สธ. แบ่งโซน รพ.รัฐ-เอกชน ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 คลุม กทม.-ปริมณฑล

ตั้งโรงพยาบาลหลัก หัวหน้าโซน เป็นที่ปรึกษาโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในพื้นที่ รับ-ส่งต่อ รักษา ผู้ป่วยโควิด-19 พร้อมเปิดอาคารนิมิบุตร เป็นศูนย์แรกรับผู้ติดเชื้อทุกคนเข้าสู่ระบบ ส่งรักษาตามอาการ


วันนี้​ (27​ เม.ย.​64​) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ว่า กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับผิดชอบการบริหารจัดการเตียงทั้งประเทศ ซึ่งสถานการณ์เตียง ข้อมูล ณ วันที่ 26 เม.ย. เวลา 16.30 น. พบว่า ทั้ง 13 เขตสุขภาพ มีเตียงทั้งหมด 44,560 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียง 21,695 เตียง เตียงว่าง 22,865 เตียง โดยเฉพาะเขตสุขภาพที่ 13 คือ กรุงเทพมหานคร มีเตียง 12,679 เตียง ผู้ป่วยครองเตียง 7,959 เตียง มีเตียงว่าง 4,720 เตียง ซึ่งเป็นเตียงของโรงพยาบาลรัฐทุกสังกัด และเอกชนซึ่งมีเตียงมากที่สุด

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์​ รองอธิบดีกรมการแพทย์


ส่วนที่ประชาชนสงสัยว่ายังมีเตียงว่าง แต่เพราะเหตุใดยังมีผู้ป่วยต้องกักตัวรอเตียงนั้น รองอธิบดีกรมการแพทย์ ชี้แจงว่า ส่วนใหญ่เป็นเตียงที่อยู่ใน Hospitel สำหรับคนไข้สีเขียว ส่วนเตียงไอซียู ห้องความดันลบ (AIIR-ICU) มีเครื่องมือดูแลผู้ป่วยอาการหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจ และเตียงห้องรองลงมาที่เป็นระบบความดันลบ (Modified AIIR) สามารถดูแลผู้ป่วยหนักได้ ทั้ง 2 ส่วนนี้มีผู้ป่วยครองเตียงแล้วร้อยละ 70-80 ถือว่าค่อนข้างตึง ไม่มีพื้นที่เหลือให้ผู้ป่วยรายใหม่เข้าได้ จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการ นำผู้ป่วยในห้องไอซียูที่มีอาการดีขึ้นออกมาอยู่หอผู้ป่วยมากขึ้น เพื่อรับผู้ป่วยที่จำเป็นจริง ๆ เข้าไป ส่วนห้องประเภทต่าง ๆ ทั้งห้องโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ยังมีเตียงว่างอยู่ โดยผู้ป่วยสีเขียว ที่ไม่มีอาการสามารถรับบริการได้

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายให้กรมการแพทย์ รับผู้ติดเชื้อทุกคนเข้าโรงพยาบาลสนาม เปิดอาคารนิมิบุตร เป็นศูนย์แรกรับ ก่อนส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลตามระดับอาการ สีเหลือง สีแดง และได้ขยายเตียงผู้ป่วยสีเหลือง ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี 200 เตียง, โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี 45 เตียง, สถาบันประสาทวิทยา 15 เตียง, ดังนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่รับให้เข้าโรงพยาบาลสนาม ขออย่าปฏิเสธ เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ และได้รับยารักษาโดยเร็ว เพื่อลดความรุนแรงของโรค”


ส่วนข้อสงสัยว่าประชาชนที่ไปตรวจในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แต่อยากไปรักษากับอีกโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า หรือโรงเรียนแพทย์ได้หรือไม่นั้น นพ.ณัฐพงศ์ อธิบายว่า โรคโควิด-19 สามารถรักษาได้ในโรงพยาบาลขนาดเล็กทั่วไป หากมีอาการหนัก มีโรคประจำตัว หรือมีภาวะแทรกซ้อน จะส่งต่อไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่มีเครื่องมือและแพทย์ที่เชี่ยวชาญ

โดยได้แบ่งพื้นที่ เฉพาะในกรุงเทพมหานคร ออกเป็น 6 โซน ตามพื้นที่ติดต่อกัน ได้แก่

  • โรงพยาบาลทั้งหมดในส่วนกลาง มี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลราชวิถี เป็นหัวหน้าโซน
  • โซนใต้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
  • โซนเหนือ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลภูมิพล
  • โซนตะวันออก โรงพยาบาลรามาธิบดี
  • โซนโรงพยาบาลศิริราช
  • โซนวชิรพยาบาล

โดยโรงพยาบาลหัวหน้าโซน ช่วยดูแลโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน และรับส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ส่วนภาคเอกชนจะมีเครือใหญ่ ๆ เช่น สมิติเวช เกษมราษฎร์ กรุงเทพ มีระบบดูแลโรงพยาบาลในเครือ หากมีความจำเป็น สามารถปรึกษาข้ามโซน โดยมีศูนย์บริหารจัดการเตียงโรงพยาบาลราชวิถี เป็นศูนย์กลาง

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS