“เครือข่ายธนาคารอาหาร” เสนอตั้งครัวกลาง ช่วย “คนไร้บ้าน” ท้องอิ่ม – ลดเสี่ยงสัมผัสเชื้อ

เรียกร้องรัฐวางกลไกเชื่อมโยงการช่วยเหลือจัดการอาหารอย่างเป็นระบบ รับมือวิกฤตการเข้าถึงอาหารกลุ่มคนเปราะบาง คนไร้บ้าน คนด้อยโอกาสทางสังคม จากผลกระทบโควิด-19 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ เครือข่ายธนาคารอาหารประเทศไทย นำข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องปรุง ผลผลิตทางการเกษตร จากเกษตรกรในเครือข่าย รวมทั้งของใช้อย่าง สบู่เหลว น้ำยาเอนกประสงค์ ที่ได้รับบริจาคจากประชาชน มอบให้ ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

พร้อมทั้งวางแนวทางเพื่อสร้างระบบการจัดการอาหารในยามวิกฤต ผ่านแนวคิดการทำงานแบบธนาคาร คือ การฝาก ถอน กู้ยืม อาหารได้  โดยคนไร้บ้าน ต้องนำสิ่งของที่สามารถหาได้ในพื้นที่ เช่น ขวดพลาสติก ขยะรีไซเคิล มาแลกอาหารและของใช้ต่าง ๆ ซึ่งสิ่งของที่คนไร้บ้านนำมาแลกทางศูนย์ฯ จะนำไปขายแปลงเป็นเงินกองทุน เพื่อซื้อข้าวของมาไว้หมุนเวียนช่วยเหลือกัน  เป็นแนวทางที่เครือข่ายธนาคารอาหารหวังสร้างระบบการจัดการอาหารเพื่อความยั่งยืน

ขวดพลาสติก ขยะรีไซเคิล แลกอาหาร

ทรงศักดิ์ เจริญชัย คนไร้บ้าน ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู บอกว่า รูปแบบนี้ช่วยให้พวกเขาเห็นคุณค่าในของที่ผู้คนนำมาบริจาค และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในช่วงที่พวกเขาตกงาน ขาดรายได้อีกด้วย

“ สถานการณ์โควิดลำบากกันทุกคน  ผมและพี่น้องคนไร้บ้านหลายคนไม่มีงาน ไม่มีเงิน จะไปรับจ้าง ก่อสร้างอะไรก็ไม่ได้ บางวันยังต้องไปรับบริจาคอาหารข้างนอก แต่พอมีตรงนี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้มาก และพอลดความเสี่ยงที่จะออกไปสัมผัสเชื้อน้อยลง”


สำหรับสิ่งของที่เครือข่ายธนาคารอาหาร นำมามอบให้ทางศูนย์ฯ ในแต่ละครั้ง อาจช่วยเหลือได้แค่เฉพาะหน้า แต่การระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้ถือว่ารุนแรง และคนไร้บ้านในศูนย์ฯ ทั้ง 85 คน ซึ่งส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุ และต้องออกไปรับอาหาร ของบริจาคภายนอก คือกลุ่มเสี่ยงสัมผัสเชื้อ  ดังนั้นเพื่อปิดโอกาสเสี่ยง จึงมีข้อเสนอการจัดทำครัวกลาง โดยมีวัตถุดิบ และทุนสนับสนุนที่เพียงพอ เพื่อทำอาหารให้กับคนไร้บ้าน ควบคู่ไปอีกทางกับมาตรการควบคุมโรค น่าจะมีส่วนช่วยให้คนไร้บ้านผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้

อนันตโชค ศักดิ์สวัสดิ์  ผู้จัดการเครือข่ายธนาคารอาหารประเทศไทย


อนันตโชค ศักดิ์สวัสดิ์  ผู้จัดการเครือข่ายธนาคารอาหารประเทศไทย เห็นว่า สิ่งสำคัญ คือรัฐต้องวางกลไกเชื่อมโยงการช่วยเหลือการจัดการอาหารอย่างเป็นระบบ เพื่อรับมือวิกฤตการเข้าถึงอาหารของคนตกงาน ขาดรายได้ คนไร้บ้าน คนด้อยโอกาสทางสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เพราะการระบาดอาจไม่จบลงแค่ในระลอกนี้

“ ประเทศไทยมีอาหารเพียงพอที่จะเลี้ยงคนในชาติ โดยที่ไม่ต้องมีใครอดในยามวิกฤต มีคนพร้อมจะช่วยเหลือบริจาคแบ่งปัน และมีคนเดือดร้อนในการเข้าถึงอาหาร แต่ปัญหาสำคัญคือขาดการพัฒนาระบบบริหารจัดการอาหารที่ชัดเจนโดยเฉพาะองค์กรหรือหน่วยงานที่เข้ามาบริหารจัดการความหิวโหยของกลุ่มคนเปราะบาง  สะท้อนให้เห็นได้ชัดว่าวิกฤตโควิดที่กำลังเข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว ภาครัฐเองก็ยังขาดการเรียนรู้และพัฒนาให้เกิดระบบกลไก ตลอดจนองค์กรที่เข้ามาแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤตอย่างเป็นรูปธรรม รัฐจึงต้องวางแผนและมีกลไกการเชื่อมโยงการช่วยเหลือ การจัดการอาหารอย่างเป็นระบบ”


ในเวลานี้เครือข่ายธนาคารอาหาร เดินหน้ารวบรวมข้าวสาร อาหารแห้ง และสิ่งของต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนตกงาน คนไร้บ้าน คนจนเมือง ผ่านจุดแบ่งปัน 13 จุดในพื้นที่กรุงเทพฯ, นครศรีธรรมราช และชลบุรี ผู้ที่สนใจสามารถสนับสนุน ร่วมบริจาคผ่านเครือข่ายธนาคารอาหาร โทร. 09-1795-2000 


ส่วนผู้ที่ต้องการช่วยเหลือด้านวัตถุดิบอาหาร เพื่อสร้างครัวกลางทำอาหารให้คนไร้บ้าน ที่ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู ในช่วงวิกฤตเพื่อลดการออกไปเสี่ยงสัมผัสเชื้อภายนอก สอบถามเพิ่มเติมที่ โทร. 08-3932-8389

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ