เจ็บแต่ไม่จบ… เมื่อล็อกดาวน์เอาไม่อยู่

รมช.สาธิต ยัน วอล์กอินฉีดวัคซีน เมื่อมีวัคซีนเพียงพอ ขอลงทะเบียนเป็นหลัก ด้าน “ผศ.นพ.บวรศม” แนะรัฐ เตรียมหาวัคซีนฉีดเข็ม 3 รับมือระบาดรอบ 4 

สับสนกันพอสมควรว่าคนไทยจะฉีดวัคซีนแบบ Walk In ได้หรือไม่?

Active Talk คุยกับ “สาธิต ปิตุเตชะ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ความชัดเจน ขณะที่มาตรการควบคุมโรคพื้นที่สีแดงเข้ม 6 จังหวัดผ่านไปจะครบ14 วัน แต่ผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง ทั้งยังมีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่อง และ “ผศ.นพ.บวรศมลีระพันธ์” รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล มาพร้อมกับข้อเสนอว่า ควรใช้เครื่องมืออะไรบ้าง ช่วยตัดวงจรระบาดในกทม. พร้อมฉายภาพให้เห็นแบบจำลองแนวโน้มผู้ติดเชื้อ

วอล์กอินฉีดวัคซีน เมื่อมีวัคซีนเพียงพอ 

เป็นความตั้งใจดีของ นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้เปิดวอล์กอินฉีดวัคซีน หวังกระจายวัคซีน อย่างรวดเร็วและทั่วถึง “สาธิต ปิตุเตชะ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข อธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลจึงเปิดให้ประชาชนวอล์กอิน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดเป็นนโยบายให้มีสัดส่วนผู้ฉีดวัคซีนแบบวอล์กอิน 20% อีก 30% มาจากการลงทะเบียนผ่านไลน์แอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” และส่วนใหญ่ 50% มาจากการสำรวจของ อสม. ลงทะเบียนในโรงพยาบาลเป็นผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง 7 โรค 

ขณะที่กรุงเทพมหานครแถลงข่าวชัดเจนว่า ยังไม่เปิดรับประชาชนวอล์กอินเข้ามาฉีดวัคซีน เนื่องจากวัคซีนยังมีจำกัด และยังต้องจัดลำดับความสำคัญ ให้กับทั้งกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มอาชีพเฉพาะ เช่น ครู เจ้าหน้าบริการสาธารณะ ที่จะต้องได้รับวัคซีนก่อน

แผนกระจายวัคซีนล็อตใหญ่ของแอสตราเซเนกาล็อตแรกที่จะได้รับหลังวันที่ 17 พ.ค. นี้ จำนวน 6 ล้านโดส จะถูกแบ่งให้กับกรุงเทพมหานคร 1 ล้านโดส จังหวัดภูเก็ต เพื่อนำร่องเปิดประเทศ หรือ ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ Frist July  240,000 โดส ส่วนที่เหลือจะกระจายไปทั่วทุกจังหวัดเพื่อฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ และกลุ่ม 7 โรคเรื้อรังก่อน ตั้งเป้าไว้ 16 ล้านโดส ภายในเดือนกรกฎาคมนี้​ 

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ถือเป็นศูนย์กลางการระบาดและมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่สุด ยังคงตั้งเป้าฉีดวัคซีนเพื่อตัดวงจรระบาด ภายใน 2 เดือนนับจากนี้ หากได้รับวัคซีนที่เพียงพอ โดยมีศักยภาพในการฉีดตามที่โฆษก กทม. แถลงข่าวว่า 80,000 โดสต่อวัน เฉลี่ยจะใช้เวลาฉีดวัคซีน เพียง 12-13 วัน ก็ครบ 1 ล้านโดส จำเป็นต้องรับการจัดสรรวัคซีนเพิ่ม 

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า คณะกรรมการวัคซีนฯ ยังคงหาแนวทางเพื่อจัดซื้อวัคซีนเพิ่มจากทุกยี่ห้อเข้ามาให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ประเทศไทยได้นำเข้าวัคซีนซิโนแวคจากประเทศจีนมาแล้วจำนวนทั้งสิ้น 3,500,000 โดส ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2564 และประเทศจีนให้อีก 500,000 โดส มาถึงไทยแล้ววันนี้ (14 พ.ค. 2564) รวมทั้งสิ้น 4,000,000 โดส นอกจากนี้ จะมีเข้ามาในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคม อีกจำนวน 2,000,000 โดส จากการจัดซื้อขององค์การเภสัชกรรมเอง​ รวมทั้งหมด 6 ล้านโดส

การใช้วัคซีนตัดวงจรระบาดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยังคงเป็นคำถามว่าวัคซีนเป็นคำตอบสุดท้ายหรือไม่ หากปัจจุบันการกระจายวัคซีนยังไม่เต็มศักยภาพ 100% เพราะยังมีจำนวนจำกัด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำว่า การตรวจหาเชื้อเชิงรุกและการสอบสวนโรคภายใน 24-48 ชั่วโมง ยังคงจำเป็นที่ต้องดำเนินการไปพร้อมกัน

ล็อกดาวน์อย่างเดียวไม่พอ แนะเพิ่มสอบสวน แยกโรค คุมระบาด 

14 พฤษภาคม ครบ 14 วันที่รัฐบาลออกมาตรการ พื้นที่สีแดงเข้ม 6 จังหวัด เพื่อควบคุมการระบาด ลดการเดินทางของประชาชน ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ และกินอาหารในร้าน จนถึงวันนี้ผู้ติดเชื้อยังคงหลักพันต่อเนื่อง แต่คำถามก็คือ ทำไมการล็อกดาวน์ครั้งนี้จึงได้ผลน้อยกว่าการล็อกดาวน์ในการระบาดรอบแรก และรอบ 2

“ผศ.นพ.บวรศมลี ระพันธ์” รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล  มองว่าเป็นเพราะผู้ติดเชื้อลงไปในระดับชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนเมืองซึ่งมีสภาพแออัด เอื้อให้มีการระบาด ดังนั้น หากแม้มีวัคซีนเข้ามาฉีดเพื่อหวังตัดวงจรระบาด แต่ก็ต้องรอเวลาในการสร้างภูมิคุ้มกันหลังฉีด โดยวัคซีนซิโนแวค ฉีด 2 เข็มภูมิต้านทานจะขึ้นหลังฉีดอีก 2-4 สัปดาห์ ขณะที่วัคซีนแอสตราเซเนกา เข็มเดียว สามารถสร้างภูมิต้านทานหลังฉีดในอีก 2-4 สัปดาห์​

แม้กรุงเทพมหานคร จากระบุถึงศักยภาพในการตรวจเชื้อเชิงรุกว่าสามารถทำได้วันละ 15,000 – 20,000 คน แต่การควบคุมโรคไม่ได้อยู่เพียงแค่การตรวจหาเชื้ออย่างเดียว ยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการแยกผู้ป่วยติดเชื้อออกมา และสอบสวนโรคเพื่อหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งอาจกลายเป็นผู้ติดเชื้อออกมาได้ทันเวลา จะเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ซึ่งส่วนนี้อาจต้องใช้ทรัพยากรบุคคลเพิ่มเติม

“ผศ.นพ.บวรศม” ประเมินตามแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ด้วยหลักการระบาดวิทยาของโรคโควิด-19 พบว่า จํานวนผู้ติดเชื้อใน กทม. จะทรงตัวอยู่ในหลัก 1,000 – 2,000 คน ไปอีก 2-3 สัปดาห์ กว่าจะได้เห็นผู้ติดเชื้อลดลงเป็นหลักร้อย อาจจะลากยาวไปถึงปลายเดือนหน้า ขณะที่ประเทศไทยได้ใช้มาตรการควบคุมโรคครบทั้งหมดแล้ว

“การระบาดในเรือนจำสะท้อนชัดว่าการล็อกดาวน์ มีส่วนช่วยคุมการระบาดได้ไม่มาก สำคัญที่สุดคือการสอบสวนโรค ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำก็จะต้องถูกนำมาคำนวณรวมกับจำนวนผู้ติดเชื้อนอกเรือนจำในคลัสเตอร์อื่น ๆ ด้วย เพื่อคำนวณศักยภาพของระบบสาธารณสุข เตียงและห้อง ICU ต่าง ๆ ในการรองรับผู้ป่วย ซึ่งอาจจะต้องมีการคำนวณกันใหม่”

รับมือระบาดรอบ 4 แนะรัฐเตรียมหาวัคซีนฉีดเข็ม 3

สถานการณ์การระบาดในกรุงเทพมหานคร ที่นอกจากจะมีการระบาดหลายคลัสเตอร์ใหม่แล้ว ล่าสุดพบการระบาดใน แรงงานข้ามชาติ ละแวกชุมชนคลองเตย พบติดเชื้อถึง 120 คน “อรวรรณ สุขโข” ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ที่เกาะติดสถานการณ์การระบาดอยู่ในชุมชนคลองเตยมาตั้งแต่วันแรกที่พบผู้ติดเชื้อ เล่าให้ฟังถึงความจริงที่สวนทางกับการแถลงข่าวของกรุงเทพฯ ว่าคลองเตยมีแนวโน้มทรงตัวและดีขึ้น หลังพบว่า กลุ่มแรงงานข้ามชาติ เป็นอีกกลุ่มเปราะบางที่ยังเข้าไม่ถึงการตรวจ และการรักษา ทำให้เป็นช่องโหว่ในการแพร่กระจายเชื้อ แม้จะมีนโยบายชัดเจนว่าแรงงานข้ามชาติสามารถรับการตรวจ การรักษา รวมไปถึงการฉีดวัคซีน ตามสถานะกองทุนสุขภาพที่มีอยู่ 

แต่ในระดับปฏิบัติการก็ยังคงแบ่งรับแบ่งสู้ ในการตรวจให้กับแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ จนเกิดการติดเชื้ออีกคลัสเตอร์ล่าสุด 

“ผศ.นพ.บวรศม” บอกว่าในกรณีที่เรามีทรัพยากรเพียงพอ เหตุการณ์เหล่านี้คงไม่เกิดขึ้น แต่ในกรณีที่มีทรัพยากรไม่เพียงพอ เราจึงต้องจัดลำดับความสำคัญเพื่อบริหารจัดการ แต่หลักการสำคัญของการควบคุมการระบาดคือ “เรายังไม่ปลอดภัย จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย” การเตรียมทรัพยากรด้านสาธารณสุขเอาไว้ใช้ในอนาคตจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรับมือ “ระบาดรอบ 4” โดยเฉพาะการจัดหาวัคซีนล่วงหน้า “เข็ม 3” ที่รัฐต้องเริ่มดำเนินการแล้วในตอนนี้ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS