โดยวิถีของพวกเขา ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ถึงกำหนดของการขอพักโทษตามมาตรา 90 และมาตรา 52(7) ของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 ที่ให้คนที่รับโทษไปแล้ว 1 ใน 3 สามารถยื่นเรื่องการขอพักโทษได้ แต่ก็มีหลายคนที่ยื่นไปแล้วเอกสารตกหล่น โดยแต่ละปีมีผู้ต้องขังจำนวนมาก ซึ่งอาจจะมีทั้งที่สามารถทำได้และทำไม่ได้

คเณศณัฏฐ์ เล่าว่าได้รับแรงบันดาลใจในการทำเรื่องยื่นหนังสือการขอพักโทษจาก เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมือง เนื่องจากเคยเข้าเยี่ยม เอกชัย ที่เรือนจำและเขาได้ช่วยเขียนคำร้องขอพักโทษให้กับผู้ต้องขังคดีทางการเมืองคนหนึ่ง และได้ฝากให้ช่วยติดตามคำร้องนี้ หลังจากก็มีความคืบหน้าว่าเอกสารของณัฐชนน ได้รับการตอบรับ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัว และเชื่อว่าจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีทางการเมืองได้

ด้าน สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรม บอกว่า มีมาตรการหลายอย่างที่จะช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีทางการเมือง ต้องมองก่อนว่าพวกเขาไม่ใช่อาชญากร ไม่ใช่กระทำความผิดโดยมีเจตนาในการฝ่าฝืนกฎหมาย แต่เกิดขึ้นจากกระบวนการของกฎหมายที่ผิดปกติ  ดังนั้น ผู้ที่แสดงออกทางการเมืองก็เกิดขึ้นไปตามบริบทของการเมือง

สมยศ มองว่า ควรมีมาตรการที่ช่วยให้ผู้ต้องขังได้รับอิสรภาพ และการพักโทษก็เป็นมาตรการที่ต้องทำตามเงื่อนไข กฎเกณฑ์ของทางราชทัณฑ์ หากว่าผู้ต้องขังมีความประพฤติที่เข้าตามเกณฑ์แล้วก็ควรที่จะอนุมัติ แต่ก็เข้าใจได้ว่าเป็นอำนาจของฝ่ายราชทัณฑ์ที่จะพิจารณาว่าจะให้หรือไม่ให้

วันนี้ตนอยากจะมาเรียนกับกระทรวงยุติธรรมว่า ควรพิจารณาให้ผู้ต้องขังเหล่านี้ ในฐานะเป็นประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองไม่ใช่ความผิดที่เป็นอาชญากร แต่เป็นความผิดอันเนื่องมาจากการใช้สิทธิเสรีภาพ และเหตุมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองด้วย เพราะหลายคนที่ออกมาชุมนุมนั้นได้รับผลกระทบมาจากมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงออกไปชุมนุม เมื่อแสดงออกอย่างนั้นก็เกิดการกระทำความผิดขึ้น

โดยมาตรการที่จะช่วยเหลือผู้ต้องขังเหล่านี้ ก็มีทั้ง พักการลงโทษ ลดวันต้องโทษ การให้ออกมาทำงานเพื่อสาธารณะ เช่น ขุดท่อระบายน้ำ การทำงานห้องสุมด วัด หรือชุมชน เป็นต้น ซึ่งเป็นมาตรการเฉพาะหน้าที่กระทรวงยุติธรรมน่าจะช่วยดำเนินการได้ รวมไปถึงผู้ต้องขังคนอื่น ๆ ที่มีคุณงามความดีในขณะที่อยู่ในเรือนจำ หมายถึงการที่สังคมให้โอกาสเขาได้กลับตัวกลับใจ และสามารถกลับสู่สังคมตามปกติได้

ทางด้านครอบครัว ธนัชชา รมณียชาติ ภรรยาของณัฐชนน หวังว่าการยื่นขอพักโทษครั้งนี้จะช่วยให้ณัฐชนนได้กลับมามีอิสระอีกครั้ง ได้ออกมาทำงานช่วยครอบครัว ซึ่งในขณะนี้ครอบครัวต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างมาก เนื่องจากขาดกำลังสำคัญในการหาเลี้ยงครอบครัว รวมถึงอาการเจ็บป่วยของพ่อ และลูกของเขาที่ยังเล็กมาก

โดยณัฐชนน ได้รับโทษมาเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน จากกำหนดโทษ 3 ปี ในตอนแรกที่ต้องรับโทษสภาพจิตใจของณัฐชนนค่อนข้างย่ำแย่ และเป็นห่วงความเป็นอยู่ของครอบครัว แต่เมื่อภายหลังมีเรื่องของการพักโทษเข้ามาก็ทำให้ครอบครัวกลับมามีความหวังอีกครั้ง ที่ณัฐชนนจะได้ออกจากเรือนจำเร็วกว่ากำหนด

ในการยื่นหนังสือครั้งนี้ ในฐานะภรรยาจึงขอความเห็นใจทางครอบครัว และในส่วนของความผิดก็เข้าใจว่ามีอยู่แล้ว แต่ก็หวังว่าจะได้รับการพิจารณาเพราะความประพฤติของณัฐชนนนั้นอยู่ในขั้นที่ดี และเป็นผู้ต้องขังชั้นดี และช่วยเหลืองานในเรือนจำค่อนข้างดี นอกจากนี้ เอกสารยังประกอบไปด้วยประวัติ วุฒิการศึกษา และความรับผิดชอบของณัฐชนนในหลาย ๆ ด้าน เพื่อรับรองว่าหากถูกปล่อยตัวณัฐชนนจะมีอนาคตที่ดี และไม่มีการหลบหนีอย่างแน่นอน

หลังจากตัวแทนกระทรวงยุติธรรมรับเรื่องและหนังสือการขอพักโทษคดีทางเมืองของ มะ ณัฐชนน ก็มีการร่วมกันกำหนดแนวทางในการช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรมที่สามารถทำได้ตามระเบียบของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ซึ่งร่วมกับครอบครัว และนักกิจกรรม หลังจากนั้นตัวแทนผู้รับเรื่องจะมีการนำไปเสนอต่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อนำไปพิจารณาต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active