โควิด-19 เพิ่ม 1,582 คน​ ยัน “ไม่มีล็อกเตียง” ผู้ติดเชื้อนอน รพ.สนาม​ หรือ​ Hospitel​ ขึ้นอยู่กับอาการ

สธ. รายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังพุ่งไม่หยุด 1,582 คน​ “สปสช.” ย้ำ ห้ามเรียกเก็บค่ารักษาโควิดเพิ่ม​ วอนผู้ป่วยอย่าโทรหาเตียงซ้ำซ้อน

เมื่อวันที่ 16 เม.ย.​ 2564​ ที่กระทรวงสาธารณสุข​ นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท รักษาการผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน เปิดเผยว่า วันนี้มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 1,582 คน แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 1577 คน​ และมาจากต่างประเทศ 5 คน​ โดยจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดยังคงเป็น​ กรุงเทพฯ 312 คน​รองลงมาคือเชียงใหม่ 272 คน​ จังหวัดชลบุรี 111 คน และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 100 คน ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 39,083 คน จำนวนนี้อาการหนักอยู่ในห้อง ICU 16 คน อยู่ระหว่างรักษาตัว 10,461 คนถือยังถือว่ามีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำมาก 0.25%

นายแพทย์เฉวตสรร ระบุอีกว่า สถานการณ์ถือว่าอยู่ในช่วงขาขึ้น มีผู้ติดเชื้อเกิน 1 พันรายติดต่อกัน 3 วัน ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่กระจายเชื้อในช่วง 5-7 วันก่อนหน้านี้ตามระยะเวลาการฟักตัวของโรค แต่หลังจากมีมาตรการปิดสถานบันเทิงตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน และการทำงานที่บ้านหลังสงกรานต์ คาดว่าประมาณ 2 สัปดาห์ อาจจะเห็นแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อคงตัวและลดลง

สำหรับ จ.ระนอง และ จ.สตูล ที่ก่อนหน้านี้ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อแล้ว ทำให้ประเทศไทยมีการติดเชื้อครบทั้ง 77 จังหวัด โดย จ.ระนอง พบ 2 คน เป็นพ่อลูกไป กทม. รับเชื้อแล้วเดินทางกลับมา ส่วน จ.สตูล พบ 1 คน เป็นหญิงชาวญี่ปุ่นมาท่องเที่ยวในไทย และตรวจพบติดเชื้ออยู่ระหว่างการสอบสวนโรค ทั้งนี้ จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสะสมเกิน 100 รายหรือพื้นที่สีแดงเข้มมี 13 จังหวัด ส่วนที่มีการติดเชื้อเฉพาะในครอบครัวมี 20 จังหวัด

นายแพทย์เฉวตสรร กล่าวต่อว่า ภาพรวมของการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในช่วงเดือนเมษายนพบจำนวน 10 คลัสเตอร์ใน 7 จังหวัดได้แก่ 1. จ.เชียงใหม่ เป็นคลัสเตอร์ค่ายอาสานักศึกษาติดเชื้อ 34 คน กระจายไป 13 จังหวัด 2. จ.นครสวรรค์ เป็นคลัสเตอร์สถานบันเทิงติดเชื้อ 39 คน กระจายไป 2 จังหวัด 3. จ.กาญจนบุรี เป็นคลัสเตอร์กิจกรรมโรงเรียน ติดเชื้อ 28 คน 4. จ.สงขลา เป็นคลัสเตอร์ผับที่หาดใหญ่ติดเชื้อ 16 คน และคลัสเตอร์งานเลี้ยงรุ่นติดเชื้อ 8 คน 5. จ.นครราชสีมา เป็นคลัสเตอร์ร้านอาหารติดเชื้อ 14 คน และคลัสเตอร์กลุ่มสังสรรค์คาราโอเกะติดเชื้อ 5 คน 6. จ.นนทบุรีเป็นคลัสเตอร์งานสัมมนาบริษัทติดเชื้อ 19 คน กระจายไป 8 จังหวัด และ​ 7. จ.นครศรีธรรมราช เป็นคลัสเตอร์งานกิจกรรมรวมกลุ่มคนติดเชื้อ 20 คน กระจายไป 3 จังหวัด และคลัสเตอร์งานบวชติดเชื้อ 10 คน

“ตอนนี้เป็นช่วงที่โรคมีความชุกของการติดเชื้อสูง เราจึงไม่อาจไว้ใจได้เลยว่าคนที่อยู่ใกล้ตัวหรือพื้นที่ที่เราไปมีความเสี่ยงอยู่ ดังนั้น การป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด และแนะนำให้ดูแลคนในครอบครัวให้ดีที่สุดเป็นทางเลือกที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง วัดอุณหภูมิ ลงทะเบียนเข้าออกสถานที่ และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด”

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 15 เม.ย. 2564 ฉีดแล้ว 586,032 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 510,456 คน และเข็มที่สองรวม 75,576 คน ส่วนประชาชนทั่วไปจะได้รับการฉีดวัคซีนในในช่วงที่มีวัคซีนล็อตใหญ่ เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่จะมีวัคซีนเข้ามา 6 ล้านโดส และหลังจากเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ที่จะมีเข้ามาอีกเดือนละ 10 ล้านโดส ซึ่งวัคซีนที่ได้มาไม่ใช่สั่งวันนี้แล้วจะได้ทันที แต่เป็นการเตรียมการสั่งซื้อตั้งแต่วัคซีนยังวิจัยไม่สำเร็จ

สบส. ตั้งเป้า​ เพิ่มเตียง​ Hospitel​ 7,000 เตียง

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข​ ระบุ​ว่า​ กรมฯ จัดเตรียม Hospitel โดยใช้โรงแรมที่ไม่มีผู้เข้าพักไว้แล้วจำนวน 6,525 เตียง ใช้ไปแล้วราว 3,000​ เตียง สำหรับรองรับผู้ที่ไม่มีอาการ​ และผู้ที่ได้รับการรักษาตัวมาจากโรงพยาบาล 3 – 5 วันแล้วพบว่าอาการปกติหรือไม่มีอาการ ก็สามารถย้ายมายัง Hospitel ได้ทันทีซึ่งขณะนี้ได้​ขึ้นทะเบียนโรงแรมไปแล้วจำนวน 23 แห่ง มีเตียงรองรับ 4,900 เตียง ในอนาคตจะมีการเตรียมเตียงเพิ่มขึ้นให้ถึง5,000- 7,000 เตียงรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยแล้ววันละ 500 คนต่อวัน

โดยกำหนดให้ Hospitel นั้นมีมาตรฐาน เช่น แพทย์ 1 คน จำนวนผู้ป่วย 20 เตียงต่อ 1 พยาบาล มีการกำจัดขยะติดเชื้อที่ถูกต้อง และมีเครื่องมือต่าง ๆ เช่น ปรอทวัดไข้ อุปกรณ์วัดออกซิเจนในเลือด และเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ ซึ่งมีมาตรฐานระดับสถานพยาบาลชั่วคราวที่พร้อมรองรับผู้ป่วย เพื่อช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล เพื่อให้โรงพยาบาลได้รองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักหรือจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

สปสช. ยัน​ ป่วยโควิดห้ามเรียกค่ารักษาเก็บเพิ่ม

แพทย์หญิงกฤติยา​ ศรีประเสริฐ​ ที่ปรึกษา สปสช. ยืนยันว่าผู้ติดเชื้อโควิค-19 ทุกคน จะได้รับการรักษาฟรี ไม่มีการเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้ป่วย​ เนื่องจาก สปสช. ได้มีการจ่ายชดเชยโควิด-19 เพิ่มเติมจากระบบปกติ​ ทั้งค่าตรวจแล็บ​ ค่าบริการค่าเก็บตัวอย่าง​ ค่ายา​ ค่าชุด PPE อุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อ​ ค่าห้องรวม​ ค่าอาหาร และค่าพาหนะส่งต่อผู้ป่วย​เป็นที่เรียบร้อยแล้ว​ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีต้องนอนโรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel​ รวมอยู่ในค่าหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 ที่จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,500 บาทต่อวัน​ อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายจะเบิกจากประกันสุขภาพส่วนบุคคลก่อนเป็นอันดับแรก แล้วพิจารณาตามสิทธิ​กองทุนสุขภาพ ประกันสังคม หรือข้าราชการ โดยหากมีส่วนต่าง​ สปสช.​ เรียนย้ำว่าได้คิดครอบคลุ่มค่ารักษาพยาบาล​ และจ่ายชดเชยให้ตามราคากลางที่กำหนด

กรมการแพทย์​ ชี้​ นอนโรงพยาบาลสนาม​ หรือ​ Hospitel​ ขึ้นอยู่กับอาการ​ ไม่มีล็อกเตียง

แพทย์หญิงปฐมพร ศิรประภาศิริ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวถึง กรณีผู้ติดเชื้อที่ต้องนอนโรงพยาบาลสนามหรือ​ Hospitel​ ว่า ว่า​ หากตรวจเชื้อที่ไหน โรงพยาบาล​นั้นจะช่วย หาเตียง ให้ก่อน ยกเว้นไม่มีเตียง หรือ โรงพยาบาล​เครือข่ายไม่มีเตียง จะมีการหาเตียงในระบบทั้งหมด

“จะได้นอน โรงพยาบาล​สนาม หรือ​ Hospitel​ ขึ้นอยู่กับอาการ โดยก่อนเข้า​โรงพยาบาล​สนาม​ หรือ​ Hospitel​ ผู้ติดเชื้อจะได้รับการตรวจ ซักประวัติ เอกซเรย์ปอด หากผลการเอกซเรย์ปอด มีข้อสงสัยว่าปอดจะอักเสบ จะได้อยู่โรงพยาบาลหลัก​ กลุ่มที่ต้องอยู่โรงพยาบาล​สนาม​ หรือ​ Hospitel​ ได้แก่ อาการไม่หนัก อายุน้อยกว่า 50 ปี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่ใช่ผู้พิการ”

แพทย์หญิงปฐมพร  ระบุอีกว่า ทั้งโรงพยาบาล​สนาม​ และ​ Hospitel​ ไม่ได้แยกกลุ่มกัน จะเป็นการพิจารณาว่าที่ไหนมีเตียงว่าง เป็นไปตามการจัดสรรลงเตียง สิ่งแรก คืออยากให้เข้าสู่ระบบได้เร็วที่สุด เพื่อลดการแพร่เชื้อ ลดการระบาด หลายคนผลตรวจเป็นบวกแต่อยู่บ้าน หากโรงพยาบาล​ไม่โทรตามก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็ครบ 14 วัน แต่แบบนี้มีความเสี่ยงต่อครอบครัว หลายครั้งที่ห้องข้าง ๆ หรือ บ้านข้าง ๆ แจ้งเข้ามา 1330 1660 หรือ 1422

พบผู้ติดเชื้อโทรหาเตียงซ้ำ​ 50% วอนรอประสานสายเดียว​

แพทย์หญิงปฐมพร​ กล่าวอีกว่า​ หากผลเป็นบวก ให้โทรศัพท์เข้ามาตามสายด่วน 1669 หรือ 1330 หรือ Line @sabaideebot ย้ำว่า ไม่อยากให้โทรทุกที่ ทุกเบอร์ เพราะข้อมูลจะซ้ำกัน ทำให้ช้าไปอีก แนะนำว่าให้โทร 1 ครั้ง และรอการดำเนินการ

“หลายคนเมื่อมีความกังวลใจในการติดเชื้อทำให้ระหว่างรอโรงพยาบาล​จัดหาเตียง​ มีการโทรไปสายด่วนไม่ว่าจะเป็น 1330 หรือ 1669 ซึ่งผู้ป่วยจะถูกซักข้อมูลสุขภาพอีกครั้ง รวมถึงอาการเพิ่มเติม เพื่อคีย์ข้อมูลไปในไฟล์ และส่งไปยัง ศูนย์เอราวัณ เช่นเดิม เป็นความซ้ำซ้อน นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทุกวันจะต้องมีการคลีนข้อมูล เนื่องจากศูนย์เอราวัณ รับข้อมูลจากทั้ง 1330 , 1668 , สบายดีบอต , โรงพยาบาล และประชาชน ทำให้ทุกวันมีข้อมูลซ้ำกันเกิน 50%”

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS