สสจ.ชุมพร เปิดแผนสกัดโควิด-19 ห่วงเชื้อข้ามเขตจังหวัด สู่ครอบครัว

เผย ประชาชนลงชื่อใน Save Chumphon แล้วกว่า 3 หมื่นคน ประสานเครือข่ายชุมชน – อสม. ร่วมเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค ไม่ให้ยกระดับเป็นสีแดง หลังมีผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์สถานบันเทิง

วันนี้ (16 เม.ย. 2564) นพ.จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร เปิดเผยกับ The Active ถึงแนวทางการเฝ้าระวังของจังหวัดชุมพรใน 2 ระบบ คือ เชิงรุก-เชิงรับ โดยระบุว่า เชิงรุก คือ การเข้าหาคนจากพื้นที่เสี่ยงและมีอาการเสี่ยง โดยประชาสัมพันธ์ให้คนที่รู้จัก คนที่เดินทางเข้าสู่จังหวัด ลงทะเบียนเข้าสู่ฐานข้อมูล Save Chumphon เพื่อประเมินความเสี่ยง โดยใช้วิธีการสแกนคิวอาร์โค้ด กรอกข้อมูลประเมินความเสี่ยง 

แต่หากคนเดินทางไม่รู้ข้อมูลนี้ จะมีทีมงาน อสม. และผู้ใหญ่บ้าน ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ แจ้งให้ลงระบบในฐานข้อมูล Save Chumphon โดยล่าสุดสำรวจแล้วมีประชาชนเข้าถึงระบบนี้มากกว่า 30,000 คน ซึ่งจากผลสำรวจล่าสุดมีกลุ่มเสี่ยงประมาณ 200 คนจากทั้งหมด เมื่อเจอบุคคลเสี่ยง ก็จะเข้าสู่มาตรการกักตัว 14 วัน และตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้ในทุกคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

หรือในกรณีที่ไม่แน่ใจ หรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยง และกังวลว่าจะเป็นโควิด-19 หรือมีเพื่อนเป็นจาก กทม. สามารถเข้ารับการตรวจได้ทุกโรงพยาบาล โดยเตรียมเปิดสายด่วนของทุกโรงพยาบาลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้

ตีวงบุคคลเสี่ยง – สถานที่เสี่ยง

สำหรับมาตรการ เชิงรับ ของผู้ที่เดินทางหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยง ได้บูรณาการกับจังหวัด ปิดสถานบันเทิงทั้งหมด ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ที่ทำให้จังหวัดชุมพรมีผู้ติดเชื้อ 2 คนแรก โดยใช้วิธีการควบคุมโรค ตีวงหาคนเสี่ยงสูงทั้งจังหวัดอย่างรวดเร็ว ประมาณ 50 คน โดยทุกคนทำตามมาตรการกักตัว และตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทุกราย โดยคลัสเตอร์นี้มีผู้ติดเชื้อ ทั้งสิ้น 15 คน และเป็นคลัสเตอร์แรกที่สกัดเชื้อได้จบสิ้นอย่างรวดเร็วไม่แพร่ระบาดต่อไปที่อื่น 

ส่วนอีกกรณีที่น่าเป็นห่วง คือ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ก็เจอจากระบบคัดกรองเชิงรุก วางระบบฐานข้อมูล ซึ่งส่วนใหญ่คลัสเตอร์หลักก็ยังเป็น สถานบันเทิง กทม. แหล่งชุมชน ฯลฯ ก็ใช้วิธีการเดียวกันคือ พบคนติดเชื้อ ตีวงหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงด้วยการสอบสวนโรคจาก จนท.สาธารณสุข  กักตัว และตรวจหาเชื้อ จึงมั่นใจที่จะไม่แพร่เชื้อต่อ

ขณะเดียวกันทางจังหวัด ก็ยังมีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ที่กระจายอยู่ในทุกอำเภอของจังหวัดชุมพร เพื่อเฝ้าระวังเหตุฝ่าฝืนและอาจนำมาสู่การแพร่ระบาด 

มาตรการครัวเรือน

นพ.จิรชาติ ย้ำว่า ช่วงนี้ควรหยุดเชื้อ อยู่บ้าน ดีที่สุด และให้คนในครอบครัวคิดไว้เสมอว่าอยู่นอกบ้านมีเชื้อ และต้องดูแลตัวเองตามมาตรการส่วนบุคคล เวลากลับบ้านต้องคิดว่าอาจจะพาเชื้อเข้ามาบ้าน ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการครัวเรือนของชุมพร 

เพราะที่ผ่านมาหลายกรณี เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างจังหวัด และนำมาติดคนใกล้ชิด คนในครอบครัว เช่น ข้อมูลของจังหวัดชุมพรวันที่ 11 เมษายน จะเห็นว่า จุดเริ่มต้นก็มาจากพื้นที่เสี่ยงก่อน คลัสเตอร์สถานบันเทิง กทม. และเชียงใหม่ แหล่งชุมชนตลาดบางแค จากนั้นจึงค่อย ๆ ระบาดมาสู่คนใกล้ชิด คนในครอบครัว บางรายก็ผู้สูงอายุ และเป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งแน่นอนว่าการจำกัดวงการระบาดไม่ให้ถูกยกระดับเป็นพื้นที่สีแดงมีความจำเป็นอย่างมากในช่วงเวลานี้ 

มาตรการนี้ใช้วิธีการเยี่ยมบ้านประชาสัมพันธ์ โดยใช้หลักการอย่าเอาเชื้อมาติดที่บ้าน เช่น การทำความสะอาดใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในบ้านทุกวันละ 2-3 ครั้ง ทั้งพื้นและอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน, การแยกตัวรักษาระยะห่างกันภายในบ้าน นอนโดยใช้ตู้กั้น, รับประทานอาหารเหลื่อมเวลากัน จะช่วยลดการแพร่เชื้อระหว่างผู้ติดเชื้อ กับ คนในครอบครัว

โดยภาพรวม ทางสาธารณสุขจังหวัดชุมพรยังมีแนวทางบูรณาการทำงานข้ามจังหวัด ในพื้นที่ภาคใต้ต้นบน 7 จังหวัด เพื่อประเมิน และหาความเชื่อมโยงการระบาด เพื่อตีวง และจำกัดการแพร่ระบาดให้ได้มากที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน