คลัสเตอร์ใหม่ผุดทั่วกรุง หวั่นกระทบแผนฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ – 7 กลุ่มโรคเสี่ยง 16 ล้านคนทั้งประเทศ​

นายกฯ ตั้งเป้าฉีดวัคซีน กทม. 5 ล้านคน เร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ใน 2 เดือน โควิด-19 ลามชุมชนแออัด เปิดแผล “ระบบสาธารณสุขเมืองหลวง” ด้าน “นพ.บวรศม” แนะ สธ.​ รีบจองซื้อวัคซีนเข็ม 3 หยุดระบาดรอบ 4

จนถึงขณะนี้ (19 พ.ค. 2564) ไม่มีใครรู้ว่าการระบาดรอบ 3 หรือการระบาดใหม่เดือนเมษายนจะจบลงเมื่อไหร่ แต่หลายมาตรการควบคุมโรคถูกใช้ไปหมดทุกทาง รวมถึงมาตรการกึ่งล็อกดาวน์แบ่งโซนสี ซึ่งล่าสุด 4 จังหวัดคือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ยังคงถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือ พื้นที่สีแดงเข้ม

โควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษที่ระบาดรอบนี้ ติดง่ายกว่าสายพันธุ์เดิมจากการระบาดรอบก่อน เมื่อเชื้อลามลงไปถึงชุมชนแออัดที่มีสภาพเอื้อต่อการระบาดเนื่องจากไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ ก็ทำให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างยากลำบาก 

“ผศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์” รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ประเมินตามแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ด้วยหลักการระบาดวิทยาของโรคโควิด-19 พบว่า จํานวนผู้ติดเชื้อใน กทม. จะทรงตัวอยู่ในหลัก 1,000 – 2,000 คน ไปอีก 2-3 สัปดาห์ และกว่าจะได้เห็นผู้ติดเชื้อลดลงเป็นหลักร้อย อาจจะลากยาวไปถึงปลายเดือนมิถุนายน

ขณะที่ “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายรัฐมนตรี ระบุให้ความสำคัญกับกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศโดยตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 5 ล้านคน หรือ 70% ของประชากร เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ภายใน 2 เดือน (มิ.ย. – ก.ค.) เพราะมาตรการกึ่งล็อคดาวน์พื้นที่สีแดงเข้ม 14 วันที่ผ่านมา เริ่มเห็นผลกระทบทางเศรษฐกิจจนในที่สุด รัฐก็ยอมผ่อนปรนมาตรการบางอย่างท่ามกลางความกังวลของนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ที่ระบุว่าภาระงานของแพทย์ยังล้นมือ

นั่นหมายความว่ากรุงเทพมหานครต้องได้รับการจัดสรรวัคซีนเพิ่ม จาก 1 ล้านโดสของแอสตราเซเนกา เป็นไม่น้อยกว่า 10 ล้านโดส ขณะที่เดือน มิ.ย. – ก.ค. แอสตราเซเนกา ที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์จะส่งมอบวัคซีนรวม 16 ล้านโดส ซึ่งอาจกระทบเป้าหมายแผนกระจายวัคซีนเพื่อผู้สูงอายุ และผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง 16 ล้านคนหรือไม่

ไทม์ไลน์​ส่งมอบวัคซีน ​“ซิโนแวค” ปี​ 2564​ 

  • ก.พ.​   200,000 โดส
  • มี.ค.​   800,000 โดส
  • เม.ย​   1,500,000 โดส
  • พ.ค.​   3,500,000 โดส

รวม​    6,000,000 โดส

ไทม์ไลน์​ส่งมอบวัคซีน​ “แอสต​ราเซ​เนกา”​ ปี​ 2564​ 

  • มี.ค.​   117,600​  โดส
  • มิ.ย​     6​ ล้านโดส
  • ก.ค.​  10​ ล้านโดส
  • ส.ค.​  10​ ล้านโดส​
  • ก.ย.​  10​ ล้านโดส
  • ต.ค.  10​ ล้านโดส
  • พ.ย.​  10​ ล้านโดส
  • ธ.ค.​    5​ ล้านโดส

รวม​    61,117,600 โดส

ที่มา: กระทรวง​สาธารณสุข​

“พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในเดือนมิถุนายนนี้กรุงเทพมหานครจะได้รับวัคซีน โควิด-19 จำนวน 2,500,000 โดส และทันทีที่ได้รับวัคซีนมา กรุงเทพมหานครจะแบ่งวัคซีน ให้กับ ผู้ที่ลงทะเบียนหมอพร้อม จำนวน 500,000 โดส กลุ่มก้อนองค์กรภาครัฐและเอกชน จำนวน 300,000 โดส โรงพยาบาลใน กทม. 126 แห่ง จำนวน 400,000 โดส และ ส่วนที่เหลือ 1,300,000 โดส จะฉีดให้กับกลุ่มอาชีพเสี่ยง ที่จะเดินทางมาฉีดในจุดฉีดวัคซีนนอกสถานที่จำนวน 25 จุด ของกรุงเทพมหานคร โดยไม่รวมกับจุดบริการฉีดวัคซีน สถานีกลางบางซื่อ

คาดว่าภายในหนึ่งเดือนกรุงเทพมหานครจะฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย ส่วนในเดือนกรกฎาคมก็จะดำเนินการฉีดวัคซีนตามแผนอีก 2,500,000 โดส เพื่อให้ครบตามจำนวน 5,000,000 โดส ที่จะฉีดให้กับคนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

“สำหรับวัคซีนที่กรุงเทพมหานครเหลืออยู่ ขณะนี้มีไม่ถึง 100,000 โดส จากที่ได้รับจัดสรรมาประมาณกว่า 5 แสนโดส ซึ่งขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างรอการจัดสรรล็อตใหม่ เพื่อให้บริการได้ตามเป้าหมาย”

อย่างไรก็ตาม วัคซีนขณะนี้ยังมีจำกัด ทั้งยังต้องใช้ระยะเวลาในการปูพรมฉีดวัคซีนระยะหนึ่ง กว่าจะสร้างภูมคุ้มกันหมู่ ดังนั้นในระยะเร่งด่วนเพื่อตัดวงจรระบาดวัคซีนอาจยังไม่ใช่คำตอบ นักวิชาการสาธารณสุข และนักเศรษฐศาสตร์ที่เฝ้าจับตานโยบายควบคุมโรค เสนอว่าสิ่งสำคัญที่ทำได้ทันทีคือการสอบสวนโรคเพื่อหาผู้ติดเชื้อแยกออกมายังคงต้องทำควบคู่กันไป แต่ข้อจำกัดที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนมาก จนไม่สามารถสอบสวนโรคได้ทัน เป็นอุปสรรคสำคัญในการควบคุมการระบาด

“ระบบสาธารณสุข กทม.” ข้อจำกัดคุมโควิด-19 ?

การระบาดระลอกใหม่ในระยะหลัง แทบไม่เห็นการเปิดเผยไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากถึงหลักพันคนต่อวัน เมื่อเทียบกับการระบาดรอบแรกซึ่งอยู่ที่หลักสิบถึงหลักร้อย ขณะที่กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด แต่ทีมสอบสวนโรคมีเพียง 69 ทีม แม้จะมีทีมจากกรมควบคุมโรค และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เข้ามาช่วยแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ติดเชื้อหลักพันในทุกวัน 

เมื่อการสอบสวนโรคไม่สามารถทำได้ครบทุกคน​ ท่ามกลางคลัสเตอร์การระบาดใหม่ค่อยๆผุดขึ้นในหลายจุดทั่วกรุง ปัจจุบัน ศบค.แถลงเพียงจุดเสี่ยง ให้ผู้ที่เคยเดินทางไปสัมผัสเข้ารับการตรวจ 

15,000 – 20,000 คน คือศักยภาพในการตรวจเชื้อเชิงรุกของกรุงเทพมหานครที่ร่วมมือกับทุกฝ่ายแล้ว ในระยะยาว “ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง” โฆษกกรุงเทพมหานคร มองว่าวัคซีนจะเป็นตัวจบปัญหาทุกอย่าง จึงทุ่มเททรัพยากรเพื่อปูพรมฉีดสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ใน 2 เดือน ขณะที่ระยะเฉพาะหน้า กทม. ยอมรับว่าการตรวจเชื้อเชิงรุกและการสอบสวนโรคให้ครบเป็นไปได้ยาก ด้วยทรัพยากรบุคคลที่มีจำกัด และการฉีดวัคซีนใช้งบประมาณน้อยกว่า 

“เราตรวจเชื้อโควิด-19 ต่อคนบางคนต้องตรวจถึง 3 ครั้ง ครั้งละ 2,000 – 3,000 บาท แต่หากใช้วัคซีนในการควบคุมโรค ถ้าเป็นวัคซีนซิโนแวค คนละ 1,200 บาท ถ้าเป็นแอสตราเซเนกาคนละ 200-300 บาท เพราะฉะนั้นหากเราไปเร่งตรวจเชิงรุก สุดท้ายหาผู้ติดเชื้อเจอก็ต้องแยกคนที่ไม่ติดเชื้อมาฉีดวัคซีนอยู่ดี ก็ต้องทำคู่กันไป”

“รศ.นิพนธ์ พัวพงศกร” นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ มองต้นตอของปัญหาการควบคุมโรคในกรุงเทพมหานคร เปรียบเทียบกับต่างจังหวัด โดยระบุว่า ข้อเสนอการตรวจและสอบสวนโรคเพื่อแยกผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงอาจเป็นจริงได้ในพื้นที่ต่างจังหวัด เพราะมีเครือข่าย อสม.และระบบสาธารณสุขมูลฐานที่เข้มแข็ง ซึ่งสวนทางกับกรุงเทพมหานครที่มีระบบสาธารณสุขแยกส่วน และอ่อนแอ มาอย่างยาวนานเมื่อเจอวิกฤตก็ยากที่จะรับมือ จนในที่สุดนายกรัฐมนตรีต้องลงมานั่งเป็นประธาน ศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19  หรือ ศบค.กทม.เอง เพื่อให้เกิดการทำงานบูรณาการ เพราะต้องยอมรับว่าโครงสร้างการบริหารงานด้านสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร ไม่ได้ขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุข เหมือนกับสำนักงานสาธารณสุขหรือ สสจ.ในต่างจังหวัด 

“พื้นที่ที่จะทำงานในกรุงเทพมหานคร ถึงแม้ว่ามอบอำนาจให้ผู้อำนวยการเขตแต่อย่าลืมว่า เขตหนึ่งเขตในกรุงเทพมหานครใหญ่กว่าจังหวัดหลายจังหวัดเพราะฉะนั้นลำพังผู้อำนวยการเขตคนเดียวเอาไม่อยู่ ทรัพยากรที่มีอยู่ในเขตไม่พอ จำเป็นต้องระดมทรัพยากรของประเทศเข้ามา ซึ่งอำนาจนี้อยู่ที่นายกรัฐมนตรี” 

ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานคร มีชุมชนแออัดมากกว่า 680 แห่ง สิ่งที่พบตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือ หลายชุมชนที่ กทม. ส่งทีมตรวจเชิงรุกลงไปนั้น จะพบผู้ติดเชื้อ ขณะที่อีกหลายแห่ง แม้จะมีผู้ติดเชื้อ แต่ก็ไม่มีทีมตรวจเชิงรุกลงพื้นที่ต่อเนื่อง และยังไม่ได้รับวัคซีน เพราะขณะนี้กรุงเทพมหานครมีวัคซีนจำกัด ตราบใดที่วัคซีนของแอสตราเซเนกาล็อตใหญ่ยังไม่เข้ามา

สถานการณ์ระบาดที่ยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง ยังมีบางส่วนที่ต้องพักคอยก่อนถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลหลัก แพทย์ – พยาบาล ที่มีอยู่ ก็เริ่มไม่พอ ต้องดึงบุคลากรจากต่างจังหวัดมาช่วย สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาในกรุงเทพฯ วิกฤตตั้งแต่ต้นทางคือการตรวจคัดกรอง การนำคนส่งต่อเข้าสู่ระบบ เรื่อยไปจนถึงขั้นตอนการรักษา หลายฝ่ายจึงเห็นว่า การปฏิรูประบบสาธารณสุขในกรุงเทพมหานครอาจเป็นสิ่งที่ต้องถอดบทเรียน หลังโควิด-19 จบลง

แนะ สธ.​ รีบจองซื้อวัคซีนเข็ม 3 หยุดระบาดรอบ 4

การระบาดรอบ 4 ก็อาจเกิดขึ้นได้หลังจากนี้ เนื่องจากภูมิคุ้มกันของประชากรจากการฉีดวัคซีนจะทยอยหมดลง และยังไม่มีใครรู้ว่าวัคซีนที่ฉีดไปจะสร้างภูมิคุ้มกันได้นานเท่าใด ขณะที่ไวรัสกลายพันธุ์ ก็ยังไม่มีวัคซีนใหม่มารองรับ​ 

“ผศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์” รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล จึงเสนอให้รัฐเร่งเจรจาจัดหาวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อรับมือหากเกิดการระบาดรอบ 4

“ข้อเสนอของผมและทีมสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขว่าต้องฉีดวัคซีนเข็ม 3 เป็น Booter Dose มันไปผูกกับเรื่องเศรษฐกิจสังคมเมื่อผู้มีภูมิมากขึ้นต่อให้ไม่ถึงภูมิคุ้มกันหมู่ทั้งประเทศ แต่มีบาง Sector บาง Industry ที่สามารถเปิดได้ ก็ช่วยเรื่องเศรษฐกิจสังคม ถ้าเราเรียนรู้จากระลอกแรกว่าอัตราการต่อลองจองซื้อวัคซีนเป็นอย่างไร ทำไมจึงไม่รีบจองซื้อแต่เนิ่น ๆ”

การจัดหาวัคซีน เข็มที่ 3 จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเริ่มเจรจา และวางแผนให้ชัดเจน โดยอาจอาศัยต้นทุนจากการเป็นฐานการผลิตแอสตราเซเนกา ของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ในการจองซื้อวัคซีนล่วงหน้า นอกจากวัคซีนล็อตแรก 61 ล้านโดสเพื่อใช้ต่ออายุภูมิคุ้มกันหมู่ของประชากร และลดความรุนแรงหากเกิดการระบาดระลอก 4 ในอนาคต 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS