ชาวบ้านบ่อแก้ว เดินหน้าปลูกพืชในแปลงสวนป่าคอนสาร หลัง กรมป่าไม้เลื่อนส่งมอบสิทธิ์

ชาวบ้านไม่รอ ลุยเดินหน้าปลูกพืชตามแนวทางโฉนดชุมชน หลัง ครม. มีมติให้กรมป่าไม้ ส่งมอบเอกสารครอบครองที่ดินให้ คาดเสร็จสิ้น 9 พ.ค. ที่ผ่านมา ล่าสุด แจ้งเลื่อนส่งมอบ เหตุระบาดโควิด-19

เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2564 มีรายงานจาก เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เรื่องการส่งมอบที่ดินให้กับชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ตาม มติ ครม. เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา ว่า ยังไม่ถูกดำเนินการ เนื่องจากเงื่อนไขและปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเรื่องการระบาดของโควิด-19 และพื้นที่ที่ถูกจัดสรรดังกล่าว ยังมีสถานะตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ที่ต้องให้อธิบดีกรมป่าไม้อนุญาต พบว่ามีการทับซ้อนกับพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2 จำนวน 2 ไร่ ซึ่งพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 ไม่สามารถนำมาจัดสรรให้ชาวบ้านได้ตามกฏหมาย จึงต้องมีการดำเนินการรังวัดใหม่อีกครั้ง ซึ่งยังไม่มีกำหนดออกมา

ลุยเตรียมแปลงทำกิน ไม่รอฝ่ายนโยบาย

แม้ชาวบ้านยังไม่ได้รับเอกสารส่งมอบที่ดินตามกฎหมาย แต่ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ที่ทำงานในพื้นที่ ระบุว่า ชาวบ้านเริ่มทยอยปลูกพืชผลในพื้นที่แล้ว การใช้ที่ดิน ในพื้นที่ดังกล่าวชาวบ้านจะมีการจัดการโดยให้เป็นโฉนดชุมชน ใช้พื้นที่ร่วมกันอย่างเป็นระบบ

“ไม่มีความกังวลเรื่องนิตินัย เพราะการที่จะยืนยันสิทธิ์ในการทำกิน ลงมือผลิต สิ่งที่เป็นปัญหาด้านนิตินัย คือ ฝ่ายนโยบายต้องแก้ไข แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันก็สะท้อนถึงความบกพร่องของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช.”

ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ยังระบุอีกว่า การให้ความสำคัญกับการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านถือว่ามีความสำคัญมาก อย่างน้อยที่สุดในช่วงการระบาดของโควิค-19 การที่ชาวบ้านเข้าถึงที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินที่มั่นคง ก็มีที่พักอาศัย และที่ทำกินให้กับชาวบ้านได้

กว่า 4 ทศวรรษ ยื้อแย้งสิทธิในที่ดินทำกินของราษฎรคอนสาร

สำหรับที่ดินแปลงดังกล่าว มีกรณีพิพาทเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2521 กรมป่าไม้ ให้สัมปทานเนื้อที่ 4,401 ไร่ กับ องค์กรอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือ อ.อ.ป. เข้าทำสวนป่าคอนสาร เพื่อปลูกไม้เศรษฐกิจ นำมาสู่การพยายามผลักชาวบ้านออกจากพื้นที่ ด้วยข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่า ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจึงเข้ายื่นหนังสือและเรียกร้อง ผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายหลายครั้ง เพื่อให้ยกเลิกโครงการปลูกสวนป่ายูคาลิปตัส และนำที่ดินทำกินคืนให้กับผู้เดือดร้อน

ปี 2547 จึงมีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อพิสูจน์สิทธิ์ โดยมีหัวหน้าสวนป่าคอนสาร เป็นประธาน ปลัดอาวุโสอำเภอคอนสาร กำนันผู้ใหญ่บ้าน ในขณะนั้น รวมถึงตัวแทนประชาชนผู้เดือดร้อน ร่วมเป็นคณะทำงาน หลังจากตรวจสอบ คณะทำงานฯ มีมติ ว่าสวนป่าคอนสารได้ปลูกสร้างทับที่ทำกินของราษฎรจริง ให้ยกเลิกสวนป่า แล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้กับราษฎรผู้เดือดร้อน ทั้งสิ้น 277 ราย แต่กลับไม่มีการดำเนินการใด ๆ

ต่อมา 17 ก.ค. 2552 หลังจากไม่มีการตอบสนองใด ๆ ชาวบ้านจึงตัดสินใจกลับไปตั้งบ้านเรือนและเข้าทำกินในพื้นที่สวนป่าคอนสาร อีกทั้งจัดตั้งเป็น ชุมชนบ่อแก้วขึ้น หลังจากนั้นราวหนึ่งเดือน อ.อ.ป. เจ้าของสิทธิ์สวนป่าคอนสารได้ยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดภูเขียว จนชาวบ้าน 31 รายถูกดำเนินคดี ข้อหาบุกรุกป่า ต่อมาชาวชุมชนบ่อแก้วยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2554 

ปี 2557 เกิดเหตุรัฐประหาร โดย คสช. รัฐบาลทหารออกประกาศคำสั่ง คสช.ที่ 64/57 หรือ นโยบายทวงคืนผืนป่า ส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายชุมชน รวมถึงชุมชนบ่อแก้ว และมีประกาศให้ชาวบ้านรื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน

ส่งผลทำให้ชาวบ้านต้องเดินทางเข้ายื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง และเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องว่า ในพื้นที่พิพาทดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกันมาหลายรัฐบาลแล้ว และเรียกร้องให้ยุติคำสั่งไล่รื้อ

22 ก.ย. 2562 จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงพื้นที่ประชุมร่วมกับชาวบ้านผู้เดือดร้อน ที่วัดบ้านทุ่งพระ โดยในส่วนการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทให้ใช้แนวทางนโยบายการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐบาล และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านผู้เดือดร้อน ร่วมกันสำรวจพื้นที่

กระทั่ง 23 มิ.ย. 2563 มีมติคณะรัฐมนตรี ให้ อ.อ.ป. ส่งมอบอำนาจให้กรมป่าไม้นำที่ดินมาจัดสรรให้ชุมชนบ่อแก้ว ซึ่งชาวบ้านเสนอไป 812 ไร่ แต่ได้รับการจัดสรรเพียง 366 ไร่ 78 ตารางวา ในจำนวนนี้ เป็นพื้นที่ป่าสงวน 317 ไร่

และวันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมา ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ติดตามขั้นตอนในการส่งคืนพื้นที่จำนวน 366 ไร่ 78 ตารางวา ซึ่งมีกำหนดว่ากระบวนการส่งมอบนี้ จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พ.ค. 2564 แต่กลับมีการเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ