แพทย์ชนบท เปิดเบื้องหลัง ทำไม “ซิโนแวค” กลายเป็นวัคซีนหลัก

กรมควบคุมโรค เริ่มกระจายแอสตราเซเนกา ล็อตแรก 58 จังหวัด วันนี้ (2 มิ.ย.) ส่วนอีก 19 จังหวัด รวมปริมณฑล รอล็อตหลังภายใน 6 มิ.ย. กทม. ได้ฉีดแน่ แอสตราฯ 3.5 แสนโดส และซิโนแวค 2 แสนโดส

ชมรมแพทย์ชนบท เผยแพร่ข้อความวันนี้ (2 มิ.ย. 2564) เปิดเบื้องหลัง ทำไม “ซิโนแวค” ถึงกลายเป็นวัคซีนหลักของไทย โดยระบุว่า จากอัตราการระบาดที่ต่ำมากของประเทศไทยในการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก ทำให้เกิดการชะล่าใจในการจัดหาวัคซีน ที่นำสู่นโยบายการเลือกใช้วัคซีนหลักเพียงยี่ห้อเดียว หรือ “แทงม้าตัวเดียว” ของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่หวังพึ่งวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นหลัก

“ยิ่งจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้มีการสร้างโรงงานผลิตในไทยด้วย ก็เลยจบสนิทลงที่แอสตร้า แม้แต่โปรแกรม COVAX ที่นานาประเทศเข้าร่วม ไทยเราก็ตกขบวน”

แต่ต่อมา เมื่อเริ่มพบผู้ป่วยรายแรกจากตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2563 และระบาดไปทั่วประเทศ ทำให้การไม่มีวัคซีนในมือเริ่มสั่นคลอนรัฐบาล หากจะรอวัคซีนแอสตราเซเนกา ของ บริษัท ยามไบโอไซเอนซ์ ก็ต้องรออีกครึ่งปี

ชมรมแพทย์ชนบท ระบุอีกว่า เรื่องนี้ต้องให้เครดิตกับ อนุทิน  ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยเชื่อว่า มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และกลุ่มธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับวัคซีนซิโนแวค

จากนั้นระบุต่อว่า ทำให้ในวันที่ 5 ม.ค. 2564 คณะรัฐมนตรี อนุมัติงบประมาณ 1,228 ล้านบาท เพื่อซื้อวัคซีนซิโนแวค 2 ล้านโดส และ วันที่ 24 ก.พ. 2564 วัคซีนซิโนแวคล็อตแรกจำนวน 2 แสนโดส มาถึงไทย โดย รัฐมนตรีฯ อนุทิน ฉีดวัคซีนเป็นคนแรก และเป็นวัคซีนเดียวที่ไทยมี โดยข้อมูล ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 ประเทศไทยสั่งซื้อซิโนแวคไปแล้ว 6 ล้านโดส และจะนำเข้าต่อเนื่องอีกทุกเดือน เดือนละ 3 ล้านโดส จนถึงสิ้นปี 2564

สำหรับวัน kick off ฉีดวัคซีน 7 มิ.ย. 2564 ศบค. ต้องทำให้ทุกจังหวัดมีวัคซีนทั้งแอสตราเซเนกาและซิโนแวคให้ได้ ขณะที่ กรมควบคุมโรค เพิ่งแจ้งยอดการส่งวัคซีนแอสตราเซเนกามาแล้ว รอบแรกประเดิมที่ 2.4 แสนโดส โดยวันนี้ (2 มิ.ย.) จะเริ่มส่งไปยัง 58 จังหวัด จังหวัดละ 360 ขวด สำหรับ 3,600 โดส ยกเว้น 19 จังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก ที่จะได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาไปกับล็อตหลังภายในวันที่ 6 มิ.ย. นี้

“คือหนึ่งวันก่อนวัน kick off แต่ที่แน่ ๆ คือ ทุกโรงพยาบาลก็มีซิโนแวคไปร่วมขัดตาทัพก่อนเป็นอย่างน้อย ประเทศไทยจึงมีซิโนแวคเป็นวัคซีนหลักของประเทศไทยไปโดยปริยาย”

ขณะที่เว็บไซต์ข่าว ฐานเศรษฐกิจ เปิดรายชื่อ 19 จังหวัด ที่จะได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา ล็อตหลังภายในวันที่ 6 มิ.ย. ประกอบด้วย ปทุมธานี, นนทบุรี, พระนครศรีอยุธยา, ลพบุรี, สระบุรี, สิงห์บุรี, อ่างทอง, กาญจนบุรี,  นครปฐม, เพชรบุรี, ราชบุรี, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ปราจีนบุรี, ระยอง และสมุทรปราการ

ส่วนกรุงเทพฯ จะได้วัคซีนแอสตราเซเนกา ในต้นเดือน มิ.ย. จำนวน 350,000 โดส  และซิโนแวค อีก 200,000 โดส

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว