‘จาตุรนต์-เบญจรัตน์’ แนะ วิธีเดิมแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องสร้างสรรค์วิธีใหม่ คุมทั้งโรคระบาดและแก้ปัญหาคนล้นคุก เสนอกำหนดเกณฑ์ปล่อยตัวผู้ต้องขัง แต่ต้องสื่อสารให้สังคมเข้าใจ
เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2564 จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำว่า เป็นภาพสะท้อนของปัญหาคนล้นคุกของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่รับรู้มานานแล้ว โดยตอนนี้ทั่วประเทศมีผู้ถูกคุมขังประมาณ 3 แสนคน ขณะที่มาตรฐานของเรือนจำสามารถรองรับได้แค่ 2 แสนคน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องทำในขณะนี้เป็นอันดับแรก คือ การเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด ซึ่งความจริงก็ต้องรู้ก่อนอยู่แล้วว่าจะมีปัญหาแบบนี้
“คิดว่า มีการปกปิดแน่นอน เป็นไปไม่ได้ที่คน 2,800 คน จะเป็นโดยไม่แสดงอาการใด ๆ พร้อมกันหมด เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น เชื่อได้ว่าต้องมีคนติดเชื้อมาก่อนหน้านี้หลายวัน”
ส่วนสาเหตุที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลมาก่อนหน้านี้ จาตุรนต์ เห็นว่าอาจเป็นเพราะไม่เข้าใจ ไม่ตระหนักต่อสถานการณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ว่าเมื่อเกิดเรื่องแบบนี้แล้ว จะต้องทำอย่างไร ซึ่งจริง ๆ เรือนจำจะต้องมีแนวปฏิบัติในการจัดการ เพราะอย่างกรณีไฟไหม้หรือเกิดภัยพิบัติที่มีการแนวปฏิบัติในการจัดการกับผู้ต้องขังในเรือนจำ ว่าจะจัดการอย่างไร หรือควรปล่อยออกมา อีกประการ คือ อาจเกิดจากความกังวลเรื่องภาพลักษณ์และปัญหาด้านการบริหารจัดการภายในเรือนจำ ซึ่งส่งผลให้มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว
สำหรับแนวทางในการแก้ไขสถานการณ์นขณะนี้ จาตุรนต์ เสนอว่า ต้องใช้หลักการบริหารแบบจัดการวิกฤต และต้องดำเนินการกับเรือนจำทั่วประเทศ โดยอาจเน้นพื้นที่ที่สีแดงที่มีการระบาดหนัก คือต้องมีการตรวจเชิงรุกอย่างเข้มข้น และกำหนดมาตรการดูแลและรักษาผู้ต้องขังที่ติดเชื้อโดยด่วน ที่เป็นไปมาตรฐานของสาธารณสุข ไม่ใช่เพียงแค่ศักยภาพที่กรมราชทัณฑ์ทำได้
“เราต้องถือหลักก่อนว่า ผู้ต้องขังเป็นมนุษย์ และมีสิทธิที่จะไม่ตายด้วยโรคระบาด จึงต้องรีบหาทางรักษา ถ้าเรือนจำดูแลไม่ได้ ก็ต้องให้ออกมาข้างนอก กรมราชทัณฑ์ต้องรีบหาสถานที่กักตัวเพื่อดูแลอาการ และไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่คนอื่น และต้องสั่งการไม่ให้คนใหม่เข้าไปในเรือนจำหรือเข้าให้น้อย และต้องตรวจเชิงรุกในเรือนจำทั่วประเทศ”
แยกรักษา ในพื้นที่ความมั่นคงสูง ปล่อยผู้ต้องขังโทษเบา ลดเงื่อนไขฝากขัง
จาตุรนต์ เห็นว่า สิ่งที่ต้องเริ่มทำก่อนในระยะเฉพาะหน้านี้ คือ การแยกผู้ต้องขังที่ติดเชื้อไปรักษา และคนที่ยังอยู่ในเรือนจำก็ต้องได้รับการดูแลในฐานะผู้กักตัว ไม่ใช่ผู้ถูกกักขัง หากพื้นที่ในเรือนจำไม่พอ ก็ต้องหาพื้นที่ด้านนอกที่มีมาตรการป้องกันการหลบหนีได้ เช่น ค่ายทหาร
พร้อมบอกอีกว่า ต้องวางแนวทางหรือหลักเกณฑ์ปล่อยผู้ต้องขังออกจากเรือนจำ โดยเน้นที่กลุ่ม เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัว รวมถึงผู้ต้องขังในคดีไม่ร้ายแรง หากเข้าข่ายก็หาทางให้พักโทษเร็วขึ้น ลดโทษ หรือขอพระราชทานอภัยโทษเป็นกรณีเฉพาะ เพื่อป้องกันการเสียชีวิตของคนจำนวนมาก
รวมทั้งลดการนำตัวกลุ่มผู้กระทำความผิดที่รับโทษจำคุกแทนค่าปรับ ในช่วงโควิด-19 ระบาด โดยอาจใช้วิธีทำความตกลงให้เป็นลูกหนี้ของรัฐ หากติดขัดเรื่องกฎหมายก็แก้กฎหมาย โดยอาจใช้วิธีการออกเป็นพระราชกำหนดได้
“เมื่อเรือนจำเป็นที่แพร่เชื้อ แล้วจะเอาคนที่ต้องติดคุกเพราะความจนเนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ แล้วจะเอาเขาไปขังจนเสี่ยงติดเชื้อได้อย่างไร”
นอกจากนี้ กรณีฝากขัง หรือผู้ที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีแล้วมีการฝากขัง กรมราชทัณฑ์ควรมีการหารือกับตำรวจ อัยการ และศาล ว่ากรมราชทัณฑ์เต็มขีดความสามารถในการดูแลผู้ต้องขังแล้ว เพราะเกิดการติดเชื้อจำนวนมาก ดังนั้น หากไม่จำเป็นอย่างยิ่งยวดก็อย่าฝากขัง หรือตำรวจและอัยการก็ต้องไม่คัดค้านการประกันตัว
รวมทั้งการสื่อสารความเห็นของกรมราชทัณฑ์ไปยังศาลยุติธรรมว่า การฝากขังจะทำให้ผู้ที่ฝากขังป่วยและอาจเสียชีวิต ดังนั้น จึงขอให้ศาลได้พิจารณาเห็นแก่มนุษยธรรม ไม่สั่งขังโดยไม่จำเป็น ถ้าสั่งขังแล้ว ก็ให้รีบให้ประกันตัวออกไปโดยเร็ว ก็จะทำให้ออกไปอีกจำนวนหนึ่ง
“ถ้าห่วงเรื่องการปล่อยตัวผู้ต้องขังออกมาแล้วจะเกิดปัญหาต่อสังคมภายนอก ก็ต้องศึกษาวิธีการปล่อยแบบต่างประเทศที่ทำกันมาตั้งแต่ช่วงแรก ที่มีบางประเทศเรียกว่าปล่อยหนีโควิด เพราะดูแลไม่ไหว”
จาตุรนต์ กล่าวว่า หากทำได้ก็จะแก้ปัญหาได้ทีเดียวทั้งสองเรื่อง คือ ปัญหาโควิด-19 ระบาดในเรือนจำ และปัญหาคนล้นคุก สิ่งสำคัญคือ วางหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน และเร่งปล่อยออกมา เพื่อป้องกันการสูญเสียที่อาจเกิดจากโรคระบาดโควิด-19
ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีน จาตุรนต์ เห็นว่า ควรเป็นไปตามเกณฑ์ลำดับความสำคัญที่เน้นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งคนในเรือนจำก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง เราต้องลบเส้นแบ่งลูกกรง เพราะเป็นโรคระบาด และการระบาดในเรือนจำก็เสี่ยงที่จะแพร่ออกมาด้านนอกเช่นกัน ทั้งจากเจ้าหน้าที่และคนไปเยี่ยม โดยอย่ามองว่าเป็นสถานที่ปิดแล้วจะไม่มีผลกระทบต่อสังคมภายนอก เพราะหากตัวเลขผู้ติดเชื้อมีสูงขึ้น หรือมีผู้ป่วยอาการหนักจำนวนเพิ่มขึ้น ทั้งหมดยังต้องพึ่งพาระบบสาธารณสุขของประเทศ และส่งผลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อในภาพรวม ซึ่งกระทบกับเรื่องอื่น ๆ ของประเทศเช่นเดียวกัน
โรคระบาด ยิ่งตอกย้ำปัญหาสิทธิผู้ต้องขัง
ด้าน เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้ต้องขังในประเทศไทยก็มีปัญหาการไม่ได้รับการคุ้มครองและการบริการสุขภาพเท่าที่ควร ทั้งการอยู่อย่างแออัด หรือการได้รับอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้ปัญหาเหล่านี้ถูกยกขึ้นมาชัดขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดก็กลายเป็นว่ามาตรการป้องกันโควิด-19 กลับทำให้เกิดการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ถูกคุมขังมากขึ้น เช่น ญาติไม่สามารถเข้าเยี่ยมเพราะเจ้าหน้าที่อ้างเกรงญาติแพร่เชื้อให้ผู้ต้องขัง หรือการไม่ได้รับสิทธิไต่สวนประกันตัว เพราะต้องกักตัว ซึ่งจริง ๆ มีทางออกทางเทคโนโลยีที่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่ก็พบว่ายังไม่ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่
อาจารย์เบญจรัตน์ ยกตัวอย่างการจัดการที่ต่างประเทศจะใช้วิธีการปล่อยตัว บางประเทศปล่อยหลายแสนคน แต่เน้นเฉพาะที่เป็นคดีโทษเบาหรือคดีลหุโทษ ซึ่งประเทศไทยอาจนำมาใช้กับผู้ที่ควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีที่ยังไม่ถูกตัดสินว่ากระทำผิด เช่น นักโทษการเมือง
นอกจากนี้ วิธีคิดที่มองว่าแม้จะเป็นผู้ติดเชื้อ แต่ก็เป็นนักโทษ จึงทำให้วิธีการการจัดการไม่สร้างสรรค์พอ ขณะที่หลายประเทศคิดถึงการป้องกันไปข้างหน้า คำนึงถึงมาตรการที่จะนำมาใช้ ที่ไม่ติดกรอบวิธีเดิม ๆ ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่เราต้องนำมาคิดอย่างจริงจัง ส่วนหากใช้วิธีการปล่อยตัว สิ่งสำคัญที่รัฐต้องเร่งดำเนินการคือ สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจและไม่หวาดกลัว
“ต้องยอมรับความจริงก่อนว่าเราอยู่ในสถานการณ์ที่ฉุกเฉิน ส่วนหากจะกลัวว่าสังคมจะหวาดกลัวการปล่อยตัวนักโทษ รัฐก็ต้องสื่อสารกับประชาชนให้ได้ว่า ไม่ได้ปล่อยตัวนักโทษที่คดีอุฉกรรจ์มาก ๆ แต่มันมีเกณฑ์ อาจใช้เกณฑ์แบบการขอพระราชทานอภัยโทษ”