‘รศ.นพ.ฉันชาย’ ยืนยัน รพ.จุฬาฯ​ ยังรองรับผู้ป่วยโควิด-19 เคสหนักได้

ประเมินสถานการณ์​วิกฤตระดับ​ 2​ จาก 4 ระดับ ชี้ ต้องทลายกำแพงการเบิกจ่ายฯ สร้างเครือข่ายสถานพยาบาลข้ามสังกัด ด้าน ‘นักวิจัยสังคมและสุขภาพ’ ถอดบทเรียนศักยภาพชุมชน “คลองเตย” มีส่วนช่วยคุมระบาด​

เมื่อวันที่​ 5​ พ.ค.​ 2564​ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่า การหยุดวงจรระบาด คือ การหาเคสผู้ป่วยให้ได้อย่างรวดเร็ว​ หากรอ เชื้อจะกระจายและจะมีคนไข้หนักเพิ่มมากขึ้น พร้อมระบุว่า โรคโควิด-19 จะทำให้สถานการณ์แย่ลงหากมีจำนวนผู้ป่วย​ที่มากเกินการรองรับ (overload) ปัจจุบัน​ผู้ป่วยสะสมจำนวนประมาณ 70,000​ คนนั้น พบว่า 40,000​ คน รักษาหายออกจากโรงพยาบาลแล้ว​ แต่อีก 30,000​ คน ยังอยู่ในระบบการรักษา แบ่งเป็นอาการหนัก 1,000-1,500 คน คิดเป็น​ 4​ เปอร์เซ็นต์ อยู่ในห้อง ICU 400 คน คิดเป็น 1-2 เปอร์เซ็นต์ โดยการบริหารงานช่วงโควิด-19 ต้องส่งต่อคนไข้อย่างเป็นระบบ

รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวถึงกรณีที่ลงพื้นที่ชุมชนคลองเตย ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ในการดูแลของโรงพยาบาลจุฬาฯ ด้วยตนเอง โดยระบุว่า สำหรับการระบาดคลัสเตอร์​ชุมชนคลองเตย​​ หากไม่ลงไปดูต้นตอปัญหาที่ชุมชนด้วยตนเอง​ รอแต่ตั้งรับอย่างเดียว จะทำให้ประเมินสถานการณ์ลำบาก​ สิ่งหนึ่งที่ทำให้เห็นเป็นโอกาส คือ การจัดระบบทางการแพทย์ในกรุงเทพมหานครแบบบูรณาการอย่างไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งสังกัดสถานพยาบาลต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ มีความสลับซับซ้อนหลายหน่วยงาน​ มีทรัพยากรแต่ไม่รวมพลังอย่างจริงจัง ต้องยอมรับว่าการบูรณาการทรัพยากรการจัดระบบทางการแพทย์ที่แบ่งเป็น 6 โซนกรุงเทพฯ ทำให้ มีอัตราการรับผู้ป่วยเร็วมากขึ้น

ยกตัวอย่างโรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่ง ดูแลโซนกรุงเทพฯ ใต้ มีโรงพยาบาลในเครือข่ายเดียวกันทั้ง สังกัดกระทรวงสาธารณสุข, กรุงเทพมหานคร, โรงพยาบาลตำรวจ, โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย​ และโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลจุฬาฯ มีการส่งต่อเครื่องมือไปยังโรงพยาบาลในเครือข่ายเพื่อรับมือกับผู้ป่วยโควิด-19

“ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงโควิด-19 หวังว่าจะทำให้การรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายเป็นโครงสร้างแบบนี้ต่อไป แต่การเบิกจ่าย คือ กำแพงที่ต้องทลายลง หากจะมีการยังคงเครือข่ายสถานพยาบาลเอาไว้”

รศ.นพ.ฉันชาย​ กล่าวอีกว่า​ ปัจจุบันการหาเตียงสำหรับผู้ป่วยโค​วิด-19 ค่อนข้างตึงตัว ยังคงมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 1,000 คนต่อวัน ทำให้ต้องแบ่งประเภทผู้ป่วยสีเขียว​ เหลือง และแดง​ โดยเฉพาะสีเหลือง​กับสีแดง​ จะต้องผลักดันให้มีเตียงเพียงพอ ปัจจุบันแนวโน้มดีขึ้น เพราะเริ่มมีผู้ป่วยที่รักษาหายผ่องถ่ายออกจากระบบ ทำให้สามารถรับผู้ป่วยใหม่มาเพิ่มได้ แต่ยังคงต้องติดตามว่าในชุมชนคลองเตยที่อยู่ระหว่างการตรวจหาเชื้อเชิงรุกจะเจอผู้ติดเชื้อเพิ่มอีกกี่เปอร์เซ็นต์

สำหรับโรงพยาบาลจุฬาฯ มีการวางแผนเพิ่มจำนวนเตียงตามสถานการณ์ และปิดหอผู้ป่วยใน (Ward) ที่ไม่จำเป็น เพื่อปรับหอผู้ป่วยเพิ่มการรองรับผู้ป่วยโควิด-19​ พร้อมโยกย้ายบุคลากรทางการแพทย์แผนกอื่นมาช่วยและพัฒนาทักษะ​ของเจ้าหน้าที่​ บุคลากรทางการแพทย์​ ขยายศักยภาพของบุคลากรไปพร้อมกัน

“ตลอดเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ของการระบาดรอบใหม่​ โรงพยาบาลจุฬาฯ แอดมิตผู้ป่วยใน โควิด-19 แล้ว 850 คน ปัจจุบันยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลกว่า 400 คน และยังรองรับได้ จากการประเมินแผนรับมือในภาวะ​วิกฤต​ ขณะนี้อยู่ในระดับ 2 จาก 4 ระดับ ซึ่งระดับ 4 เป็นระดับที่เลวร้ายที่สุด ที่ใช้ระบบไม่ได้มาตรฐาน​ 100 ​เปอร์เซ็นต์ เราไม่อยากให้ถึงจุดนั้น จุดที่ต้องเลือกเลือกรักษา​ ในเมื่อทุกอย่างไม่สามารถคาดการณ์ได้​ จึงต้องการข้อมูลจากชุมชนให้ได้มากที่สุด เพื่อประเมินทิศทางการรับมือ”

“นพ.วิรุฬ” ชี้​ ชุมชน​คลองเตย โชคดีเพราะมี “ภาคประชาสังคม”

ด้าน นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการประเมินของแพทย์กองระบาดวิทยา ที่ทำแบบจำลอง สถานการณ์การติดเชื้อในชุมชนคลองเตยคาดการณ์ว่า จะพบผู้ติดเชื้อวันละ 100 คนที่มาทั้งจากการตรวจเชิงรุกและการเดินเข้าไปตรวจหาเชื้อในสถานโรงพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นจะต้องรวบรวมข้อมูลจากที่ให้เข้าสู่ระบบเดียวกัน เพื่อประเมินสถานการณ์และจัดทำแผนที่ระบาดวิทยาเพื่อการควบคุมโรค​ โดยมีข้อเสนอแนะว่าควรให้ผู้นำชุมชนประเมินว่าใครควรเป็นผู้ได้รับการตรวจเชิงรุก

“สำหรับชุมชนคลองเตยโชคดีที่มีเครือข่ายภาคประชาสังคมเป็นต้นทุนที่ทำให้เกิดการจัดการในชุมชนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งต่างจากชุมชนอื่น”

นพ.วิรุฬ​ กล่าวว่า​ จากสมมุติฐานของทีมวิจัยการพัฒนาระบบเพื่อให้กลุ่มเปราะบางได้รับความปลอดภัยจากโควิด-19 พบว่า 1. ชุมชนคลองเตยมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว มีระบบการจัดการและได้รับการเสริมพลังจากทางภาครัฐ และองค์กรเครือข่ายอื่น ๆ 2. เป็นชุมชน ที่เครือข่ายภาคประชาสังคมทำงานเข้มแข็ง เช่น มูลนิธิดวงประทีป และเครือข่ายคลองเตยดีจัง ที่ทำงานในพื้นที่มากกว่า 10 ปี มีความเข้าใจชุมชนและสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายภายนอกเข้ามาให้การช่วยเหลือ และ​ 3. การเชื่อมโยงระหว่างองค์กรพัฒนาชุมชนกับหน่วยงานของรัฐ ยังมีช่องว่างและมีความขัดแย้งบางประการ จำเป็นต้องออกแบบการทำงานเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งอันเนื่องมาจากมีความกลัวคนละแบบ กล่าวคือ​ รัฐราชการกลัวผิดระเบียบ ผิดกฎระเบียบ​ ขณะที่ ภาคประชาสังคม กลัวรัฐไม่จริงใจและคอยไล่หรือจับผิด จึงอยากให้เกิดวิธีการทำงาน ที่ข้ามจุดขัดแย้ง ไปให้ได้

นพ.วิรุฬ​ ยังแบ่งประชากรในชุมชนคลองเตยออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อการจัดการที่ดี ได้แก่ 1. กลุ่มผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งชุมชนได้วางระบบการส่งตัวออกมายังศูนย์พักคอยฯ เพื่อตัดวงจรการระบาด และวางระบบการประสานโรงพยาบาลไว้แล้ว 2. กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ตรงนี้ต้องทำให้เกิด “การควบคุมพื้นที่โดยชุมชน” เพื่อจำกัดการเคลื่อนที่ในชุมชน โดยใช้คอนเซ็ปต์ Community Quarantine (CQ) 3. ผู้ที่ยังอยู่ในชุมชน จำเป็นต้องดูและทั้งการแพทย์ การป้องกันโรค อาหาร อาชีพ ฯลฯ และ 4. ผู้ป่วยที่กลับมาจากโรงพยาบาล

“โดยเฉพาะ​ กลุ่ม​ 3​ สะท้อนว่าชุมชนคลองเตยมีความเปราะบาง แม้บางชุมชนได้รับการพัฒนาแล้วแต่บางชุมชน อย่างกรณีชุมชนพัฒนาใหม่ เป็นชุมชนชายขอบของชายขอบ ที่มีการจำกัดวงและยังต้องการการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อหาจุดสีแดงเข้ม​”

ฉะนั้น จึงยังมี 3 ประเด็นที่ชุมชนคลองเตยต้องได้รับการช่วยเหลือ คือ 1. ด้านการแพทย์และอุปกรณ์ในการควบคุมโรค 2. อาหารเพื่อคนที่กักตัว​ และ 3. อาชีพ – รายได้ โดยทั้ง 3 อย่างนี้ ต้องสอดประสานไปพร้อมกัน จึงจะทำให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นทั้งมิติทางด้านการแพทย์และมิติทางสังคม


ดูเพิ่ม

เดินหน้าขยาย “โมเดลคลองเตย” จัดการโรคระบาดในชุมชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS