“คนไร้บ้าน” จ.ปทุมธานี 6 คน ติดเชื้อโควิด-19 สั่งกักตัวกลุ่มเสี่ยงยกศูนย์ฯ

เครือข่ายคนไร้บ้าน เรียกร้องภาครัฐเร่งวางแผนตรวจคัดกรองเชิงรุกคนไร้บ้านที่พักภายในศูนย์ฯ และ กลุ่มที่อาศัยตามพื้นที่สาธารณะโดยด่วน พร้อมจัดระบบดูแล เฝ้าระวังทุกมิติ ลดโอกาสเสี่ยงสัมผัสเชื้อ



วันนี้ (31 พ.ค.64 ) ชลธร โพธ์ทอง แกนนำคนไร้บ้าน ภายในศูนย์พัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านปทุมธานี บ้านพูนสุข จ.ปทุมธานี เปิดเผยกับ TheActive ว่า จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกคนไร้บ้านภายในศูนย์ฯ จำนวน 31 คน เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ผลการตรวจพบว่ามีคนไร้บ้านภายในศูนย์ฯ ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 6 คน ส่งผลให้คนไร้บ้านที่เหลืออีก 25 คน กลายเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องเข้าสู่มาตรการแยกกักตัว พักอาศัยกันคนละห้อง ภายใต้การรักษาระยะห่างอย่างเคร่งครัด  


ชลธร บอกอีกว่า ขณะนี้ได้จัดระบบเฝ้าระวัง จดบันทึกการวัดอุณภูมิร่างกาย รวมถึงการสอบถามอาการของผู้กักตัว ซึ่งยังไม่พบผู้มีอาการเสี่ยงใด ๆ แต่ยอมรับว่า คนไร้บ้านที่นี่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุถึง 14 คน แทบทุกค้นล้วนกังวล จึงได้จัดกิจกรรมคลายเครียด เช่น ดูแลแปลงผัก ปลูกต้นไม้ โดยมีเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ รวมทั้งกลุ่ม อสม.คอยดูแลอย่างใกล้ชิด ขณะที่เรื่องอาหารทั้ง 3 มื้อ ก็ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค , มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ และ สสส.


สำหรับการตรวจพบคนไร้บ้านภายในศูนย์ฯ ติดเชื้อโควิด-19 ครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากกรณี สมพร หารพรม ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นผู้ดูแลศูนย์ฯ แห่งนี้ มีอาการต้องสงสัย เป็นหวัด จึงเข้าตรวจคัดกรองเมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ก่อนจะได้รับการยืนยันผลว่าติดเชื้อโควิด-19 นำมาสู่การตรวจคัดกรองเชิงรุกของคนไร้บ้านภายในศูนย์ฯ ทุกคน


ส่วนการตั้งข้อสังเกตต้นตอการระบาดภายในศูนย์ฯ ครั้งนี้ ภายหลังสอบถามจากเจ้าหน้าที่สอบสวนโรค เชื่อว่า ในจำนวนผู้ติดเชื้อ 6 คน ซึ่งพบว่ามี 1 คนที่เข้า-ออกศูนย์ฯ เป็นประจำ มีอาชีพรับจ้างเก็บขยะ จึงอาจเสี่ยงสัมผัสเชื้อ และอาจนำมาสู่การแพร่ระบาดภายในศูนย์ฯ ซึ่งอาจเป็นเหตุที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากคนไร้บ้านที่นี่ยังคดิ้นรนทำงาน เพื่อการมีรายได้เลี้ยงปากท้องของตัวเอง

“ที่นี่เราไม่มีครัวกลาง เราวางระบบเรื่องการดูแลช่วยเหลือด้านอาหาร เป็นครัวราคาถูก อิ่มละ 15-20 บาท คนอื่นทำงานที่บ้านกักตัวระวังกันได้ แต่พี่น้องเราถ้ามีงาน มีคนจ้างก็ต้องรีบออกไปทำ เพราะนั่นมันเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะอาหาร ตอนนี้ 14 วันที่กักตัว มีทางเครือข่ายสลัมสี่ภาค มูลนิธิที่อยู่อาศัย และ สสส.มาดูแล แต่หลัง 14 วันที่กักตัว และสถานการณ์การระบาดยังไม่จบ ก็กังวล หากมีการสนับสนุนช่วยเหลือดูแล ให้มีงานทำในศูนย์ฯ มีรายได้ มีอาหาร หรือครัวกลางในศูนย์ ก็ไม่ต้องเสี่ยงออกไปสัมผัสรับหรือแพร่เชื้อ”



ส่องแสง สุปัญญา จากเครือข่ายสลัมสี่ภาค มองว่า กรณีที่เกิดขึ้นนอกจากสะท้อนสาเหตุความเสี่ยงของคนไร้บ้านที่อยู่ในศูนย์คนไร้บ้านแล้ว กลุ่มคนไร้บ้านตามพื้นที่สาธารณะ ก็เป็นอีกความเสี่ยงและน่าเป็นห่วงไม่ต่างกัน ดังนั้นรัฐอาจต้องให้ความสำคัญการตรวจคัดกรองเชิงรุกคนไร้บ้าน ทั้งในศูนย์ฯ และในพื้นที่สาธารณะ อย่างเร่งด่วน

“ แม้พี่น้องที่อาศัยอยู่ตามที่สาธารณะ จะกระจายกันอยู่ แต่ก็ต้องมารวมตัวกันเมื่อมารับของบริจาค บางครั้งเขาอาจไม่ใช่คนแพร่เชื้อ แต่อาจเป็นคนรับเชื้อ โดยที่เราไม่รู้ว่าเขาติดเชื้อหรือยัง อย่างพี่น้องคนไร้บ้านภายในศูนย์ฯ หากไม่มีใครแสดงอาการ ก็ไม่รู้ เพราะเขาไม่ได้ตรวจคัดกรองเชิงรุกเลย มาตรวจตอนพบผู้ติดเชื้อแล้ว ก็ติดกันไปหลายคน”


ขณะที่ เครือข่ายคนไร้บ้าน มีข้อเรียกร้อง ขอให้รัฐเร่งจัดตั้งศูนย์ประสานงาน ให้ข้อมูลเฝ้าระวัง เพื่อให้คนไร้บ้านเข้าถึงการดูแลสุขภาพ ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 พร้อมทั้งจัดระบบการบริจาค การรับอาหาร เพื่อให้คนไร้บ้าน เข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอและปลอดภัย   รวมถึงการดูแลให้คนไร้บ้านเข้าถึงสิทธิสวัสดิการช่วยเหลือเยียวยาต่าง ๆ จากภาครัฐ เช่น โครงการเราชนะ, การเข้าถึงวัคซีน เพราะคนไร้บ้านส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงระบบ ไม่มีสมาร์ทโฟน จึงมีจำนวนไม่น้อยตกหล่นจากการช่วยเหลือ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ